Lifestyle

เสียงเพรียกจากชาวนาไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงเพรียกจากชาวนาในวันข้าวฯ ร้องรัฐ‘เลิกทาส’เพื่อแก้วิกฤติหนี้

                 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552 กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อกิจการด้านข้าวและชาวนาของประเทศไทย อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของข้าว  และเชิดชูเกียรติชาวนา ในฐานะกระดูกสันหลังของชาติ ที่เป็นผู้ผลิตข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เยาวชนผู้สืบทอดอาชีพการทำนาต่อจากบรรพบุรุษ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศ  

              โดยในปี 2560 นี้ ตรงกันวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ องค์กรชาวนา และภาคเอกชน จัดงานใหญ่ ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา นำชาวนาสู่ยุค 4.0” ระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน 2560 ณ กรมการข้าว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ รวมทั้งใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง 

                  อนุสรณ์ สุพรรณโรจน์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ต.บางงาม อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ยอมรับว่า ชาวนาปัจจุบันค่อนข้างสบายมากกว่าแต่ก่อนมาก เนื่องจากมีเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการทำนา แต่มีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะการจำหน่ายข้าวต้องเป็นไปตามกลไกของตลาด ทำให้รายได้ก็ต้องผันแปรตามไปด้วย ในขณะที่ต้นทุนยังคงเดิม ตนเองมีรายได้หลักจากการทำนา ปัจจุบันมีที่นาอยู่ 25 ไร่ เช่าเขาทำเพิ่มอีก 10 ไร่ โดยทำนาปีละ 3-4 ครั้ง หลังหักค่าใช้จ่ายในเรื่องต้นทุนการผลิตแล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ สำหรับนาของตัวเอง ส่วนนาเช่าก็ลดลงมาครึ่งหนึ่งอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่เท่านั้น เนื่องจากราคาข้าวขาวหรือข้าว 30% ที่ปลูก ทุกวันนี้ราคารับซื้ออยู่ที่ 6,500-7,500 บาทต่อตันเท่านั้นเอง หากหวังพึ่งรายได้จากการทำนาอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องอาศัยศาสตร์พระราชา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก จ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็น ทำให้อยู่ได้

                “สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยก็คือในเรื่องการตลาดและความแน่นอนในเรื่องราคา เพราะเกษตรกรจะได้คำนวณต้นทุนได้ง่าย อยากให้รัฐช่วยในเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต เนื่องจากทุกวันนี้ต้นทุนกว่า 50% หมดไปกับค่าแรงงาน หากมีเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาก็จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ลงได้ อีกอย่างคือการรวมกลุ่มวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับการตลาด ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเราจะรู้ว่าปลูกแล้วเราจะขายใคร ขายที่ไหน ได้ราคาเท่าไหร่ และประการสุดท้าย การนำศาสตร์พระราชา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะชาวนาจะใช้เวลาปลูกข้าวประมาณ 20-30 วันต่อฤดูกาลผลิต 3-4 เดือน ส่วนที่เหลือก็ว่าง น่าจะใช้เวลาส่วนนี้หารายได้ปลูกพืชอื่นด้วย ถ้ารอรายได้จากข้าวอย่างเดียวจะอยู่ไม่ได้” เกษตรกรดีเด่นจากสุพรรณบุรีกล่าวย้ำ

                 ไม่เพียงอนุสรณ์ที่ต้องการให้รัฐช่วยในเรื่องราคาและการตลาด แม้แต่เกษตรดีเด่นจากที่ราบสูงแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ อย่าง สวัสดิ์ ลาโพธิ์  แกนนำเครือข่ายชาวนาใน ต.เมืองทอง อ.เมือง จ.ยโสธร ก็กังวลในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยเขาระบุว่า ปัญหาชาวนาทุกวันนี้อยู่ที่ต้นทุนการผลิตและการตลาดไม่คงที่ ฉะนั้นการทำตลาดล่วงหน้า มีการตกลงเซ็นสัญญาระหว่างชาวนากับพ่อค้าหรือหน่วยงานภาครัฐอย่างชัดเจนก็จะเป็นผลดีต่อชาวนาไทย เนื่องจากปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่จะผูกตลาดไว้กับโรงสี ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาการถูกกดราคาและเอาเปรียบทุกรูปแบบ แม้ว่าจะเป็นโครงการหรือนโยบายของรัฐก็ตาม

               “ผมมีที่นาอยู่ 51 ไร่ เป็นนาอินทรีย์ ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ทั้งหมด ปกติต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,500-4,500 บาทต่อไร่ แต่ของผมเฉลี่ยอยู่ที่ 2,600 บาทต่อไร่ เพราะเป็นนาอินทรีย์ ไม่ต้องมีต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง แล้วก็มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายทำนาอินทรีย์ ทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์กันเองเพื่อลดต้นทุน ที่สำคัญยังประหยัดในเรื่องเมล็ดพันธุ์ด้วย เพราะกลุ่มของเรามีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายให้สมาชิกในเครือข่ายด้วย” เกษตรกรดีเด่นคนเดิมเผย

                 ขณะที่ พินโย มีชนะ เกษตรกรดีเด่นสาขาทำนาแห่งลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และประธานศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ต.สามตำบล อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช  มองว่า การทำนาอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้ร่ำรวยได้ หากไม่ยึดศาสตร์พระราชาปลูกพืชอย่างหลากหลายเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เห็นได้จากครอบครัวของตนที่มีที่นาอยู่ 21 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองอย่างเดียว ได้แก่ ข้าวเล็บนกปัตตานี และข้าวสังข์หยดพัทลุง แม้จำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าข้าวชนิดอื่นก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครอบครัวอยู่ดี หากไม่มีรายได้จากส่วนอื่นมาเสริม  

                    “อย่างข้าวเล็บนกและสังข์หยดตอนนี้ราคาข้าวเปลือกจะอยู่ที่ 20,000-23,000 บาทต่อตัน แต่สมาชิกส่วนใหญ่จะไม่ขายเอามาแปรรูป สีเป็นข้าวสาร ข้าวกล้องบรรจุถุงจะได้ราคาดีกว่า ซึ่งทุกวันนี้ยังมีไม่พอจำหน่าย แต่ข้อจำกัดของข้าวพื้นเมือง 2 สายพันธุ์นี้ เป็นข้าวไวแสง ปลูกได้เฉพาะนาปีเท่านั้น ผลผลิตต่อไร่ก็ไม่สูงมากนัก อยู่ที่ 450-500 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างปีนี้ (2560) ภาคใต้มีปัญหาน้ำท่วมหลายครั้ง บางพื้นที่ก็ปลูกไม่ได้เลย ขณะที่เมล็ดพันธุ์ก็ขาดตลาด เพราะเจอน้ำท่วมนี้แหละ” พินโยกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาดูแลเรื่องน้ำ เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปีในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ฤดูฝนก็ท่วมทุกปีเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ต.สามตำบล อ.จุฬาภรณ์

                   ด้าน ระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทยและเลขานุการคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปลดหนี้ชาวนาให้เป็นศูนย์เหมือนกับที่รัฐบาลเอาเงินไปอุ้มภาคธุรกิจตอนที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่เมื่อปี 2540 ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนหลายแสนล้านยังทำได้ ขณะที่หนี้ชาวนาแค่หลักพันหลักหมื่นก็น่าจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงของรัฐบาลชุดนี้ เพราะหากไม่ทำในรัฐบาลนี้ก็คงยากที่ชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปากเหมือนอาชีพอื่น ส่วนวิธีการจะมีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไรก็ต้องมาคุยในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเอาหนี้มาเป็นสินทรัพย์ เป็นทุนหรือการรวมกลุ่มระบบสหกรณ์เพื่อให้เกิดเกษตรกรชาวนามีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนก็ค่อยมาว่ากันในรายละเอียด แต่ขั้นแรกต้องตัดหนี้ชาวนาให้เป็นศูนย์ก่อน

                     “ในวันที่เข้าพบท่านนายกฯ วันนั้นท่านก็พูดชัดเจนว่า รัฐบาลนี้มีความตั้งใจสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวนาและองค์กรชาวนาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน  ทั้งนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต แต่ผมคิดว่า ถ้าจะช่วยจริงๆ และเห็นผลทันทีต้องปลดหนี้ชาวนาให้เป็นศูนย์เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำไมตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 40 รัฐทุ่มเงินช่วยภาคธุรกิจได้ แต่วิกฤติหนี้ชาวนาปี 60 ทำไมรัฐจะช่วยไม่ได้ ในเมื่อชาวนาคือผู้ผลิตข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศทั้งโลก”

                     นายกสมาคมการค้าเครือข่ายชาวนาไทยยอมรับว่า หลายนโยบายในรัฐบาลนี้ถือเป็นนโยบายที่ดีที่สามารถพลิกฟื้นภาคเกษตร ทั้งนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เพียงแต่ต้องการความต่อเนื่องเท่านั้น ไมว่าจะเป็นระบบเกษตรแปลงใหญ่ที่ร่วมกันผลิต ร่วมกันหาตลาดและสามารถลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงเกษตรพันธสัญญาที่มีนายทุนอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นเกษตรแปลงใหญ่ที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นระบบสหกรณ์ นอกจากนี้การที่รัฐบาลหยิบเอาองค์กรเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2543 กลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นการดำเนินการจากข้างล่างมาสู่ข้างบน ไม่ใช่สั่งมาจากข้างบนเหมือนเช่นที่ผ่านมาๆ 

                   “การขับเคลื่อนอาชีพทำนาโดยผ่านเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะศูนย์ข้าวชุมชนจะกระจายอยู่ในทุกตำบลแล้วก็มีเครือข่ายระดับจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ทั่วประเทศมี 77 จังหวัด 77 แห่ง มีตัวแทนชาวนาในชุมชนเหมือนกับอสม. กลุ่มคนเหล่านี้จะรู้ดีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอะไร ต้องแก้อย่างไร ไม่ใช่สั่งมาจากข้างบน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐแค่คอยเป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนในการทำงานให้ราบรื่นแค่นี้พอ” ระวีกล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง

                                                                          ..............................................................................................

 นายกฯย้ำรัฐบาลยกระดับชาวนาสู่เกษตรกร4.0 

                พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของชาวนาและองค์กรชาวนาให้มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการผลิตข้าวมากขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เพื่อก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการเกษตร และใช้แนวทางประชารัฐ เพื่อต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำข้าวในตลาดโลก

                     โดยในปี 2560 รัฐบาลมีนโยบายจัดทำโครงการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร วางแผนการผลิตข้าวให้มีคุณภาพและปลอดภัยได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก ได้ดำเนินนโยบายจัดทำโครงการ ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 นี้ รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2.โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และ 3.โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งดูแลเกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

                    ขณะเดียวกันเกษตรกรจะต้องมีการปรับตัวและใช้แนวทางของประชารัฐ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ของตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างชาวนารุ่นใหม่ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำเกษตรกรรมและพัฒนาต่อยอดการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อทดแทนชาวนาปัจจุบันที่มีอายุมาก และผลิตข้าวของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

                  อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี (2560-2564) ของรัฐบาล แบ่งเป็น 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวนาและองค์กรชาวนา 2.ยุทธศาสตร์การควบคุมพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวให้เหมาะสม 3.ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว 4.ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการผลิตและมาตรฐานสินค้าข้าว 5.ประเด็นยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ด้านระบบการจัดการการส่งสินค้าหรือโลจิสติกส์ 6.ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพและสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว 7.ยุทธศาสตร์สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว และ8.ยุทธศาสตร์วิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมข้าว  ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกัน และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

ประกาศปฏิญญาภาคีศูนย์ข้าวชุมชน

                นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ ได้กล่าวคำปฏิญญาภาคีศูนย์ข้าวชุมชนแสดงจุดยืนในการร่วมมือกันเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์ชาวนาในโอกาสวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ปี 2560 ดังนี้

1.ยืนยันจุดยืนว่า ภาคีเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนจะเป็นองค์กรที่จะเสริมสร้าง ส่งเสริม สนับสนุนให้ชาวนาและองค์กรชาวนามีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้

2.ยืนยันความมุ่งมั่นว่า ภาคีเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนจะเป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชาวนา ทั้งด้านการผลิต การกระจายเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นศูนย์เตือนภัยศัตรูข้าวและพัฒนาสังคมชาวนาให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

3.ยืนยันความตั้งใจว่า ภาคีเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนจะเป็นองค์กรชาวนาที่มีระบบบริหารจัดการองค์กรที่มีระเบียบ มีข้อตกลงที่ระบุบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการและสมาชิกที่ชัดเจน

4.ยืนยันความร่วมมือในการร่วมมือกับรัฐบาลโดยกรมการข้าว ทำงานอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ทั้ง 2 องค์กรมีความเข้มแข็งในการบรรลุภารกิจการพัฒนาข้าวและชาวนาอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ