Lifestyle

"ธนาคารที่ดิน"ที่พึ่งสุดท้าย‘เกษตรกร’ไร้ที่ทำกิน     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธนาคารที่ดิน"ที่พึ่งสุดท้าย‘เกษตรกร’ไร้ที่ทำกิน     

                  การปรับปรุง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ (พ.ศ.2560) นี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรม บ้านพักอาศัย และเพื่อการพาณิชย์ ยังคงใช้อัตราเดิมที่เคยเสนอไปเมื่อฉบับก่อน สำหรับชาวบ้านทั่วไป คนส่วนใหญ่ที่มีบ้านพักราคาไม่สูงนักก็ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะจะเก็บภาษีเฉพาะบ้านหลังแรกที่ราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คิดอัตราภาษีที่ต่ำสุด ไม่น่ามีผลกระทบต่อเกษตรกรนัก และที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมก็สามารถผลักภาระภาษีนี้บวกเป็นต้นทุนในราคาสินค้าหรือบริการได้ 

"ธนาคารที่ดิน"ที่พึ่งสุดท้าย‘เกษตรกร’ไร้ที่ทำกิน     

                   การเรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยที่เจ้าของเป็นคนรวย ซื้อที่กักตุนไว้ ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า จะโดนเรียกเก็บภาษีหนักอยู่พอสมควร ทั้งนี้จุดประสงค์ที่รัฐบาลออกกฎหมายภาษีที่ดินนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินมากขึ้น ภาครัฐก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นเพื่อนำมาใช้พัฒนาบ้านเมืองต่อไป 

                 แต่หากพิจารณาตามโรดแม็พ "ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน” มีกำหนดประกาศใช้ในวันที่ 8 มิถุนายน 2562 หลังใช้เวลายาวนานกว่า 25 ปี ในการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อปี 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาการประจุกตัวของที่ดินจากการถือครอง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเป็นการจุดประกายความหวังให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง

"ธนาคารที่ดิน"ที่พึ่งสุดท้าย‘เกษตรกร’ไร้ที่ทำกิน     

                โดย "ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน” นี้ จะสอดรับกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ (พ.ศ.2560) ซึ่งจะนำมาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติ "ภาษีโรงเรือนและที่ดิน" พ.ศ.2475 และพระราชบัญญัติ "ภาษีบำรุงท้องที่" พ.ศ.2508 เดิม โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

              สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับนี้เป็นการเรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยที่เจ้าของเป็นคนรวย ซื้อที่กักตุนไว้ หากปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า โดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไร จะโดนเรียกเก็บภาษีหนักพอสมควร

            ทั้งนี้จุดประสงค์ที่รัฐบาลออกกฎหมายภาษีที่ดินนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภาครัฐก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นเพื่อนำมาใช้พัฒนาบ้านเมืองต่อไป

             “ตามโรดแม็พที่รัฐบาลได้วางไว้ หลังพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับใหม่ออกมาต้นปี 2562 จากนั้นอีกประมาณ 6 เดือน ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดินออกมาเพื่อให้สอดรับกับพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับใหม่ ต่อไปนี้หากใครมีที่กักตุนไว้เยอะๆ ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะต้องเสียภาษีที่แพงขึ้น แต่หากใครไม่ต้องการเสียภาษีที่แพงและไม่มีโครงการที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินในระยะเวลาอันใกล้ก็ อาจทางเลือกหนึ่งคือนำที่ดินผืนดังกล่าวมาให้ธนาคารที่ดินเช่าระยะเวลา 5 ปี 10 ปี ธนาคารก็จะเอาที่ดินผืนดังกล่าวไปให้เกษตรกรผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำดินใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนั้นต่อไป โดยที่เจ้าของที่ก็ไม่ต้องเสียภาษีอันเป็นผลพวงมาจากพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับใหม่ แถมยังได้ตังค์ค่าเช่าอีกต่างหาก”

             พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ให้สัมภาษณ์ "คม ชัด ลึก” ถึงแนวทางแก้ปัญหาที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำมาจัดสรรให้เกษตรกรผู้ยากไร้ใช้ประโยชนจากที่ดินผืนดังกล่าว อาศัยร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่และร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

             พล.ท.ชาญชัยระบุอีกว่า ธนาคารที่ดินจะเป็นประโยชน์มาก ไม่เพียงการแก้ปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ แต่ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมเรื่องสิทธิในที่ดินในสังคม กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุด ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป  ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้ ธนาคารที่ดินจะมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยและให้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

             “ธนาคารที่ดินจะดำเนินการในที่ดินเอกชนเป็นหลัก มีหลายวิธี ทั้งการเช่า เช่าซื้อและซื้อขาดเพื่อให้เกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ทำกิน ส่วนกรณีที่ดินของรัฐจะต้องมีมติคณะรัฐมนตรีมอบหมายจึงจะดำเนินการได้” พล.ท.ชาญชัยเผย

              อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยการนำร่องใน 5 ภารกิจสำคัญตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ที่เห็นชอบอนุมัติเงินงบประมาณจำนวน 690 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือเกษตรกรและปฏิบัติงานตามภาคกิจดังกล่าว  ได้แก่ โครงการศึกษากระบวนการดำเนินธนาคารที่ดิน โดยการศึกษาตัวอย่างของการจัดตั้งธนาคารที่ดินในประเทศต่างๆ โครงการศึกษาวิจัยระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่ดิน โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร โครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจนในการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากปัญหาการจำนองและขายฝากและโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ประกอบด้วย จ.ลำพูน 4 ชุมชน และเชียงใหม่ 1 ชุมชน

           “ปีงบประมาณ 2560 บจธ.มีโครงการสำรวจเกษตรกรใน 36 พื้นที่เพื่อทำการคัดเลือกพื้นที่เกษตรกรรมเป้าหมายในการดำเนินโครงการตามภารกิจใน 4 ภูมิภาค โดยระยะแรกมีจำนวน 36 จังหวัด ในการดำเนินโครงการ และมีการจัดจ้างมหาวิทยาลัย 8 แห่งทั่วประเทศ เป็นพันธมิตรในการช่วยสำรวจข้อมูลในแต่ละภูมิภาค และจัดหาเครือข่ายเพื่อจัดทำเป็นสาขาในอนาคต โดยมีการดำเนินการสำรวจทั้งหมด 181,068 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 1,030,660 ไร่ โดยมีผู้ถือครองที่ดินทั้งหมด 35,800 ราย”

           ส่วนความคืบหน้า พ.ร.บ.การจัดตั้งธนาคารที่ดินนั้น พล.ท.ชาญชัยเผยว่า ขณะนี้ร่างฯทั้งหมด ทั้งของสปท. สปช.และบจธ.อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ก่อนเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาในรายละเอียดในข้อกฎหมาย จากนั้นก็ให้วิปทั้งสองฝ่าย วิปรัฐบาลและวิปสนช.ให้ความเห็นชอบก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสนช.เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

          “ธนาคารที่ดินมันมีข้อหลักใหญ่คือ การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นตัวตั้ง กฎหมายอะไรก็แล้วแต่ถ้าเกี่ยวกับการเงินจะต้องผ่านหน่วยงานรัฐ เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นหนี้สาธารณะและเป็นภาระของประเทศ ทราบว่าขณะนี้ร่างอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรียบร้อยแล้ว รอเข้าครม.อีกครั้ง จากนั้นเข้ากฤษฎีกา แล้วให้วิปทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ(วิปรัฐบาลกับวิปสนช.) ตามขั้นตอนจากนั้นก็เข้าสู่การพิจารณาของสนช. เพราะตอนนี้สนช.ต้องเร่งออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เข้าไปแล้ว 4 ฉบับ รออีก 6 ฉบับ เพื่อให้ทันตามโรดแม็พ เพราะนั้นกฎหมายพวกนี้อาจช้าหน่อย”

            สำหรับเงินทุนประเดิมเริ่มต้นการจัดตั้งธนาคารที่ดินหลังมีผลบังคับใช้ ประธาน บจธ.ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลและสนช.ว่าจะยึดร่างของของบจธ. ซึ่งเป็นร่างรัฐบาลนั้นกำหนดไว้ที่ 6,000 ล้านบาท ขณะที่สปท.เห็นว่าถ้าหากให้บรรลุภารกิจ จากจำนวน 4 ล้านกว่าคน ตามที่ได้มาขึ้นทะเบียนคนยากจนไว้ จะต้องมีทุนประเดิมเริ่มต้นไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท

           “ตอนนี้ทั้ง 11 หน่วยงานเห็นชอบทั้งหมดให้มีธนาคารที่ดิน แต่อีก 3 หน่วยงานยังมีข้อกังวล เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในเรื่องการก่อหนี้สาธารณะและภาระผูกพันต้องใช้เงินทุนประเทศ ถ้าไม่ก่อหนี้สาธารณะมากก็ถือว่าได้ มหาดไทยเรื่องความรอบคอบ ต้องระมัดระวังการใช้จะไปกระทบสิทธิของเขา หรือบางคนแสดงตนมาไม่ถูกต้อง แจ้งชื่อว่าจน แต่มีที่ดินเยอะจากการบุกรุกกลายเป็นว่าไปส่งเสริมการบุกรุกที่ดินของรัฐ ส่วนกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวข้องกับเกษตรกรอยู่แล้ว แต่หลักการช่วยเหลือเกษตรกรพวกนี้มีฐานข้อมูลครบหรือไม่ ซึ่งบังเอิญสำนักงานสถิติแห่งชาติในรัฐบาลนี้จัดให้มีสมาร์ทการ์ดสำหรับคนยากจน โดยยึดถือตาม จปฐ.อยู่แล้ว เพราะนั้นกล่าวโดยสรุปคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเห็นชอบว่าให้มีร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดินก็เลยเกิด สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงพิจารณาเงินจำนวน 1,000 ล้านใช้เป็นทุนประเดิมก้อนแรกหลังพ.ร.บ.ฉบับนี้คลอดออกมา”

           พล.ท.ชาญชัยย้ำด้วยว่า จากนั้นคณะกรรมการธนาคารฯ จะต้องพิจารณาวิธีการหาเงินมาให้ครบ 6,000 ล้านบาท(ยึดตามร่างบจธ.)ในกรอบระยะเวลา 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยรัฐบาลอุดหนุนจากงบประมาณประจำปี ปีละ 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือได้มาจากภาษีที่ดินตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯฉบับใหม่ ซึ่งบางส่วนจะต้องแบ่งมาให้กับธนาคารที่ดิน การออกพันธบัตรระดมทุน โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งการกระจายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป

            “วิธีการได้มาของเงินทุนสำหรับการดำเนินกิจการมีหลายช่องทาง ไม่ต้องกังวล ไม่ก่อหนี้สาธารณะแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจไม่มีกำไรเหมือนธนาคารอื่นๆ เพราะเป็นธนาคารที่ช่วยเหลือคนยากจน เกษตรกรผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน” พล.ท.ชาญชัยกล่าวย้ำ

           “ธนาคารที่ดิน” นับเป็นมิติใหม่ในการจัดการแก้ปัญหาด้านที่ดินอย่างเป็นระบบและเต็มศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศโดยรวมต่อไป

                                             ...................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ