วันนี้ในอดีต

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มีคำกล่าวว่า "กลางวันฟังเติ้งเฒ่า กลางคืนฟังเติ้งน้อย" และนี่คือเรื่องราวของเธอ

 

       

*******************

 

 

          ถ้าพูดถึงบทเพลงจีน “เถียนมี่มี่” ที่แปลว่า “หวานปานน้ำผึ้ง” คนไทยน้อยคนจะไม่รู้จัก พอๆ กับ คนไทยจำนวนน้อยที่จะไม่รู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อเสียงของเจ้าของเสียงหวานใส ผู้ขับขานบทเพลงนี้ ว่าเธอคือ “เติ้ง ลี่จวิน” “ราชินีเพลงจีน” และ “นักร้องอัจฉริยะ”

 

          แต่น่าเสียดาย ที่ในวันนี้เมื่อ 24 ปีก่อน เธอกลับต้องมาเสียชีวิตอย่างไม่มีใครคาดฝัน ในวัยเพียง 42 ปี ขณะพำนักอยู่ที่จ.เชียงใหม่ ประเทศไทยเราเอง!

 

          เพื่อเป็นการรำลึกถึง “วันนี้ในอดีต” จึงขอพาผู้อ่านทำความรู้จักกับประวัติและผลงานของเธออีกครั้ง

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

 

 

          “เติ้ง ลี่จวิน” หรือ “เทเรซา เติ้ง” เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2496 ที่เมืองเป่าจง มณฑลหยุนหลิน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยบรรพบุรุษของเธอมาจากมณฑลเหอเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่)

 

          เติ้ง ลี่จวิน เป็นลูกสาวของครอบครัวทหาร ในวัยเด็กเธอเรียนในโรงเรียนสตรีกินหลิง และแน่นอนเธอโชคดีที่มีทักษะการร้องเพลงและน้ำเสียงขั้นเทพ ดังนั้น ทางครอบครัวจึงสนับสนุนความฝันในการร้องเพลงของเธอเรื่อยมา

 

          เรียกได้ว่ากวาดรางวัลมาหลายเวที จนมาถึงรางวัลใหญ่รางวัลแรกในชีวิตของเธอได้จากเพลง “พบอิงไถ” เพลงประกอบภาพยนตร์งิ้วหวงเหมยของชอว์บราเดอร์ เรื่อง “ม่านประเพณี” อันเป็นการประกวดที่จัดขึ้นโดยองค์การกระจายเสียงแห่งจีน เมื่อ พ.ศ. 2507

 

          ต่อมาช่วงทศวรรษที่ 1960 ไต้หวันได้ปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยในแง่อุตสาหกรรมเพลง เกิดผลดีที่ทำให้ชาวไต้หวันหาซื้อแผ่นเสียงได้ง่ายขึ้น ช่วงเวลานั้นเองที่นักร้องดัง เติ้ง ลี่จวิน ได้รับอนุญาตจากบิดาให้ออกจากโรงเรียน และหันมายึดอาชีพเป็นนักร้องอย่างเต็มตัว

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

 

 

 

          เริ่มจากปี พ.ศ. 2511 เติ้ง ลี่จวิน เริ่มมีชื่อเสียงครั้งแรก เมื่อเธอได้ร้องเพลงในรายการเพลงที่มีชื่อเสียงรายการหนึ่งของไต้หวัน จนส่งผลให้ได้เซ็นสัญญาบันทึกเสียงกับ “บริษัทไลฟ์เรคคอร์ด” และออกอัลบั้มหลายอัลบั้มจากนั้น

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 เติ้ง ลี่จวิน ได้สร้างชื่อในวงการเพลงของญี่ปุ่น โดยออกอัลบั้มเพลงภาษาญี่ปุ่นกับ “โพลิดอร์เรคคอร์ด” และเข้าร่วมการประกวดร้องเพลงประจำปีของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ในรายการ “โคฮะคุ อุตะ กัสเซน” ซึ่งจะนำนักร้องที่ประสบความสำเร็จในปีนั้นๆ มาแข่งขันกัน

 

          คงพอจะเดากันอกว่า เติ้ง ลี่จวิน สามารถคว้ารางวัล “ดาวรุ่งยอดเยี่ยม” ในปีนั้น ยังผลให้เธอประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่น และออกอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นอีกหลายอัลบั้ม

 

          ที่โด่งดังเช่น เพลง “คูโค” ในปี พ.ศ. 2517 และอื่นๆ อีกมากมาย จนชื่อเสียงของเติ้ง ลี่จวินเริ่มกระจายออกไปทั่วโลก มีผลงานเพลงภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนกวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับภาษาจีนกลาง แถมยังโด่งดังอย่างรวดเร็วลามมาถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย

 

          มีข้อมูลว่า ในไต้หวัน เติ้ง ลี่จวินไม่เพียงเป็นที่รู้จักในฐานะ “นักร้องอินเตอร์” เท่านั้น เธอยังเป็น “ขวัญใจทหารหาญ” อีกด้วย เนื่องจากเธอเปิดแสดงให้เหล่าทหารชมอยู่บ่อยครั้ง

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

 ปี 1981 ภาพจาก Photo courtesy of Friends of Armed Forces Association

 

 

 

          น่าสนใจว่า ขณะที่เส้นทางการเป็นดาวเสียงของเติ้งลี่จวิน ไม่ควรที่จะเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ดูเหมือนว่าเธอจะเลี่ยงสิ่งนี้ไปไม่พ้น และดำเนินต่อเนื่องมาตลอดแทบชั่วชีวิตหลังจากนี้ของเธอ

 

          โดยราวต้นทศวรรษ 1980 จีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน มีความตึงเครียดต่อกัน ส่งผลให้นักร้องจากทั้งไต้หวันและฮ่องกงถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่หมด 

 

          แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ยิ่งปิดยิ่งดัง ยิ่งไม่ให้รู้ ยิ่งอยากรู้ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยิ่งอยากฟัง และให้ความนิยม เติ้ง ลี่จวิน มากขึ้นไปอีก โดยวิธีการไปหาซื้อเพลงของเธอจากตลาดมืด

 

          ความนิยมในตัวนักร้องมหัศจรรย์แสนสวยคนนี้ มีมากถึงขนาดที่ว่า ไปที่ไหนก็ได้ยินแต่เสียงเพลงของเธอ  และชาวจีนยังพากันให้ฉายาเธอว่า “เติ้งน้อย" เพราะเธอมีแซ่เดียวกับ "เติ้ง เสี่ยวผิง" ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลานั้น

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

 

 

 

          และยังมีคำกล่าวว่า “เติ้ง เสี่ยวผิงครองเมืองจีนยามกลางวัน เติ้ง ลี่จวินครองเมืองจีนยามราตรี” หรือ "กลางวันฟังเติ้งเฒ่า กลางคืนฟังเติ้งน้อย”

 

          แน่นอนที่สุด ทางการจึงต้องสั่งแบนเพลงของเธออย่างเด็ดขาดในที่สุด!

 

          หรือในปี พ.ศ. 2522 เธอถูกต่อต้านในประเทศบ้านเกิดเป็นเวลาสั้นๆ จากการที่เธอถูกทางการญี่ปุ่นพบว่าได้ใช้หนังสือเดินทางปลอม สัญชาติอินโดนีเซียราคา 20,000 เหรียญสหรัฐในการเดินทางเข้าญี่ปุ่น และถูกขับออกจากประเทศ เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างเล็กๆ ข้ออ้างหนึ่งที่รัฐบาลไต้หวันใช้ในการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ถูกบีบให้ออกจากสหประชาชาติ และสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเป็นสมาชิกแทนเพียงเล็กน้อย

 

          ต่อมาปลาย พ.ศ. 2524 เติ้ง ลี่จวิน หมดสัญญากับโพลิดอร์เรคคอร์ด ต่อมาเธอออกอัลบั้มที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด ชื่อ “ต้าน ต้าน โยว ฉิง” เป็นเพลงที่แต่งจากบทกลอนสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง 12 บท ประพันธ์ดนตรีโดยนักประพันธ์จากเพลงยอดนิยมของเธอเพลงก่อนๆ โดยใช้ดนตรีร่วมสมัยและมีกลิ่นอายของโลกตะวันออกและตะวันตกอยู่ร่วมกัน เพลงที่โด่งดังที่สุดจนบัดนี้ คือเพลง “ต้าน ย่วน เหยิน ฉาง จิ่ว”

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

 

 

 

          กระทั่งปี พ.ศ. 2526 ขณะมีอายุ 30 ปี เติ้งลี่จวิน ได้เซ็นสัญญากับทอรัสเรคคอร์ด และกลับมาประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นอีกครั้ง 7 -8 ปีหลังจากนั้น เธอมีเพลงยอดนิยมออกมามากมาย จนแฟนๆ ยกให้เป็น “ปีทองของเติ้ง ลี่จวิน” แถมยังเป็นนักร้องคนแรกที่ได้รับรางวัลออลเจแปนเรคคอร์ดอวอร์ด 4 ปีติดต่อกันอีกด้วย คือตั้งแต่ พ.ศ. 2527-2531

 

          ความน่าสนใจอีกอย่างคือ ในขณะที่การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเธอ พลัดหลงเข้าไปเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของชาวจีนที่ใฝ่หาเสรีภาพ เพราะหลายบทเพลงของเติ้งลี่จวินนั้น มีการวิเคราะห์ว่าแม้จะเป็นเพลงรักแต่ก็มีกลิ่นอายของการพูดถึงอดีตอันสวยงามในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศ

 

          แต่ที่สุดก็เป็นตัวเธอเองที่เดินหน้าชนกับการเมือง โดยช่วงปี พ.ศ. 2532 ที่ได้เกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของนักศึกษาชาวจีนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

ตอนอายุ 24 (Photo courtesy of Teresa Teng Foundation)

 

 

          ปรากฏว่าในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 เติ้ง ลี่จวิน ได้เปิดคอนเสิร์ตเพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาในกรุงปักกิ่งของจีน

 

          คอนเสิร์ตดังกล่าวมีชื่อว่า “บทเพลงประชาธิปไตยเพื่อเมืองจีน” จัดขึ้นที่สนามม้าแฮปปี้วัลเลย์ ฮ่องกง มีผู้เข้าชมกว่าสามแสนคน 

 

          วันนั้นเสียงของเธอดังก้องไปทั้งสนามม้าว่า “บ้านของฉันอยู่คนละฝั่งกับภูผาใหญ่” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า เธออยู่ตรงข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง!    

 

          อย่างไรก็ดี ใครที่ติดตามเติ้งลี่จวิน จะรู้ว่าเธอนั้นมีความฝันที่จะได้ไปแสดงสดในประเทศจีนอย่างสุดชีวิต แต่ที่นั่นดูเหมือนจะเป็นที่เดียวในโลกที่เธอไปไม่ได้ แม้ตราบวาระสุดท้ายของชีวิต

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

ตอนอายุ 31  (Photo by Central News Agency)

 

 

          วันที่ 8 พฤษภาคม 2538 เติ้ง ลี่จวิน เสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะมาพักผ่อน ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยข่าวระบุว่า เธอมีอาการโรคหอบหืดกำเริบขั้นรุนแรง 

 

          แต่ในรายงานข่าวช่วงแรก ได้รายงานถึงการเสียชีวิตของเธอไว้ประมาณว่า เดิมทีเจ้าหน้าที่กงสุลญี่ปุ่น ไต้หวัน และ ฮ่องกง ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. จากหญิงสาวไม่ทราบชื่อว่า “เติ้งลี่จวิน” ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตในเชียงใหม่

 

          จนกระทั่งได้มีการตรวจสอบทุกโรงแรม และพบว่าเธอเสียชีวิตที่โรงแรมดังแห่งหนึ่ง แต่ร่างได้ถูกนำไปเก็บไว้ที่ รพ.เชียงใหม่ราม และเมื่อไปตรวจสอบก็พบศพนักร้องสาวในชุดสีชมพูของทางโรงแรม ที่ลำคอด้านซ้ายมีรอยช้ำ

 

           ทั้งนี้ นายแพทย์ที่รับดูแล ระบุว่า เติ้งลี่จวิน ถูกส่งเข้ารักษาเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2538 ช่วงเวลา 17.30 น. ทางโรงพยาบาลพยายามช่วยเหลือ แต่ปรากฏว่าเธอได้เสียชีวิตก่อนจะมาถึงโรงพยาบาล โดยระบุว่าเธอมีโรคประจำตัวคือ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และ หอบหืด การตายครั้งนี้คาดว่ามาจากหัวใจวายเนื่องจากโรคเก่ากำเริบ

 

          ขณะที่ นายสตีฟาน สามีที่อายุน้อยกว่านับสิบปีซึ่งมีอาชีพนักแต่งเพลง ได้เขียนหนังสือกำกับไว้ไม่ให้ใครมายุ่งกับศพของเธอ โดยขอฝากศพไว้ที่ห้องเย็นของโรงพยาบาล 

 

         เขาให้การกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ว่า ได้แต่งงานกับ เติ้งลี่จวิน แต่ไม่ได้จดทะเบียนกัน ได้เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2538 โดยก่อนเสียชีวิต เขาอยู่ที่ล็อบบี้ ชั้น 15 อยู่ๆก็ได้ยินเสียงพนักงานโรงแรมร้องเอะอะโวยวาย และเห็นเธอออกมานอกห้องแล้วล้มฟุบลง

 

          ทั้งนี้ ในมือของนักร้องสาว ถือสเปรย์สำหรับฉีดพ่นปากเวลาหายใจไม่สะดวก จึงได้รีบวิ่งไปดู ได้ยินภรรยาเพ้อหาแม่ จึงช่วยกันกับเจ้าหน้าที่นำร่างส่งโรงพยาบาล โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที แต่แพทย์บอกว่าภรรยาได้เสียชีวิตระหว่างทาง แพทย์ยังบอกว่า ถ้ารู้วิธีปฐมพยาบาลภายใน 4 นาที เธออาจจะรอด” (ข่าวจาก ไทยรัฐ https://www.thairath.co.th/content/619357)

 

          พิธีศพของเติ้ง ลี่จวิน ถูกจัดขึ้นแบบรัฐพิธี หีบศพขอเธอถูกคลุมด้วยธงชาติสาธารณรัฐจีน โดยอดีตประธานาธิบดี หลี่ เติงฮุย และประชาชนจำนวนหลายพันเข้าร่วมพิธีด้วยความอาลัยรัก

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

บ้านของ เติ้ง ลี่วิน ในฮ่องกง

 

 

 

          ศพของเติ้ง ลี่จวิน ถูกฝังที่สุสานจินเป่าซาน อันเป็นสุสานติดภูเขาในเมืองจินซาน มณฑลไทเป ทางตอนเหนือของไต้หวัน ป้ายหลุมศพมีรูปปั้นของเติ้ง ลี่จวิน และคีย์บอร์ดเปียโนไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่พื้น เมื่อมีคนเหยียบที่แต่ละแป้น จะมีเสียงออกมาต่างกัน แม้ว่าชาวจีนจะเชื่อว่าควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสุสานก็ตาม แต่สุสานของเธอมักมีแฟนเพลงจากทั่วโลกเข้ามาเคารพและรำลึกถึงเธออยู่เสมอ

 

          ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545 ได้มีการเปิดตัวหุ่นขี้ผึ้งของ เติ้ง ลี่จวิน ที่พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซส์ ฮ่องกง

 

          กล่าวสำหรับ ชีวิตส่วนตัว เติ้งลี่จวิน เข้าตำรา "งานชุก ทุกข์รัก" เช่นกัน เพราะในชีวิตรักของเธอต้องพบกับความผิดหวังหลายครั้งหลายครา เธอเคยมีรักแรกตอนอายุ 18 กับชายผู้ที่ต่อมาจากเธอไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคหัวใจ

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

 

 

         ต่อมาพบรักกับ พระเอกดัง  “เฉินหลง” ข้อมูลเล่าว่าทั้งคู่พบกันที่ขณะฝ่ายชายไปถ่ายภาพยนตร์ที่อเมริกาและฝ่ายหญิงไปศึกษาภาษาอังกฤษ ที่ UCLA แต่ควงกันพักหนึ่งก็แยกย้าย และหันมาคบกับ "หลินฟงเจียว" แล้วก็เลิกลากันไป จนมามีข่าวอีกครั้งกับ "เคนนี่ บี" พระเอกชื่อดัง จนเมื่อรู้ว่าฝ่ายชายมีลูกเมียแล้ว ก็ม้วนเสื่อ

 

          ช่วงหนึ่ง ยังมีข่าวว่าเธอควงคู่กับ “กว๊อกขงเฉิง” ทายาทอภิมหาเศรษฐีจากมาเลเซีย จนเกือบจะได้แต่งงาน แต่ฝ่ายครอบครัวว่าที่เจ้าบ่าวเรียกร้องจากเธอมากเกินไป เช่น เธอต้องเล่าเรื่องอดีตของตัวเองให้ละเอียด และเลิกอาชีพนักร้อง ทั้งยังต้องหันหลังให้วงการบันเทิง ทั้งหมด เติ้งลี่จวิน จึงยุติความสัมพันธ์ จนกระทั่งมาพบรักกับ นายสเตฟาน ซึ่งอยู่กับเธอในวาระสุดท้ายที่เชียงใหม่

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

http://english.sina.com/entertainment/2013/0130/556077.html

 

          นับถึงวันนี้หากเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอก็จะมีอายุครบ 66 ปี แต่แม้วันนี้จะไม่มีเติ้ง ลี่จวิน แล้ว แต่เสียงเพลงของเธอเป็นที่จดจำของผู้ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกและในหมู่ชาวจีนทั้งในประเทศจีน ไต้หวัน และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จนมีคำกล่าวว่า “มีชาวจีนอยู่ที่ไหน ก็จะได้ยินเพลงของเติ้ง ลี่จวินที่นั่น”

 

          โดยเฉพาะบทเพลงรัก อย่างเพลง เถียนมี่มี่ เพลงนี้ได้รับความนิยมจนเปรียบเสมือนเป็นเพลงประจำตัวของเธอ ถูกนำมาใช้เป็นเพลงเบื้องหลัง และเป็นชื่อภาษาจีนของภาพยนตร์เรื่อง "เถียน มีมี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว" ภาพยนตร์รักฮ่องกงในปี 2539 หลังจากการตายของเติ้งลี่ จวินปีเดียว โดยผลงานกำกับของปีเตอร์ ชาน

 

 

 

'เติ้ง ลี่จวิน' ราชินีเพลงจีน  เสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่

 

          และเช่นเคย เรามาฟังผลงานเพลงนี้ของเธอกันดีกว่า

 

 

จากผู้ใช้ยูทูบ Sulley Monster

 

/////////////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

 https://www.thairath.co.th/content/619357

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ