วันนี้ในอดีต

11 มิถุนายน 2489 ปรีดี พนมยงค์ หวนคืนเก้าอี้นายกฯ สมัย 3

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยที่เห็นว่า ปรีดี เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัย ที่จักได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

 

**************************

 

          กลับมาสู่เรื่องราวของการเมืองไทยอีกครั้ง ประวัติศาสตร์มีไว้เรียนรู้ เดินตาม หรือเพียงหวนนึกถึงก็ให้อะไรกับเราหลายอย่าง

 

          เฉกเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 73 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 11 มิถุนายน 2489 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีฉากหลังเป็นโศกนาฏกรรมที่คนไทยไม่เคยลืมเลือน

 

ดั่งดวงใจแหลกลาญ

 

          วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ฟ้าฟาดลงกลางใจพสกนิกรชาวไทย เมื่อเกิดกรณีสวรรคตอย่างไม่คาดฝันของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 8

 

           โดย ก่อนหน้านี้ ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 8 มิถุนายน 2489 ซึ่งรัชกาลที่ 8 ขณะนั้นคือ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” เป็นผู้ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ

 

11 มิถุนายน 2489  ปรีดี พนมยงค์  หวนคืนเก้าอี้นายกฯ สมัย 3

 

          และพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานพฤฒสภา และ เกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

 

          แต่ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ก็ได้เกิดเหตุสวรรคตเสียก่อนในวันรุ่งขึ้น ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง

 

          แต่โดยที่เห็นว่า ปรีดี เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัย ที่จักได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489

 

          และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีชุดที่ 16 ของประเทศไทย

 

 

ครม.ชุดที่ 16

 

          สำหรับ รายชื่อคณะรัฐมนตรีคณะที่ 16 ของไทย คนไทยได้ทราบพร้อมกันหลังจากนั้นไม่นาน โดยไม่ต้องกินเวลาถึง 78 วัน ดังนี้

 

          พลโท จิร วิชิตสงคราม เป็นรัฐมนตรีกลาโหม, ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีคลัง, ดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ, ทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีเกษตราธิการ, พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข,

 

11 มิถุนายน 2489  ปรีดี พนมยงค์  หวนคืนเก้าอี้นายกฯ สมัย 3

 

          ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรม, หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์, สพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีคมนาคม, พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นรัฐมนตรีว่ามหาดไทย,

 

          พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรียุติธรรม, เดือน บุนนาค เป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ, พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ เป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม, วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง,

 

          พันเอก พระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค) เป็นรัฐมนตรี, ขุนระดับคดี (ปัญญา รมยานนท์) เป็นรัฐมนตรี, วิโรจน์ กมลพันธ์ เป็นรัฐมนตรี

 

          โดยครม. ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2489 และได้รับความไว้วางใจในวันเดียวกัน

 

 

นายกฯ สมัยที่ 3

 

          กล่าวสำหรับ ปรีดี พนมยงค์นั้น เขาเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 โดยดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึง 3 สมัยด้วยกัน

 

          แต่ยุคนั้นบ้านเมืองเรามีความวุ่นวายทางการเมืองอยู่มาก ดังนั้นเก้าอี้นายกฯ 3 สมัย จึงแปลว่า 3 ครั้งในปีเดียวกัน คือปี 2489 หรือถ้าจะนับจริงๆ ก็คือนั่งเก้าอี้นายกฯ 3 ครั้งใน 5 เดือนเท่านั้น

 

          สมัยแรก 24 มีนาคม 2489 ปรีดีได้เข้ามาเป็นนายกฯ คนที่ 7 แทนที่รัฐบาลของนายกฯ ควง อภัยวงศ์ ที่ลาออกไปเพราะแพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน

 

          ครั้งนั้น ปรีดีกล่าวว่าตนนั้นเข้ามารับใช้ประเทศในยามคับขัน ว่าแล้วเมื่อทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของประเทศ คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

 

          โดยเฉพาะการกำหนดให้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่ 2 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และมีการเลือกตั้งสมาชิกพฤติสภา (เปลี่ยนสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ในปัจจุบัน)

 

11 มิถุนายน 2489  ปรีดี พนมยงค์  หวนคืนเก้าอี้นายกฯ สมัย 3

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อ 10 พฤษภาคม 2489

โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

          ต่อมาปรีดีได้ลาออกจากนายกฯ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2489 เพื่อให้รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ที่สุดก็ได้มีพระบรมราชโองการตั้งเขากลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 8 มิถุนายน 2489 หรือสมัยที่ 2 นั่นเอง

 

          และดังที่กล่าวไว้ว่ายังไม่ทันที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็มีเหตุร้ายเกิดขึ้นวันที่ 9 มิถุนายน 2489 วันนั้นรัฐสภาจึงมีมติอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ ตามความในรัฐธรรมนูญ

 

          เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ปรีดีลาออกจากนายกฯ ในวันเดียวกัน แต่ภายในวันนั้นเอง รัฐสภาก็ได้มีมติสนับสนุนให้ปรีดีกลับมาเป็นนายกฯ โดยได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 11 มิถุนายน 2489 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ในที่สุด

 

 

ครม. 2 เดือน เศษ

 

          เส้นทางที่เริ่มต้นอย่างขรุขระ และหลุมลึก เป็นใครก็ต้องสะดุดหกล้มเข้าจนได้ รัฐบาลของปรีดีเองก็เดินต่อยากลำบาก

 

          ไม่เพียงตอนที่รัฐบาลแถลงนโยบายและขอความไว้วางใจในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 รัฐบาลแม้จะได้เสียงไว้วางใจค่อนมาก แต่เสียงไม่ไว้วางใจก็มากกว่า 3 เสียงมากอีกเช่นกัน คือไว้วางใจ 90 ต่อ 26 เสียง

 

          แต่ที่หนักหน่วงคือ รัฐบาลของเขาถูกศัตรูทางการเมืองและกลุ่มอำนาจเก่ากล่าวหาโจมตีในกรณีสวรรคตทั้งโดยวิธีเปิดเผยตัว และวิธีจำบังกล่าวพาดพิง ทั้งกรณีการส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุง และอีกหลายกรณี

 

          ที่สุด 21 สิงหาคม 2489 ปรีดีจึงได้ลาออกจากนายกฯ และ ครม.ชุดนี้ก็สิ้นสุดลงไปด้วย โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องด้วยตรากตรำทำงานฉลองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาพอสมควร รู้สึกว่าสุขภาพเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถจะปฏิบัติภารกิจของรัฐได้เต็มที่”

 

          หลังลาออกจากนายกฯ ที่จริง ปรีดียังคงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยชุดใหม่ภายใต้การนำของ "หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์" ทำภารกิจต่างๆ ที่สำคัญ

 

11 มิถุนายน 2489  ปรีดี พนมยงค์  หวนคืนเก้าอี้นายกฯ สมัย 3

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

          แต่ทุกอย่างมาเปลี่ยนไปเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หรือ "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" และพวก เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 และยังพยายามจะจับกุมตัวปรีดี แต่เขาก็หลบหนีไปได้

 

          ที่สุด ปรีดีได้ได้ลี้ภัยการเมืองไปยังสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2491 จึงเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน กระทั่งช่วงปี 2492 เขากลับมาไทยเพื่อยึดอำนาจคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ “ขบวนการประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492

 

          แต่กระทำไม่สำเร็จ จึงเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง” (อ่าน กบฏวังหลวง ครั้งสุดท้ายก่อนลี้ภัยถาวร  http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/314571)

 

11 มิถุนายน 2489  ปรีดี พนมยงค์  หวนคืนเก้าอี้นายกฯ สมัย 3

 

          และหนนี้ ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกจากไทยไปตลอดชั่วชีวิต โดยช่วงสุดท้ายได้พำนักอยู่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งสิ้นลมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 สิริอายุ 82 ปี

 

**********************************//******************************

 

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

และสถาบันพระปกเกล้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ