Lifestyle

เจาะลึกพื้นที่ภาคเกษตร“ทุ่งรังสิต”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะลึกพื้นที่ภาคเกษตร“ทุ่งรังสิต” สู่การจัดระเบียบฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า

                 ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ส้มเขียวหวานจากทุ่งรังสิต  ไม้ผลขึ้นชื่อเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ก่อนจะล่มสลายด้วยโรคระบาด จนเกษตรกรต่างประสบภาวะขาดทุนอย่างย่อยยับ สิ้นเนื้อประดาตัว บางรายทิ้งถิ่นอพยพไปอยู่ที่อื่น บางรายเปลี่ยนปลูกพืชอย่างอื่น ก่อนที่ทุ่งรังสิตกลับมาพลิกฟื้นเป็นพื้นที่สีเขียวอีกครั้งบนพื้นที่กว่า 5.4 แสนไร่ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักผลไม้หลากหลายชนิด แม้ปัจจุบันทุ่งรังสิตจะเป็นแหล่งรวมของพืชเศรษฐกิจที่หากหลาย ทว่ากลับไม่มีจัดระเบียบของฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ

 เจาะลึกพื้นที่ภาคเกษตร“ทุ่งรังสิต”
                  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกับกับภาคีเครือข่าย 8 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บูรณาการข้อมูลงานวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้ายการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Agri-Big Data) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 40 ล้านบาท เป็นโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้าใช้เป็นโครงการนำร่อง หวังใช้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นต่อไป  

 เจาะลึกพื้นที่ภาคเกษตร“ทุ่งรังสิต”
                “เป็นอีกโครงการที่ วช.ให้การสนับสนุนตามโครงการวิจัยแบบมุ่งเป้า เป็นการบูรณาการงานวิจัยของสถาบันการศึกษา 8 แห่ง ภายใต้เครือข่าย RUN มีระยเวลา 3 ปี ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายต่อไป” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน Agri-Big Data Run’s Way ซึ่งเป็นนิทรรศการนำเสนอข้อมูลผลการวิจัยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารวชิรานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 
                  จากสถานการณ์ทางการเกษตรในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการทำการเกษตรเพื่อยังชีพในอดีต เป็นการทำการเกษตรเพื่อการค้าขายและและการส่งออก ทั้งผลผลิตสดและการแปรรูป ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับการเกษตรคือ การผลิตสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ โดยการดำเนินงานต้องเริ่มตั้งแต่การวางแผนการผลิต กระบวนการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เหล่านี้เกษตรกรมักประสบปัญหาด้านการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตสูง ถ้าหากเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต โดยใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ทางการเกษตร เช่น ข้อมูลปัจจัยการผลิต อาทิ น้ำ ดิน ปุ๋ย การพยากรณ์ศัตรูพืช การเตือนภัยธรรมชาติ ฯลฯ ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต และลดต้นทุนการผลิต สุดท้ายจะช่วยยกระดับและความกินดีอยู่ดีของเกษตรกร เพียงแค่เกษตรกรต้องปรับตัวในการเข้าถึงฐานข้อมูลผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นมือถือ

 เจาะลึกพื้นที่ภาคเกษตร“ทุ่งรังสิต”
                 ผศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเป็นหัวหน้าแผนกิจกรรมการพัฒนาการเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้วยการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Agri-Big Data Run’s Way) กล่าวถึงแผนกิจกรรมการพัฒนาเกษตรไทยสู่ระบบอัจฉริยะด้วยการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ว่า ประกอบด้วย 13 โครงการวิจัยย่อย ใน 4 กลุ่ม คือ กลุ่มการพัฒนาระบบการผลิตพืชและสัตว์ กลุ่มการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการบริหารจัดการและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในอาชีพ และกลุ่มการพัฒนาระบบดิจิทัลและสารสนเทศ  โดยเลือกทุ่งรังสิตเป็นพื้นที่วิจัย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ยกเว้นกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ดังกล่าวมีระบบชลประทานเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถผลิตข้าว ผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ปศุสัตว์ และประมง เป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว

 เจาะลึกพื้นที่ภาคเกษตร“ทุ่งรังสิต”
              จากข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในพื้นที่ทุ่งรังสิตปี 2556 (GDP ภาคเกษตร 6 จังหวัด) พบว่าผลผลิตมวลรวมภาคการเกษตรเท่ากับ 45,710 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 3.71 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดของพื้นที่ทุ่งรังสิต โดยมีสินค้าเกษตรสำคัญได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคเนื้อและสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้งนี้ทุ่งรังสิตมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรกรรมรวม 5,414,799 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 3,052,735 ไร่ พืชไร่ 1,074,239 ไร่ สวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 344,204 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวรวมจำนวน 149,893 ครัวเรือน พื้นที่ถือครองเฉลี่ย 35.21 ไร่ต่อครัวเรือน จะเห็นได้ว่าภาคเกษตรมีความสำคัญต่อพื้นที่ทุ่งรังสิตตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพื้นที่มีศักยภาพการผลิตสูง ทั้งยังมีความพร้อมด้านการชลประทานและการคมนาคมขนส่งด้วย
                 ผศ.ดร.สุตเขตต์ยอมรับว่า ปัญหาการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ทุ่่งรังสิตในปัจจุบันยังขาดความเหมาะสมกับศักยภาพอย่างเต็มที่ อันเกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและอุตสาหกรรม ขณะที่วิถีการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรแบบดั้งเดิม มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีน้อยมาก อีกทั้งยังขาดโอกาสการเข้าถึงหรือขาดการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ในการช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในไร่นาของตนส่งผลทำให้ผลผลิตตกต่ำ มีภาระต้นทุนการผลิตสูง เกิดการขาดทุน มีรายได้ระดับครัวเรือนที่ไม่เหมาะสมกับรายจ่าย ภาวะหนี้สินครัวเรือนภาคเกษตรค่อนข้างสูงส่งผลให้เกิดภาวะการช่วยเหลือชดเชยจากภาครัฐ อันเป็นปัญหาระดับนโยบายระดับชาติที่ไม่สามารถแก้ไขป้องกันให้หมดลงได้อย่างเบ็ดเสร็จ
                  “จากข้อมูลการวิจัยที่พบพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ในทุ่งรังสิตยังคงทำตามวิถีการผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบใหม่ๆ หรือทราบว่ามีเทคโนโลยีใหม่ แต่ก็ยังขาดการนำไปใช้อย่างจริงจัง ซึ่งหากสามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วนี้ไปสร้างเป็นระบบเพื่อช่วยสำหรับการตัดสินใจในการทำการเกษตรและสร้างแแนวทางสำหรับการทำเกษตรที่เหมาะสม ตลอดจนแนวทางการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิตจะส่งผลให้เกิดการกินดีอยู่ดีและความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี” หัวหน้าโครงการกล่าว
             เขาย้ำด้วยว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องเร่งปฏิรูปการเกษตรในพื้นที่ทุ่งรังสิตและของประเทศด้วยระบบเกษตรดิจิทัล (Digital Agriculture) โดยอาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัลในการบริหารจัดการและการตัดสินใจเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องคุ้มค่า ลดอัตราการสูญเสียความเสี่ยงลดต้นทุนการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนช่วยเพิ่มการสร้างโอกาสทางการตลาดรักษาสมดุลของปริมาณผลผลิตเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและความอยู่ดีกินของคนในชาติต่อไป


  “การมีส่วนร่วม-ดินเปรี้ยว”ยังเป็นปัญหาทุ่งรังสิต
           ดร.ธานินทร์ คงศิลา หัวหน้าภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การยอมรับและสนับสนุนการตัดสินใจในอาชีพเกษตรดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการวิจัยย่อยในโครงการบิ๊กดาต้า กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาหลักในพื้นที่ทุ่งรังสิตคือปัจจัยการผลิตราคาสูง เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรบางรายไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ขาดการวิเคราะห์คุณภาพดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชทำให้ใส่ปุ๋ยมากเกินไปหรือน้อยเกินความจำเป็นที่พืชต้องการ ขณะที่ค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตรสูงและยังขาดแคลนแรงงานในช่วงเก็บเกี่ยวอีกด้วย นอกจากนี้เกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ในการปลูกข้าวและการผลิตเพื่อลดต้นทุนในทุกขั้นตอน เช่น การเรียนรู้การใช้ปุ๋ยสั่งตัด การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรขนาดใหญ่ในกระบวนการผลิต ตลอดจนการส่งเสริมการตลาด
              “หลังจากที่เราได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่ทุ่งรังสิต สิ่งที่เราพบเจอก็คือ ปัญหาการใช้ปุ๋ยไม่ถูกวิธีทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เราก็ประสานให้ทีมปุ๋ยสั่งตัดมาดูแล เจอปัญหาโรคและแมลงระบาดเราก็ประสานไปยังทีมโรคพืช แต่สิ่งที่เกษตรกรยังขาดก็คือ การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม การรวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่าย  โดยจะเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำมากกว่า  ส่งผลทำให้น้ำหนักในการต่อรองการขายผลผลิตมีน้อย” ดร.ธานินทร์ให้มุมมอง 
              สกล ผ่านเมือง  นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดปทุมธานี กล่าวยอมรับว่า ปัญหาภาคการเกษตรของทุ่งรังสิตที่พบและเป็นปัญหามาอย่างยาวนานก็คือดินเปรี้ยว โดยเฉพาะ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ส่วนวิธีการแก้จะให้เกษตรกรใส่ปูนมาร์ลเพื่อปรับค่าของดิน นอกจากนี้น้ำในระบบชลประทานก็จะช่วยลดความเปรี้ยวของดินลงได้ระดับหนึ่งด้วย ทำให้ปัจจุบัน อ.หนองเสือ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี ส่วนตลาดไม่ค่อยมีปัญหา เพราะผลผลิตส่วนใหญ่ส่งตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง บางส่วนก็มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ 
             “เดี๋ยวนี้สภาพพื้นที่ดินในทุ่งรังสิตดีีกว่าเมื่อก่อนเยอะ  ดินเปรี้ยวเริ่มลดลง สามารถปลูกพืชได้หลากหลายมาก ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น แต่ปัญหาส่วนใหญ่คือการเข้าถึงข้อมูลของเกษตรกรยังน้อยอยู่” นักวิชาการคนเดิมกล่าว
                             .................................................
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ