Lifestyle

ไทยจับมือญี่ปุ่น ผลิตเชื้อเพลิงจากไม้ยางพาราส่งโรงไฟฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยจับมือญี่ปุ่น ผลิตเชื้อเพลิงจากไม้ยางพาราส่งโรงไฟฟ้า

               ราคายางตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่อีกต่อไป เมื่อเกษตรกรชาวสวนยางมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า อันเป็นผลมาจากนโยบายการลดปริมาณการใช้ถ่านหินและการยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้ต้องแสวงหาพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในภายในประเทศมากขึ้น โดยมีเป้าหมายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยใช้วัตถุดิบจากไม้ให้ได้ 5 กิกะวัตต์ ในปี 2019 และในจำนวนนี้เขามีความต้องการวัตถุดิบเชื้อเพลิงจากประเทศไทยในรูปของพลังงานเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว โดยมุ่งเป้ามาที่ไม้ยางพารา ยูคาลิปตัสและกระถินอาคาเซีย  ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันต่อปี

ไทยจับมือญี่ปุ่น ผลิตเชื้อเพลิงจากไม้ยางพาราส่งโรงไฟฟ้า

               ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ห้อง Fortrop คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีการลงนามร่วมลงทุน (Join Venture) ระหว่างกลุ่มบริษัทเจซีเอส (JCS) ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่น กับ 3 บริษัทของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท นัมเบอร์ไนน์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็น เค ดีสคัพเวอร์รี่ จำกัด, และบริษัท ไทย เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด ในการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงจากไม้อัดเม็ด พร้อมทั้งการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการดำเนินการวิจัยและนวัตกรรมการจัดการวัตถุดิบเชื้อเพลิงพลังงานจากไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นระยะยาว โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายอลงกรณ์ พลบุตร ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยและรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการร่วมมืออย่างเป็นทางการของทั้งสองประเทศ 

ไทยจับมือญี่ปุ่น ผลิตเชื้อเพลิงจากไม้ยางพาราส่งโรงไฟฟ้า

              โดยนายอลงกรณ์กล่าวหลังพิธีลงนามว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการร่วมทุนระหว่างเจซีเอส กรุ๊ป บริษัทในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวันนี้ทั่วโลกมีความจำเป็นจะต้องก้าวไปสู่พลังงานทางเลือกใหม่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ  ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ ไม่ใช่เพียงก้าวเล็กๆ ของการลงทุน แต่เป็นก้าวใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศด้วย

                ดร.วระชาติ ทนังผล  กรรมการผู้จัดการบริษัท นัมเบอร์ไนน์ เอ็นเนอยี่ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกการร่วมทุน โดยระบุว่าผลจากความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสการเจริญเติบโตด้านไม้เศรษฐกิจ อีกทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่เกษตรไม่เหมาะสมปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน รวมถึงการดำเนินการแบบเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาลด้วย

                “การลงนามครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากท่านรองสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่แล้ว ท่านไปคุยกับท่านซินโช อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรื่องไม้ยางพาราและเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย จากนั้นกลุ่มบริษัทเจซีเอส มีความสนใจจะร่วมลงทุนผลิตวัตถุดิบเชื้อเพลิงจากไม้ยางพาราเพื่อนำไปป้อนโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น เขาจึงประสานผ่านมายังท่านอลงกรณ์ พลบุตร  วันนี้มีการลงนามก่อสร้างทั้งหมด 4 โรงงาน มีที่พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชลบุรี จะเป็นการร่วมลงทุน 40:60 เขาลง 40% ส่วนเรา 60% มูลค่าการลงทุนประมาณ 800 ล้านบาทต่อโรง แต่ละโรงมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 700 ตันต่อวัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2519” 

                 ดร.วระชาติ เผยต่อว่าสำหรับเป้าหมายของวัตถุดิบเจซีเอสต้องการนั้น จะเป็นรากไม้ยางพารา ปีกไม้ กิ่งไม้เศษไม้เหลือเป็นหลักเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง แต่เขายังไม่มั่นใจในเรื่องวัตถุดิบในระยะยาวว่าจะเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากยางพารามีรอบตัดฟันประมาณ 25 ปี จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้กระถินอาคาเซียและยูคาลิปตัสด้วยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

                 “ปกติในส่วนของรากยางพาราก็จะต้องขุดทิ้งอยู่แล้วไม่มีราคา  เศษกิ่งไม้ ปีกไม้ยางก็เช่นกัน เราต้องการส่วนนี้แหละที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ส่วนลำต้นก็นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ประมาณ 10-20% ต่อไร่ นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังได้ร่วมมือกับกยท. ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกระถินอาคาเซียในร่องยางปลูกใหม่ควบคู่กันไปด้วย เพราะอาคาเซียเป็นไม้โตเร็วตัดฟันได้ใน 3 ปี  เกษตรกรก็จะมีรายได้ระหว่างที่รอยางเปิดกรีด” บอสใหญ่นัมเบอร์ไนน์เผย

                 นายมาซามิ นากะคุโบ ประธานกลุ่มบริษัท เจซีเอส ประเทศญี่ปุ่นแจงรายละเอียดในการร่วมมือครั้งนี้ว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีเป้าหมายมากกว่า 5 กิกะวัตต์ต่อปี โดยกลุ่มเจซีเอสได้รับใบอนุญาตให้ผลผลิตไฟฟ้าขนาด 50 เมกะวัตต์ จำนวน 20 โรงงาน มีกำหนดเริ่มเดินเครื่องได้ในปี 2019 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากไม้ในประเทศไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณโรงงานละ 250,000 ตันต่อปี โดยจะพิจารณาจากศักยภาพของวัตถุดิบที่ยั่งยืนตลอดอายุ 20 ปีตามข้อตกลงในสัญญา

                       “เบื้องต้นได้ตัดสินใจร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทยจำนวน 6 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 1 ล้านตัน โดยมองศักยภาพของไม้ยางพาราในภาคใต้และระบบการขนส่งทางเรือเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากยางพารามีรอบตัดฟัน 25 ปี ซึ่งเกิดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบในระยะยาว จึงได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการวัตถุดิบ รวมถึงการวิจัยพัฒนาทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์ การหารูปแบบการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วใรูปแบบต่างๆ เช่นการปลูกร่วมกับสวนยางพาราที่มีอายุ 1-5 ปี รวมถึงการปลูกป็นสวนป่า เป็นต้น รวมไปถึงการดำเนินการพัฒนาระบบการจัดการป่าอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานระดับสากลด้วย”              

                     ประธานกลุ่มบริษัท เจซีเอส ย้ำด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายในการลดการใช้ถ่านหินและเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต โดยหันมาใช้พลังงานทดแทนเป็นสำคัญ ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ก็มีข้อจำกัดที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 5 ชั่วโมงเท่านั้น ที่สำคัญยังมีปัญหาเรื่องขยะที่เกิดจากแผงโซลาร์เซลล์เมื่อหมดอายุการใช้งานในอีก 20 ปีข้างหน้า  ขณะที่โรงงานฟ้าชีวมวลสามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาและเป็นพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกต้นไม้และมีการใช้ประโยชน์จากไม้ที่คุ้มค่าที่สุด ภายใต้ระบบการจัดการที่ยั่งยืนตามมาตรฐานนานาชาติ ตามแนวทางเอฟเอสซี เพื่อเป็นการการันตีว่าไม้นั้นถูกกฎหมาย ไม่เป็นไม้จากป่าธรรมชาติและเป็นการยืนยันถึงการให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย   

                   “ที่ญี่ปุ่นพื้นที่ปลูกไม้มีน้อย หากตัดฟันก็จะต้องปลูกใหม่ทันที มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางกลุ่มก็ได้เข้ามาสำรวจในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนมาระยะหนึ่งแล้วก็พบว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมที่สุด ทั้งในเรื่องวัตถุดิบ การขนส่งสินค้าและนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล  จึงตัดสินใจมาร่วมลงทุนที่ประเทศไทย” ประธานกลุ่มบริษัทเจซีเอสกล่าวทิ้งท้าย

                 นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญพลังงานสะอาดอย่างชีวมวล พลังงานแห่งโลกอนาคตอย่างแท้จริง

กยท.หนุนเอกชนปลูกไม้โตเร็วแซมยางป้อนโรงงาน                                                                    

              เชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงโครงการความร่วมมือในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากไม้ยางพารา ระหว่างบริษัทเอกชนไทยและญี่ปุ่นว่าจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลทีี่ต้องการลดพื้นที่ปลูกยางพาราปีละ 4 แสนไร่  ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในป้อนโรงงานการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลดังกล่าวได้ทันที โดยเฉพาะในส่วนของรากยางพารา ปีกไม้ เศษกิ่งไม้ยางที่ทุกวันนี้ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์มากนัก แต่หากในระยะยาวการใช้วัตถุดิบจากไม้ยางพาราอาจมีปัญหาได้ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยก็มีความจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบในส่วนนี้ป้อนให้โรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศเช่นกัน จึงจำเป็นจะต้องปลูกไม้โตเร็วมาเสริมควบคู่กันไปด้วย

            “ความร่วมมือน่าจะมี 2 แนวทาง แนวทางแรก กยท.ร่วมมือกับบริษัทเอกชนในการส่งเสริมปลูกไม้โตเร็วระหว่างร่องยางพาราปลูกใหม่ อย่างกระถินอาคาเซีย เพราะอาคาเซียเป็นไม้โตเร็วอายุ 3 ปีก็ตัดได้แล้ว แนวทางที่สอง บริษัทเอกชนจะต้องส่งเสริมเกษตรกรปลูกยูคาลิปตัสตามหัวไร่ปลายนา โดยมีโรงงานวู้ดเพลเลิตรับซื้อคืน ปกติการปลูกไม้โตเร็วเสริมในสวนยาง กยท.มีนโยบายส่งเสริมอยู่แล้ว เพียงแต่จำกัดให้ปลูกแค่ 15 ต้นต่อไร่ แต่หลังจากมีโครงการนี้เราก็จะให้ปลูกเต็มที่มากขึ้น ก็น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่ปลูกพืชคลุมและไม่ปลูกพืชแซมตามนโยบายของกยท.” รองผู้ว่าการ กยท.กล่าวย้ำ 

              อย่างไรก็ตามไม้ยางพาราถือเป็นไม้ที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีการโค่นไม้เพื่อปลูกทดแทนปีละประมาณ 4-5 แสนไร่ต่อปี ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีผลผลิตทางด้านเนื้อไม้เข้าสู่ตลาดราว 43 ล้านตันต่อปี และหากมีการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้โตเร็วโดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อภาคเกษตรหรืออุดมสมบูรณ์ต่ำ อย่างยูคาลิปตัสและกระถินอาเคเซียสายพันธุ์ดีในพื้นที่เหมาะสมก็จะยิ่งสร้างมูลค่าและเกิดความยั่งยืนแก่พื้นที่ ตลอดจนสร้างอาชีพและรายได้ให้พี่น้องชาวสวนยางและเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี

                                                       ...........................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ