วันนี้ในอดีต

28 ส.ค.2428 สิ้น "วังหน้า" หรือ พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ทรงเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ได้สวรรคต ในวันนี้ เมื่อ 134 ปีก่อน

 

***********************

 

คงยังมีอีกหลายคนที่อาจแปลกใจ ทำความเข้าใจก่อนพอสังเขป สำหรับคำว่า "วังหน้า" หรือ เรียกอย่างเป็นทางการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" นั้น เป็นคำที่มีมาแต่สมัยอยุธยา มีความหมาย 2 อย่าง คือ

 

1. สถานที่ อันหมายถึงที่ประทับของบุคคลที่มีสถานะสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์

 

2. บุคคล คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่า พระมหาอุปราช ในสมัยอยุธยา

 

และในแง่สถานที่ สำหรับสาเหตุที่เรียกว่า ‘วังหน้า’ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า เพราะตั้งอยู่ด้านหน้าของวังหลวง และ “วังจันทรเกษม” ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชก็อยู่ทางทิศตะวันออกอันเป็นด้านหน้าของวังหลวงเช่นกัน

 

ส่วนวังหน้าที่หมายถึงบุคคล เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา และประทับ ณ พระราชวังจันทรเกษม ที่ถือเป็นวังหน้าในสมัยอยุธยา

 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งวังหน้าในยุคหลัง หรือสมัยรัตนโกสินทร์มีทั้งสิ้น 6 พระองค์ ประทับอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง

 

และที่สุด ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ทรงเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ได้สวรรคต ในวันนี้ เมื่อ 134 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 28 สิงหาคม 2428

 

 

28 ส.ค.2428  สิ้น "วังหน้า" หรือ  พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและทรงสถาปนาตำแหน่ง “สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นมาแทน

 

และเพื่อเป็นการหวนน้อมรำลึกถึงวังหน้าพระองค์สุดท้าย จึงขออันเชิญพระราชประวัติมาพอสังเขปดังนี้

 

 

พระราชสมภพ

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ประสูติแต่ “เจ้าคุณจอมมารดาเอม” เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 2 คำ เดือน 10 ตรงกับวันที่ 6 กันยายน 2381

 

28 ส.ค.2428  สิ้น "วังหน้า" หรือ  พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว”

 

 

เมื่อแรกประสูติพระองค์มีพระอิสริยยศที่ "หม่อมเจ้า" โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า "ยอร์ช วอชิงตัน" ตามชื่อของ “จอร์จ วอชิงตัน” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก

 

 

28 ส.ค.2428  สิ้น "วังหน้า" หรือ  พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

“เจ้าคุณจอมมารดาเอม”

 

 

คนทั่วไปออกพระนามว่ายอด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามให้ใหม่ว่า "พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร" และได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เมื่อปี 2404 และได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 5

 

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นเจ้านายที่มีความสามารถหลายด้าน ด้านนาฏกรรม ทรงพระปรีชา เล่นหุ่นไทย หุ่นจีน เชิดหนัง และงิ้วด้านการช่าง ทรงชำนาญเครื่องจักรกล ทรงต่อเรือกำปั่น ทรงทำแผนที่แบบสากล ทรงสนพระทัยในแร่ธาตุ ถึงกับทรงสร้างโรงถลุงแร่ไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อ พ.ศ. 2426 ทรงได้รับประกาศนียบัตรจากฝรั่งเศส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาช่าง

 

 

การแต่งตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4  ก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

 

เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์เพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เสนอให้ทรงแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

 

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่ง เป็น "กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ" เมื่อ พ.ศ. 2410 แต่ไม่ได้ตั้งให้เป็นวังหน้า

 

ตำแหน่ง ‘วังหน้า’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์

28 ส.ค.2428  สิ้น "วังหน้า" หรือ  พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

ภาพจากหนังสือ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’  โดยกรมศิลปากร (พ.ศ. 2556)

 

 

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต 1 วัน ได้มีการประชุมพระญาติวงศ์และขุนนาง ที่ประชุมจึงตกลงที่จะแต่งตั้ง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ตามคำเสนอของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา

 

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า นับเป็น ‘วังหน้า’ พระองค์ที่ 6 และพระองค์สุดท้าย ทรงเป็นวังหน้าพระองค์แรกที่พระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้ง

 

วิกฤตการณ์วังหน้า

 

ข้อมูลจากหลายแหลงระบุว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี โดยคบค้าสนิทสนมกับ โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ

 

 

28 ส.ค.2428  สิ้น "วังหน้า" หรือ  พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

โทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ

 

 

ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษคุกคามสยาม ถึงขั้นเรียกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง จนทำให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่ตึกดินในวังหลวง ไฟไหม้ลุกลามไปถึงพระบรมมหาราชวัง

 

การณ์นี้ ทางวังหลวงเข้าใจว่าวังหน้าเป็นผู้วางระเบิด และไม่ส่งคนมาช่วยดับไฟ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ก็เสด็จหลบหนีไปอยู่ในสถานกงสุลอังกฤษไม่ยอมเสด็จออกมา

 

เหตุการณ์ตึงเครียดนี้กินเวลาถึงสองสัปดาห์ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เดินทางกลับจากราชบุรีเข้ามาไกล่เกลี่ย

 

โดยฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสถือว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการเมืองภายในของสยาม และไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย

 

 

ทิวงคต

 

ต่อมา กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคตเมื่อวันศุกร์ เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1247 หรือวันที่ 28 สิงหาคม 2428 พระชนมายุ 48 พรรษา

 

 

28 ส.ค.2428  สิ้น "วังหน้า" หรือ  พระพระมหาอุปราชองค์สุดท้าย

 

 

พระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2429  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใด ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง

 

จนถึงปีจอ พ.ศ. 2429 จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นสยามมกุฎราชกุมารและยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา

 

อนึ่ง มีข้อมูลอ้างว่าได้รับถ่ายทอดมาจากชาวต่างประเทศด้วยกันในกรุงเทพฯ ระบุว่า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองนัก ทรงเป็นนักศึกษาเกี่ยวกับแร่ธาตุต่างๆ และได้สะสมแร่ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังโปรดวิชาวิศวกรรมเครื่องกล พระองค์มีแบบจำลองของโรงงานที่ใช้เครื่องยนต์

 

******************************

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-26 ส.ค. 2416 รำลึกเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5
-อ่านทั้งหมด - วันนี้ในอดีต
-19 ก.ค.2492 พระราชพิธีทรงหมั้น อย่างเรียบง่ายแต่งดงาม
-"ไก่-สน-เดียร์น่า" นำทีมสัมผัสกลิ่นอายประวัติศาสตร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ