Lifestyle

เปิด‘ตลาดสินค้าเกษตร’รับแปลงใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด‘ตลาดสินค้าเกษตร’รับแปลงใหญ่ ชู“สหกรณ์”ตัวกลางกระจายผลผลิต 

                หลังรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าประกาศนโยบายโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ หรือเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า "เกษตรแปลงใหญ่" มีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต โดยการรวมแปลงการผลิตของเกษตรกรเป็นแปลงใหญ่ มีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้แก่สินค้าเกษตร  มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยใช้ระบบสหกรณ์ในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกันมากว่า 2 ปี อาจกล่าวได้ว่า ถึงวันนี้มีหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะพื้นที่กลุ่มของเกษตรกรที่มีความพร้อม มีเครือข่ายสหกรณ์รองรับในการจัดการผลผลิต

เปิด‘ตลาดสินค้าเกษตร’รับแปลงใหญ่

                ปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตรแบบแปลงใหญ่ทั่วประเทศ 600 แปลง มีสหกรณ์อยู่ในพื้นที่แปลงใหญ่จำนวน 327 แปลง 334 สหกรณ์ ประกอบด้วย แปลงใหญ่ที่ดำเนินการในพื้นที่ของสหกรณ์ จำนวน 36 แปลง มีสมาชิก 7,696 คน พื้นที่ 171,482 ไร่  แปลงใหญ่ที่มีสมาชิกของสหกรณ์อยู่ในพื้นที่ จำนวน 283 แปลง มีสมาชิก 15,470 คน พื้นที่ 205,005 ไร่ และแปลงใหญ่สมัยใหม่ ดำเนินการในพื้นที่สหกรณ์ 10 แห่ง มีสมาชิก 379 คน พื้นที่ 3,593 ไร่  

              “ขณะนี้มีการทำข้อตกลงซื้อขายสินค้าการเกษตรจากพื้นที่แปลงใหญ่ ผ่านระบบสหกรณ์แล้ว จำนวน 358 แปลง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง โคนมและโคเนื้อ การบริหารจัดการแปลงใหญ่โดยสหกรณ์ ส่งผลให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มการผลิตที่เข้มแข็ง ลดต้นทุนจากการซื้อปัจจัยการผลิต และการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกัน มีระบบการบริหารจัดการผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน สร้างอำนาจต่อรองให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม”

เปิด‘ตลาดสินค้าเกษตร’รับแปลงใหญ่

                 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ของจังหวัด ทั้งนโยบายการบริหารจัดการแปลงใหญ่ข้าว และสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และยืนยันว่า ในปี 2560 กระทรวงมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่แปลงใหญ่เพิ่มอีก 400 แปลง จากเดิมที่มีอยู่ 600 แปลง รวมเป็น 1,000 แปลง ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 9 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย ข้าว พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ประมง ปศุสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ หม่อนไหม มีพื้นที่รวมประมาณ 5 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นปีละ 4.5 แสนไร่ และในระยะต่อไปจะเร่งผลักดันให้สหกรณ์ภาคการเกษตรที่มีความพร้อมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เข้าสู่ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทั้งหมดด้วย 

              เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมให้ระบบสหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่พัฒนาด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยระบบการผลิตจะต้องวางแผนการทำเกษตรให้เหมาะสม โดยใช้ อะกรี-แม็พ โซนนิ่ง, พัฒนาแหล่งน้ำ โดยสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยในการขุดสระกักเก็บน้ำ เจาะบ่อบาดาล แก่เกษตรกร เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ชำระหนี้ใน 5 ปี สร้างธนาคารเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรแปลงใหญ่ (ข้าว) แยกเป็นสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 10 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กู้ยืมเป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งจัดหาปัจจัยการผลิต เครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การตลาด และให้บริการเครื่องจักรกล เช่น รถเกี่ยวนวดข้าว เครื่องสีข้าวโพด เป็นต้น

เปิด‘ตลาดสินค้าเกษตร’รับแปลงใหญ่

            ตลอดจนระบบรวบรวมและแปรรูป โดยสหกรณ์จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ เพื่อนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า, สร้างความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ระหว่างเกษตรกร สหกรณ์ และภาคเอกชน สร้างองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาคุณภาพให้กับสินค้าเกษตรและบรรจุภัณฑ์สินค้า, การส่งเสริมช่องทางการตลาดผลผลิตสินค้าการเกษตรที่ผลิตขึ้นภายในพื้นที่แปลงใหญ่ แบ่งเป็นการซื้อขายระหว่างเกษตรกรตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเกษตรแปลงใหญ่กับสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่, การซื้อขายระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตกับสหกรณ์ผู้ซื้อ, การซื้อขายระหว่างสหกรณ์กับภาคเอกชน เช่น โรงสี บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และได้ผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าเกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ด้วย 

               “กระทรวงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายให้เป็นตลาดถาวร มีสถานที่ตั้งที่แน่นอนและเปิดให้บริการทุกวัน เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า ให้เกษตรกรหมุนเวียนจัดหาสินค้าที่ตนเองผลิตมาวางจำหน่าย และยังเป็นการรองรับสินค้าสำหรับพี่น้องเกษตรกรในแปลงใหญ่ เกษตรกรทฤษฎีใหม่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นได้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอน สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มีคุณภาพและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค”

                จะเห็นว่า จากการที่กระทรวงเกษตรฯ ในช่วงที่ผ่านมา มุ่งยกระดับภาคการเกษตรด้วยนโยบายส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ส่งผลทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้ 20% และเพิ่มผลผลิตจากการทำเกษตรแปลงใหญ่ได้ 3% ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ จ.อุตรดิตถ์นั้น มีการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรขึ้นที่สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด และมีการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์ให้เป็นตลาดถาวรและเปิดจำหน่ายได้ทุกวัน เพื่อเป็นช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่มีสถานที่จำหน่ายผลผลิตในท้องถิ่น สามารถวางแผนการผลิตได้ อย่างเป็นระบบ

                โดยมีการรวบรวมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ อ.ลับแล ได้แก่ ทุเรียน ลางสาด ลองกอง มังคุด ข้าว หอมแดง และพริก มีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจีเอพี ผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งเป็นสินค้าเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น ทุเรียน มะปราง โดยตลาดสินค้ากลางสินค้าเกษตรอำเภอลับแลจะเป็นตลาดที่ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ป้องกันปัญหาความไม่เที่ยงตรงของการชั่งน้ำหนัก ลดการถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้า ซึ่งการเปิดตลาดสินค้าเกษตรครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

               ปัจจุบันประชากรใน อ.ลับแล 17,579 ครัวเรือน เป็นสมาชิกสหกรณ์ 8,000 ครัวเรือน จากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด ตลาดมีการเปิดจำหน่ายสินค้าของพี่น้องเกษตรกรทุกวัน สินค้าที่มีจำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสารของโรงสีสหกรณ์และโรงสีเครือข่าย รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรที่ออกตามฤดูกาล เช่น ทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนหลง–หลินลับแล มังคุด ผัก และปลาสด ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในสหกรณ์ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่ อ.ลับแล สามารถร่วมกันวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างเป็นระบบ สามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ต้นทุนการตลาดลดลง เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด มีสถานที่จัดเก็บผลผลิตทางการเกษตร ทำให้สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้ 

              วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ยอมรับว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบายจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรในสหกรณ์ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค โดยจะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อม เปิดพื้นที่เป็นตลาดสินค้าเกษตร เพื่อเป็นสถานที่ในการจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่มีความสด ใหม่ สะอาดและมีคุณภาพจากเกษตรกรโดยตรง 

               “ขณะนี้ได้เปิดตลาดสินค้าเกษตรในสหกรณ์แล้วจำนวน 13 แห่ง ใน 10 จังหวัด ซึ่งช่วงเริ่มต้นดำเนินโครงการจะไม่เน้นเปิดตลาดที่มีขนาดใหญ่มากนัก แต่จะเลือกจากความพร้อมของสหกรณ์ที่จะเปิดตลาดสินค้าเกษตร ควบคู่กับการสร้างการเรียนรู้เรื่องของการตลาดให้กับเกษตรกร โดยจะเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนแนวคิดในการผลิตสินค้าการเกษตรระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และเกษตรกรจะได้มีโอกาสรับฟังความต้องการของผู้บริโภคด้วย เพื่อจะได้กลับไปผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีอาชีพที่มั่นคงในที่สุด”

                 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ย้ำด้วยว่า ขณะนี้กรมกำลังดำเนินโครงการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรเป็นองค์กรหลักในระดับอำเภอ โดยจะพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์ภาคการเกษตรระดับอำเภอให้เป็นที่พึ่งของสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรและคนในชุมชน และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยสหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอจะทำหน้าที่เป็นแกนนำในการนำนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และจะขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง

              ซึ่งการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ของสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อม เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ในระดับอำเภอ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้าที่ผลิตขึ้น ทั้งข้าวสาร ผักผลไม้ อาหารแปรรูป มาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่จะมาจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งจากโครงการเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน และเกษตรกรที่ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ได้นำผลผลิตมาจำหน่ายในราคาท้องถิ่นให้แก่บผู้บริโภคโดยตรง จะทำให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่ชัดเจน และผู้บริโภคยังสามารถเลือกซื้อสินค้าที่สดใหม่มีคุณภาพในราคายุติธรรมอีกด้วย 

               การจัดตั้ง “ตลาดสินค้าเกษตร” ในโครงการเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีสหกรณ์การเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนสู่ภาคการเกษตรไทย ที่เริ่มจากตลาดสินค้าเกษตรระดับชุมชน ก่อนก้าวตลาดกลางสินค้าขนาดใหญ่ ภายใต้กลยุทธ์การบริหารใช้ “ตลาดนำการผลิต”  

หลากมุมมองเสียงสะท้อน“เกษตรกรแปลงใหญ่” 

              ยศกร จุมพล ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะแกะแปลงใหญ่ ราชบุรี จำกัด เปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะในระบบแปลงใหญ่ได้เริ่มกันที่การเลี้ยงให้อยู่เฉพาะในคอก ซึ่งเดิมจะเลี้ยงกันแบบปล่อยทุ่ง ขณะเดียวกันก็มีการใช้พืชอาหารสัตว์เข้ามาให้แพะกินภายในพื้นที่เลี้ยง ทำให้ต้นทุนต่อตัวต่อกิโลกรัมลดลงเหลือที่ 63 บาท และมีการจัดการด้านการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี ทำให้แพะมีสุขภาพดีขึ้น ลดอัตราการตายหลังคลอดเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการจำหน่ายแพะนั้น สหกรณ์ได้ทำเอ็มโอยูกับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะและแกะ รวมถึงกลุ่มผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 15 กลุ่ม เช่น กลุ่มสวนผึ้ง กลุ่มจอมบึง กลุ่มบ้านคา และกลุ่มป่าหวาย เป็นต้น มีการกำหนดแนวทางร่วมกันในการทำการตลาด เช่น ตัวเมียที่มีลักษณะดี เหมาะในการทำเป็นแม่พันธุ์ ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ขาย เพื่อป้องกันการขาดแคลนแพะพ่อแม่พันธุ์ในระดับประเทศในอนาคต

เปิด‘ตลาดสินค้าเกษตร’รับแปลงใหญ่

            "เมื่อก่อนยังไม่เข้าระบบแปลงใหญ่ ขายให้พ่อค้าทั่วไปได้กิโลกรัมละ 90-95 บาท หลังจากเมื่อรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ และระบบแปลงใหญ่แล้ว สามารถขายได้กิโลกรัมละ 105-110 บาท ทำให้ได้ราคาที่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามมา การรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ทำให้สามารถต่อรองราคา ขณะที่สามารถลดต้นทุนการผลิต ด้วยมีการรวมซื้อปัจจัยการผลิตทำให้ได้ราคาที่ต่ำ และการรวมกันขายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อทำให้ขายได้ราคาดีกว่าการต่างคนต่างเลี้ยงต่างคนต่างขาย ซึ่งก็คือผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของผู้เลี้ยงนั่นเอง และนี่คือข้อดีที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนของการเลี้ยงแพะแบบแปลงใหญ่” ยศกรกล่าว

           เกรียงศักดิ์ รสดี ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาตั้งแต่ปี 2559 โดยดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการซื้อ-ขายผลผลิตข้าวนาแปลงใหญ่จากเกษตรกร สำหรับในปีนี้สหกรณ์เปิดตลาดรับซื้อรวบรวมผลผลิตข้าวเปลือกตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2560 เป็นต้นมา โดยรับซื้อในราคานำตลาด ตันละ 200 บาท จำแนกเป็น 1.การรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมจีนจำนวน 69 ราย ปริมาณ 498.59 ตัน จำนวน 3,259,930 บาท 2.การรวบรวมเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ (พันธุ์พิษณุโลก 2) จำนวน 29 ราย ปริมาณ 421.44 ตัน จำนวน 3,397,290 บาท เพื่อสนับสนุนช่องทางตลาดข้าวแปลงใหญ่ของเกษตรกรให้เข้าสู่กระบวนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตข้าวได้ในราคาดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น 

           ลุงสาย อยู่สุขสวัสดิ์ ประธานกลุ่มชาวนาแปลงใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์กล่าวว่า การรวมตัวกันของเกษตรกรปลูกข้าวร่วมกัน นอกจากจะสร้างความเข้มแข็งแล้ว ยังทำให้ลดต้นทุนการผลิต ประกันราคาข้าวได้อย่างแม่นย้ำไม่ถูกกดราคาอีกด้วย  ขณะเดียวกันเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนและสับปะรด ของขึ้นชื่อของ จ.อุตรดิตถ์ ทางเจ้าหน้าที่ยังให้คำแนะนำโดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งตนได้นำมาใช้ในการส่งเสริมการขายและการเพาะปลูก เช่น การทำการตลาดออนไลน์ แม้กระทั่งการเพาะปลูกที่ใช้ข้อมูลที่ค้นหาอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ