Lifestyle

“ปากแบง” ปมร้อนข้ามฝั่งโขง !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ปากแบง” ปมร้อนข้ามฝั่งโขง กลุ่มรักษ์เชียงของฟ้อง"MRC"    

                กลายเป็นประเด็นร้อนข้ามชาติขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงของ นำโดย นิวัฒน์ ร้อยแก้ว,  จีรศักดิ์ อินทะยศ, พิศณุกรณ์ ดีแก้ว พร้อมด้วย ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เดินทางมายังศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ วันที่ 8 มิถุนายน เวลา 10.00 น. เพื่อยื่นฟ้องอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เรื่องกระทำการโดยมิชอบ 

               กรณีดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามการกระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 (พีเอ็นพีซีเอ) และกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงในแม่น้ำโขงของสปป.ลาว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ก่อนที่จะรัฐบาลสปป.ลาว จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบงในปลายปีนี้ (2560) และหรือก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงในสปป.ลาว 

               ทั้งนี้โครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของสปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตูระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา

           อันจะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงใน อ.เวียงแก่น และอ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยเฉพาะที่บ้านห้วยลึก หมู่บ้านตามลำน้ำสาขา รวมถึงหมู่บ้านอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของเขื่อนอยู่ห่างจากชายแดนไทย ที่แก่งผาได บ้านห้วยลึก ประมาณ 80 กิโลเมตรตามลำน้ำและตั้งอยู่ห่างจากเมืองปากแบง 14 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านยิ่งมีความกังวลว่าโครงการเขื่อนปากแบงอาจทำให้น้ำท่วมที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การหาปลา รายได้ ตลอดจนความมั่นคงทางอาหาร  

            “สิ่งที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุดในตอนนี้คือบ้านของเราอยู่ตรงกลางระหว่างเขื่อนจีนและเขื่อนปากแบง หากเขื่อนจีนระบายน้ำลงมาในปริมาณมาก และลงมาเจอกับเขื่อนปากแบง ปัญหาก็จะเกิดขึ้นทันที เราจะมีการป้องกันปัญหาให้แก่ชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงกลางอย่างไร”

            ทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เผยข้อกังวลว่า ก่อนหน้านี้ตนและชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาครั้งหนึ่งแล้วเพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการเขื่อนปากแบง แต่เรื่องก็เงียบหายไป  โดยเขื่อนดังกล่าวแม้จะตั้งอยู่ในสปป.ลาว แต่ก็ใกล้ชายแดนไทยมากเพียง 80 กิโลเมตรเท่านั้น 

              แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงของพยายามต่อสู้เรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐให้ทำหน้าที่ในการปกป้องและรักษาทรัพยากรแม่น้ำโขง รวมทั้งปกป้องชุมชนและประชาชนไทยในริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้นมา แต่การดำเนินการกลับไม่มีความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็ยังมีการจัดเวทีให้เป็นไปตามกระบวนการปรึกษาหารือ (PNPCA) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้โดยไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนและรอบด้านในทุกมิติ 

                 “เราเห็นว่ากระบวนการแม้กระทั่งการทำตามขั้นตอนการปรึกษาหารือ ที่ประชุม 3 ครั้งใน 3 พื้นที่ก็ยังไม่ครบถ้วนและถูกต้อง ในส่วนของรายงานการประชุมไม่มีข้อมูลในลักษณะการโต้แย้งเรื่องโครงการไม่เหมาะสมหรือการส่งผลกระทบ แม้กระทั่งการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของเอ็มอาร์ซีของไทย ก็ไม่มีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับใดๆ ที่จะเป็นการคุ้มครองแม่น้ำโขงและคุ้มครองสิทธิประชาชนที่มีส่วนร่วมในขั้นตอนปรึกษาหารือที่แท้จริง เราก็เลยมาฟ้องคดีในวันนี้” 

                ส.รัตนมณี  พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนยังกล่าวถึงกระบวนการ PNPCA ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 และและกำหนดครบวาระ 6 เดือนในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เนื่องจากโครงการเขื่อนปากแบงได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงพ.ศ.2538 ซึ่งประชาชนเห็นว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอและครอบคลุมในทุกมิติและไม่สามารถอธิบายผลกระทบข้ามพรมแดนได้ ถึงแม้ว่ากรมทรัพยากรน้ำในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้งแล้วก็ตาม ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงของได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีการดำเนินการตามคำร้อง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ส่งเพียงข้อสรุปของการปรึกษาหารือมาให้เท่านั้น  

                 ขณะที่ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและผู้ฟ้องคดียอมรับว่าเขื่อนปากแบงอาจจะกระทบพื้นที่ จ.เชียงราย ที่กลุ่มเห็นว่าที่ผ่านมามีตัวอย่างเขื่อนตอนบนในจีนที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ และมีเขื่อนตอนล่าง ตัวอย่างคือ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งก่อสร้างอยู่ในขณะนี้มีกระบวนการที่ทำไม่รอบคอบ กลไกบางอย่างไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ทางกลุ่มจึงไม่เห็นด้วย และคิดว่าใช้ไม่ได้จริง ที่สำคัญกระบวนการดังกล่าวจะเป็นตรายางประทับให้สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้น

                  “เราฟ้องเอ็มอาร์ซีไทย และกรมน้ำ เพื่อให้ยกเลิกข้อสรุปจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของกระบวนการ PNPCA และอยากให้ส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน ที่อาจจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอนาคตจากเขื่อนปากแบง เพื่อให้ชะลอการลงนามไว้ก่อน และอยากให้มีการศึกษาผลกระทบและมีมาตรการหารือที่มีความเชื่อได้มากกว่านี้ อยากให้มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน” 

                   ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของย้ำด้วยว่าก่อนหน้านี้กลุ่มเคยฟ้องศาลปกครองกลางต่อกรณีเขื่อนไซยะบุรีมาแล้ว แต่ศาลปกครองกลางยกฟ้อง ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มอยู่ระหว่างการฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะเห็นว่าการดำเนิการเขื่อนไซยะบุรีนั้นไม่มีความสมบูรณ์ของข้อมูล เมื่อมีเขื่อนไซยะบุรีเป็นบทเรียนแล้ว เขื่อนปากแบงก็ต้องมีพัฒนาการขึ้นมา สมัยนี้รัฐไทยต้องมีความเข้มงวดมากขึ้นแล้ว เรื่องของทรัพยากรแม่น้ำโขงใช้ร่วมกันทุกประเทศทั้ง จีน ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา ดังนั้นต้องมีขั้นตอนที่รัดกุมมากกว่านี้ เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ

                 “ที่ผ่านมาการดูแลร่วมกันไม่มี มีแต่เถียงกันว่าใครจะใช้ ลาวก็จะเอา เวียดนามก็จะยึด จีนก็จะจัดการ ความต้องการใช้เป็นแค่ของคนส่วนน้อย แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นประชาชนทั้งประเทศกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของให้ความเห็น

                  ขณะเดียวกันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เคยให้ความเห็นต่อกรณีนี้ไว้ว่า การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นข้อมูลเก่าไม่มีการเก็บข้อมูลในปัจจุบัน และข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการพัฒนาลุ่มน้ำโขงมากมาย อาจทำให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่กรมประมงก็มีข้อเสนอว่า แม่น้ำโขงมีความหลากหลายทางธรรมชาติเป็นอันดับ 2 ของโลก ปลาเป็นกลุ่มอพยพ (เดินทางและวางไข่) และอยู่พักอาศัยชั่วคราวตามลำน้ำ เมื่อมีโครงสร้าง (Block) วงจรชีวิตก็จะเกิดผลกระทบกับการเดินทางหรืออพยพผลผลิต (อาจมีการลดลงหรือสูญหาย) ส่วนรูปแบบของเขื่อนปากแบง ยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร ถือว่ามีความยาวมาก ปลาบึกอาจไม่สามารถผ่านได้  จึงเสนอแนะให้พิจารณารูปแบบคล้ายคลึงและสอดคล้องกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี ปลาผ่านทางขึ้นลงได้หรือไม่ ส่วนผลกระทบข้ามพรมแดนเรื่องปลา ถ้ามีประชากรปลาลดลงจะมีชดเชยหรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจกระทบความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวม ซึ่งในพื้นที่โครงการ ปลาชนิดไหนที่พบมากหรือจะได้รับผลกระทบควรระบุให้ชัดเจน ชนิดปลาหรือลูกปลา ซึ่งมีข้อมูลผิดพลาดในรายงาน

                  ปากแบงถือเป็นเขื่อนยักษ์แห่งที่ 3 ของสปป.ลาว ที่จะมีการก่อสร้างต่อจาก “เขื่อนไชยะบุรี” และ “เขื่อนดอนสะโฮง” แม้ว่าทั้งสองเขื่อนนี้เคยมีเสียงคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ และประเทศอื่นๆ อันจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในแม่น้ำเช่นเดียวกับเขื่อนปากแบง แต่ท้ายที่สุดเสียงคัดค้านก็ไม่มีผลใดๆ 

  กลุ่มรักษ์เชียงของยื่นฟ้องศาล 6 ประเด็น

               กลุ่มรักษ์เชียงของยื่นฟ้องศาลปกครอง 6 ประเด็นเพื่อให้ศาลพิพากษาให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้

               1.ขอให้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทยและขอให้เพิกถอนความเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ทั้งสิ้น 

                2.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลสปป.ลาว จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า  

               3.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย 

                4.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครอบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง

               5.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบงต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และต่อสปป.ลาว 

               6.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงในสปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย

               ทั้งนี้ก่อนการยื่นฟ้องคดี กลุ่มรักเชียงของพร้อมตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยืนถือป้ายรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากแบงที่หน้าศาลปกครอง พร้อมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่ากรมทรัพยากรน้ำไม่ใช่แค่มีการจัดเวทีให้เป็นไปตามกระบวนการปรึกษาหารือ (PNPCA) ไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีหน้าที่ให้ความเห็นในลักษณะปกป้องทรัพยากรและประชาชนชาวไทยด้วย 

“ปากแบง” สุดยอดเทคโนโลยีสร้างเขื่อน 

                เตรียมพร้อมลุยงานก่อสร้างทันทีปลายปีนี้ (2560) สำหรับกลุ่มบริษัทต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เมนต์ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังคณะผู้บริหารโครงการปากแบงได้นำเอกสารการสำรวจและศึกษาในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน ไปยังประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ไทย เวียดนาม และกัมพูชาได้รับทราบแล้ว เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จก็จะลงมือก่อสร้างทันที  

                ตามแผนการเดิมโครงการเขื่อนปากแบงจะเริ่มก่อสร้างในต้นปี นี้ แต่การดำเนินการด้านการสำรวจศึกษา และกระบวนการปรึกหารือกับประเทศมาชิกกลุ่มแม่น้ำโขงยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ จะแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้ โดยมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะมีกำลังติดตั้งเพียง 912 เมกะวัตต์ แต่จะมีเครื่องปั่นไปถึง 16 หน่วย ซึ่งมากกว่าทุกเขื่อนทั้งที่กำลังก่อสร้าง และเปิดใช้แล้วในสปป.ลาวขณะนี้ ตัวเขื่อนยาวเกือบ 1,000 เมตร สูงประมาณ 64 เมตร  

                ที่สำคัญมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย  มีระบบที่สามารถปล่อยให้ดินตะกอนก้นแม่น้ำลอดผ่านไปได้ ส่งผลดีต่อภาคการเกษตร เทือกไร่นาสวนของประชาชนหลายล้านคนด้านท้ายน้ำ ที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีการเส้นทางขึ้นลงของปลา ไว้ด้านข้างของเขื่อน โดยมีความกว้างประมาณ 15 เมตร ยาวประมาณ 1,000 เมตร ทำให้ปลาสามารถขึ้นลงได้อย่างสะดวก โดยไม่ใช้ระบบ “บันไดปลาโจน”  

                นอกจากนี้ยังมีช่องทางเดินเรือแบบยกขึ้นลง ทำให้เรือขนาด 500 ตันแล่นผ่านได้ ซึ่งหมายความว่าทั้งเรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวที่แล่นรับส่งระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว กับเมืองหลวงพระบาง สามารถให้บริการได้ต่อไปตามปกติ

                คาดว่าภายในปี 2565 จะสามารถทดลองเดินเครื่องปั่นไฟ 2 หน่วยแรก และปี 2566 จะสามารถเดินเครื่องได้ครบทั้ง 16 หน่วย หลังการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังในปี 2567 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า และไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 90% จะส่งขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนที่เหลือจะใช้ภายในประเทศ 

      

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ