Lifestyle

มนต์เพลงไร้พรมแดน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มนต์เพลงไร้พรมแดน

            ไม่น่าเชื่อว่า แฟนเพจ Lao Economic Daily ของหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า กระทรวงอุตสาหกรรม สปป.ลาว จะนำเสนอข่าว เพลง “คำแพง” ร้องโดย "แซ็ค ชุมแพ" เป็นเพลงยอดนิยมอันดับ 1 ของเมืองลาวในชั่วโมงนี้

             จะว่าไปแล้ว เพลงลูกทุ่งไทยเป็นนิยมของชาวลาวมานานแล้ว เพราะคนสองฝั่งโขงมีภาษาที่สื่อสารกันได้โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปล ฉะนั้น ฝั่งไทยเพลงไหนดัง ฝั่งลาวก็ดังเพลงนั้นเหมือนกัน

               เมื่อบุญปีใหม่ลาว (สงกรานต์) ที่ผ่านมา เพลง “ผู้สาวขาเลาะ” ร้องโดย ลำไย ไหทองคำ และเพลงลูกทุ่งอีสานทำนองโจ๊ะๆ มีคนลาวนิยมเปิดเต้นบ่อยครั้ง 

              ปกติสื่อลาวก็ไม่ค่อยได้พูดถึงเพลงไทยมากนัก เพิ่งเห็น “สื่อของรัฐ” ลงข่าวลูกทุ่งอีสานอินดี้ “คำแพง” นี่แหละ

             ครั้นไปส่องแฟนเพจ Lao Social สื่อบันเทิงออนไลน์ของคนลาวรุ่นใหม่ ก็เห็นข่าวประชาสัมพันธ์งาน Fan Meeting Vientiane ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 โดยพระเอกช่อง 3 “เจมส์" จิรายุ จะมาพบกับแฟนๆชาวลาว พร้อมกับ “แซ็ค ชุมแพ” 

             เลยไม่แปลกใจที่วันก่อน เห็น “เจมส์“ จิรายุ กับ ”แซ็ค ชุมแพ” ร้องเพลงร่วมกัน โดยฟิเจอริ่งเพลง “คำแพง” ซึ่งแฟนเพจ Lao Social ได้นำไปแชร์ เป็นการประโคมโหมข่าวงาน Fan Meeting Vientiane 

                อย่างไรก็ตาม งานนี้ สามารถ ทองขาว ผู้บริหารบิ๊กเลิฟมิวสิค ต้นสังกัดของแซ็ค ชุมแพ บอกกับนักข่าวว่า พระเอกเจมส์ จิรายุ มีโปรเจกท์ เออีซี ไปโชว์ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว พม่า และกัมพูชา เห็นว่าแซ็คมีบุคลิก น้ำเสียงที่โดดเด่นมีเสน่ห์ การแสดงหน้าเวทีก็น่าสนใจ จึงชวนร่วมทัวร์คอนเสิร์ตโปรเจกท์นี้ด้วย

               อันที่จริง 4-5 ปีมานี้ มีนักร้องลูกทุ่งไทยข้ามโขงไปโชว์งานเพลงอยู่เรื่อยๆ ทั้ง พรศักดิ์ ส่องแสง, ต่าย อรทัย, จินตหรา พูนลาภ, เพชร สหรัตน์, ก้อง ห้วยไร่ และอีกหลายสิบคน

             เฉพาะ “ต่าย อรทัย” เดินสายไปร้องเพลงในลาวบ่อยมาก เพราะเป็นนักร้องขวัญใจหมายเลขหนึ่งของคนลาว ประมาณว่า ต่ายไปขึ้นคอนเสิร์ตมาแล้ว 11 แขวง คือ จำปาสัก, อัตตะปือ, สาละวัน, สะหวันนะเขต, คำม่วน, เวียงจันทน์, เชียงขวาง, หลวงพระบาง, บ่อแก้ว, อุดมไช และหลวงน้ำทา รวมถึงนครหลวงเวียงจันทน์  

             ส่วน พรศักดิ์ ส่องแสง ที่เคยไปทัวร์ยุโรป ก็บ่ายหน้าข้ามโขงไปร้องเพลงฝั่งลาว จนได้ออกซิงเกิ้ลเพลงคู่กับนักร้องหญิงลาว “แดง ดวงเดือน” ในบทเพลง “บ่าวอีสานฮักสาวสะหวัน” มาแล้ว

000

              เมื่อถามว่า วันนี้มีนักร้องลาว และเพลงลาว ที่มาโด่งดังในเมืองไทย ก็มีคำตอบจากคลื่นเพลงน้องใหม่ “อีสาน เอฟ.เอ็ม.98” ที่ได้จัดอันดับเพลงลูกทุ่งอีสาน ปรากฏว่า เพลง “เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง” ติดอันดับท็อปไฟว์เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้

                เพลง “เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง” ไม่ใช่เพลงใหม่ แต่ได้รับความนิยมมายาวนาน ขณะนี้มียอดวิวในยูทูบมากถึง 10 ล้านวิว เป็นยอดสูงที่สุดในวงการเพลงลูกทุ่งลาว

                 ความเป็นมาของเพลงนี้น่าสนใจมาก เริ่มจาก “มุกดาวัน สันติพอน” สาวน้อยบ้านธาตุอิงฮัง เมืองไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต ตัดสินใจลงทุนทำอัลบั้มเพลง โดยไม่พึ่งพานายทุน เนื่องจากตลาดเพลงลาวก็เหมือนฝั่งไทย ไม่สามารถควบคุมการก๊อบปี้แผ่นขายได้

             บังเอิญว่า “มุกดาวัน” เป็นสาวลาวยุคใหม่ ทำการตลาดแบบจรยุทธ์ โดยใช้ยูทูบเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานเพลง และใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือโปรโมทเพลง ซึ่งนักร้องลาวส่วนใหญ่ไม่มีใครคิดทำแบบนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

              สปป.ลาว มีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 5 ช่อง คือ โทละพาบแห่งชาติช่อง 1, ช่อง 3, ลาวสตาร์, ป.ก.ส. (ตำรวจลาว), ทีวีลาว และเอ็มวีลาว ซึ่งทุกสถานีมี “ข้อจำกัด” ในการนำเอ็มวีเพลงมาออกอากาศ

              เดือนมีนาคม 2556 “มุกดาวัน” เริ่มปล่อยเพลงเข้าไปในยูทูบ และเปิดเฟซบุ๊ก Moukdavanyh Santiphone เป็นช่องทางการสื่อสารกับแฟนเพลง หากผู้ใดสนใจอยากซื้อแผ่นเพลงก็สั่งผ่านหน้าเพจได้เลย เมื่อลูกค้าโอนเงินมาเธอก็นำแผ่นไปส่งที่ไปรษณีย์ เธอจึงกลายเป็น “แม่ค้าออนไลน์” ไปโดยปริยาย

              ผ่านไปไม่ถึงปี เพลง “เอิ้นอ้ายใส่หม้อนึ่ง” กลายเป็นเพลงฮิต และช่องโทละพาบได้นำเพลงไปเผยแพร่ตามคำเรียกร้องของแฟนๆ

             จากนั้น “มุกดาวัน สันติพอน” กลายเป็นนักร้องแถวหน้าของ สปป.ลาวไปทันที และมีแฟนเพลงไทยจำนวนมากที่รู้จักเธอผ่านเฟซบุ๊ก และยูทูบ

            หลังจากนั้นมา จึงมีค่ายเพลงใหม่ๆ ในลาวหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดผ่านโซเชียล และทำเพลงแนวลูกทุ่งอีสาน เพื่อเรียกยอดไลค์จากมิตรรักนักเพลงจากฝั่งขวา

             การไหลถ่ายเทวัฒนธรรมของไทย-ลาว มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยุคสมัยหนึ่ง สุรพล สมบัติเจริญ ยกวงดนตรีไปโกยเงินกีบ และ ก.วิเสส ก็ยกวงดนตรีมาโกยเงินบาท

             หากพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์แล้วก็ยิ่งชัดว่า “ลูกทุ่งอีสาน” นั้น มีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมคนลาวลุ่มน้ำโขงนั่นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ