วันนี้ในอดีต

19 ก.ย.2536 โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ ส.อาสนจินดา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

19 ก.ย.2536 โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ ส.อาสนจินดา

 

 

 

********************

 

How many roads must a man walk down Before you call him a man?

 

บนเส้นทางชีวิตของบุรุษหนึ่ง...จำต้องผจญกับหนทางอันยาวไกลอีกเพียงไร กว่ามันจะค้นพบความเป็นมนุษย์ที่แท้

 

บทเพลงของ บ๊อบ ดีแลน ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจ ผู้คนยังคงต้องตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง แต่สำหรับ ส.อาสนจินดา หรือ สมชาย อาสนจินดา เขามีคำตอบทั้งหมดให้กับโลกไปแล้ว

 

 

19 ก.ย.2536  โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ  ส.อาสนจินดา

 

 

ดังนั้น การจากไปในวัย 71 ปี แม้จะเพราะโรคร้ายถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ แต่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ทุกฟองควันที่คนชื่อ ส.อาสนจินดา หายใจออกมา มีเรื่องราวมากกว่าหลายคนที่ไม่เคยมีคำตอบให้ตัวเองด้วยซ้ำ

 

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 19 กันยายน 2536 คือวันที่ชายผู้ผ่านโลกมาอย่างโชกโชนได้สิ้นลมลง และวันนี้ในอดีตขอรำลึกถึงศิลปินอาวุโสชายผู้นี้อีกครั้ง

 

 

 

กำเนิดสมชาย

 

สมชาย อาสนจินดา หรือ ส. อาสนจินดา เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2464 เป็นคนกรุงเทพ แต่ไปเติบโตที่เชียงใหม่ โดยติดตามพระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี 2471-2481 (ปัจจุบันคือตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด) ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง

 

จากนั้นกลับมาเรียนที่กรุงเทพ โดยจบชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และมัธยม 8 จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย

 

 

19 ก.ย.2536  โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ  ส.อาสนจินดา

ภาพจากเฟซบุ๊ก จุลสาร ราชดำเนิน

 

 

ชีวิตแรกเริ่ม เริ่มงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้นย้ายกลับไปรับราชการที่จังหวัดเชียงรายในตำแหน่ง “เสมียนสหกรณ์”

 

แต่งานอดิเรกที่เขาทำยามว่างตอนกลางคืน เขาจะเขียนเรื่องสั้นส่งหนังสือเช่น “สุภาพบุรุษ-ประชามิตร” ซึ่งจัดทำโดย วิตต์ สุทธเสถียร, กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ และโชติ แพร่พันธุ์

 

เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “ชีวิตในภาพวาดอันเลอะเลือนของข้าพเจ้า” ได้ตีพิมพ์เป็นเรื่องเอกประจำฉบับ และได้รับการชักชวนให้มาทำงานหนังสือพิมพ์ จึงลาออกจากราชการ

 

สมชายเริ่มงานหนังสือพิมพ์ที่ “บางกอกรายวัน” ร่วมงานกับ อิศรา อมันตกุล, เสนีย์ เสาวพงศ์, อุษณา เพลิงธรรม, ประหยัด ศ. นาคะนาท แต่ไม่นานก็เลิกกิจการ

 

จากนั้นจึงย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์นวนิยายรายวัน “วันจันทร์” รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา ตีพิมพ์ได้สามเดือนก็ขาดทุนจนเลิกกิจการ

 

ช่วงที่ตกงาน แม้ลำบากแต่ก็ได้อาศัยวัดมหรรณพารามคุ้มกันฝนฟ้า จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ก็ได้รับการชักชวนให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร ชื่อ “8 พฤศจิ”

 

จนกระทั่งคณะรัฐประหารได้จับกุมนักหนังสือพิมพ์เกือบ 20 คนไปคุมขัง รวมทั้ง อิศรา อมันตกุล หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เอกราช” ที่นับถือเป็นการส่วนตัว ว่ากันว่า ส.อาสนจินดา บูชา อิศรา อมันตกุล ว่าเป็น “พระเจ้าผู้บริสุทธิ์ในอุดมการณ์ ไม่มีค่ายไม่เอียงฝ่ายไหนยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน”

 

 

19 ก.ย.2536  โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ  ส.อาสนจินดา

 

 

ส.คนจริง จึงใช้บทบรรณาธิการเขียนโจมตี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง และประกาศลาออก โดยขึ้นหัวข่าวหนังสือพิมพ์ เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมงานต้องเดือดร้อน

 

ช่วงนั้นถือเป็นเรื่องที่เกรียวกราวอย่างมากว่า นสพ.ของคณะรัฐประหารเขียนโจมตีผู้นำคณะรัฐประหารเอง แต่หลังจากนั้นเขาก็ตกงานอีกครั้ง และเหลือเพียงงานเขียนเรื่องสั้นหาเลี้ยงชีพ จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงบันเทิงในฐานะนักแสดง

 

 

 

บนถนนนักสร้างงาน

 

ราวปี 2492 สมชาย อาสนจินดา ได้มีโอกาสเข้าอาชีพนักแสดง โดยเริ่มจากรับบทเป็น “หม่อมเจ้านิรันดร์ฤทธิ์ธำรง” ในละครเวทีเรื่อง “ดรรชนีนาง ” ของศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร)

 

ราวกับโชคชะตา สมชาย อาสนจินดา ลงเล่นเพราะเสียบแทน สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พระเอกเดิมที่ถอนตัวกะทันหัน แต่ละครเวทีประสบความสำเร็จ เจ้าตัวจึงได้แจ้งเกิดมีชื่อเสียงในฐานะนักแสดงในวงการบันเทิงนับแต่นั้น

 

ระหว่างนั้นในปี 2493 ส. อาสนจินดาก็ได้สมรสกับ สมใจ เศวตศิลา (ตุ๊) บุตรีของพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) ซึ่งเป็นน้องสาวต่างมารดาของพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี มีบุตร 7 คน

 

 

19 ก.ย.2536  โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ  ส.อาสนจินดา

 

ที่สุด ส. อาสนจินดาโลดแล่นในถนนแห่งศิลปิน เป็นทั้งผู้ประพันธ์ และ ผู้กำกับการแสดงยุคหนังไทย 16 มม. ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีโรงถ่ายทำ ส.อาสนจินดาภาพยนตร์ ที่เชิงสะพานท่าพระ ย่านฝั่งธนบุรี

 

มีผลงานภาพยนตร์ที่กำกับเองและร่วมแสดงอีกจำนวนมหาศาล และยังเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม นับไม่ไม่ถ้วน ผลงาน กำกับภาพยนตร์ เช่น ทุรบุรุษทุย (2500) สุภาพบุรุษสลึมสลือ (2500) ม่วยจ๋า (2501) หนึ่งต่อเจ็ด(2501)ยอดชาย (2501)เจ็ดสิงห์สมุทร (2502)ภูติเหลือง (2502)

 

ละครโทรทัศน์ เช่น ลูกทาส (2521) ช่อง 3 สี่แผ่นดิน (2523) ช่อง 5 สลักจิต (2524) ช่อง 3 มายาสีเงิน (2524) ช่อง 3 ข้างหลังภาพ (2524) ช่อง 5 จดหมายจากเมืองไทย (2525) ช่อง 7 ปราสาทมืด(2525) ช่อง 5 ลุงคำ (2525) ช่อง 7 คนเดินดิน (2526) ช่อง 9 ทัดดาวบุษยา (2527) ช่อง 5 ฯลฯ

 

ได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติมากมาย โดยปี 2533 ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ศิลปะการแสดง (ละครเวที ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์)

 

จนมาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2536 ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง เนื่องจากการสูบบุหรี่ ไมต่างจากนักประพันธ์ชายรุ่นราวคราวเดียวกับป๋าที่ลาโลกไปเพราะเจ้าควันมฤตยูนี้หลายต่อหลายท่าน

 

และเรื่องราวของบุหรี่นี้เอง ที่มีเรื่องเล่าว่า ป๋า ส. ของเรานั้น หรือที่เรียกกันว่า “สุภาพบุรุษนักประพันธ์” เวลาเขียนหนังสือไม่เคยให้มือข้างหนึ่งหลุดจากปากกาดินสอ

 

พร้อมกันนั้น นิ้วมืออีกข้างหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสูบบุหรี่ ว่ากันว่าบางครั้งก็ความคิดจะพรั่งพรูจนต้องรีบเขียนบทภาพยนตร์บนซองบุหรี่เอาซะดื้อๆ แถมยังสูบบุหรี่วันละสามซองมากว่า 30 ปี

 

ตอนที่ป๋าและคนไทยเริ่มรู้ว่าศิลปินแห่งชาติของเราสุขภาพเกำลังย่ำแย่จากผลพวงของบุหรี่ ป๋าก็ยังเข้าร่วมโครงการนำขบวนศิลปินดาราเข้าร่วมรณรงค์เริ่มรณรงค์ให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ด้วย

 

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลจากเวบไซต์พันทิปโดยผู้ใช้ "คนหยังเขียด" เล่าว่า ผลงานภาพยนตร์ที่ป๋า ส. แสดงเป็นเรื่องสุดท้าย คือ "อำแดงเหมือน กับ นายริด" หนังไทยแนวพีเรียด โดย "เชิด ทรงศรี" กำกับและอำนวยการสร้าง

 

 

19 ก.ย.2536  โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ  ส.อาสนจินดา

 

 

บทบาทที่ ส.อาสนจินดา ได้รับในเรื่องนี้ คือ "หลวงปู่" ซึ่งเป็นพระ



มีข้อมูลว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำนานนับปี ป๋า ส. จะเข้าฉากในช่วงกลางๆ เกือบท้ายของการถ่ายทำ เพราะช่วงที่เปิดกล้องนั้น ป๋าได้ล้มป่วยพอดี

 

ช่วงนั้น หนังเลยถ่ายทำฉากต่างๆ ที่ไม่มีบทหลวงปู่ก่อนเพื่อรอจนกว่าอาการป่วยพอทุเลาพร้อมที่จะแสดงได้ 
จนกระทั่งช่วงต้นเดือนกันยายน 2536 จึงได้ถ่ายทำฉากที่ ป๋า ส. ร่วมแสดง จนแล้วเสร็จ

 

 

19 ก.ย.2536  โรคร้ายคร่าชีวิต ศิลปินแห่งชาติ  ส.อาสนจินดา

ภาพจาก http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2012/09/A12665626/A12665626.html

 

 

แต่แล้ววันที่ 19 กันยายน 2536 "จินตหรา สุขพัฒน์" นาง "อำแดงเหมือน" เป็นผู้แจ้งข่าวให้ทีมงานทราบว่า "ป๋า ส. จากไปแล้ว" แต่บทบาทของหลวงปู่ที่น่าจะเป็นตัวดำเนินเรื่อง จึงเป็นเพียงตัวประกอบที่สำคัญของเรื่อง โดยไม่มีการเปลี่ยนตัวหรือตัดทอนแต่อย่างใด



อย่างไรก็ดี ยังถกเถียงกันว่า เรื่องสุดท้ายของป๋า ส. คืออะไรกันแน่ ระหว่างอำแดงเหมือน ฯ กับ มาดามยี่หุบ ภาค 2 ของ กำธร ทัพคัลไลย กับ ฉลุยหินฯ ของ อังเคิล 



ทุกวันนี้ แม้เราจะไม่มีป๋า ส. อีกแล้ว แต่ผลงานของเขายังอยู่คู่โลก และทายาทของ ป๋าส. ยังคงโลดแล่นในวงการบันเทิง

 

และความรัก ความศรัทธา แด่นักแสดงอาวุโส ผู้เป็น "ครูใหญ่" ของวงการบันเทิงทั้งมวลยังคงอยู่ในใจเราตลอดไป

 

***********************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ