วันนี้ในอดีต

6 ส.ค.2457 เราขอเป็นกลาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน

 

****************

 

ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลก จะคุ้นเคยกับบริบทของข้อความนี้เป็นอย่างดี ว่าหมายถึงท่าทีของประเทศสยามในช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งหนึ่งที่ 1 ปะทุขึ้น

 

แต่คนไทยอีกหลายคนอาจแปลกใจ เพราะจดจำกันจากตำราแต่เพียงว่า ไทยเราโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งแปลว่าเราได้เลือกข้างในที่สุด

 

หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 105 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 6 สิงหาคม 2457 ก็คือเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น 3 ปี ที่ครั้งหนึ่งไทยเราก็เคยคงสถานะไม่ขอมีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาสงครามครั้งนี้มาก่อน

 

ถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และเหตุใดจึงไม่เป็นเช่นนั้น

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

 

 

ควันไฟ WWI

 

อย่างที่รู้และไม่รู้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นจากเหตุลอบปลงพระชนม์ มกุฎราชกุมารของจักรวรรดิ ออสเตรีย-ฮังการี

 

คือ อาร์ชดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ขณะเสด็จยังเมือง “ซาราเจโว” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2457

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

อาร์ชดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ร้อมด้วยพระชายาที่เมืองซาราเยโว ก่อนที่จะถูกลอบปลงพระชนม์ (วิกิพีเดีย)

 

 

พระองค์ พร้อมพระชายาโซฟี ถูกลอบยิงสิ้นพระชนม์ชีพ โดยสมาชิกขององค์กรลับ “มือดำ” (The Black Hand) อันเป็นขบวนการชาตินิยมของ เซอร์เบีย

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

ภาพจำลองเหตุการณ์อันเป็นชนวนเหตุของการกำเนินสงครามโลก (วิกิพีเดีย)

 

 

การณ์นี้ฝ่ายรัฐบาลออสเตรีย-ฮังการี จึงใช้โอกาสนี้ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาตินิยมเซอร์เบียจึงกลายเป็นสงครามขึ้น

 

โดยการณ์นี้ ยังรวมไปถึงประเทศมหาอำนาจหลักๆ ของยุโรป เช่น เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ที่เข้ามาตะลุมบอนเข้าด้วยกัน

 

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขอสภาพสังคมและเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศข้างต้นพอดิบพอดี

 

อธิบายเขาใจง่ายๆ คือ ต่างคนก็ต่างหาจังหวะและโอกาสที่จะทำอะไรบางอย่าง และเมื่อปัจจัยลบ ปัจจัยหนุนต่างๆ มารวมกันในช่วงระยะเวลานั้นราวกับนัดกันไว้ อภิมหาสงครามจึงเกิดขึ้น

 

 

ปัจจัยหนุน

 

ทั้งนี้ ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ตุลาคม 2557 เรื่อง “100 ปี สงครามโลกครั้งที่ 1” โดย สุรชาติ บำรุงสุข และ กุลนันทน์ คันธิก ฉายภาพของปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ ได้แก่ 4 ขั้วต่อไปนี้

 

1) ลัทธิชาตินิยม ที่ส่งผลต่อความเชื่อที่ว่าสงครามจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างความ “รุ่งโรจน์” ของความเป็นชาติ

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

ทหารเยอรมันในตู้รถไฟขนสินค้าขณะไปยังแนวหน้าใน ค.ศ. 1914 ข้อความบนตู้เขียนว่า "ทริปไปปารีส"

ในช่วงต้นของสงครามคาดกันว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะกินเวลาสั้น ๆ เท่านั้น (วิกิพีเดีย)

 

 

2) ลัทธิจักรวรรดินิยม ความปรารถนาในอันที่จะขยายดินแดน และครอบครองดินแดนในโพ้น-ทะเล

 

3) ลัทธิทหารนิยม กับความเชื่อว่ารัฐมหาอำนาจจำเป็นต้องสร้างกองทัพทั้งทางบกและทางทะเลให้เข้มแข็งเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจ นำไปสู่ “การแข่งขันสะสมอาวุธ” และนำไปสู่การเอาอาวุธออกมาใช้ด้วยการกำเนิดสงครามอีกทอด

 

4) ระบบพันธมิตร คือการจัดความสัมพันธ์ในลักษณะของการ “แบ่งค่าย” ในหมู่รัฐมหาอำนาจ เช่นปี 2457 เยอรมนี ออสเตรีย- ฮังการี และอิตาลี ได้จัดตั้ง “ระบบพันธมิตรสามฝ่าย” ขึ้น ทำให้มหาอำนาจเก่าของยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ทำบ้าง โดยได้จัดตั้งระบบพันธมิตรอีกชุดหนึ่ง คือการกำเนิด “ความตกลงฉันท์มิตรสามฝ่าย” (The Triple Entente)

 

 

ไม่รอแล้วนะ

 

แน่นอนผลของการจัดตั้งระบบพันธมิตรของแต่ละฝ่ายตามข้างต้น จึงทำให้ยุโรปถูกแบ่งออกเป็น “สองขั้ว” โดยปริยาย

 

และเมื่อ ออสเตรีย ประกาศสงครามกับเซอร์เบียในวันที่ 23 กรกฎาคม 2457 (จากการลอบปลงประชนม์รัชทายาท) มันก็ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 

 

ช่วงเวลานั้นแต่ละประเทศหลักแถบยุโรปเองก็เปิดฉากไฝว้กันมั่ว เช่นพอวันที่ 4 สิงหาคม อังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนี ตามมาด้วย 6 สิงหาคม 2457 ฝ่ายรัฐบาลเวียนนา (ออสเตรีย) ก็ประกาศสงครามกับรัสเซีย

 

ที่สุดนี่จึงถือว่าการระเบิดขึ้นของ “สงครามโลกครั้งที่ 1” หรือ “The First World War” ได้อุบัติขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการและไม่อาจฉุดรั้งได้อีกต่อไป!

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

พันธมิตรทางการทหารก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง:

ฝ่ายสัมพันธมิตรสีเขียว, ฝ่ายมหาอำนาจกลางสีน้ำตาล

 

 

โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่าย ได้แก่ ฝ่ายสัมพันธมิตร มี อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย และ แอฟริกาใต้ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เซอร์เบีย มอนเต-เนโกร โรมาเนีย เบลเยียม กรีซ โปรตุเกส

 

และฝ่ายมหาอำนาจกลาง (หรือกลุ่มพันธมิตรสามฝ่าย) ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิ ออตโตมัน บัลแกเรีย

 

 

ท่าที่สยาม

 

หันมาข้างฝ่ายไทยเรา ที่เหมือนจะห่างไกล แต่ผลของสงครามแผ่ไอร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

 

อย่างไรก็ดี วันที่ 6 สิงหาคม หรือวันที่ทั่วโลกรู้แล้วว่าไฟสงครามปะทุแล้ว ประเทศสยามเวลานั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล่าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชการลที่ 6 ได้ประกาศจุดยืนว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายไหน

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

 

 

ถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มีข้อมูลระบุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นยังทรงมีความเห็นว่า สยามยังอยู่ห่างไกลจากสงคราม ดังนั้นนโยบายที่เหมาะสมคือการรักษา ‘ความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด’

 

การแสดงออกครั้งนั้น เห็นได้จากการที่มีประกาศวันที่ 17 สิงหาคม 2457 ห้ามไม่ให้มีการสื่อสารบนเรือเดินสมุทรของประเทศคู่สงครามในน่านน้ำสยาม เพื่อป้องกันการละเมิดความเป็นกลางของสยาม

 

หรือการออกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2457 เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก และรักษาความมั่นคงภายใน

 

ทั้งนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าเยอรมนีชนะสงคราม สยามจะตกอยู่ในฐานะที่ลำบาก เนื่องจากทางรถไฟสายเหนือของสยาม ซึ่งกำลังก่อสร้างยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของนายช่างวิศวกรและผู้ควบคุมชาวเยอรมัน และธนาคารของรัฐบาลสยามที่เพิ่งก่อตั้งก็ตกอยู่ภายใต้การการบริหารของชาวเยอรมันเช่นกัน

 

แต่แล้วภายใน 3 ปี ท่าทีของไทยเราก็เปลี่ยนไป

 

 

ด้วยสายพระเนตร

 

ว่ากันว่า ภายหลังไทยเราเปลี่ยนจุดยืน โดยวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี แปลว่าไปอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

 

 

แถมยังได้ตัดสินใจส่งกำลังทหารไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร มีกองทหารบกรถยนต์ประมาณ 850 นาย และทหารอาสากองบินทหารบกประมาณ 400 นาย โดยออกเดินทางจากสยามในวันที่ 15 มิถุนายน 2461

 

ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่า เพราะสยามมีความกังวลต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่สุดท่าทีรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของสยาม เปลี่ยนไปหลัง เคานต์ โยฮานน์ ฟอน แบนชตอร์ฟ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำสงครามทางเรือดำน้ำแบบไม่มีข้อจำกัด

 

ซึ่งคือการโจมตีเรือโดยไม่บอกกล่าวก่อนตามธรรมเนียมการสู้รบทางเรือ และเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี 2460

 

ร.6 ทรงคาดการณ์ว่า เยอรมนีจะแพ้สงคราม สยามมีโอกาสเสี่ยงต่อการสููญเสียมากกว่าหากยังดำรงความเป็นกลาง และถ้าอังกฤษและฝรั่งเศสตัดสินใจเข้ายึดทรัพย์สินและสิทธิพิเศษของเยอรมนีในสยาม สยามก็จะไม่สามารถทำอะไรได้

 

แต่หากเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร สนธิสัญญาใดๆ ที่สยามทำกับเยอรมนีก็จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และฝ่ายสัมพันธมิตรอาจยินยอมให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกันซึ่งมีผลผูกมัดสยามตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19

 

ที่สุด สยามจึงเข้าร่วมสงครามโดยยืนอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร โดยแม้ว่าสงครามก็สงบก่อนที่หน่วยบินไทยจะเข้าสู่สมรภูมิ แต่สยามก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น “รัฐผู้ชนะสงคราม” และทหารไทยได้ร่วมฉลองชัยชนะที่กรุงปารีส ลอนดอน และ บรัสเซลส์อย่างมีเกียรติอีกด้วย 

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

กองกำลังทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกำลังร่วมเดินสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 (วิกิพีเดีย)

 

 

 

สงครามจบ 2 ศพสุดท้าย

 

ที่สุด หลังการเปิดการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายของฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มขึ้น ในวันที่ 8 สิงหาคม 2461 ส่งผลให้ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ล่มสลาย และหลายประเทศทยอยประกาศยอมแพ้ จนถึงวันที่  11 พฤศจิกายน 2461 เยอรมนีก็ประกาศ ยอมแพ้ และพระเจ้าไกเซอร์อพยพลี้ภัยไปเนเธอร์แลนด์

 

ผลของการประกาศยอมแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลางเช่นนี้ นำไปสู่การ ประกาศการสิ้นสุดของสภาวะสงครามโดยฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติในเวลา 11 โมงเช้าของวันที่ 11 เดือน 11 (พฤศจิกายน) และประกาศ ให้ เวลา 6 ชั่วโมงหลังจากการประกาศหยุดยิง โดยต่างฝ่ายต่างต้องถอนทหารออก ไปจากพื้นที่

 

ช่างน่าเศร้าใจที่ ขนาดว่าจะประกาศหยุดยิงแล้ว ก็ยังมีทหารเสียชีวิตอีกถึง 2 ราย สุดท้ายมี คือ พลทหาร George L. Price (แคนาดา) ถูกสังหารโดยพลซุ่มยิงของเยอรมนีเวลา 10.58 น. ส่วนพลทหาร Henry Gunther (อเมริกัน) ถูกทหารเยอรมันยิงเสียชีวิตเวลา 10.59 น. หรือ 60 วินาทีก่อนการประกาศหยุดยิง

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง    

George L. Price  

 

 

 

6 ส.ค.2457  เราขอเป็นกลาง

Henry Gunther

 

 

ทั้งสองเสียชีวิตในช่วงเวลาแค่เสี้ยววินาที ระหว่างการได้กลับบ้าน และการต้องจากบ้านตลอดกาล เฉกเช่นอีกนับหลายล้านชีวิต

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ย่อมสะท้อนว่า สงครามไม่ควรเกิดขึ้น เพราะถ้ามันปะทุแล้ว มันก็ระเบิดลามไปทั่วหย่อมหญ้า

 

*************************///******************************

 

เรียบเรียงจาก

วิกิพีเดีย

“100 ปี สงครามโลกครั้งที่ 1” โดย สุรชาติ บำรุงสุข และ กุลนันทน์ คันธิก (http://www.geozigzag.com/pdf/148.pdf)

https://www.bbc.com/thai/thailand-40670894

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ