Lifestyle

ขยายผล‘ทุเรียนนนท์’สู่ถิ่นภูเขาไฟ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขยายผล‘ทุเรียนนนท์’สู่ถิ่นภูเขาไฟ

              “คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ” น่าจะใช้ได้กับ “ราชาแห่งผลไม้” เมืองนนทบุรี ที่ทุกวันนี้ราคาปาเข้าไปไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นต่อลูก ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จ.นนทบุรี ร่วมกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต จัดงาน “ทุเรียนไทย” Nonthaburi The King of Durian และมีไฮไลท์อยู่ที่การประมูล “ทุเรียนนนท์” เพื่อหารายได้มอบเป็นการกุศลและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ชาวสวนและรักษาพันธุกรรมทุเรียนนนทบุรีไว้ให้เป็นมรดกและเป็นวัฒนธรรมของชาวนนทบุรีต่อไปในอนาคต ทั้งยังเป็นการธำรงไว้ซึ่งชื่อเสียง คุณภาพและราคาของทุเรียนนนทบุรี ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและคงอยู่สืบต่อไป

              การประมูลในวันนั้นปรากฏว่ามีทุเรียนจากสวนใน จ.นนทบุรี เข้าร่วมประมูลจำนวน 9 ลูก  ประกอบด้วย หมอนทอง  6 ลูก และทุเรียนก้านยาว 3 ลูก ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่มาดูการประมูลทุเรียนนนท์จำนวนมาก โดยทุเรียนแต่ละลูกมีราคาประมูลสูงสุด 2 แสนบาท โดยเฉพาะก้านยาวราคาสูงถึง 2.5-3 แสนบาท ทำให้การจัดประมูลทุเรียนครั้งนี้มีรายได้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,050,000 บาท 

             หลายคนสงสัยว่าทำไมทุเรียนนนท์จึงขายได้ราคาดี จึงเป็นไปได้ว่านอกจากมีปริมาณน้อยเป็นไปตามกลไกของตลาดว่าด้วยเรื่องอุปสงค์-อุปทานแล้ว รสชาติของทุเรียนเมืองนนท์ก็ได้ชื่อว่ามีความอร่อยกว่าที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ แม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกันและยังเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ครั้งอดีต

              จากหลักฐานเอกสารการเกษตรกรรมที่พบในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือในราวปี พ.ศ. 2330 ระบุว่า ทุเรียนแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2330 จากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า และแพร่เข้ามาทางใต้ของประเทศไทย ต่อมาได้มีการนำเอาพันธุ์ทุเรียนต่างๆ เข้ามาปลูกเป็นสวนทุเรียนอย่างแพร่หลายในแถบธนบุรีตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาและขยายพื้นที่มาจนถึง จ.นนทบุรี ทำให้ตลาดนนทบุรีในอดีตเป็นแหล่งขายทุเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

                นอกจากนี้สภาพดินในแถบนนทบุรี เป็นดินเหนียวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารของพืชที่ไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทับถมเป็นเวลานาน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากดินในแถบอื่นๆ ที่มีการปลูกทุเรียน จึงทำให้เนื้อทุเรียนที่มาจาก จ.นนทบุรี ละเอียด เนื้อหนาและรสดีมาก จึงทำให้ทุเรียนนนท์มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด นำรายได้เข้าสู่ชุมชนและ จ.นนทบุรี ปีละหลายร้อยล้านบาท (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี, 2542)

                แม้วันนี้สภาพความเป็นเมืองได้เข้าบุกรุกสวนทุเรียน ทำให้พื้นที่ปลูกลดน้อยลง แต่ก็มีเกษตรกรส่วนหนึ่งยังคงยึดอาชีพทำสวนทุเรียนต่อไป โดยไม่แคร์เม็ดเงินที่ถูกกลุ่มนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ในราคาสูงลิ่ว ขณะเดียวกันในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ เมื่อชาวสวนทุเรียนนนท์ที่ยังหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่งก็ได้พยายามพัฒนาสวนทุเรียนให้ได้มาตรฐานเพื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

               “สวนทุเรียนนนท์จะต่างจากที่อื่นๆ ตรงแต่ละกิ่งจะเก็บไว้ไม่เกิน 2-3 ลูกเท่านั้น ถ้าเป็นหมอนส่วนใหญ่จะไว้แค่ลูกเดียว เพราะลูกมันใหญ่ จะเห็นว่าทุเรียนที่่นี่จะเอาไว้ที่บริเวณโคนกิ่ง ส่วนปลายกิ่งไม่มีเลย เพราะปลายกิ่งคุณภาพจะด้อยกว่าโคนกิ่ง”

              มนตรี แย้มทรัพย์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทุเรียนเมืองนนท์-บางกรวย เผยเคล็ดลับการดูแลทุเรียนเมืองนนท์ ซึ่งดูแลยิ่งกว่าลูกในไส้ ตั้งแต่เริ่มติดดอกจนถึงการเก็บเกี่ยว ทำให้ทุเรียนนนท์มีสีสันสวยกว่าทุเรียนจากที่อื่น โรคแมลงจำพวกหนูหนอนจะต้องไม่มี เขายอมรับว่าปีนี้(2560) หลายสวนเพิ่งจะให้ผลผลิตเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลังจากเจอน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย และทุกๆ ปีก็จะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ น้ำเสียจากบ้านเรือน โรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย แต่ก็ยังไม่เป็นปัญหาเท่าคนขโมย ซึ่งทุกวันนี้ทุกสวนจะต้องจ้างคนเฝ้าเวรยามดูแลทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต

                    “ปัจจุบันทุเรียนบางแปลงให้ผลผลิตได้ หมายความว่าเขาจะต้องหาน้ำพิเศษมารด อาจใช้น้ำประปาเข้ามาช่วย เพราะน้ำบาดาลก็ขุดไม่ได้ นกหนูและคนขโมย ปัญหาสารพัด บอกแล้วว่าก้านยาวออกจากสวนไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่น จนถึง 2.5 หมื่น อย่างปีนี้มีการประมูลได้ 2 แสนกว่าบาทต่อลูก ราคามองว่าแพง แต่ถ้าดูพื้นที่ปลูกทุเรียนราคาต่อตารางเมตรเท่าไหร่ เมืองที่รุกเข้ามาและปัญหาที่ต้องดูแลมันยาก คนไม่รักมันจริงๆ ไม่ดูแลจริงๆ รับประกันว่าปลูกไม่ได้”

                  มะลิวัลย์ หาญใจไทย หรือป้าต้อย เจ้าของ “สวนทุเรียนนนท์ป้าต้อย-ลุงหมู” หมู่ 3 ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี หนึ่งในเกษตรกรชาวสวนทุเรียน จ.นนทบุรี ที่ยังยึดอาชีพทำสวนทุเรียนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยืนยันกับ "คมชัดลึก" ว่าจะยังคงอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ต่อไปยันชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งปัจจุบันสวนทุเรียนป้าต้อยมีพื้นที่กว่า 70 ไร่ นอกจากสายพันธุ์ก้านยาวและหมอนทองแล้วยังมีสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ชะนี พวงมณี สาวน้อย กระดุมและกบ รวมทั้งผลไม้นานาชนิด อาทิ มังคุด ส้มโอ มะม่วงยายกล่ำ มะปราง ชมพู่ กล้วย และขนุน เป็นการทำสวนทุเรียนผสมผสาน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง จนได้เป็นสวนทุเรียนในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

                 “เดิมนั้นราคาทุเรียนนนท์ไม่ได้สูงขนาดนี้ เป็นราคาตามท้องตลาดทั่วไป แต่หลังช่วงปี 2538 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ สวนได้รับความเสียหายทำให้ราคาเริ่มขยับขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สูงมากนัก กระทั่งล่าสุดเมื่อปลายปี 2554 ที่เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ สวนทุเรียนนนท์เสียหายอย่างหนัก ยืนต้นตายยกสวน บางสวนต้องยอมปิดตัวลงเนื่องจากการปลูกทุเรียนนั้นต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะได้ผลผลิตซึ่งไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี ปัจจุบันที่ จ.นนทบุรี ก็เหลือเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนเพียงไม่กี่สวน ผลผลิตมีน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำไม ”ทุเรียนนนท์“ จึงมีราคาแพงถึงลูกละหมื่นสองหมื่น ก็ไม่เคยคาดคิดว่าราคาทุเรียนนท์จะพุ่งสูงได้ขนาดนี้ ของป้าปีนี้(2560)ยังมีลอตสุดท้ายแต่ถูกจองหมดแล้ว ถ้าเดินเข้ามาซื้อวันนี้จะไม่มีขาย มีแต่ให้ดู” ป้าต้อยกล่าวย้ำ    

                 ทุเรียนนนท์ไม่ใช่มีชื่อเสียงแค่เรื่องรสชาติ แต่ยังถือเป็นแหล่งรวมทุเรียนพันธุ์ดีในยุคแรกๆ ก่อนแพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจันทบุรีหรือศรีสะเกษ โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษนั้น ทุเรียนกลายเป็นไม้ผลที่มีชื่อเสียงของจังหวัดและสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่เกษตรกรในวันนี้ก็ได้รับอานิสงส์มาจากทุเรียนนนท์ หลังจากสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ นำโดย รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร(ในขณะนั้น) ได้นำเกษตรกรในหลายอำเภอมาอบรมวิธีการปลูกทุเรียน พร้อมนำกิ่งพันธุ์หมอนทองไปปลูก จนประสบผสสำเร็จกลายเป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียง ภายใต้แบรนด์ “ทุเรียนภูเขาไฟ” ที่มีรสชาติอร่อยไม่แพ้ทุเรียนนนท์ 

                 เนื่องจากมีคุณสมบัติเด่นของแหล่งผลิตที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟเก่า เต็มไปด้วยหินบะซอลต์ มีธาตุอาหารซึ่งเป็นที่ต้องการของทุเรียน ทำให้ทุเรียนที่นี่มีคุณสมบัติพิเศษหอม หวาน มัน ไส้แห้ง และกลิ่นไม่ฉุนมากนัก 

                    รพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งเกษตรจังหวัดสมุทรสงครามย้อนอดีตให้ฟัง หลังการดำเนินการโครงการภายใต้ปรับโครงสร้างและระบบการผลิตทางการเกษตร(คปร.) ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 โดยเข้าไปแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่แนวชายแดน 5 อำเภอ ได้แก่ กันทรลักษ์ ไพรบึง ขุนหาญ ศรีรัตนะ และภูสิงห์ หันมาปลูกไม้ผลแทนการทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและสร้างรายได้ดีกว่า โดยเริ่มต้นจากเกษตรกรนำต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองจาก จ.จันทบุรี มาปลูกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2531 จากนั้นจึงได้พาเกษตรกรที่สนใจมาอบรมวิธีการปลูกทุเรียนที่สวนทุเรียนป้าต้อย จ.นนทบุรี จำนวน 30 กว่าคน ก่อนกลับไปทดลองปลูก จนประสบความสำเร็จ จากนั้นมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน   

                “จุดเด่นที่ทำให้ไม้ผลเจริญเติบโตได้ดีบริเวณนี้ ก็เพราะว่าส่วนหนึ่งมาจากสภาพดินที่ราบเชิงเขาพนมดงรัก โดยเฉพาะบริเวณเขต อ.กันทรลักษ์ และขุนหาญนั้น เป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินจากวัตถุกำเนิดพวกหินบะซอลต์ หินแอนดีไซต์ สีแดงหม่น มีปริมาณธาตุกำมะถันอยู่ในดินมาก จึงส่งผลให้ทุเรียนมีความมันมากกว่าความหวาน ซึ่งเป็นคุณลักษณะเดียวกับทุเรียนนนทบุรี” 

                  เสริม หาญชนะ เจ้าของสวนลุงเสริม ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันกลายแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคััญของ จ.ศรีสะเกษ ครอบคลุมพื้นที่  18 ไร่ ประกอบด้วย ทุเรียน 10 ไร่ เงาะ 5 ไร่ และมังคุดอีก 3 ไร่ ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ทำรายได้มากที่สุดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อปี โดยผลผลิตจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี  

                   นับเป็นการขยายผลทุเรียนนนทบุรีไปสู่ถิ่นภูเขาไฟในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งทั้งรสชาติและราคาก็ไม่ได้ต่างไปจากทุเรียนแหล่งกำเนิด       

 เริ่มแล้ว“เทศกาลเงาะ-ทุเรียนและของดีศรีสะเกษ60”

                จ.ศรีสะเกษ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ “เทศกาลเงาะ-ทุเรียน และของดีศรีสะเกษ 60” ระหว่างวันที่ 16-25 มิถุนายน 2560 ณ สนามวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พร้อมกิจกรรมตะลุยสวนทุเรียน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุเรียนภูเขาไฟคุณภาพดี สุก พร้อมออกสู่ตลาด โดยมีสวนทุเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 4 สวน ได้แก่ สวนลุงเสริม(08-7243-7118) สวนลุงฟอง(09-8609-4288) สวนพ่อวันนา(08-1790-6564) และสวนทศพล(08-3797-8856) ซึ่งทั้ง 4 สวนมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นการส่วนตัวหรือหมู่คณะ หากต้องการเพียงแค่ชิมทุเรียนแบบจำกัดจำนวน มีค่าใช้จ่าย 100 บาทต่อท่าน หรือหากประสงค์จะอร่อยแบบไม่อั้นกับผลไม้หลากชนิด ก็จะมี “บุปเฟ่ต์ผลไม้” ไว้รองรับในราคา 399 บาทต่อท่าน  

                 ธวัช สุระบาล ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ เผยว่า ปีนี้ทุเรียนมีความสมบูรณ์มาก เนื่องจากมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ไม่แห้งแล้ง จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันมีพื้นที่ในการปลูกทุเรียน จำนวน 5,000 ไร่ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้นจำนวน 4,500 ตัน โดยจะมีทุเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1.2 ล้านลูก นำออกขายตามท้องตลาด ซึ่งทุเรียนทั้งหมดจะสุกในสัปดาห์นี้ การที่ทุเรียนภูเขาไฟมีรสชาติอร่อยนั้น เนื่องจากว่าทุเรียนทุกต้นปลูกบนดินภูเขาไฟเก่า ทำให้มีรสชาติแตกต่างจากทุเรียนจังหวัดอื่นๆ กรอบนอก นุ่มใน เปลือกบาง และที่สำคัญกลิ่นไม่ฉุน ทำให้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษเป็นที่ชื่นชอบของนักบริโภคทุเรียน  

               “ขณะนี้ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ทำการจด GI ซึ่งเป็นการจดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งทุเรียนภูเขาไฟแห่งเดียวในโลก ซึ่งทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษทุกลูกเป็นทุเรียนเกรดพรีเมียม จะมีการขายส่งตรงถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ” ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ กล่าวทิ้งท้าย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ