Lifestyle

เปิดมติครม.4มาตรการช่วยชาวสวนยาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดมติครม.4มาตรการช่วยชาวสวนยาง

                กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง หลังพืชเศรษฐกิจทำเงินอย่างยางพารา ต้องเผชิญปัญหาราคาดิ่งเหวอีกครั้งในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา  ความเคลื่อนไหวราคายางล่าสุด(13 มิ.ย.60) ณ ราคายางตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ยางแผ่นดิบแตะระดับ 55.05 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 1.73 บาท/กก. ส่วนยางแผ่นรมควันแตะระดับ 57.00 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้น 0.35 บาท/กก. ขณะที่น้ำยางสด ณ โรงงาน อยู่ที่ 50.00 บาท/กก.  

               หากย้อนไปต้นๆ เดือนกันยายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันถึงแนวทางการแก้ไขปัญหายางราคาตกต่ำว่า ตามที่ได้พูดคุยกับผู้แทนชาวสวนยางเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาว่า ได้พยายามทำให้ตัวเลขราคายางพาราไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท หรือ 60 บาท หลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำที่สุดในวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ยางแผ่นดิบเหลืองเพียงกิโลกรัมละ 41.00 บาท ราคาน้ำยางสดกิโลกรัมละ 39 บาทเท่านั้น

              “รัฐบาลไม่ได้รับซื้อยางพารา แต่พูดคุยกับผู้ประกอบการภาคเอกชนให้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งได้รับข้อเสนอและอยู่ระหว่างพิจารณา และถ้าไม่ได้ 60 บาท จะได้เท่าไหร่ก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว (คมชัดลึก 10 ธ.ค.57)

              หลังจากนั้นดูเหมือนว่าราคายางพาราขยับขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นปี 2557 ราคายางแผ่นดิบในท้องถิ่นราคา กก.ละ 48.10 บาท ราคาน้ำยางสดกิโลกรัมละ 45 บาท ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันจะพยายามทำให้ราคาขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 65 บาท ขณะที่ตอนนั้นราคายางพารารมควัน ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่ที่กิโลกรัมละ 61 บาท จากนั้นราคายางพาราก็ขึ้นไปแตะในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 65 บาทในเกือบทุกประเภทของสินค้าในปี 2559 ยาวมาถึงไตรมาสแรกของปี 2560 ก่อนราคาลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งในช่วง 1-2 สัปดาห์ผ่านมา 

              กระทั่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวานนี้(13 มิ.ย.60) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอขอความเห็นชอบ 4 มาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ภายหลังราคายางพาราลดต่ำลง อันประกอบด้วย

            1.มาตรการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและดูดซับผลผลิตที่จะออกมาสู่ตลาด โดยรัฐบาลจะชดเชยรับภาระดอกเบี้ยไม่เกิน 3% คิดเป็นงบประมาณที่รัฐต้องชดเชยทั้งสิ้น 300 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะสามารถดูดซับผลผลิตออกจากระบบได้ประมาณ 2 แสนตันในปี 2560

           2.มาตรการขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงินสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ออกไปอีก 1 ปี 3.มาตรการขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง(เพิ่มเติม) ออกไปอีก 90 วันเพื่อรองรับเกษตรกรตกค้างประมาณ 1.1 หมื่นครัวเรือน และ 4.มาตรการขยายระยะเวลาโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ ออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563   

              ก่อนหน้าไม่กี่วัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ได้ออกมาชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่าในช่วงนี้ใกล้เข้าสู่ช่วงปิดกรีดยาง ทำให้เป็นธรรมดาที่ระดับราคายางในตลาดจะมีการแกว่งตัวขึ้นลงอย่างมาก ซึ่งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาได้สั่งการให้ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) หารือกับ 5 ผู้ส่งออกรายใหญ่เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันไม่ให้มีการบิดเบี้ยวกลไกตลาด ผ่านการใช้เทคนิคของผู้ซื้อ ให้ราคาเป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งจากนี้ไปเชื่อว่าราคาน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น 

              จากการหารือเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 การยางแห่งประเทศไทย นำโดย พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ กยท. และ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ร่วมกับตัวแทนบริษัทผู้ส่งยางรายใหญ่ประกอบด้วย บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด และบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาราคายางในตลาดโลกลดลงอย่างผิดปกติ 

               พล.อ.ฉัตรเฉลิมยอมรับว่าไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าราคายางจะดีหรือไม่ดี แต่ราคาจะต้องมีเสถียรภาพ ทุกคนต่างหวังว่าราคายางจะมีการขยับขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งตอนนี้สถานการณ์เรียกว่าลดลงอย่างผิดปกติ  ส่วนสาเหตุนั้นได้มีการวิเคราะห์กันว่าเกิดจากหลายปัจจัย  

              "หลังจากได้พูดคุยร่วมกันกับตัวแทนบริษัทเอกชนผู้ส่งออกยางรายใหญ่ จึงมีการกำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายางที่ลดลง เพื่อช่วยผลักดันให้ราคายางมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ กยท.จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเมื่อมีความจำเป็น หากมาตรการที่ดำเนินการไปแล้วยังไม่เกิดเสถียรภาพ ก็จะต้องเร่งหาแนวทางหรือมาตรการอื่นแก้ไขกันอย่างต่อเนื่องกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” ประธานกรรมการ กยท.เผย

              ขณะที่ ดร.ธีธัช ระบุชัด การขึ้นลงของราคายางพาราเป็นเรื่องที่เกิดจากการซื้อขายในตลาดโดยทั่วไป แต่การขึ้นลงของราคายางอย่างรวดเร็วจนผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา มาจากการอ้างอิงราคาซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า เพราะฉะนั้นแนวทางแก้ปัญหาราคายางจะต้องเข้าไปแก้ไขทั้งในส่วนของตลาดซื้อขายปัจจุบันและในตลาดล่วงหน้าด้วย เพราะทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันหมด

               “ตอนนี้ตลาดโลกยังคงความต้องการยางพารามาก ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาขณะนี้เป็นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งไม่นานก็จะย้อนกลับไปสู่จุดสมดุล” ผู้ว่าการกยท.ให้มุมมอง

                เขายอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้ส่วนหนึ่งมาจากข่าวลือที่ไม่มีข้อมูลจริงอ้างอิง ส่งผลต่อจิตวิทยาในการลงทุน เพราะฉะนั้น มาตรการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา จึงไม่ใช่เรื่องของการเอาเงินเข้าไปแก้ไข แต่เป็นการช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้รับข่าวสาร ข้อมูล ที่เป็นความจริงโดยทั่วกัน ทั้งนี้ยังมีมาตรการที่เป็นความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกระดับโลก อย่างเช่น ข้อตกลงเรื่องการจำกัดการส่งออก แต่เป็นเรื่องที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 3 ประเทศร่วมกัน ในขณะเดียวกันภายในประเทศจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กยท. และผู้ประกอบกิจการยาง รวมถึงทุกภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพราคายาง

                 ไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทยและกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) อ้างเหตุที่ทำให้ราคายางตก เพราะช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาราคายางในตลาดโลกลดลงแบบผิดปกติ เพราะฉะนั้นการที่ตัวแทนของภาคเอกชน ผู้ประกอบกิจการยางพารา มาหารือปัญหาร่วมกันกับภาครัฐ และมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายางร่วมกันเพื่อให้ทุกคนยอมรับว่าราคายางลงผิดปกติ ทั้งที่ยางพาราไม่ได้ล้นตลาดมาก รวมถึงพื้นฐานการใช้ยางไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด 

                 “ราคายางในตลาดโลกเดียวกัน กลไกก็จะเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ส่วนตลาดล่วงหน้าถ้ามีผู้เข้าซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเยอะๆ ราคาเหล่านั้นจะเป็นตัวชี้นำตลาดซื้อขายจริงได้ โดยตลาดล่วงหน้าของยางพาราจะมีอยู่ 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดสิงคโปร์ ตลาดเซี่ยงไฮ้ และตลาดโตเกียว จึงไม่สามารถบอกราคาที่แน่นอนเป็นราคาเดียวได้ สำหรับกลุ่มพวกเรา 5 เสือ อยู่ในตลาดสินค้าที่มีการซื้อขายจริง ไม่ใช่ตลาดล่วงหน้าแน่นอน" นายกสมาคมยางพาราไทยยืนยันทิ้งท้าย

ดังนั้น ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วงนี้ จึงมีหลากหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การใช้ 4 มาตรการมาเยียวยาตามมติครม.อาจเป็นเพียงแค่ขายผ้าเอาหน้ารอดของรัฐบาลนี้เท่านั้น

 สคยท.แนะทางแก้เฉพาะหน้ามุ่งใช้ยางในประเทศ

                 สุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) และผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการนำ 4 มาตรการมาแก้ปัญหาเสถียรภาพราคายางพาราตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ว่าไม่มีผลมากนัก เนื่องจากเป็นมาตรการเดิมๆ ที่นำมาต่อยอดและขยายระยะเวลาออกไป โดยหากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาก็ต้องประกาศในทันทีว่าจะต้องนำยางในสต็อกมาใช้ในประเทศเดือนละ 3 แสนตัน เช่นใช้ทำถนน สร้างอ่างเก็บน้ำหรืออย่างอื่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้นโยบายกับหนว่ยราชการต่างๆ ไปแล้วก่อนหน้านี้ 

              “ตอนนี้มียางอยู่ในสต็อก 12 ล้านตัน ถ้าเรานำยางออกมาใช้ในประเทศเดือนละ 3 แสนตัน รับรองว่าทั่วโลกก็ตกใจ เพราะเราคือผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก วันนี้แค่รัฐบาลประกาศออกมาจะใช้ยางทำถนน สร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แสนตันต่อเดือน รับรองว่าพรุ่งนี้ราคายางจะขึ้นทันที”

              สุนทร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยผลิตยางได้ปีละ 4 ล้านตัน โดยเป็นผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก ในพื้นที่ 23 ล้านไร่ ซึ่งเปิดกรีดแล้ว 18 ล้านไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง 6 ล้านคน คนกรีดยาง 2 ล้านคน แต่ไทยไม่เคยเป็นผู้ชี้นำตลาดยางพาราได้เลย เป็นเพราะอะไร จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งบริษัททำธุรกิจซื้อขายยางพาราโดยตรง หาคนมาบริหารแบบมืออาชีพ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

                “ตามพ.ร.บ.ยางฯ มาตรา 49(3) สามารถนำเงินเซสมารักษาเสถียรภาพราคายางได้ และประเด็นสุดท้าย การจัดตั้งสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)ที่มีกฎหมายรองรับ โดยการบริหารของสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงที่มีความเป็นอิสระจากภาครัฐ เพื่อจะได้เข้าถึงปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางที่แท้จริง  เพราะทุกวันนี้แม้จะมีองค์กรเครือข่ายเกษตรกร แต่ก็ต้องอยู่ในความดูแลและกำกับของกยท.อยู่ดี” สุนทรกล่าว พร้อมยืนยันว่าในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วประเทศจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืนด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ