วันนี้ในอดีต

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต และสาเหตุที่ทรงพระประชวร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  สำหรับพระราชประวัติในส่วนนี้ ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วพระองค์ดำของชาวไทย ทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันใดกันแน่

          เราคนไทยซาบซึ้งในหัวใจทุกดวง ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อคนไทยและแผ่นดินสยามมากเกินจะกล่าวได้หมดสิ้น

          พระองค์ได้ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ

          พระองค์ทรงกรำศึกทั้งหลายทั้งปวงมายาวนาน แม้แต่ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระองค์ก็ยังทรงอยู่ในระหว่างการราชการสงคราม ดังที่รู้กันว่าพระองค์นั้นทรงอุทิศพระวรกายทำสงครามกับอาณาจักรเพื่อนบ้านเป็นอันมาก เพื่อให้พสกนิกรชาวสยามได้มีแผ่นดินเกิดแผ่นดินตาย มีศักดิ์ศรีของเลือดสยามมาจนทุกวันนี้

          จนกระทั่งในวันนี้เมื่อ 414 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 เป็นวันที่นักรบที่ยิ่งใหญ่ได้ทรงพักผ่อนพระวรกาย คืนสู่สวรรคาลัย!

 

 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต  และสาเหตุที่ทรงพระประชวร

          สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวนั้น มีบันทึกตามพระราชพงศาวดารระบุว่า พระองค์สวรรคตในวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๖๗ (พ.ศ. ๒๑๔๘) ที่ทุ่งดอนแก้ว เมืองหาง ขณะเสด็จเคลื่อนทัพไปตีกรุงอังวะ

          ทั้งนี้ เหตุการณ์ช่วงนั้น ในตำนานได้กล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรสทรงนำกองทัพไทยจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อออกจากเมืองเชียงใหม่แล้วจึงได้แบ่งทัพแยกทางกัน สมเด็จพระนเรศวรฯทรงนำกองทัพไทยออกจากเชียงใหม่พร้อมกับพระเจ้าเชียงใหม่และลูกพระเจ้าเชียงใหม่ทั้งสามไปโดยทัพหลวงยกพยุหโยธาไปทางเมืองหางและโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรสทรงนำทัพอีกส่วนหนึ่งไปทางเมืองฝางนอกจากนั้นในตำนานพระธาตุเมืองน้อย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชายแดนอยู่ติดกับพื้นที่อำเภอเวียงแหง

          สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ใช้เส้นทางเดินทัพไปยังประเทศพม่าโดยผ่านเมืองน้อย ซึ่งตอนนั้นเป็นชุมชนของชนเผ่าลัวะ (ปัจจุบันมีเจดีย์โบราณศิลปะล้านนาปรากฏให้เห็น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัย-อยุธยา) เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จถึงเขตเมืองหาง ทรงทัพหลวงที่ตำบลทุ่งแก้วหรือทุ่งดอนแก้ว แรมทัพในตำบลนี้ และเกิดทรงพระประชวรขึ้น

 

 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต  และสาเหตุที่ทรงพระประชวร

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งทักษิโณทกตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี และกวาดต้อนครัวไทยครัวมอญข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร (จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

 

          สำหรับพระราชประวัติในส่วนนี้ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยังมีการถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วพระองค์ดำของชาวไทย ทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันใด และจากสาเหตุอันใด จึงมีการค้นคว้าและนำเสนอไว้อยู่สองถึงสามประเด็น

          โดยข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษ (บาดทะยัก) พระอาการหนัก

          เหตุการณ์ตอนนั้นยังระบุไว้ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นพระองค์จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สิริพระชนมายุ 49 พรรษาเศษ ดำรงราชสมบัติ 14 ปีเศษ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพกลับกรุงศรีอยุธยา

          อย่างไรก็ดีในความจดจำของคนไทย ก็มีข้อมูลหลายทาง เช่นว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงประชวรจากอาการฝีที่พระนลาฏ บางตำนานบอกว่าเป็นฝีระลอก ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วเกิดเป็นพิษ (อาจจะเป็นสิวหัวช้างที่อักเสบแล้วติดเชื้อ) ขณะที่หลายกระแสก็ระบุว่าโดยคาดเดาว่า อาจจะโดนผึ้งต่อยแล้วแพ้พิษ

          ทั้งนี้ บางแหล่งระบุว่า หลักฐานที่ค่อนข้างเป็นทางการ หาอ่านได้จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งชำระสมัยรัชกาลที่ ๔ กล่าวว่าเป็นทรงฝีที่พระนลาฏ ขณะที่พงศาวดารฉบับเก่าๆ หลายแหล่งระบุว่า ‘ทรงพระประชวร’ เท่านั้น

          ส่วนในมุมเรื่องแมลงพิษ มีระบุไว้ใน ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ ฉบับหลวง เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้

          "อันองค์พระนเรศร์นั้นเสด็จอยู่เมืองห่าง (หาง) เพราะเหตุฉนี้จึ่งถวายพระนามเรียกองค์พระนารายน์เมืองห่าง เปนกรุงหยุดพักอยู่กลางทางของพระองค์ ครั้นเสร็จการมงคลพิธีแล้วพระองค์ก็ยกไปเมืองหงษา จึ่งทรงช้างพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ ก็พ้นเมืองทางไกลได้เจ็ดวัน จึ่งพ้นไปน่าเขาเขียวดงตะเคียนใหญ่ จึ่งมีศาลนางเทพารักษ์อยู่ที่ต้นตะเคียนใหญ่ มีอานุภาพศักดิสิทธิยิ่งนัก เสนาจึ่งทูลเชิญเสด็จให้ลงจากช้างพระที่นั่ง

 

 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต  และสาเหตุที่ทรงพระประชวร

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

          เมื่อจักมีเหตุมานั้น พระนเรศร์จึ่งถามเสนาว่า เทพารักษ์นี้เปนเทพารักษ์ผู้ชายฤๅผู้หญิง เสนาจึ่งทูลว่า อันเทพารักษ์เปนนาง ศักดิสิทธิยิ่งนัก พระนเรศร์จึ่งตรัสว่าอันเทพารักษ์นี้เปนแต่นางเทพารักษ์ดอก ถ้าจักเปนเมียเราก็จักได้ เราไม่ลงจากช้าง ครั้นพระนเรศร์ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงช้างพระที่นั่งผ่านน่าศาลนางเทพารักษ์นั้นไป จึ่งเห็นเปนตัวแมลงภู่บินตรงมาน่าช้างแล้วก็เข้าต่อยเอาที่อุณาโลม องค์พระนเรศร์นั้นก็สลบอยู่กับหลังช้างพระที่นั่ง แล้วก็เสด็จสู่สวรรคตที่ตรงน่าเขาเขียว

          เสนาทั้งปวงจึ่งเชิญพระศพ แล้วก็กลับมายังพลับพลาเมืองห่าง ส่วนพระเอกาทศรถนั้นก็ยกพลไปถึงแดนเมืองหงษา จึ่งตีบ้านกว้านกวาดได้มอญลาวหญิงชายเปนอันมาก แล้วจักยกเข้าตีเมืองหงษา ก็พอเสนาอำมาตย์ให้ม้าใช้เร่งรีบไปทูลความพระนเรศร์สวรรคต พระองค์ครั้นทราบดั่งนั้นก็เร่งรีบยกพลโยธาทัพกลับมายังเมืองห่าง ครั้นถึงแล้วก็เสด็จเข้าไปสู่ยังสถานพระเชษฐา จึ่งกอดพระบาทพระพี่ยาเข้าแล้ว ก็ทรงพระ​กรรแสงโศกาอาดูรร่ำไรไปต่าง ๆ พระองค์ก็กอดพระเชษฐาเข้าแล้วก็สลบลงอยู่กับที่ แต่ทรงพระกรรแสงแล้วสลบไปถึงสามครั้ง ครั้นพระองค์ก็ได้สมฤดีคืนมาแล้ว พระองค์จึ่งมีพระบัณฑูรตรัสสั่งให้หาพระโกษฐทองทั้งสองใบที่ใส่พระศพ แล้วจึ่งเชิญขึ้นสู่บนพระราชรถ แล้วก็แห่แหนเปนกระบวนมหาพยุหบาตราอย่างใหญ่มาจนถึงกรุงอยุทธยาธานี"

          โดยสรุปคือสมเด็จพระนเรศวรเคลื่อนทัพไป ระหว่างทางเจอศาลเจ้าแม่นางตะเคียน สมเด็จพระนเรศวรเห็นว่าเป็นผู้หญิงเลยไม่เคารพ แล้วตรัสดูหมิ่นนางตะเคียน เจ้าแม่จึงบันดาลให้แมลงภู่บินมาต่อยพระนเรศวรที่พระอุณาโลม(ตรงหว่างคิ้ว) จึงทรงสวรรคต  ทั้งนี้เนื้อหาในเอกสารคำให้การนี้ส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่่เล่ากันปากต่อปาก โปรดใช้วิจารณญาณ

          เช่นเดียวกับเรื่องสถานที่สวรรคต ซึ่งยังคงถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วทรงสวรรคที่เมืองหางที่พม่า หรือในเวียงแหง เชียงใหม่กันแน่ 

         ทั้งนี้ข้อมูลทั่วไประบุว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพออกจากเชียงใหม่แล้ว ได้เสด็จต่อไปยังเมืองหาง และสวรรคตที่นั่นในปี 2148 

         แต่ต่อมา มีนักวิชาการชื่อ ชัยยง ไชยศรี ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้เสนอทฤษฎีประวัติศาสตร์ “พื้นที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่ที่เมืองแหง” หรืออำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แทนที่จะเป็น “เมืองหาง” ในพม่า ซึ่งนับว่าเป็นข้อมูลที่สั่นสะเทือนวงวิชาการ และประวัติศาสตร์ไทยไม่น้อย โดยเวียงแหงเป็นอำเภอเล็ก ๆ อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่

          แต่ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใด นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน!

 

 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต  และสาเหตุที่ทรงพระประชวร

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

 

          อนึ่ง ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้เป็นที่สักการบูชา ในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ได้โปรดให้สร้างไว้อีก

          พระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรยังประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชา อยู่ในพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (ปัจจุบันคือ พระที่นั่งบรมพิมาน) จนทุกวันนี้

 

 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสวรรคต  และสาเหตุที่ทรงพระประชวร

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

 

          อย่างไรก็ดี ก็มีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น พระบรมราชานุสรณ์ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก, ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก, พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี, ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ริมหนองบัวลำภู ในจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ