Lifestyle

“9101” ตามรอยเท้าพ่อเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“9101” ตามรอยเท้าพ่อเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

                 กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วงเงิน 22,752.50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 60 ที่ผ่านมาเพื่อนำมาพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 882 ศูนย์ แม้เป้าหมายจะชัดเจน แต่ประเด็นความโปร่งใส ความรอบคอบและการเข้าถึงความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง เนื่องจากระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินไปและไม่ใช่โครงการ “ประชานิยม” ตามที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกต 

“9101” ตามรอยเท้าพ่อเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

                “แม้ระยะเวลาการทำงานของโครงการจะสั้น แต่ขอให้มั่นใจว่า ในทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างรัดกุมและโปร่งใสและได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมพร้อมในการดำเนินโครงการ 9101 มาเป็นลำดับ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและรวดเร็วในการดำเนินการ และขณะนี้ทุกพื้นที่ชุมชนมีการจัดเวทีชุมชน และเสนอความต้องการในทุกขั้นตอน มีคณะกรรมการระดับชุมชนพิจารณาผลและคอยกำกับอย่างใกล้ชิด”                

                   พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันหลังเป็นประธานมอบนโยบายในการประชุมซักซ้อม ทบทวน แนวทางการปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทั้งยังมีสำนักงานเกษตรจังหวัดคอยกำกับการทำงานและตรวจสอบความถูกต้อง มีคณะกรรมการระดับอำเภอ ที่มีนายอำเภอทำหน้าที่ประธานในการพิจารณาความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียมทุกพื้นที่ งบประมาณทุกบาททุกสตางค์จะต้องลงถึงชุมชน ซึ่งมีการเปิดบัญชีโดยคณะกรรมการและได้ร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการช่วยเหลือกำกับติดตามเพื่อให้ถึงมือเกษตรกรอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ตามระเบียบราชการในทุกโครงการ

“9101” ตามรอยเท้าพ่อเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

                        ส่วนความก้าวหน้าของโครงการ ล่าสุด (ณ 13 ก.ค.60) มีโครงการนำเสนอแล้วจำนวน 24,137 โครงการ วงเงิน 19,552.77 ล้านบาท คณะกรรมการระดับอำเภอ พิจารณา/อนุมัติโครงการแล้ว 23,544 โครงการ วงเงิน 18,988.44 ล้านบาท วงเงินได้รับการอนุมัติรวม 19,275.73 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.72  

                     โดยจำแนกสัดส่วนตามประเภทโครงการ ดังนี้ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ร้อยละ 35.31 การผลิตพืชและพันธุ์พืช ร้อยละ 20.87 การปศุสัตว์ ร้อยละ 14.49 การผลิตอาหาร การแปรรูป ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ร้อยละ 12.06 การประมง ร้อยละ 10.69 ฟาร์มชุมชน ร้อยละ 3.57 การจัดการศัตรูพืช ร้อยละ 1.94 การปรับปรุงบำรุงดิน ร้อยละ 1.02 การเกษตรอื่นๆ ร้อยละ 0.05 

“9101” ตามรอยเท้าพ่อเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

                 และขณะนี้สำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1–18 (CBO) ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว จำนวน 1,613 โครงการ งบประมาณ 2,233.390 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าวันที่ 17 กรกฎาคม จะเริ่มโอนเงิน และเริ่มการดําเนินการตามโครงการที่เสนอ หากมีเงินเหลือจากที่แต่ชุมชนเสนอซึ่งอาจจะพิจารณานํามาจัดทําโครงการในส่วนที่เกษตรกรยังเข้าไม่ถึง หรือ โครงการไม่ได้รับการอนุมัติต่อไป

                  ขณะที่ สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวถึงการดำเนินงานของชุมชนว่าจะต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที มีประโยชน์ต่อชุมชน และมีความยั่งยืน เป็นโครงการหรือกิจกรรมในลักษณะของการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้า ทั้งนี้คุณสมบัติของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ 1.จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งเป็นสมาชิก ศพก. และเครือข่าย 2.เป็นเกษตรกรที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการที่ชุมชนให้ความเห็นชอบ 3.เป็นเกษตรกรที่แสดงความจำนงและสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์และรายละเอียดของโครงการ/กิจกรรมที่ชุมชนเห็นชอบ 4.เป็นเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับชุมชนให้เข้าร่วมโครงการ

                 อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.60) พล.อ.ฉัตรชัย นำคณะลงพื้นที่ดูความก้าวหน้าของโครงการเป็นครั้งแรก ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ โดยถือโอกาสพบปะเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและเยี่ยมชมพื้นที่ที่จัดทำโครงการ รวมถึงถือโอกาสให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ และชุมชนเกษตร 9101 ในพื้นที่ จ.นครราชสีมามี 361 ชุมชน เสนอ 1,072 โครงการ วงเงิน 830,319,253 บาท 

                      ส่วนในช่วงบ่ายวันนี้ (14 ก.ค.60) พล.อ.ฉัตรชัย และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการในพื้นที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเปิดโครงการ 9101 พร้อมทั่วประเทศในวันที่ 27 กรกฎาคม  เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม

 เกษตรกรสี่คิ้วภูมิใจ “เดินตามรอยพ่อ” 

               จำนง พันธุ อายุ 68 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นำเสนอโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เช่น ดินจากขุยไผ่ มาทำเป็นจุลินทรีย์ป่า จุลินทรีย์ที่ได้จะช่วยปรับสภาพ รวมทั้งสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่ต้นทุนการผลิตวัตถุดิบอยู่ที่ร้อยละ 50 ของค่าแรง เราสามารถคุมการผลิตได้เองและสามารถเลือกวัตถุดิบให้เกิดความมั่นใจที่ใช้ในการใส่ปุ๋ยว่าเป็นอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะไม่มีการบรรจุถุงขาย แต่จะขายเป็นคิวตักขึ้นรถไปเลย

                “เราไม่ต้องหาซื้อปุ๋ยจากที่อื่น เราผลิตใช้เอง สามารถเลือกวัตถุดิบเองได้ตามต้องการ ถือว่าช่วยคนในพื้นที่ให้มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่มั่งคั่ง มีชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น”

                 ประธานกลุ่มคนเดิมระบุด้วยว่า สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการได้แก่ เลิกใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี  ลดต้นทุนการผลิต  การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกทำให้ดินร่วนซุย ถือเป็นการปรับปรุงดินไปในตัว และทำให้ผู้ที่มาซื้อเกิดความมั่นใจที่จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ 100%  หากเราทำเกษตรอินทรีย์ก็จะเลิกใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ไม่ต้องปราบวัชพืชด้วยเคมีเหมือนที่ผ่านมา และสินค้าก็จะได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้จำหน่ายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น 

                     อย่างไรก็ตามขณะนี้กลุ่มมีสมาชิก 94 ราย จากทั้งหมด 200 เตรียมพร้อมมาตั้งแต่มีโครงการแล้ว โดยกลุ่มทำมาเรื่อยๆ เน้นการปลูกข้าวไรเบอร์รี่แบบอินทรีย์ เกษตรกรได้รับอะไรจากโครงการ เกษตรกรได้ความภาคภูมิใจที่สามารถปลูกข้าวอินทรีย์ และสุขภาพแข็งแรงขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

                     “เราต้องสืบสานตามรอยพ่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน เกิดความภาคภูมิใจในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทิ้งมรดกไว้ให้คนไทยทั้งประเทศ ต้องเดินตามรอยพระองค์ท่าน และความภาคภูมิใจที่คนไทยได้บริโภคข้าวอินทรีย์ปราศจากสารเคมี ส่งผลให้คนไทยหันมารักสุขภาพมากขึ้น” จำนงกล่าวย้ำ 

                เช่นเดียวกับมุมมอง กองทุน หาญณรงค์ ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่ย้ำถึงเป้าหมายสำคัญในการเสนอกิจกรรมเลี้ยงแพะในโครงการ 9101 ว่า เนื่องจากในชุมชนมีการเลี้ยงแพะอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการ 2.5 ล้านบาท ก็จะนำไปซื้อลูกแพะเนื้อเพศผู้จากเกษตรกรในชุมชนมาขุนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ได้ตามเกณฑ์น้ำหนัก 35 กก.ต่อตัว ตามที่ตลาดต้องการ โดยมีกำไรเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 50% ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนทั้งเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นผู้เลี้ยงแพะ และขายพันธุ์ให้หรือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโดยซื้อแพะมาขุนและจำหน่ายยังตลาดอื่นซึ่งจะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนในอนาคตได้เป็นอย่างดี 

                                                            ......................................................................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ