Lifestyle

มหากาพย์เหมืองทอง รัฐยื้อเวลาหรือชาวบ้านความเห็นแตก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหากาพย์เหมืองทอง รัฐยื้อเวลาหรือชาวบ้านความเห็นแตก

                   พลันที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 รับทราบมติร่วมกันของ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ โดยมติดังกล่าวในกรณีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ที่ จ.พิจิตร เห็นควรให้ต่อใบอนุญาตประกอบโรงประกอบโลหกรรม ที่หมดอายุลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานราว 1,000 คน และเตรียมฟื้นฟูเหมืองหลังการเลิกประกอบกิจการ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต 

                  จากมติ 4 กระทรวงที่ ครม.รับทราบดังกล่าว สร้างความวิตกให้แก่วงการธุรกิจเหมืองทุกชนิดทั้งระบบ ไม่เพียงแต่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด จากการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ เป็นการตรวจปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เกิดจากการทำเหมืองแร่ และแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชนเป็นประการสำคัญ

                 ขณะที่คำยืนยันของ พล.อ.ประยทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ในมติดังกล่าวว่า

                  “ไม่ได้ไปหยุด เพียงแต่ชะลอไปก่อนให้มีความชัดเจนเกิดขึ้น เพื่อรอร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.... และมีการจัดตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยจะมีการพิจารณากรณีบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ให้เกิดความเป็นธรรม ว่ามีผลกระทบอะไรหรือไม่ ประชาชนว่าอย่างไร ต้องทบทวนอีกครั้งและให้ความเป็นธรรม จะได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการ แต่อย่าเพิ่งฟ้องร้องตอนนี้เสียเวลาเปล่าๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ รัฐบาลจะต้องดูแลทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ดูทั้ง 2 ทาง รัฐบาลมีหน้าที่ตอนนี้”

                   จากนั้นรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายชุดเป็นชุดย่อยๆ เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพที่มีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ บางชุดก็ได้สรุปออกมาแล้ว บางชุดก็อยู่ระหว่างการดำเนินงาน 

                   ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้รับรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะทำงานย่อยด้านสิ่งแวดล้อม ที่มี ดร.ปนัดดา ซิลวา รองผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นประธาน ได้สรุปผลการการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อม-สุขภาพหลายหน่วยงานว่า "ยังไม่สามารถสรุปผลที่ชัดเจนได้" เนื่องจากหลายหน่วยงานสำรวจบนพื้นฐานและมาตรฐานคนละแบบ จึงทำให้ผลที่ออกมาไม่มีมาตรฐานเดียวกัน

                      ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีความขัดแย้งกันอย่างหนัก มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการเปิดเหมืองเพื่อดำเนินกิจการต่อไปและเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางแร่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้เพื่อจัดทำแผนแม่บทแร่เพื่อจะมีการหารือในภาพรวมของการจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบายการจัดการแร่ทุกชนิดทั่วประเทศ ให้สมดุลกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในคราวเดียวกัน 

                    ส่วนความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ ล่าสุดชาวบ้านที่คัดค้านและสนับสนุนเหมืองทอง ไม่เห็นด้วยกับการตั้งทีมสำรวจผลกระทบใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ และทางผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ได้ทำโครงการเก็บตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แล้วหลายครั้ง จึงไม่น่าจะมีการจัดตั้งคณะทำงานใหม่

                    น.ส.ธัญญารัศม์ สินทรธรรมทัช  แกนนำชาวบ้านต่อต้านเหมือง หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ยอมรับว่า การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ทั้งผลกระทบการประกอบการเหมืองแร่ทองคำที่มีผลกระทบภาคประชาชน ทั้งสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลทั้งหน่วยงานราชการ และ ทางผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ที่ลงเก็บข้อมูลหลายคณะหลายครั้งแล้วและให้ผลออกมาแตกต่างกัน ในส่วนความคิดเห็นส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางแร่เศรษฐกิจใหม่ น่าจะนำข้อมูลที่ทำการเก็บก่อนหน้านี้ขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งหากมีข้อตกค้างให้ทำการเก็บข้อมูลใหม่ ซึ่งจะดีกว่า 

                        “พอใจในการสั่งปิด แต่ยังไม่มั่นใจ เพราะยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ในคำสั่งยังมีห้อยท้ายว่า เว้นแต่คณะกรรมการเห็นเป็นอย่างอื่น เรากลัวว่าเขาจะฟื้นคืนชีพ เพราะสัมปทานบัตรเขายังไม่หมดอายุ แต่ที่เราได้ตอนนี้คือ ได้หยุดหายใจบ้าง จากเมื่อก่อนเราไม่มีเวลาหายใจ ทำให้ปอดเราได้ดีขึ้นบ้าง”

                        ขณะที่ นายศิวกร ช่วยคำชู ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ระบุว่า การตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่เป็นการเสียเวลาของการตรวจสอบ เนื่องจากข้อมูลที่ทำการรวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ และทางเหมืองทอง ประชาชนก็ยังไม่รับทราบ ซึ่งหากมีการตั้งคณะใหม่ ประชาชนและพนักงานเหมืองที่รอการกลับมาเปิดกิจการใหม่ก็ยังรอที่จะกลับเข้าทำงานเพื่อหารายได้อีกครั้ง​

                        เช่นเดียวกับ นางกนกวรรณ วงที เจ้าของร้านขายของชำในตลาดหน้าเหมือง ระบายความทุกข์ใจ ระบุว่า ถ้าเหมือนปิดตลอดไป ร้านค้าของเราคงจะแย่ ขายไม่ได้หรอก ไม่รู้จะขายใคร สภาพเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ  มีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไรต่อไป เพราะเปิดร้านค้าการขายของในตลาดหน้าเหมืองมาตั้งแต่เปิดกิจการ

                          สำหรับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เริ่มเข้ามาทำเหมืองแร่ในรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2544 และจะหมดอายุสัมปทานในปี 2571 ได้ปิดกิจการลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 หลังจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา 44 และขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบในการในการทำสำนวนคดี เพื่อพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป

“เหมืองทองอัคราฯ” จากอดีตสู่ปัจจุบัน

                     บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชื่อเดิมบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ในปี 2536 เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการโครงการเหมืองแร่ชาตรีคอมเพล็กซ์ในประเทศไทย เป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (ASX) โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ถือหุ้นร้อยละ 48.2 ในบริษัท มีการดำเนินการตามลำดับดังนี้  

ปี 2537 เริ่มดำเนินการสำรวจแร่ในประเทศไทย

มิ.ย.2543 ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่ 5 ฉบับ ครอบคลุมพื้นที่โครงการชาตรีใต้

ม.ค.2544 ได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในส่วนของโรงประกอบ โลหกรรมชาตรี

ธ.ค.2543-พ.ย.2544 โรงงานประกอบโลหกรรมชาตรีและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องสร้างเสร็จสิ้น

พ.ย.2544 ทำการทดสอบระบบโรงงานประกอบโลหกรรมชาตรี และเริ่มการผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ภายใต้โครงการชาตรีใต้

ธ.ค.2546 เสร็จสิ้นการขยายโรงประกอบโลหกรรมชาตรี ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 ล้านตันต่อปี

ธ.ค.2549 เสร็จสิ้นการขยายโรงประกอบโลหกรรมชาตรีครั้งที่ 2 ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านตันต่อปี

มิ.ย.2551 ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่สำหรับโครงการชาตรีเหนือ ซึ่งมีพื้นที่เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ทำให้มีปริมาณแร่สำรองเพื่อการทำเหมืองเพิ่มขึ้น

พ.ย.2551 เริ่มกิจกรรมด้านเหมืองแร่ที่โครงการชาตรีเหนือ

มิ.ย.2553 ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำหรับส่วนขยายของโรงประกอบโลหกรรมชาตรี

มิ.ย.2555 ส่วนขยายของโรงประกอบโลหกรรมชาตรีผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย (final stages of commissioning) และการทดลองเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด (optimization trial) เสร็จสิ้น ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 5.0 ล้านตันต่อปี 

พ.ย.2555 โรงประกอบโลหกรรมชาตรี ได้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรม โรงงานมีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 5.0 ล้านตันต่อปี และดำเนินการผลิตทั้งสิ้น 6.2 ล้านตันต่อปี

1 ม.ค.2560 ยุติการดำเนินกิจการตามมติ ครม. (10 พ.ค.2559) 

ที่มา:คม ชัด ลึก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ