Lifestyle

เกาะติดมวลน้ำทะลักสู่“เจ้าพระยา”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกาะติดมวลน้ำทะลักสู่“เจ้าพระยา” ยันข้าวนาปีกว่า3ล้านไร่ไม่มีผลกระทบ

                 หลังจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่มาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2560 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจะหยุดตกแต่อย่างใด ล่าสุดวันที่ 29 พฤษภาคม กรมชลประทานเปิดแถลงข่าวเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยหากเกิดขึ้น หลังมวลน้ำเหนือเริ่มไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายหลัก ซึ่งมั่นใจว่ายังสามารถรับน้ำได้ ปริมาณน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งอีกมาก ส่วนน้ำเหนือยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่กระทบต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

                 สัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวระหว่างเปิดแถลงข่าวการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังมีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,061 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.58 เมตร (ตลิ่ง 26.20 เมตร) ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 677 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ส่วนแม่น้ำสายหลักอื่นๆ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งเช่นกัน อาทิ แม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.32 เมตร (ตลิ่ง 3.70 เมตร), แม่น้ำวัง ที่สถานี W.4A อ.สามเงา จ.ตาก ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.85 เมตร (ตลิ่ง 6.10 เมตร), แม่น้ำยม ที่สถานี Y.4 อ.เมืองสุโขทัย ระดับน้ำกว่าตลิ่งอยู่ 5.14 เมตร (ตลิ่ง 7.45 เมตร), แม่น้ำน่าน ที่สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.83 เมตร (ตลิ่ง 28.30 เมตร)

               ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยารวมไปถึงแม่น้ำสายหลักอื่นๆ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก ซึ่งกรมชลประทานมีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม การเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง จนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลายพื้นที่ รวมไปถึงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรายงานสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนสามารถทำได้อย่างทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

              อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ไม่ได้มีผลกระทบจากน้ำเหนือแต่อย่างใด ส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในระยะนี้ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และปริมาณน้ำเหนือยังอยู่ในเกณฑ์น้อย

             “ในช่วงเช้าวันนี้ (29 พ.ค.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29 อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพียง 853 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถรับได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้ประสานรายงานสถานการณ์น้ำให้แก่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว”

             สัญชัยยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ว่า ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือในพื้นที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ที่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ส่วนพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลคีรีมาศเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางในการระบายน้ำในจุดที่เน่าเสียแล้วเช่นกัน ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำได้ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้คงการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์วันละ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดต่ำลง ช่วยให้การระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

             ส่วนแนวทางในการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำนั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านได้ดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่นาข้าว ด้วยการปิดการรับน้ำแม่น้ำน่าน จากท่อระบายน้ำคลองต้นโพธิ์ (YN.1) และท่อระบายน้ำคลองอ้อม (YN.2) พร้อมกับเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า คลองน้ำไหล คลองเมม-คลองบางแก้ว ลงสู่แม่น้ำยมผ่านประตูระบายน้ำบางแก้ว และยังได้เร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมสายหลักลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลอง DR-2.8 ในอัตรา 133 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายน้ำจากคลองเมม-คลองบางแก้ว ลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลอง DR-15.8 ในอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ซึ่งโครงการชลประทานพิษณุโลกได้รื้อทำนบดินชั่วคราวในแม่น้ำยมสายหลัก 2 แห่ง บริเวณหมู่ 2 และหมู่ 10 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พร้อมกับกำจัดเศษสวะหน้าประตูระบายน้ำวังสะตือ ต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในแม่น้ำยมสายหลักให้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

            นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 23 เครื่อง สูบน้ำออกจากพื้นที่นาข้าว เพื่อไม่ให้ต้นข้าวได้รับความเสีย และยังนำรถขุดไฮโดรลิกอีก 4 คัน เข้าไปดำเนินการเสริมคันดินในจุดที่ตลิ่งต่ำ เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งและเอาสิ่งกีดขวางทางน้ำออกอีกด้วย

            “ขณะนี้พื้นที่น้ำท่วมลดลงจากเดิมประมาณ 1.4 หมื่นไร่ คงเหลือประมาณ 5,000 ไร่ ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า คลองน้ำไหล คลองเมม-คลองบางแก้ว และคลองสาขาต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มคาดว่าภายใน 2-4 วัน จะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนข้าวนาปีในพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตก ซึ่งล่าสุดมีพื้นที่ปลูกข้าวไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

               อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิจิตร ล่าสุด (ณ 29 พ.ค.) มีรายงานว่า ยังคงส่งผลกระทบขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง หลังฝนตกชุกในพื้นที่และน้ำจากทุ่งกำแพงเพชรไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวที่เริ่มเพาะปลูกพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 8 บ้านใหม่ ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร น้ำไม่สามารถระบายลงแม่น้ำยมได้ เนื่องจากระดับน้ำแม่น้ำยมสูงจนใกล้ล้นตลิ่ง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานชลประทานพิจิตรนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 เครื่อง ช่วยสูบน้ำที่ท่วมพื้นที่นาข้าวตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ระบายน้ำได้ทันกับน้ำเพิ่มที่ขึ้นต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้ต้นข้าวที่ชาวนาเริ่มเพาะปลูกได้รับเสียหาย 

             ส่วน จ.อ่างทอง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งคลองบางโผงเผง คลองสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาในหมู่ 6 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งอยู่ติดกับ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นจุดที่ต่ำสุดในพื้นที่ของจังหวัด ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตตามปกติ แม้ระดับน้ำในคลองโผงเผงยังคงเพิ่มต่อเนื่อง หลังเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท เพิ่มการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน โดยชาวบ้านบอกว่าไม่กลัว เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่กับน้ำมาโดยตลอด และเคยถูกน้ำท่วมสูงจนต้องเดินลุยบนบ้านที่ยกพื้นสูงกว่า 5 เมตรมาแล้ว หากจะท่วมอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องอยู่ให้ได้เช่นทุกปี

                ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 677 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำที่ไหลผ่าน จ.อ่างทอง ที่สถานีชลมาตร C7A สำนักชลประทานที่ 12 หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 672 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูง 3.56 เมตรต่อรทก. ซึ่งจังหวัดอ่างทองได้เตรียมพร้อมด้วยการประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ติดริมน้ำและผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ตรวจสอบความแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้างรวมถึงกระชังปลาเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำ                                                       

 7จังหวัดริมฝั่งเจ้าพระยาเตรียมพร้อมรับมือ  

            วันที่ 29 พฤษภาคม กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลากว่า กระทรวงมหาดไทยสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ไปตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีฝนตกหนัก จึงได้ให้เตรียมที่รองรับกักเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิง หรือขุดบ่อน้ำไว้แล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็จะบริหารจัดการได้ อย่างกรณีของ จ.สุโขทัย ได้รับการยืนยันล่าสุดจากผู้ว่าฯสุโขทัยว่า ดำเนินการบริหารจัดการไปได้ เพราะน้ำไม่เข้าท่วมในตัวเมือง และมีการร่วมมือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

            "สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ผมได้สั่งการจังหวัดบริเวณรอบ กทม.ให้ช่วยประสานงานเกี่ยวกับระบบพร่องน้ำ ระบายน้ำ โดยเฉพาะช่วงจุด จ.ปทุมธานี เชื่อมต่อเข้ามายังเขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ทำได้ดีมาก สามารถดูแลแก้ไขปัญหาได้ สรุปในภาพรวมถือว่ายังดูแลได้” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

             ขณะที่ ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ปภ.ได้ประสานไปยัง 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี ให้เตรียมพร้อมรับมือและจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด  จากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม จนถึงขณะนี้มีพื้นที่เกิดอุทกภัย  15 จังหวัด รวม 52 อำเภอ 177 ตำบล 991 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,074 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำใน อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย รวม 2 ตำบล ได้แก่ ต.สามพวง และต.ทุ่งหลวง ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,119 ครัวเรือน 39,654 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 17,655 ไร่ มีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 40–50 เซนติเมตร โดยทางจังหวัดได้เร่งระบายน้ำออกทางประตูระบายน้ำปากพระ ต.บางซ้าย และระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว จึงร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ