Lifestyle

ความมั่นคงทาง"พลังงาน"  เกมวัดใจนายกรัฐมนตรี !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความมั่นคงทาง"พลังงาน"  เกมวัดใจนายกรัฐมนตรี

                       รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศมาครบ 3 ปีเต็ม หลากหลายนโยบายอาจจะมีทั้งเข้าตา และไม่เข้าตา บางเรื่องรอได้ ไม่เร่งด่วน คงต้องให้เวลารัฐบาลในการดำเนินการ เพราะการแก้ไขปัญหาประเทศที่สะสมกันมายาวนานไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ

                       ความยากง่ายในการดำเนินการ นั่นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ “พิมพ์เขียว” ที่วางไว้ นั่นเป็นอีกส่วน โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าบางประเด็นอาจจะล่าช้า แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็น นั่นคือ ทิศทาง นโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐ เพื่อจะได้ใช้ในการวางแผนงาน โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีหลายครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมา จนทำให้หลายโครงการต้องชะลอการดำเนินการออกไป

                        เห็นได้ชัดจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง ในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น กระบี่ หรือ เทพา ล้วนถูกกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินปลุกม็อบมากดดันถึงหน้าทำเนียบ จนรัฐบาลยอมถอย ปล่อยให้อนาคตของภาคใต้ต้องเสี่ยงต่อการขาดแคลนไฟฟ้า ในขณะที่คนไทยก็ได้สัมผัสกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นแล้ว หลังราคาน้ำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น

                        หันมามองด้านปิโตรเลียม เริ่มจากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ที่ระบุชัดเจนว่า ณ สิ้นปี 2558 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ค้นพบแล้ว หรือ Proven Reserve โดยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติประมาณ 7.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คาดว่าจะใช้ได้ประมาณ 5 ปี โดยมีปริมาณคอนเดนเสทและน้ำมันดิบ 378 ล้านบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ คาดว่าใช้ได้แค่ประมาณ 4 ปี 

                     ในขณะที่ทั้งประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคน้ำมันมากถึงวันละประมาณ 1 ล้านบาร์เรล ทำให้ต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบประมาณกว่าวันละ 8.5 แสนบาร์เรล เพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณการใช้ในประเทศ 

                     เมื่อย้อนกลับไปดูการจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม เอาเฉพาะด้านปิโตรเลียม เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยไม่สามารถเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุหลักมาจากการออกมาคัดค้านของกลุ่มเอ็นจีโอ และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน หรือ คปพ. กำลังเดินหน้าประท้วงอย่างหนัก ในขณะที่รัฐบาลเลือกใช้ยุทธศาสตร์ “ถอยเพื่อรักษาฐานมวลชนคนกันเอง”

                     และในอีก  5 ปีข้างหน้าก็จะมีแหล่งปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานอีก 2 แห่ง คือ แหล่งเอราวัณ ในปี 2565 และแหล่งบงกช ในปี 2566 ซึ่งมีการประเมินกันว่า หากการเปิดประมูลมีความล่าช้าและไม่สามารถหาผู้ชนะการประมูลได้โดยเร็ว อาจทำให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมลดกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่งนี้ หายไปประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 76% ของปริมาณการจัดหาก๊าซในอ่าวไทย และ 44% ของปริมาณการจัดหาก๊าซทั้งประเทศ และที่สำคัญก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งนี้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

                     หากเป็นเช่นนี้ อาจจะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ล้านตัน คิดเป็นเงินกว่า 6 แสนล้านบาท และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 14 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะว่าไปแล้วเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานล้วนเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย

                     แม้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะยืนยันว่า กระบวนการเปิดประมูลสัมปทานทั้ง 2 แหล่ง อาจจะล่าช้าไปบ้าง 1-2 เดือน จากเดิมที่วางไว้ว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2560 แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบจนเกิดวิกฤติก๊าซ หากแต่ในอีกด้านต้องยอมรับความจริงว่า หนทางข้างหน้า ยังมีความอึมครึม

                     ปฏิเสธไม่ได้ว่า เส้นทางด้านพลังงานไม่ว่าจะหันไปทางไหน ล้วนมีอุปสรรคขวากหนามแห่งการประท้วงต่อต้าน และหากนายกรัฐมนตรียังคงเลือกคนกันเอง อนาคตทางพลังงานไทยย่อมติดหล่มอยู่กับที่ ท้ายที่สุดนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 อาจก้าวไปไม่ไกลถึงฝั่งฝัน เพราะความไม่ชัดเจนในทิศทางการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

                      งานนี้ถือเป็นเกมวัดใจนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเลือกเส้นทางไหน ระหว่าง “ความมั่นคงทางพลังงาน” กับ “พลังมวลชนคนกันเอง”

                                                                 ...........................................................

หมดยุคสัมปทานสู่ระบบแบ่งปันผลผลิต

                  วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ถึงความคืบหน้าของกฎหมายลูกทั้งหมดว่าได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว เหลือเพียงร่างหลักเกณฑ์วิธีการกำหนดพื้นที่ว่าควรใช้รูปแบบใดระหว่างระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลิต และระบบจ้างผลิต (Service Contract) ที่รอการอนุมัติว่าจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ได้เปิดรับฟังความเห็น (Focus Group) ไปแล้ว ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้ว สามารถออกเป็นประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมว่าด้วยการกำหนดพื้นที่เพื่อให้สิทธิสำรวจและผลิตได้ทันที

                 “กฎหมายลูกทั้งหมด ละเอียดครบถ้วนปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกรม โดยจะรับฟังความเห็นรวม 15 วัน ระหว่างวันที่ 11-26 พฤษภาคม 2560 จากนั้นนำความเห็นสรุปที่เป็นประโยชน์นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในกรณีที่ความเห็นที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ก็อาจจะปรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ จากนั้นนำเสนอต่อ ครม.เห็นชอบต่อไป”

                  รายละเอียดของระบบแบ่งปัน ผลผลิตนั้น วีระศักดิ์บอกว่า ได้ยึดตามรูปแบบจาก JDA (Joint Development Plan) ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย ที่นำเนื้อหาบางส่วนมาปรับใช้กับการให้สิทธิสำรวจและผลิต โดยมีการปรับในแง่ของการเสนอแผนการลงทุนมาที่กรมเชื้อเพลิงฯ จากต้นแบบที่กำหนดไว้เพียงปีละครั้ง มาเป็น 2 ครั้งต่อปี เพื่อความคล่องตัวของเอกชน ในกรณีที่เมื่อขุดเจาะไปแล้วและต้องขุดเจาะเพิ่มเติมจากแผนที่นำเสนอไว้ ก็สามารถนำเสนอเพิ่มเติมได้ 

                     ทั้งนี้ การดำเนินการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศที่ผ่านมานั้น ใช้เพียงระบบเดียว คือ สัมปทาน (Concession Contract) เท่านั้น แต่ครั้งนี้ได้เพิ่มรูปแบบ สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (Product Sharing Contract) เข้ามาใช้ด้วย โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าวรวม 26 ข้อ ระบุว่า สัญญามีระยะเวลาไม่เกิน 39 ปี แบ่งเป็นขั้นตอนการสำรวจไม่เกิน 6 ปี ต่อได้ไม่เกิน 3 ปี และขั้นตอนการผลิต ไม่เกิน 20 ปี ในกรณีที่ต้องการต่ออายุทำได้เพียง 1 ครั้ง แต่ไม่เกิน 10 ปี และผู้อนุมัติต่ออายุสัญญาคือคณะรัฐมนตรี (ครม.)

                     อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุอีกว่า ในส่วนของการหักค่าใช้จ่าย การกำหนด ค่าภาคหลวง และการกำหนดส่วนแบ่งกำไร กำหนดว่าค่าภาคหลวงอยู่ที่ร้อยละ 10 ของผลผลิตรวมที่ขายและจำหน่าย การหักค่าใช้จ่ายให้หักได้เท่าที่จ่ายจริงตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติไม่เกิน ร้อยละ 50 ของผลผลิตรวม และส่วนที่เหลือเรียกว่าปิโตรเลียม ส่วนที่เป็นกำไรให้ผู้รับสัญญาไม่เกินร้อยละ 50 โดยหลังจากที่สัญญามีผลบังคับใช้แล้ว ผู้รับสัญญาต้องนำเสนอแผนงานและงบประมาณต่อกรมเชื้อเพลิงฯ ภายใน 60 วัน กรมเชื้อเพลิงฯ สามารถแก้ไขแผนงานได้ เมื่อเห็นว่าไม่คุ้มค่าหรือมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป 

                   “ที่สำคัญการปรับปรุงแผนต้องไม่ทำให้งบประมาณเกินกว่าร้อยละ 10 สำหรับการจัดการน้ำมันดิบนั้น ผู้รับสัญญาต้องให้สิทธิพิเศษแก่โรงกลั่นในประเทศเป็นอันดับแรก ด้านราคาขายให้เป็นไปตามราคาตลาด หรือใช้ราคา FOB (Free on Board) รวมไปจนถึงกรณีที่พบก๊าซธรรมชาติ ให้ใช้เพื่อรักษาระดับแรงดันในแหล่ง และสามารถจำหน่ายในประเทศหรือส่งออกได้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวยังกำหนดอีกว่า ในการจ่ายค่าภาคหลวงต้องใช้เงินบาทเท่านั้น แต่ในกรณีที่ไม่ใช่การจ่ายค่าภาคหลวงให้ชำระเงินตราต่างประเทศได้ เมื่อผิดนัดชำระต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนกรณีชำระค่าภาคหลวงไม่ตรงเวลาหรือชำระขาด ต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อวัน”

                    วีระศักดิ์ย้ำด้วยว่า ส่วนกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน หรือขาดแคลนน้ำมันดิบ กรมเชื้อเพลิงฯมีสิทธิซื้อน้ำมันดิบในส่วนของผู้รับสัญญา ยกเว้นส่วนที่ได้ทำสัญญาซื้อขายแล้ว ผู้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาต้องมีหลักฐาน คือ หลักฐานการเป็นบริษัท ส่วนในกรณีที่เป็นบริษัทที่ตั้งโดยกฎหมายต่างประเทศต้องมีหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต สถานทูต หรือสถานกงสุล หรือต้องมีหนังสือรับรองของโนตารีพับลิกในประเทศนั้น รวมถึงหลักฐานแสดงว่ามีทุน อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรและผู้เชี่ยวชาญเพียงพอ ส่วนกรณีที่เงินทุน อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรไม่พอดำเนินการ จะต้องมีบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือได้เป็นผู้รับรองที่แสดงความสัมพันธ์การลงทุนหรือการจัดการระหว่างบริษัทด้วย 

                                                                 .............................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ