Lifestyle

อินเตอร์ประชารัฐเพื่อความมั่นคงของน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อินเตอร์ประชารัฐเพื่อความมั่นคงของน้ำ

           การบูรณาการด้านน้ำของกรมชลประทาน ไม่จำกัดเฉพาะความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ อีกต่อไปเท่านั้น หากยังขยายวงสู่หน่วยงานระดับนานาชาติอีกด้วย อย่างเช่นกองทุนกรีนไคลเมทฟันด์ (GCF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)  จะถือเป็นอินเตอร์ประชารัฐก็ย่อมได้

อินเตอร์ประชารัฐเพื่อความมั่นคงของน้ำ

           กองทุนกรีนไคลเมทฟันด์ (GCF) แปลเอาความว่า กองทุนสีเขียวลดโลกร้อน เป็นโต้โผเจ้าของเงินทุน ที่จะให้การสนับสนุนโครงการใดๆ ในประเทศด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่ไม่ได้ให้โดยตรงต้องผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานที่ GCF เห็นว่ามีขีดความสามารถบริหารจัดการการเงินที่ดี ซึ่ง UNDP ก็เป็นหนึ่งในบรรดาหน่วยงานดังว่า

            ในขณะที่ GIZ ถึงไม่เกี่ยวข้องกับ GCF โดยตรง แต่ให้การสนับสนุนกรมชลประทานทางด้านเทคนิค ในฐานะที่เชี่ยวชาญด้านการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือช่วยลดโลกร้อนนั่นเอง

             โครงการที่กรมชลประทานร่วมมือกับ UNDP และ GIZ คือโครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์หรือลุ่มน้ำยมตอนล่างนั่นเอง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก การเพาะปลูกประสบความเสียหายทุกปี และพอถึงฤดูแล้งกลับขาดแคลนน้ำทำกินเสียอีก

อินเตอร์ประชารัฐเพื่อความมั่นคงของน้ำ

            “โจทย์คือ มาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างหรือไม่ใช้สิ่งก่อสร้างในโครงการ จะป้องกันหรือลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันชาวบ้านจะปรับตัวกับสภาพที่เป็นอยู่อย่างไร เป็นเรื่องที่กองทุนสีเขียวลดโลกร้อน ต้องการได้คำตอบจากเรา” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานเล่าถึงที่มาของความต้องการของ GCF

                สถานภาพโครงการในขณะนี้ผ่านมาแล้วครึ่งทาง คือการจัดทำข้อเสนอและแผนโครงการ รวมทั้งด้านเทคนิคโดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก UNDP และ GIZ คอยประกบ แต่ก่อนที่ UNDP จะส่งให้ GCF พิจารณานั้น ต้องให้สำนักแผนและนโยบายสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบก่อน จากนั้น UNDP จะเสนอโครงการเข้ารับการสนับสนุนทางการเงินจาก GCF แข่งกับประเทศอื่นๆ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่โครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือ จ.นครสวรรค์ จะได้รับการอนุมัติจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท

อินเตอร์ประชารัฐเพื่อความมั่นคงของน้ำ

               “สิ่งหนึ่งที่กรมชลประทานต้องการสื่อสารกับสังคม คือเราเองก็ให้น้ำหนักการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับงานออกแบบและด้านการก่อสร้าง เช่น การปรับวิธีการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขการปฏิบัติตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เราก็ปฏิบัติตามมาโดยตลอด ต้องสนับสนุนปลูกพื้นที่ป่าเพิ่มเป็น 2-3 เท่า ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน แต่ในกรณีโครงการลดผลกระทบโลกร้อนจากโครงการแก้มลิงเหนือพื้นที่ จ.นครสวรรค์ แม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้เราต้องทำ แต่ทำแล้วเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เราก็พร้อมจะเดินหน้าทำเช่นกัน”

               ลุ่มน้ำยมมีรูปลักษณ์เสมือนกรวย ด้านบนหรือลุ่มน้ำยมตอนบนจากด้านใต้ จ.พะเยา ลงมาถึง จ.แพร่ จะกว้าง พอมาถึงตรงลุ่มน้ำยมตอนกลางก็ค่อยๆ แคบเข้า แล้วมาเรียวเล็กเป็นท่อกรวยหรือคอขวดเอาบริเวณ ลุ่มน้ำยมตอนล่างตั้งแต่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบและลุ่มต่ำ น้ำจากตอนบนและตอนกลางซึ่งเป็นที่สูงกว่าจึงไหลเทลงมาประดังตอนล่าง ในขณะที่ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่คอยเก็บกักน้ำบริเวณลุ่มน้ำตอนบนเหมือนแม่น้ำปิง วัง และน่าน น้ำจึงท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างเสียหายตลอดมา

               หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 มีการวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาวแบบบูรณาการ หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหานั้นคือการพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นประจำให้สามารถใช้เป็นที่ควบคุมน้ำชั่วคราวในช่วงอุทกภัยและนำไปใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง เป็นแก้มลิงตามศาสตร์พระราชา

                การต่อต้านการโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน-ยมล่าง ทำให้กรมชลประทานต้องปรับแผนมาก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางตามลำน้ำสาขาแม่น้ำยมแทน โดยได้ดำเนินการบูรณาการพัฒนาแหล่งน้ำแบบประชารัฐ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน มีการสร้างประตูระบายน้ำรวมทั้งฝายในลำน้ำยมเอง เพื่อทำหน้าที่จัดการน้ำลดผลกระทบน้ำท่วม รวมทั้งกักเก็บน้ำปลายฤดูฝนในลำน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ซึ่งประสบผลสำเร็จน่าพอใจ อย่างน้อยได้ทำนาในฤดูแล้งปีละ1 ครั้งแน่นอน

                ส่วนฤดูน้ำหลาก เมื่อเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างไรเสียน้ำก็หลากท่วมนาเสียหาย และไม่อาจปรับเปลี่ยนปีปฏิทินการเพาะปลูกเป็น 1 เมษายน เพื่อเก็บเกี่ยวหนีน้ำหลากท่วมได้ เพราะไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนคอยจุนเจือเหมือนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นจำต้องอยู่กับสภาพน้ำท่วมต่อไป โดยปรับเปลี่ยนไปทำอาชีพการประมง หรืออื่นๆ ที่เหมาะสม และใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงชั่วคราวแทนและใช้ประโยชน์จากน้ำต้นทุนนี้ในการเพาะปลูกฤดูแล้ง

                   ผลการศึกษาพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือ จ.นครสวรรค์ ประกอบด้วยพื้นที่แก้มลิงย่อย 69 แห่ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 24 อำเภอ 153 ตำบล สามารถเก็บกักน้ำชั่วคราวได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร จำแนกเป็นทุ่งนาในเขตชลประทาน 723 ล้าน ลบ.ม. และนอกเขตชลประทาน 1,326 ล้าน ลบ.ม.โดยใช้งบประมาณในการลงทุน 29,000 ล้านบาทในระยะ 5 ปี

                 “เพื่อให้พื้นที่แก้มลิงสามารถบริหารจัดการกักเก็บน้ำชั่วคราวได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทานจะเข้าไปก่อสร้างปรับปรุงอาคารที่ใช้ควบคุมน้ำ เช่น ประตูระบายน้ำ ถนนหรือคันคลองที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ เพื่อควบคุมน้ำแทนปล่อยตามสภาพธรรมชาติ” ดร.สมเกียรติกล่าว

                 ทั้งนี้ราษฎรในพื้นที่แก้มลิง 57,325 ครัวเรือน ประมาณ 163,672 คน ได้รับประโยชน์โดยตรงที่น้ำไม่ท่วมบ้านเรือน เพราะจะคุมน้ำให้อยู่ในทุ่งนา และจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนสัญจรสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นราษฎรที่อาศัยในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน ตั้งแต่ท้ายแก้มลิงไปถึงจุดบรรจบแม่น้ำปิงที่นครสวรรค์อีก 122,315 ครัวเรือน ประมาณ 348,309 คน รวมทั้งราษฎรในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังพลอยได้รับประโยชน์อีกด้วย

                แก้มลิง 69 แห่ง ทำหน้าที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำ 2,069 ล้าน ลบ.ม. ช่วงปลายฤดูฝน ไม่ให้ไหลลงไปกองด้านล่างบริเวณ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาจากลุ่มน้ำปิง วัง และน่าน สะดวกขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น

               เป็นอีกก้าวของกรมชลประทานในความพยายามแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ที่มีข้อขัดแย้งเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างรุนแรง

   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ