วันนี้ในอดีต

สิ้นกษัตริย์ นักรบ นักกลอน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เมื่อ 331 ปีก่อน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สวรรคต

 

****************

           คนไทยชอบดูละครอิงประวัติศาตร์ นอกจากความสนุกสนาน สิ่งที่ได้รับคือเกร็ดความรู้มากมาย ทั้งยังส่งผลไปถึงความรู้สึกรักในชาติบ้านเมือง ตลอดจนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยในการสร้างไทยให้เป็นไทนมาจนทุกวันนี้

 

          หนึ่งในกษัตริย์ไทยในอดีตที่่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก คือ "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช“ หรือ ”สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 3 ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

          หากแต่วันนี้เมื่อ 331 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์พระนารายณ์ราชนิเวศน์จังหวัดลพบุรี[17]รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา

 

          วันนี้ในอดีต จึงขออันเชิญพระราชประวัติบางส่วนเพื่อเป็นการรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์มา ณ ที่นี้

 

 

 สิ้นกษัตริย์ นักรบ นักกลอน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

 

จอมราชันย์ผู้สะท้านฟ้า

 

          สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระราชเทวีไม่ปรากฏพระนาม

 

          หากแต่คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระชนนีของพระองค์ชื่อ “พระสุริยา” ส่วนคำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุพระนามว่า “พระอุบลเทวี” และหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุพระนามว่า “พระนางศิริธิดา” และมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา คือ กรมหลวงโยธาทิพ (หรือพระราชกัลยาณี)

 

          สำหรับพระนามนั้น คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าพระองค์มีพระนามาภิไธยเดิมว่า “พระนรินทกุมาร” ส่วนคำให้การชาวกรุงเก่า เรียกว่า “พระสุรินทกุมาร”

 

          ทั้งนี้ เมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระนารายณ์” หรือ พระเจ้าลูกเธอพระนารายณ์ราชกุมาร

 

 

 สิ้นกษัตริย์ นักรบ นักกลอน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

 

          แต่ยังว่ากันว่า เมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์

 

          ขณะที่ยังมีเรื่องราวปาฏิหาริย์อยู่มากที่เล่าขานถึงพระองค์ เช่น เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย

 

          หรือ เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

 

          เช่นนี้ จะเรียกว่าทรงเป็นจอมราชันย์ผู้สะท้านฟ้าก็คงได้

 

 

ราชานักรบ

 

          การขึ้นครองราชย์ของ "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" เฉกเช่นชายชาตินักรบ พระองค์ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2199 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษาเท่านั้น

         

          หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน

 

          อนึ่ง มีการกล่าวกันว่าในยุคสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการสงครามทั้งกับต่างประเทศและการปราบกบฏภายในประเทศจำนวนมาก สภาพบ้านเรือเต็มไปด้วยภาวะสงคราม

 

          หากแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก

 

          การที่ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองพม่า ได้แก่ เมืองเมาะตะมะ สิเรียม ย่างกุ้ง หงสาวดี ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่เกรียงไกรให้ประชาชนชาวสยาม

 

          และด้วยความแข็งแกร่งทั้งเชิงรบและเชิงทูต สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงเป็นที่เลื่องลือถึงพระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ

 

          สามารถรักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา

 

สยบภัยด้วยการทูต

 

          ครั้งหนึ่งพระนารายณ์มีพระทัยระแวงเกรงว่า ประเทศฮอลันดา จะยกทัพมาย่ำยี และได้ทรงทราบถึงพระเดชานุภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในยุโรปมาแล้ว จึงได้เจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้ เพื่อให้ฮอลันดาเกรงขาม

 

          ด้วยเหตุนี้ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้มีการส่งทูตไปสู่พระราชสำนักฝรั่งเศส และต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสอย่างเป็นงานใหญ่ถึงสองคราว

 

 

 สิ้นกษัตริย์ นักรบ นักกลอน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

 

          แต่การคบหาสมาคมกับชาติมหาอำนาจคือฝรั่งเศสในยุคนั้นก็มิใช่ว่าจะปลอดภัย ด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราโชบายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์ และประชาชนชาวไทยรับนับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งบาทหลวงฝรั่งเศสนำมาเผยแผ่ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งพระราชสาสน์มาทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารับ นับถือคริสต์ศาสนา พร้อมทั้งเตรียมบาทหลวงมาไว้คอยถวายศีลด้วย

 

          แต่สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี ทรงขอบพระทัยพระเจ้าหลุยส์ที่มีพระทัยรักใคร่พระองค์ ถึงแสดงพระปรารถนาจะให้ร่วมศาสนาด้วย

 

          แต่เนื่องด้วยพระองค์ยังไม่เกิดศรัทธาในพระทัย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะพระเป็นเจ้าประสงค์ที่จะให้นับถือศาสนาคนละแบบคนละวิธี เช่นเดียวกับที่ทรงสร้างมนุษย์ให้ผิดแผกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือทรงสร้างสัตว์ให้มีหลายชนิดหลายประเภทก็ได้

 

          หากพระเป็นเจ้ามีพระประสงค์จะให้พระองค์ท่านเข้ารับนับถือศาสนาตามแบบตามลัทธิที่พระเจ้าหลุยส์ทรงนับถือแล้ว พระองค์ก็คงเกิดศรัทธาขึ้นในพระทัย และเมื่อนั้นแหละพระองค์ท่านก็ไม่รังเกียจที่จะทำพิธีรับศีลร่วมศาสนาเดียวกัน

 

 

ราชานักกลอน

 

          นอกจากนี้ที่สำคัญ หากพูดในเชิงนักบทนักกลอนแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ไม่ทรงเป็นรองใคร

 

           พระองค์นอกจากจะทรงเป็นกวีเองแล้ว ยังทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์ไว้มากมาย โดยกวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ เช่น พระโหราธิบดี หรือ พระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรกที่นายกฯ ประยุทธ์ เคยแนะนำให้อ่าน  และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์)

 

           กวีอีกผู้หนึ่ง คือ ศรีปราชญ์ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือหนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทรคำฉันท์

 

          ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง

 

           สำหรับวรรณกรรมที่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ส่วนตอนต้นเชื่อกันว่าพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งแต่ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน สมเด็จพระนารายณ์จึงพระราชนิพนธ์ต่อ โดยเริ่มที่ตอนพิศพระกุฎีอาศรมสถานตระกาลกล ไปจนถึงตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู โอ้แก้วกับตนกู ฤเห็นคำฉันท์กล่อมช้าง(ของเก่า) เป็นผลงานของขุนเทพกวี สันนิษฐานว่าแต่งในคราวสมโภชขึ้นระวางเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ เมื่อ พ.ศ. 2216 เป็นต้น

 

 

 สิ้นกษัตริย์ นักรบ นักกลอน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

 

 

           เกร็ดอื่นๆ เช่น​พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย

 

 

กรณีสวรรคต

 

          ฉากบ้านเมืองช่วงนั้นเต็มไปด้วยปัญหา  สมเด็จพระนารายณ์เอง ก็เกิดพระประชวรหนัก จนถึงกับสวรรคตในที่สุด ข้อมูลระบุต่างกันเช่น ทรงสวรรคตในวันพฤหัสบดี เดือน 5 แรม 3 ค่ำ ศักราช 1044 ปีจอ จัตวาศก

 

        หากแต่ภายหลังระบุว่า สวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1050 ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม คริสตศักราช 1678

 

          แต่วันที่สวรรคตเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปคือวันที่ 11 กรกฎาคม และปีสวรรคตที่ถูกต้อง คือคริสต์ศักราช 1688 (พ.ศ. 2331) ส่วนเวลานั้นจะเห็นได้ว่ายังมีต่างๆ กันไป

 

          ทั้งนี้ ข้อมูลจาก https://www.silpa-mag.com ระบุถึงสาเหตุที่ทรงพระประชวรจนถึงแก่พระชนชีพ ก็เพราะความอาลัยในพระปีย์ ทำให้พระอาการประชวรทรุดลงและสวรรคต

 

           โดยตามข้อมูลระบุว่า ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระปีย์ได้อยู่รับใช้สนองพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระประชวรหนัก

 

          ขณะที่พระปีย์กำลังล้างหน้าริมหน้าต่างยามเช้า ก็ถูกขุนพิพิธรักษา สมุนของหลวงสรศักดิ์ ผลักจนพลัดตกลงจากหน้าต่าง ก่อนถูกพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2231

 

          และทิ้งศพไว้ที่วัดซาก โดยในเอกสารของพันตรีโบชองระบุไว้ว่า พระปีย์ถูกสำเร็จโทษด้วยการผ่าร่างออกเป็นสามส่วน

 

          ส่วนสาเหตุที่กำจัดพระปีย์ก็เพราะพระปีย์เป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ มีขุนนางสองคนถูกบังคับให้สารภาพว่าเข้าฝ่ายพระปีย์ กล่าวหาว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ยักยอกทรัพย์และนำเงินในท้องพระคลังออกนอกพระราชอาณาจักร ส่งผลให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดเป็นท่อนๆ เช่นกัน

 

          ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังเรื่องพระปีย์ร้องขึ้นมาดังนั้น ก็ตกพระทัย ความอาลัยในพระปีย์ ดำรัสว่า ใครทำอะไรกับอ้ายเตี้ยเล่า และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตในที่สุดหลังจากนั้น หรือตรงกับวันนี้เมื่อ 331 ปีก่อนนั่นเอง

 

****************///*************

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

https://www.silpa-mag.com/history/article_9181

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ