Lifestyle

 จากอีอีซีสู่ “One Belt One Road”เชื่อมไทย เชื่อมโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 จากอีอีซีสู่“One Belt One Road” บูรพาภิวัฒน์เชื่อมไทย เชื่อมโลก

                การประกาศเส้นทางสายไหมทางทะเลใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ภายใต้ยุทธศาสตร์การค้า "อี่-ไต้-อี่-ลู่" หรือ One Belt, One Road แปลความเป็นภาษาไทย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ถือเป็นการประกาศแผนเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศของจีนให้ชาวโลกได้รับรู้ได้อย่างชัดเจนที่สุด   เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินเรือในอดีตที่เชื่อมจีนกับโลกที่มีการปรับใหม่ในยุคผู้นำที่ชื่อ สี จิ้นผิง  ขณะที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากจุดเชื่อมต่อกับเส้นทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยใช้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เป็นตัวขับเคลื่อน
ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทย จัดเสวนาทางวิชาการ "ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ของไทยกับยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน" ณ ห้องประชุม ศูนย์วัฒนธรรมจีน ห้วยขวาง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เพื่อรับรู้ความเคลื่อนไหว ตลอดจนความเข้าใจร่วมกัน 

 จากอีอีซีสู่ “One Belt One Road”เชื่อมไทย เชื่อมโลก

                ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้ฉายภาพความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการอีอีซี โดยระบุว่าโครงการนี้เป็นโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเก่าที่รัฐบาลนำมาปัดฝุ่นใหม่และขยายพื้นที่เพิ่มให้ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งก็มีกิจกรรมเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก ระบบมอเตอร์เวย์และสนามบินอู่ตะเภา เพียงแต่ที่ผ่านมายังใช้งานไม่เต็มที่ มีอุตสาหกรรมหลายอย่างอยู่ในนั้น เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเคมิคอลและอีกหลายอุตสาหกรรม  แต่เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำนโยบายใหม่เรื่องไทยแลนด์ 4.0 ก็เลยมาพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวไปทางทิศตะวันออก โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว และขณะนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็เร่งทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ถ้าพูดถึงประเทศจีนเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะที่โน่นเขาได้ทำอยู่แล้วในหลายมณฑล 

 จากอีอีซีสู่ “One Belt One Road”เชื่อมไทย เชื่อมโลก
             ส่วนที่มีชื่อว่าระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ดร.คณิศเผยว่า เป็นเพราะอยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปทางทิศตะวันออกก็เลยเอาพื้นที่ 3 จังหวัดมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อให้การขยายตัวของเมืองหลวงกลายเป็นมหานครใหญ่ เมกะเมโทรโพลิสที่จะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ทำให้จำเป็นต้องนำกิจกรรมหลักมาเพิ่มลงไปในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเดิม ซึ่งมีทั้งหมด 4 กลุ่ม  15 โครงการใหญ่และเป็นโครงการเร่งรัดอีก 5 โครงการ สำหรับกลุ่มใหญ่ๆ ก็มีกลุ่มที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรัคเจอร์  กลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมนำ กลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมบริการและกลุ่มที่เป็นการพัฒนาคุณภาพ
             อย่างที่กล่าวกันไว้ว่า ถ้าอยากจะรวยต้องสร้างถนนก่อน อันนี้ถูกต้อง สิ่งแรกที่รัฐบาลดำเนินการก็คือ การสร้างถนน ระบบขนส่ง สร้างอินฟราสตรัคเจอร์ แต่ไม่จบแค่นั้น มีการประกาศสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ไปพร้อมกัน ไม่ใช่ดำเนินการทีละอย่าง หลักๆ เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานก็จะมีการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพ เชื่องโยงกับ 2 สนามบิน คือ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ โดยรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีการขยายท่าเรือเพิ่ม 3 แห่งได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ ซึ่งทั้ง 3 ท่าเรือจะเอารถไฟทางคู่เป็นโหมดในการขนส่งเชื่อมทั้ง 3 ท่าเรือ
              “วันนี้คุณเฉิน (ฉิน เจียง อุปทูตจีนประจำประเทศไทย) ท่านมองถูกเพราะว่าตรงอู่ตะเภามันมีการเชื่อมโยงการขนส่งทั้ง 3 โหมด มีทั้งทางเรือ ทางอากาศ และทางบกแล้ว ก็มีรถไฟทางคู่เชื่อมจากท่าเรือสู่สนามบินอู่ตะเภา มันเป็นการเชื่อมระบบการขนส่งที่เป็นระบบและครบวงจร”

 จากอีอีซีสู่ “One Belt One Road”เชื่อมไทย เชื่อมโลก
เลขาธิการอีอีซีแจงรายละเอียดต่อว่า นอกจากระบบโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรัคเจอร์แล้ว ในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีการพูดคุยกับนักลงทุนรายใหญ่ๆ จากทั่วโลก เพื่อเชิญชวนให้เขามาลงทุนในอีอีซี   ความคืบหน้าในส่วนนโยบายอย่างเช่น นโยบายการผลิตรถไฟฟ้าและไบโออีโคโนมีก็เข้า ครม.ไปแล้ว คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะมีเรื่องแพ็กเกจ สนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เข้า ครม.อีก ซึ่งเป็นแพ็กเกจพิเศษที่จะช่วยกันพัฒนาพื้นที่แถบนี้ ที่ผ่านมามีหลายบริษัทให้ความสนใจแล้วก็กำลังคุยกับหลายบริษัท ยกตัวอย่างขณะนี้ เรากำลังคุยใกล้ชิดกับบริษัท โบอิ้ง มีกิจกรรมหลายอย่างที่จะทำด้วยกัน 
        ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา นายราล์ฟ บอยซ์ ประธานบริษัท โบอิ้ง เซาท์อีสเอเชีย ก็เข้าพบ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังการเข้าพบ ดร.สมคิดเปิดเผยว่า โบอิ้งสนใจลงทุนในไทยในการพัฒนาศูนย์กลางด้านการบิน สนใจทำโครงการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบทางการบิน รวมทั้งการลงทุนตั้งศูนย์ฝึกอบรมนักบิน เพื่อป้อนให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ 
             ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการก็จะยกระดับเมืองพัทยาเชื่องโยงกับระยองให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเดียวกัน เป็นชายทะเลเดียวกันและจะทำเมืองใหม่หรือชุมชนใหม่ที่ จ.ฉะเชิงทราด้วย ขณะเดียวกันก็มี 2 เขตเทคโนโลยีขึ้นก็คือ อีอีซี ดิจิทัล ที่ศรีราชา และอีอีซี เนเชอรัลพาร์ค อยู่ที่ระยอง ซึ่งขณะนี้กำลังพานักลงทุนเข้ามาก็ได้รายใหญ่ๆ พอสมควร รวมงบลงทุนทั้งหมดประมาณ 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 250 ล้านหยวน 
         ดร.คณิศกล่าวต่อว่า ในช่วงปีนี้รัฐบาลตั้งใจจะดำเนินโครงการ 5 บวก 1 ให้แล้วเสร็จ โดย 5 คือ 5 โปรเจกท์ใหญ่ที่จะเปิดประมูลให้ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า สิ่งที่ต้องทำอันแรกก็คือ เอาสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพให้ได้ ซึ่งตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป็นเขตแอร์พอร์ตซิตี้ไปแล้ว อันที่ 2 เอารถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับทั้ง 3 สนามบินให้ได้ระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร จากสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ใช้รถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40-45  นาที  

             ส่วนอุตสาหกรรมนำที่กำลังพูดคุยกันขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น แอร์บัส โบอิ้ง อาลีบาบา โตโยต้า  รวมทั้งหุ่นยนต์จากญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มเป็นไปด้วยดี ซึ่งอุตสาหกรรมนำที่จะเข้ามาในระยะแรกคาดว่าจะมีอย่างน้อย 30-50 บริษัท ส่วนจีนนั้นเราสนใจมาก ท่านก็สนใจเรา ที่ผ่านมาได้มีการเซ็นเอ็มโอยูกับแบงก์ออฟไชน่า โดยเราจะเดินทางไปพบนักลงทุนในจีนเพื่อจะดึงมาลงทุนในอีอีซีด้วย 
             เรื่องที่ 5 จะเน้นการสร้างเมือง ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทำเขตนวัตกรรม 2 แห่ง คือ อีอีไอ หรืออีอี อินโนเวชั่น และอีอี ดิจิทัล คาดว่าให้แล้วเสร็จปลายปี 2560 นี้  สำหรับบวก 1 นั้น เป็นเรื่องของกฎหมาย ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องกฎหมายไปเยอะพอสมควร ตอนนี้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ออกมาแล้ว กฎหมายกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้นก็เสร็จแล้ว

             สิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้มี 3 ฉบับ คือกฎหมายใหม่เกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม กฎหมายใหม่เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกฎหมายใหม่ที่เป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในการทำงาน เพราะอีอีซีทำงานอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษที่รัฐบาลออกให้เป็นกฎหมายที่ใช้มาตรา 44 และภายใน 2-3 เดือน กฎหมายอีอีซีน่าจะแล้วเสร็จ 
            “วันนี้เราพูดถึง “อี่-ไต้-อี่-ลู่” ตอนนี้ได้มีการศึกษาที่ออกมาใหม่ก็คือเรื่องเศรษฐกิจพิเศษ ชื่อว่า ไชน่า ลาว ไทย แอนด์ อีโคโนมิก คอริดอร์อันเดอร์ วันเบลท์ วันโรด  ที่จริงแล้วถ้ามองอีอีซีอย่ามองอีอีซีเฉพาะอีอีซี แต่มองอีอีซีว่าจะเชื่อมต่อกับวันเบลท์ วันโรดได้อย่างไร ถ้าดูตามแผนที่จากเอกสารทำโดยรัฐบาลมณฑลยูนนานเพื่อจะบอกว่ายูนนานมีผลประโยชน์กับวันเบลท์ วันโรดที่ลงมาทางนี้ค่อนข้างเยอะมาก  จากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคจากเมืองคุนหมิงโดยมีปลายทางคือสิงคโปร์ ซึ่งก็จะผ่านประเทศไทย โดยจะแยกสายรถไฟอีกด้านหนึ่งสู่แหลมฉบังเพื่อเพิ่มศักยภาพความสามารถในการขนส่งและโล จิสติกส์” ดร.คณิศกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
            นับเป็นอีกก้าวของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยใช้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการค้าของจีน ภายใต้โครงการ “อี่-ไต้-อี่-ลู่” หรือ One Belt, One Road หากแปลความเป็นภาษาไทยก็ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” นั่นเอง
 

มอง“ยุทธศาสตร์ไทย-จีน”ผ่านอีอีซี

            ธีรวัชร ภรสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ระดับของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยมีความร่วมมือกันในหลายมิติทั้งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงและสังคมวัฒนธรรมเพื่อก้าวไปสู่การเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และที่สำคัญความร่วมมือระหว่างไทย-จีนยังได้นำไปสู่การทำคุณประโยชน์ต่อภูมิภาคร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะนโยบาย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีน ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวด้วย
              ทว่าปัจจุบันความความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจได้ทวีความสำคัญมากขึ้น ประเทศจีนจึงกลายเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยในหลายตัวสินค้าและเป็นนักลงทุนต่างชาติระดับต้นๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยมากที่สุด ในขณะเดียวกันกระแสการพัฒนาที่จะมุ่งไปสู่ประเทศสังคมพื้นฐานความรู้ ซึ่งการวิจัยถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหรือหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการแสวงหาความรู้ที่จะนำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือเพื่อการพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ศึกษาวิจัย วิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นไทย-จีน เพื่อจะได้มีผลการวิจัยที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางดำเนินนโยบายทางยุทธศาสตร์และการพัฒนาประเทศร่วมกันต่อไป
              ทั้งนี้กรอบแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ประกอบด้วย 8 แผนย่อย ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบ และบริการโลจิสติกส์ 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม 4.การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ 5.การพัฒนาศูนย์กลางการเงิน 6.การพัฒนาบุคลากร 7.การพัฒนาเมืองใหม่ และ8.การประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยจะเน้นให้พื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โดยใช้แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ของจีนที่มณฑลเหอหนาน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างกันในอนาคต และท่าอากาศยานในภูมิภาคต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ