Lifestyle

เจ้าท่าเร่งจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกลำน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจ้าท่าเร่งจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกลำน้ำ วอนรัฐยืดเวลาพ.ร.บ.การเดินเรือ 1ปี-เยียวยาหาอาชีพ

               ผลพวงจากนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ลงนามในมาตรา 44  เพื่อแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อทวงคืนทรัพย์สินของชาติให้กลับคืนมาเป็นของประชาชนคนไทยทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมอบนโยบายให้กรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำลำคลอง ทะเล ชายหาดสาธารณประโยชน์ นำกลับมาเป็นของส่วนรวมเพื่อประโยชน์ในการรักษาลำน้ำสำหรับการพาณิชยนาวี การเกษตรกรรม และการป้องกันอุทกภัย พร้อมกำชับให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสม สอดคล้องเป็นปัจจุบัน โดยบังคับใช้อย่างเข้มงวดและจริงจัง

               เนื่องจากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงและได้ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งในบทบัญญัติจะเพิ่มอัตราโทษของความผิดเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยผิดกฎหมายให้มากขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ จำเป็นต้องรู้เพื่อจะได้ปฏิบัติหรือดำเนินการให้ถูกต้อง

              ก่อนหน้านี้ ศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้ชี้แจงถึงผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยระบุว่ากำหนดให้ผู้ที่ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่มิได้รับอนุญาต หรือสร้างผิดแบบจากที่ได้รับอนุญาตก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับให้มาแจ้งต่อกรมเจ้าท่าทราบถึงสาเหตุการไม่มายื่นขออนุญาตหรือสร้างผิดจากที่ได้รับอนุญาตภายใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 มิถุนายนที่จะถึงนี้ เพื่อให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบและกำหนดวิธีปฏิบัติให้เป็นตามที่ พ.ร.บ.การเดินเรือฯ (ฉบับที่ 17) บัญญัติไว้ 

               “หากมาแจ้งต่อกรมเจ้าท่าภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 กฎหมายกำหนดให้ใช้อัตราโทษเดิม แต่หากไม่มาแจ้งภายในวันที่กำหนดจะมีโทษปรับในอัตราใหม่ซึ่งเป็น 2 เท่าของโทษตามกฎหมายเดิม โดยจะปรับสูงขึ้นและยังกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี” 

                 ขณะเดียวกันเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำทั้งที่ไม่เคยได้รับอนุญาตหรือเคยได้รับอนุญาต แต่ปลูกสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 จะต้องแจ้งต่อกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่สิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ตามแบบการแจ้งภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 จากนั้นกรมเจ้าท่าจะแจ้งให้ทราบว่าออกใบอนุญาตให้ได้หรือให้ทำการรื้อถอนภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแบบการแจ้ง กรณีออกใบอนุญาตให้แล้ว กรมเจ้าท่าจะแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองยื่นคำร้องเพื่อขอรับใบอนุญาต พร้อมชำระค่าปรับเพื่อการออกใบอนุญาตในอัตราตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งกรมเจ้าท่าจะดำเนินการออกใบอนุญาตให้ภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันที่รับเอกสารครบถ้วน

             ส่วนกรณีไม่ได้รับการออกใบอนุญาต กรมเจ้าท่าจะออกคำสั่งให้รื้อถอน หรือแก้ไขสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำนั้น โดยกำหนดระยะเวลาให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่สิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำตั้งอยู่ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อฟ้องศาล โดยมีโทษปรับตารางเมตรละไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 10,000 บาท หากเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา กรมเจ้าท่าจะดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำนั้น โดยค่าใช้จ่ายจะเป็นของเจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างนั้น 

                 ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่สำคัญ คือ ต้องมีลักษณะหรือสภาพไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือหรือการสัญจรทางน้ำ เมื่อปลูกสร้างแล้วจะไม่ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์จะไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องไม่รบกวนสิทธิต่างๆ ของผู้ที่อยู่ข้างเคียงตลอดจนผลประโยชน์ของมหาชนโดยส่วนรวม  ซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ายืนยันว่าได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินการกับผู้บุกรุกล่วงล้ำลำน้ำทั่วประเทศ ให้ลดจำนวนลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 1 ปี โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างๆ ที่รุกล้ำเชิงพาณิชย์  

                  ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพี่น้องเกษตรกรจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอาชีพทำการประมงชายฝั่ง เกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชัง  รวมทั้งผู้อาศัยอยู่ตามริมลำน้ำในแพว่าที่ผ่านมาทางสภาเกษตรกรฯ ได้รับการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ทำได้เวลานี้คือได้รวบรวมปัญหาเพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยสภาเกษตรฯ ได้ทำบันทึกรายงานไปแล้ว 1 ครั้ง และเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ได้ส่งบันทึกรายงานไปอีก 1 ฉบับ 

                   “สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรซึ่งอาจลุกลามเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ปัญหานี้คือการขอนิรโทษกรรมเกษตรกรทั้งหมดที่ไม่ได้ไปขอขึ้นทะเบียนต่อกรมเจ้าท่า หรือได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าแล้วแต่ไปดำเนินการผิดไปจากที่ได้รับการอนุญาตและให้เกษตรกรไปขึ้นทะเบียนครั้งใหม่กับกรมเจ้าท่า ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี โดยมีการปรับเงื่อนไข หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสำหรับเกษตรกรให้มีความเหมาะสมไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และกรณีเกษตรกรรายใดไม่เข้าหลักเกณฑ์ให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุน เช่น สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพที่เหมาะสม” ประธานสภาเกษตรกรกล่าว พร้อมย้ำว่า

                    ขอให้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อน ยุ่งยาก ทั้งด้านระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมอุทยาน กรมทรัพยากร กรมธนารักษ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อเกษตรกรด้วย  

 ดีเดย์ 15 มิ.ย.ประมงชายฝั่ง 20 จว.พร้อมบุกทำเนียบ

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มเกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งรวมทั้งทำประมงพื้นบ้านทั่วประเทศได้รวมตัวเรียกร้องรัฐบาล พร้อมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมในจังหวัดต่างๆ เพื่อขอขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ฉบับที่ 17 พุทธศักราช 2560 ออกไปอย่างน้อย 1 ปี พร้อมพิจารณาข้อเสนอเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลังกรมเจ้าท่าแจ้งให้ผู้เลี้ยงปลากระชังยื่นคำร้องขอใบอนุญาต พร้อมชำระค่าปรับและค่าธรรมเนียมรายปี  ในฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ก่อนในวันที่ 22 มิถุนายนที่จะถึงนี้  

              ที่ห้องประชุมวัฒนโกเมร ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสตูล อภิมาตร เหร็บควนเคี่ยม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูล พร้อมคณะทำงานกว่า 15 คน เดินทางเข้าพบ สรเดช สุนทรารชุน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เพื่อยื่นหนังสือผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี หลังได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรในพื้นที่ว่ามีความเดือดร้อนจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมงที่ต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นที่ทำมาหากินและเป็นที่อยู่อาศัย  โดยให้ผู้ที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่ามีเวลาปรับตัวและสร้างความเข้าใจต่อเกษตรกรเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย เพราะส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย   

                ส่วนที่ จ.ตรัง สภาเกษตรจังหวัดตรัง นำโดย ปรีชา ขาวดี ประธานคณะทำงานด้านประมงสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง พร้อมตัวแทนสภาเกษตรกร รวม 7 คน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยระบุว่าชาวประมงจังหวัดตรังส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต จึงเรียกร้องให้รัฐบาลขยายการบังคับใช้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปก่อนเป็นเวลา 1 ปี 

                 เช่นเดียวกับ จ.สุราษฎร์ธานี สมชาย สินมา  ประธานคณะทำงานด้านประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินทางเข้าพบ แววตา อาจหาญ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีเกษตรกรใน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ รวม 5,293 ครัวเรือน ได้แก่ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังจำนวน 1,700 ครัวเรือน วิสาหกิจชุมชนและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 400 ครัวเรือน สหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสุราษฎร์ธานี 650 ครัวเรือน สมาคมประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2,500 ครัวเรือน และเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย จำนวน 43 ครัวเรือน 

              ขณะที่ จ.พิษณุโลก ร.อ.อุบล พุทธรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังกว่า 50 คน ได้รวมตัวเข้าพบ ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก และยื่นหนังสือผ่านมายังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวออกไปอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากขณะนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด 371 ครอบครัว รวม 1,113 คน จำนวน 4,862 กระชัง พื้นที่กระชัง 56,761 ตารางเมตร ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีรวมทั้งสิ้น 2,838,050 บาท หากต้องถูกปรับจะต้องเสียค่าปรับสูงเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 56,761,000 บาท และยังถูกดำเนินคดีทางอาญาอีกด้วย 

               ส่วน จ.กระบี่ มีกลุ่มตัวแทนที่ได้รับผลกระทบ นำโดย มานิต ดำกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ อาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยตัวแทนสภาเกษตรกร ประมาณ 20 คน เดินทางมาที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เพื่อขอให้กรมเจ้าท่าชะลอและแก้ไข พ.ร.บ.การเดินเรือฉบับดังกล่าว โดยนายกสมาคมคนรักเลจังหวัดกระบี่ ยืนยันว่าหากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลก็จะยกระดับการเรียกร้องต่อไป โดยในวันที่ 15 มิถุนายนนี้จะมีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศเตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 

ร้องรัฐบาลใช้ม.44 เซตซีโร่ระบบใหม่

               สุวรรณ ฟองเงิน เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในพื้นที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ บอกว่า การเรียกร้องเพื่อให้มีการขยายเวลาออกไปนั้น เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังส่วนใหญ่ทำเป็นแบบพื้นบ้าน จำนวนกระชังของแต่ละรายมีจำนวนน้อย ประกอบกันราคาต้นทุนการเลี้ยงปลาค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงมาก ทั้งในเรื่องโรคต่างๆ รวมทั้งปริมาณน้ำที่บางครั้งอาจทำให้ปลาน็อกน้ำได้ โดยเฉพาะน้ำเสียที่มาจากในเมืองทำให้เกิดความเสียหายปลาตายได้ แต่ถือเป็นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านทำกันมายาวนานเป็นการส่งเสริมอาชีพในครัวเรือน หากทำแต่การเกษตรปลูกข้าว ทำไร่ทำนา คงไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ การทำกระชังปลาเข้ามาช่วยเสริมถือเป็นการทำเศรษฐกิจพอเพียง

             ปัจจุบันที่ทำอยู่มีเพียง 6 กระชังเท่านั้น จึงอยากจะวอนให้มีการทบทวนพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ออกมาบังคับใช้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง โดยเฉพาะในเรื่องค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียรายปีอยากจะให้ลดลงเหลือตารางเมตรละ 5 บาท หรือว่าไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการเลี้ยงปลากระชังได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงปลาค่อนข้างสูงมาก

              สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังในเขตพื้นที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีอยู่ประมาณ 50-60 ราย ประมาณ 500-600 กระชัง ขณะนี้ยังไม่มีรายไหนได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหากจะให้ไปลงทะเบียนและต้องเสียค่าปรับพร้อมค่าธรรมเนียมรายปี เกษตรกรคงได้รับความเดือดร้อน ในอนาคตหากยังคงบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ เชื่อว่าจะมีเกษตรกรหลายรายเลิกทำกระชังปลาอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นได้

                 ขณะที่ วาริน เขื่อนแก้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังในพื้นที่อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เริ่มเลี้ยงปลาในกระชังมาตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีกระชังปลาอยู่ 49 กระชัง ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากพ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 เนื่องจากมีกระชังอยู่เป็นจำนวนมากหากต้องเสียค่าปรับทั้งหมดจะต้องพบภาวะขาดทุนอย่างแน่นอน เมื่อคำนวณแล้วจะต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 612,500 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมจดทะเบียนรายปี การจะให้เกษตรกรไปขึ้นทะเบียนก่อนวันที่ 22 มิถุนายนที่จะถึงนี้ เชื่อว่าคงไม่มีเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง คงไม่มีเงินไปชำระทั้งค่าปรับและค่าธรรมเนียมจดทะเบียน  

                  “หวังว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะมาช่วยกลุ่มเกษตรกรประมงพื้นบ้านที่เลี้ยงปลารายละไม่กี่กระชังเนื่องจากเกษตรกรไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิด แต่เป็นการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงครอบครัว เป็นการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว อยากให้รัฐบาลใช้ มาตรา 44 นิรโทษกรรมกลุ่มผู้ที่กระทำผิด แล้วเริ่มต้นใหม่ลงทะเบียนใหม่ทำให้ถูกต้องตามระบบ เป็นการเซตซีโร่ระบบเพื่อก้าวเข้าสู่ความถูกต้อง” เกษตรกรคนเดิมกล่าววิงวอน

  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ