Lifestyle

เปิดแผนป้องกัน‘น้ำท่วม’เมืองเชียงใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดแผนป้องกัน‘น้ำท่วม’เมืองเชียงใหม่

                  การเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และลำพูน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ขาดแคลนน้ำราวปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม.) และในอีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเกิดการขาดแคลนน้ำมากถึงปีละ 173 ล้านลบ.ม. ขณะที่การท่องเที่ยวกลายเป็นภาคเศรษฐกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง ในระยะหลังๆ เริ่มชัดเจนขึ้นทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหาร ห้องพัก เส้นทางและบริการด้านต่างๆ รวมถึงเสน่ห์คนไทยที่ต่างชาติชื่นชอบ เชียงใหม่โดดเด่นครบถ้วน 

เปิดแผนป้องกัน‘น้ำท่วม’เมืองเชียงใหม่

                 ทว่าจุดด้อยตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ในที่ราบรายล้อมด้วยขุนเขา ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ฝนตกหนักทีไรน้ำก็ท่วมเมืองเชียงใหม่แทบทุกครั้งไป กลับกันหน้าแล้งทีไรใจก็หวั่นกับการขาดแคลนน้ำชนิดต้องซื้อทั้งน้ำกินและน้ำใช้  

              จะเห็นว่าเชียงใหม่ตอนบนมีแหล่งน้ำสำคัญ 3 สายหลัก คือแม่น้ำแม่แตงในแนวตะวันตก แม่น้ำแม่ปิงในแนวเหนือ-ใต้ และแม่น้ำแม่งัดในแนวตะวันออก การที่จะมีน้ำมั่นคงโดยปกติต้องมีเขื่อนคอยปิดกั้นลำน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมฤดูฝนและนำน้ำไปใช้ในฤดูแล้ง  ทว่าเชียงใหม่ตอนบนกลับมีเฉพาะเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเพียงแห่งเดียว ส่วนอีก 2 แห่งถูกคัดค้านต่อต้านจนค้างเติ่งมาจนถึงวันนี้

                จึงไม่แปลกใจว่าทำไมน้ำในฤดูฝนจากแม่แตงที่ไปสมทบกับแม่ปิง ไหลบ่าลงไปท่วมเมืองเชียงใหม่แบบไม่มีอะไรขวางกั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละปีฉลี่ย 400-500 ล้านบาท ในทางกลับกันในฤดูแล้งกลับไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนอย่างอ่างเก็บน้ำหวังพึ่งน้ำจากอ่างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเพียงแห่งเดียวคงไม่ไหว คนเชียงใหม่ก็ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

                  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาภายใต้ข้อจำกัดที่ว่านี้ระหว่างนำคณะสืื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยระบุว่ากรมชลประทานต้องใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการใช้คลองแม่แตงในการผันน้ำ  ด้วยการขยายศักยภาพของคลองแม่แตงให้เพิ่มขีดความสามารถรับน้ำจากเดิม 19-26 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อตัดยอดน้ำไม่ให้ไหลลงมาในพื้นที่เขตตัวเมืองเชียงใหม่

              ขณะเดียวกันช่วงสุดปลายคลองแม่แตงระยะทางกว่า 70 กิโลเมตรจะขุดคลองใหม่ระยะทาง 1-2 กิโลเมตรตามแนวเกาะกลางถนนที่เว้นไว้ เพื่อส่งน้ำลงแม่น้ำขานด้วยอัตรา 19 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำจากดอยสุเทพ ปุย ที่หลากท่วมเมืองก็ผันออกนอกเมืองได้โดยง่าย

                นอกจากนี้ยังใช้คลองแม่แตงผันน้ำไปเก็บไว้ตามแก้มลิงในพื้นที่หน่วยงานทหารที่บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน อาทิ มณฑลทหารบกที่ 33 กองพันทหารสัตว์ต่าง กองพลทหารราบที่ 7 พลรบพิเศษที่ 5 ศูนย์ประชุมนานาชาติ เป็นต้น ในระยะแรกมีจำนวน 5 แห่ง ความจุ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะต่อไปจะขยายเพิ่มอีก 10 แห่ง มีความจุ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรเช่นกัน รวมทั้งเหนือบริเวณฝายแม่แตงที่เก็บน้ำได้อีก 6 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณการเก็บน้ำได้ทั้งหมด 8 ล้านลูกบาศก์เมตร

                “แก้มลิงหรือธนาคารน้ำเหล่านี้ช่วยหน่วงน้ำฤดูฝน และเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับอุปโภคบริโภคของเมืองเชียงใหม่ในฤดูแล้ง ที่ว่าขาดน้ำก็จะบรรเทาเบาบางลง ส่วนโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือการผันน้ำจากฝายแม่แตงกว่า 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล แล้วผันอีกครั้งไปเติมอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธาราสำหรับการป้อนประปาเมืองเชียงใหม่ประมาณ 140 ล้านลูกบาศก์เมตร จะช่วยลดผลกระทบเมืองเชียงใหม่ในฤดูน้ำหลาก กลับกันจะช่วยให้ประปาเชียงใหม่มีน้ำมั่นคงยิ่งขึ้น” รองอธิบดีกรมชลประทานเผย

               อย่างไรก็ตาม จ.เชียงใหม่ ไม่ใช่ประสบเฉพาะปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมด้วย ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฝนที่ตกในพื้นที่เมือง และมีน้ำหลากมาจากดอยสุเทพ ดอยปุย ไหลเข้ามาท่วมในเมืองเชียงใหม่ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากในทุกๆ ปี กรมชลประทานจึงมีแผนที่จะปรับปรุงคลองแม่แตงให้สามารถดักน้ำที่หลากจากดอยสุเทพ ดอยปุย ที่อยู่ฝั่งตะวันตก เข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่แทนการไหลเข้าเมืองเชียงใหม่ 

               พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารรับน้ำจากห้วยช่างเคี่ยนและห้วยแก้วลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ก่อสร้างกำแพงริมคลองช่างเคี่ยนทั้งสองฝั่ง น้ำไม่ล้นตลิ่ง โดยระดับสันกำแพงกำหนดให้ใกล้เคียงกับระดับดินของคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาหรือสูงกว่าเล็กน้อย เพื่อบังคับน้ำในห้วยช่างเคี่ยน และห้วยแก้วให้ระบายลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ตลอดจนปรับปรุงขยายอาคารรับน้ำลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของห้วยช่างเคี่ยนให้สามารถรองรับน้ำหลากได้ในปริมาณ 25.62 ลบ.ม.ต่อวินาที และห้วยแก้วให้รองรับน้ำหลากได้ 26.51 ลบ.ม.ต่อวินาที

                 จากมาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยให้เมืองเชียงใหม่พ้นจากภาวะน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก อย่างน้อยลดการสูญเสียจากอุทกภัยปีละ 400-500 ล้านบาท และต้องลำบากลงทุนหาน้ำในฤดูแล้งเพื่อก้าวไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้อย่างยิ่งยืน 

  บูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำ “ท่วม-แล้ง” 

                 จานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (จ.เชียงใหม่) กล่าวถึง “โครงการฝากน้ำป้องกันน้ำท่วม-ภัยแล้ง" ว่าเป็นโครงการนำร่องที่โครงการชลประทาน จ.เชียงใหม่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง บูรณาการร่วมกันกับ มณฑลทหารบกที่ 33 กองพันสัตว์ต่าง กองพลทหารราบที่ 7 กองรบพิเศษที่ 5 และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์กรมหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤติ โดยเป็นการนำน้ำจากลำน้ำแม่แตงในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการส่งน้ำเข้าแปลงเพาะปลูกไปเก็บไว้ในแหล่งกักเก็บน้ำที่จัดเตรียมไว้เพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องความมั่นคงทางน้ำให้แก่คนเชียงใหม่ว่าจะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการอย่างแน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มจะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เป็นเหตุให้น้ำในลำน้ำแม่แตงมีปริมาณน้ำน้อย ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของคนเชียงใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการท่องเที่ยว และอื่นๆ

                 สำหรับหลักการบริหารจัดการน้ำนั้น จะเริ่มจากการสูบน้ำจากคลองน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาที่รับน้ำมาจากฝายแม่แตง เข้าไปเก็บกักในแหล่งน้ำ 5 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยหยวก สามารถเก็บกักได้ 300,000 ลบ.ม. สระเก็บน้ำในศูนย์ประชุมนานาชาติ 6 แห่ง เก็บกักได้ 532,000 ลบ.ม. สระเก็บน้ำในกองพันสัตว์ต่าง 1 แห่ง เก็บกักได้ 120,000 ลบ.ม. สระเก็บน้ำกองพลทหารราบที่ 7 จำนวน 3 แห่ง เก็บกักได้ 119,000 ลบ.ม. และสระเก็บน้ำพลรบพิเศษที่ 5 อีก 1 แห่ง เก็บกักได้ 20,000 ลบ.ม. รวมทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านลบ.ม.

                 โดยจะสูบในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่เกษตรกรกำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งปริมาณน้ำในช่วงนั้นจะมีปริมาณมากกว่าความต้องการ จึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการทำการเกษตร จากนั้นก็จะนำมาใช้ในช่วงฤดูแล้งที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ในอนาคตหากต้องการกักเก็บน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้นยังสามารถที่ขุดสระน้ำหรือพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงบริเวณสองข้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ที่เป็นพื้นที่ในเขตทหารเพื่อเก็บน้ำเพิ่มเติมช่วงที่เกิดน้ำหลากได้อีกด้วย และถ้าหากโครงการนำร่องดังกล่าวประสบผลสำเร็จ กรมชลประทานจะนำไปขยายผลไปดำเนินโครงการในพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะปัญหาใกล้เคียงกัน

                 “โครงการฝากน้ำป้องกันน้ำท่วม-ภัยแล้ง มีลักษณะการดำเนินการใกล้เคียงกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ที่กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างในขณะนี้ ซึ่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะเจาะอุโมงค์ผันน้ำจากลำน้ำแม่แตงมาเก็บหรือฝากไว้ที่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูน้ำหลากและจากอ่างแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังอ่างแม่กวงอุดมธารา รวมปริมาณน้ำที่จะผันทั้งสิ้น 160 ล้านลบ.ม.ต่อปี และเมื่อถึงช่วงฤดูแล้งก็จะส่งน้ำที่ฝากไว้ในอ่างแม่งัดสมบูรณ์ชลย้อนกลับมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงอีกประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นการสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้ จ.เชียงใหม่” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (จ.เชียงใหม่) กล่าวย้ำ  

อุโมงค์ส่งน้ำ “แม่แตง-แม่งัด” แหล่งเก็บน้ำต้นทุน 

                การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ย 47 ล้านลบ.ม.ต่อปี ลักษณะของอุโมงค์ส่งน้ำมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.20 เมตร ความยาวราว 23 กิโลเมตร ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26.00 ลบ.ม.ต่อวินาที

                ส่วนระยะที่ 2 อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด โดยจะส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตงมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดเพื่อผันน้ำส่วนที่เกินความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนเฉลี่ย 113 ล้านลบ.ม.ต่อปี เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 4 ช่องปิดกั้นลำน้ำแม่แตงที่บ้านแม่ตะมาน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง และก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.00 เมตร ความยาวราว 26 กิโลเมตร

                 ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างทั้ง 2 ระยะแล้วเสร็จ จะสามารถผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงได้รวมทั้งสิ้น 160 ล้านลบ.ม.ต่อปี โดยโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดและอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรองรับความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ทั้งยังช่วยลดปัญหาด้านอุทกภัยของลุ่มน้ำในเมืองเชียงใหม่

               นอกจากนี้ยังเตรียมรองรับความต้องการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.เมืองสันกำแพง ดอยสะเก็ด สันทราย จ.เชียงใหม่ และจ.ลำพูน รวมถึงเป็นการรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ และที่สำคัญเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่-ลำพูน ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ