Lifestyle

เจาะตลาด‘ทุเรียนไทย’ในต่างแดน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะตลาด‘ทุเรียนไทย’ในต่างแดน คุณภาพจะไปถึง4.0หรือยังอยู่ที่0.4

           ทุเรียนได้ชื่อว่า “ราชาแห่งผลไม้”ของไทยที่ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกในทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 7.2 แสนไร่ จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุในปี 2559 เฉพาะพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตมีมากถึง 5.8 แสนไร่ โดยจ.จันทบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดจำนวน 203,170 ไร่ ให้ผลผลิต 187.79 (พันตัน) รองลงมาจ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูก 148,130 ไร่ให้ผลผลิต 199.81 (พันตัน) และจ.ระยอง มีพื้นที่ปลูก 66,280 ไร่ ให้ผลผลิต 59.68 (พันตัน) โดยข้อมูลกรมศุลกากรระบุชัดว่าในปี 2559 นั้นมูลค่าส่งออกทุเรียนทั้งสิ้น 19,923 ล้านบาท แยกเป็นทุเรียนสด 17,469 ล้านบาท ทุเรียนแช่แข็ง 2,173 ล้านบาท และทุเรียนอบแห้ง 282 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลักคือสาธารณรัฐประชาชนจีนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของตลาดส่งออกทั้งหมด 

 เจาะตลาด‘ทุเรียนไทย’ในต่างแดน!

           แม้ทุเรียนยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ขณะนี้ต่างก็ปลูกทุเรียนและเริ่มมีการส่งออกแล้วเช่นกัน ถึงแม้ทุกวันนี้ทั้งคุณภาพและปริมาณของผลผลิต ตลอดจนรสชาติอาจจะสู้ทุเรียนไทยไม่ได้ แต่ในอนาคตอาจไม่แน่ หากกระบวนการจัดการทุเรียนไทยยังอยู่ในวิถีเดิมๆ   
           เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0   เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้จัดเสวนา “คุณภาพทุเรียนไทยจะไปถึง 4.0 หรืออยู่ที่ 0.4” ขึ้น ณ ห้องประชุมกำพล อดุลย์วิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนหาข้อสรุปปัญหาของทุเรียนไทยในปัจจุบัน 

 เจาะตลาด‘ทุเรียนไทย’ในต่างแดน!
         ไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ได้ฉายภาพให้เห็นถึงตลาดส่งออกทุเรียนไทยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้บริโภค แต่อยู่ที่พ่อค้าว่าดูทุเรียนเป็นหรือไม่ ระหว่างทุเรียนอ่อนและทุเรียนแก่มีความแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีนที่มารับซื้อผลผลิตจากล้งและชาวสวนคนไทย ซึ่งมีอยู่กว่า 30% ส่วนอีก 70% จะเป็นพ่อค้าคนไทย ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหา ในขณะที่พ่อค้าชาวจีนไม่สามารถแยกแยะได้ เนื่องจากไม่มีความชำนาญ 
           “แต่ละปีก็จะมีพ่อค้าจากประเทศจีนมารับซื้อทุเรียนจากชาวสวนโดยตรง พ่อค้ากลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 30% แล้วแต่ละปีก็จะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ไม่ใช่คนเดิมๆ บางคนยังไม่รู้จักทุเรียนเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะพ่อค้ากลุ่มนี้ เขาทำธุรกิจค้าขายสินค้าอื่นอยู่แล้ว พอถึงหน้าทุเรียนก็มาซื้อขายด้วย ส่วนที่เหลือเป็นพ่อค้าคนไทย ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากรู้ลักษณะความแตกต่างทุเรียนอ่อนแก่แล้วยังรู้จักกับเกษตรกร เจ้าของสวนเจ้าของล้งด้วย เมื่อพูดถึงคุณภาพทุเรียนต้องถามก่อนว่าถามใคร ผู้บริโภคหรือเปล่า หรือคนซื้อ เราไม่ได้ขายให้คนกินนะครับ เราขายให้พ่อค้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ขายต่อๆ กันไป แล้วเขาก็ไปขายต่อให้ผู้บริโภค เขาไม่แคร์หรอกว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้ของเขาขายได้ก็พอ เกรดดีก็ขายแพง เกรดไม่ดีก็ถูกลง อย่างทุเรียนอ่อนก็เอาไปแปรรูปทำซุปบ้าง อะไรบ้าง เขาก็ขายได้  แต่ปัญหาก็คือคนกิน หากเจอทุเรียนอ่อนก็กินไม่ได้ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ต้องทิ้งอย่างเดียว” 

 เจาะตลาด‘ทุเรียนไทย’ในต่างแดน!

           ไพบูลย์ระบุว่า เรื่องทุเรียนอ่อนไม่ใช่ประเด็นใหญ่ หากทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการตลาด โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของทุเรียนไทยในขณะนี้กำลังจะถูกแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามที่ขณะนี้กำลังขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทองเพิ่มขึ้น แม้รสชาติจะสู้หมอนทองไทยไม่ได้แต่ในอนาคตก็น่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับมาเลเซียที่มีทุเรียนมูซังคิงส์ สีเหลืองสวยงามคล้ายหมอนทองไทย แม้รสชาติยังสู้ทุเรียนไทยไม่ได้ แต่เขามีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี โดยส่งออกในลักษณะทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน แถมราคายังสูงกว่าทุเรียนผลสดไทย 3-4 เท่า ถ้าหมอนทองไทยขายกิโลกรัมละ 200 บาท มูซังคิงส์กิโลกรัมละ 800 บาท   

           นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทยชี้ว่า หากต้องการชนะคู่แข่งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มก็ต้องมาเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตลาดให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งแต่หมอนทองอย่างเดียว  อย่างเช่นพวงมณี ขณะนี้ในตลาดจีนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีน และมีราคาแพงกว่าหมอนทองอีกด้วย
          “เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ผมทดลองส่งพวงมณีไปจีน 3 ตู้คอนเทนเนอร์พ่วงไปกับหมอนทอง ปรากฏว่าคนจีนชอบมาก เขาบอกเลยว่าพันธุ์นี้มีเท่าไหร่ให้เอามา เขารับซื้อหมด และให้ราคาดีกว่าหมอนทอง 2-3 เท่า พวงมณีก็น่าจะเป็นอีกสายพันธุ์ที่สดใสในตลาดต่างแดน โดยเฉพาะตลาดจีน” ไพบูลย์ ให้มุมมอง 
       ผศ.ดร.รณฤทธิ์ ฤทธิรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เจ้าของนวัตกรรมเทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้ (NIR Technology) สำหรับการตรวจวัดทุเรียนอ่อน ซึ่งมีจุดเด่นในการตรวจวัดทุเรียนอ่อนได้อย่างแม่นยำเหมาะสำหรับผู้ประกอบการในการตรวจวัดความแก่ของทุเรียนก่อนส่งออก โดยใช้วิธีวัดการดูดกลืนแสงด้วยพลังงานแสงอินฟราเรดย่านใกล้ในตำแหน่งความยาวคลื่นเฉพาะ ซึ่งเครื่องวัดคุณภาพทุเรียนชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลดีเด่นการประกวดนวัตกรรมมุ่งเป้าปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาแล้ว

 เจาะตลาด‘ทุเรียนไทย’ในต่างแดน!
           “เมิื่อนำเครื่อง NIR ไปแตะที่ผลทุเรียน ค่าก็จะบอกทันทีว่าเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียนจะอยู่ที่ระดับใด โดยไม่ต้องปอกเปลือก ถ้าหมอนทอง ชะนีต้องไม่ต่ำกว่า 32%  พวงมณี 30%  กระดุม 27%" เจ้าของนวัตกรรมกล่าว
       ขณะที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ ยอมรับว่าทุเรียนนั้นถือเป็นผลไม้ส่งออกดาวเด่นของไทย เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จากปี 2550 การส่งออกทุเรียนของไทยประกอบด้วย ทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง และทุเรียนอบแห้ง คิดเป็นมูลค่า 3,065 ล้านบาท จากนั้นในปี 2559 มูลค่าการส่งออกพุ่งสูงถึง 19,923 ล้านบาท ในขณะที่ราคาขายปลีกทุเรียน (หมอนทอง) ในปี 2550 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 38.61 บาท มาปี 2560 อยู่ที่ 134 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะเห็นว่าราคาทุเรียนมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 เจาะตลาด‘ทุเรียนไทย’ในต่างแดน!
         “สิ่งที่ท้าทายของทุเรียนไทยคือจะยกระดับอำนาจการต่อรองของเกษตรกรในซัพพลายเชนได้อย่างไร รวมถึงประสิทธิภาพของกลไกการกระจายและช่องทางการตลาดให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปจีนไม่เป็นลักษณะขายฝากและดูแลทุเรียนไทยสู่ผู้บริโภคให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือในระยะยาว ที่สำคัญทำอย่างไรจะรักษาตลาดจีนไว้ให้ได้ในระยะยาว” รศ.สมพรกล่าวย้ำ 

       ด้าน ว่าที่ร.ต.นันทภพ ชลเขตต์  นักวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดินและเจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่ในจ.จันทบุรี มองว่า ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีความก้าวหน้าไปมาก สามารถผลิตทุเรียนออกนอกฤดูและสามารถบังคับให้ออกดอก ออกผลได้ จึงทำให้ทุเรียนในแปลงเดียวกัน ออกผลผลิตไม่พร้อมกัน จึงขายได้ราคาดีและผลผลิตไม่ล้นตลาด ขณะเดียวกันเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในแต่ละภูมิภาคยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตลอดเวลา และยังสร้างเครือข่ายเพื่อรับรู้ความคลื่อนไหวของทุเรียนในแต่ละพื้นที่ด้วย
          “ถามว่าชาวสวนทุเรียนวันนี้อยู่ที่ 4.0 หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวสวนรุ่นใหม่ๆ มีการสร้างเครือข่ายชาวสวนทุเรียนด้วยกัน นำเทคโนโลยีใหม่มาสู่กระบวนการผลิตและรู้จักใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการทำตลาดอีกด้วย ผมว่าเจ้าหน้าที่ต่างหากที่ยังตามไม่ค่อยทัน” ว่าที่ร.ต.นันทภพ วิพากษ์ทิ้งท้ายอย่างตรงไปตรงมา
             จึงไม่แปลกใจว่าทำไมทุเรียนไทยวันนี้ ไม่ค่อยมีปัญหาด้านการตลาด แต่คุณภาพจะถึง 4.0 หรือไม่ ต้องถามใจเจ้าหน้าที่และเกษตรกรชาวสวนทุเรียน! 


 ทุเรียนคุณภาพ 19 แปลงใหญ่ใน 9 จังหวัด 
        ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังจากการร่วมสังเกตการณ์ในเวทีเสวนาวันนี้ โดยระบุว่า ภาพรวมถือว่าทุเรียนทุกวันนี้เป็นผลไม้ที่ดีของประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ที่กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้ง เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในภาพรวมใน 4 มิติ โดยมิติแรกทำอย่างไรให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งผ่านกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน  มิติที่สองทำอย่างไรให้ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรให้มีคุณภาพและคุณค่าด้วย มิติที่สามต้องมุ่งงานวิจัยในการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร และสุดท้ายทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เท่าทันเกษตรกร  
         “ส่วนเรื่องพัฒนาสายพันธุ์ตอนนี้เราได้ดำเนินการมานานแล้วเพียงแต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่เราเตรียมการตรงนี้ไว้ตลอดเวลา รวมถึงการทำสินค้าเกษตรคุณภาพผ่านระบบแปลงใหญ่ ซึ่งทุเรียนเองมีทั้งหมด 13 แปลงใหญ่ใน 9 จังหวัด  ส่วนในทุเรียนอ่อนกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจดำเนินการอยู่ตลอดเวลา มีทั้งขอความร่วมมือและใช้มาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการด้วย” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวย้ำ


เข้มมาตรการป้องตลาดทุเรียนไทยในจีน 
             สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจโรงคัดบรรจุทุเรียนส่งออก (ล้ง) จ.จันทบุรี พร้อมประชุมติดตามควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปประเทศจีน เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนว่า จีนเป็นตลาดใหญ่สุดของทุเรียนไทย ได้ร่วมมือกับทางจันทบุรีและตราด ตั้งด่านตรวจสกัดทุเรียนอ่อน ระหว่างขนส่งทุเรียนจากแปลงเกษตรกรไปโรงคัดทุเรียน โดยใช้เทคนิคตรวจสอบทุเรียนอ่อน  ซึ่งนำมาใช้เป็นมาตรการควบคุมทั้งในโรงคัดบรรจุและผู้ส่งออกต้องมีการขึ้นทะเบียนกรมวิชาการเกษตร มีเงื่อนไขในการส่งออก ที่ต้องดำเนินการก่อนบรรจุ ระบุชื่อบริษัท รหัสผู้ส่งออก โดยมาตรฐานทุเรียนมีรหัสจากแปลงเกษตรกรที่ได้จีเอพี ต้องมีสติกเกอร์ติดที่ขั้วผล มีข้อมูลรหัสมาตรฐานจีเอพี มีเลข 15 ตัว รหัสผู้ส่งออก และรหัสตรวจสอบย้อนกลับได้ หากปลายทางเจอทุเรียนไม่ได้มาตรฐานให้ติดต่อมากรมวิชาการเกษตร 
             “นอกจากคุมเข้มส่งออกไปจีนแล้ว  ตามพิธีสารการส่งออก ยังต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช โดยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชว่าปลอดศัตรูพืชหรือไม่ เช่น ราดำ และหนอนเจาะเม็ดทุเรียน พร้อมกับตรวจสอบสติกเกอร์ที่กล่องและที่ขั้วทุเรียน จึงจะบันทึกว่าผ่าน ใบแจ้งสุขอนามัยพืชถูกส่งไปปลายทาง ด่านนครพนม หรือท่าเรือแหลมฉบัง และมีการซีนหลังตู้คอนเทนเนอร์ว่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ไปรับใบแจ้งที่ปลายทาง ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำมาทุกปี”
          อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำด้วยว่า ในปีนี้ได้เพิ่มเติมมาตรการช่วงต้นฤดูมีทุเรียนอ่อน และมีราคาแพง ได้จัดทีมเพิ่มเติมตรวจล้ง 7 ชุด ตั้งด่านตรวจพืชเพิ่มอีก 4 ชุด เพื่อแก้ไขเรื่องปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น และปัญหาตรวจพบระยะสั้นแก้ไขทันที ป้องกันสวมใบจีเอพีปลอม เพราะแปลงเกษตรกรถ้าไม่เข้ากระบวนการออกใบรับรองจีเอพีจากกรมจะส่งออกไม่ได้ หากโรงคัดบรรจุ แปลงเกษตรกรบางส่วนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เข้าไปแจ้งเตือน พบผิด 3 ครั้งจะยกเลิกใบรับรองแปลง และยกเลิกทะเบียนล้งหยุดส่งออกทันที
                                                 ............................................

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ