วันนี้ในอดีต

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เขมรแดงถือว่าเป็นระบอบการปกครองที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

 

 

*****************

 

          เอ่ยชื่อ “เขมรแดง” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย” คนไทยหลายคนรู้ดีว่า หมายถึงกองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่เคยเข้ายึดอำนาจและทำการปกครองราชอาณาจักรกัมพูชามาช่วงหนึ่ง

          คนไทยหลายคนรู้ดีว่า ยุคนั้นมีความน่ากลัวมากมายเกิดขึ้นในแผ่นดินเพื่อนบ้านแดนเขมร หากแต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ช่วงนั้นกัมพูชาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กัมพูชาประชาธิปไตย” ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2522

 

         โดยวันนี้เมื่อ 44 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 17 เมษายน 2518 คือวันแห่งความสำเร็จที่เขมรแดง สามารถโค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรได้ และการสถาปนารัฐกัมพูชาใหม่ในนาม “กัมพูชาประชาธิปไตย” นั่นเอง

 

          ทั้งนี้ เขมรแดงต่อมาได้พัฒนาไปเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา” และ “พรรคกัมพูชาประชาธิปไตย” จุดประสงค์คือเพื่อสร้างรูปแบบการปกครองแบบ “สังคมใหม่” หรือที่เรียกว่า “อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ” ที่มีการรักษาเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ เป็นตัวขับเคลื่อน

 

          สำหรับความน่าสะพรึงกลัว สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆ มาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท เพื่อจำแนกประชาชนที่

 

          และกลุ่มชนที่ถือว่าเป็น “ศัตรูทางชนชั้น” เช่น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา หรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะในด้านต่างๆ เขมรก็ขจัดทิ้งหมด พูดง่ายๆ ว่าชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยาก เป็นจำนวนประมาณมาก

 

          โดยมีข้อมูลระบุว่าราว 850,000 ถึง 3 ล้านคน แทบจะครึ่งหนึ่งของประเทศ เพราะเวลานั้นประชาชนกัมพูชาทั้งหมดมีจำนวนราว 7.5 ล้านคน ใน พ.ศ. 2518

 

          จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า ครั้งนั้น เขมรแดงถือว่าเป็นระบอบการปกครองที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

 

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ ต้นกำเนิดของกลุ่มเขมรแดงนั้นมีที่มาอย่างไร วันนี้ขอกล่าวถึงกลุ่มบุคคล ซึ่งเรียกกันว่า "กลุ่มปัญญาชนปารีส" หรือ Paris Student Group ซึ่งหมายถึงกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้ไปศึกษาต่อในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950

 

          พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ของตนเองขึ้น ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่แผ่นดินเกิด และเป็นกำลังสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กลุ่มเขมรแดง ในการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลลอน นอล ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา นั่นเอง

 

          ในจำนวนนี้มีหลายคน แต่ที่โดดเด่นเป็นกำลังหลักๆ คือ ซาลอธ ซาร์ (พล พต), เอียง ซารี, เขียว สัมพัน และ ซอน เซน โดยแต่ละคนมีความเป็นมาดังนี้

 

 

         

ซาลอธ ซาร์

 

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

 

 

          ซาลอธ ซาร์ (ชื่อเดิมของพล พต) คนนี้คือผู้นำของเขมรแดง ขึ้นครองกัมพูชาเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 หลังจากที่กองกำลังของเขายึดครองพนมเปญได้ ระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2522

 

          เขาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2468 (ข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่า พ.ศ. 2471) เป็นชาวจังหวัดกำปงธม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ มีพี่สาวเป็นนางสนมในวังของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์

 

          ซาลอธ ซาร์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนช่าง สาขาวิชาช่างไม้ ในกรุงพนมเปญ และได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ฝรั่งเศส

 

 

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

 

 

         ต่อมา เขาเป็นเลขาธิการทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา กระทั่งเมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาประชาธิปไตย รัฐบาลของเขาได้เคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมากไปยังชนบทให้ทำงานในนารวม และบังคับใช้แรงงาน ผลร่วมกันของการประหารชีวิตฝ่ายตรงข้าม การทำงานหนัก การขาดแคลนอาหารและการแพทย์ที่ย่ำแย่ ทำให้ประชากรกัมพูชาเสียชีวิตไปจำนวนมหาศาล

 

         ในปี พ.ศ. 2522 หลังจากสงครามกัมพูชา-เวียดนาม พล พตได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาและรัฐบาลเขมรแดงล่มสลาย เขาและสมาชิกที่เหลือตั้งศูนย์บัญชาการเขมรแดงที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างนั้น สหประชาชาติยอมรับให้เขมรแดงเป็นรัฐบาลของกัมพูชา

 

        คืนวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2541 ก่อนการฉลองครบรอบ 23 ปี การยึดครองพนมเปญของเขมรแดง สถานีวิทยุเสียงแห่งอเมริกาออกอากาศว่า เขมรแดงตกลงใจจะส่งตัวพล พตให้ศาลนานาชาติ ภรรยาของเขาให้การว่า พล พตเสียชีวิตบนเตียงในคืนที่รอการเคลื่อนย้ายไปยังที่อื่น ตอนนั้นเขายังถูกคุมขังในบ้านโดยกลุ่มของตา มก

 

        ตา มก กล่าวว่าเขาเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลว โดยอธิบายว่า พล พตนั่งรอรถยนต์มารับ แต่รู้สึกเหนื่อย ภรรยาจึงให้เขาไปพักผ่อน เขาจึงไปนอนและเสียชีวิตเมื่อเวลา 22.15 น.

 

          แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างของเขา แต่ศพก็ถูกเผาในอีกไม่กี่วันต่อมาที่อันลองเวงในเขตของเขมรแดง มีผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการตายของเขา เช่น พล พต อาจฆ่าตัวตายเพราะกลัวว่า ตา มก จะส่งตัวเขาให้สหรัฐอเมริกา ตา มก กล่าวว่าไม่มีใครฆ่า พล พต บางแหล่งกล่าวว่าเขาถูกพวกเดียวกันสังหาร โดยยาพิษ

 

          ทั้งนี้ เขาตายโดยที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีสังหารหมู่ประชาชนในช่วงที่เขมรแดงยังมีอำนาจอยู่แต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับตา ม็อก อดีตผู้บัญชาการเขมรแดง ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการควบคุมตัวจากรัฐบาลกัมพูชาเพื่อรอพิจารณาคดี

 

 

 

เอียง ซารี

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

เอียง ซารีเมื่อ พ.ศ. 2554

 

 

          เอียง ซารี เกิดเมื่วันที่  24 ตุลาคม พ.ศ. 2468 (บางแหล่งระบุพ.ศ. 2473) ที่หมู่บ้านญานฮัว ในจังหวัดจ่าวิญ เวียดนามใต้ เขามีเชื้อสายจีน-เขมร ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยสีสุวัตถิ์ ในกรุงพนมเปญ เช่นเดียวกับพล พตและได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาต่อในฝรั่งเศสทางด้านการพาณิชย์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ในสถาบันการเมืองศึกษาแห่งกรุงปารีส แทน

 

        แน่นอนเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกระดับสูงของเขมรแดง เป็นสมาชิกของคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่นำโดย พล พต และเข้าร่วมรัฐบาลของกัมพูชาประชาธิปไตยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรี

 

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

เอียง ซารีเมื่อพ.ศ. 2519

 

 

        เขาเป็นที่รู้จักในชื่อสหายหมายเลข 3 โดยเขามีอำนาจสั่งการเป็นอันดับ 3 รองจากพล พตและนวน เจีย ภรรยาของเขา เอียง ธิริทธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม เอียง ซารี ถูกจับกุมใน พ.ศ. 2550 ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวก่อนมีคำตัดสิน

 

         โดยเขาซารีเสียชีวิตในพนมเปญเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556 เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจและถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556 ด้วยปัญหาเกี่ยวกับลำไส้  ร่างของเขาถูกเผาก่อนนำไปฝังที่บันเตียนเมียนเจย ทนายของฝ่ายผู้สูญเสียในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กล่าวว่าการเสียชีวิตของเขาทำให้การทำงานของศาลแคบลงจำกัดการค้นหาความจริงและการตัดสิน

 

 

 

  เขียว สัมพัน

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

เขียว สัมพัน ก่อนการพิจารณาคดีที่ศาลพิเศษคดีอาชญากรสงคราม กรุงพนมเปญ ในปี 2552

 

 

          เขียว สัมพัน เกิดเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 เป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจระดับสูงของเขมรแดง รองจากพล พต

 

          เขียว สัมพันเป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน เกิดที่จังหวัดสวายเรียง บิดาเป็นผู้พิพากษา จบการศึกษาจากวิทยาลัยสีสุวัตถิ์ และได้ไปศึกษาเศรษฐศาสตร์และการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยปารีสจนจบปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1959 และเดินทางกลับประเทศเพื่อเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ

 

          ระหว่างนั้นเขียว สัมพันได้ตีพิมพ์จดหมายข่าวภาษาฝรั่งเศส ชื่อ L'Observateur เพื่อเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม จนเป็นที่จับตามองของรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ ที่เป็นฝ่ายขวาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ จนถูกจับตัวเปลื้องผ้าในที่สาธารณะเพื่อให้เป็นที่อับอาย

 

        ในเวลาต่อมา เขียว สัมพันกลับได้รับเชิญให้เข้าร่วมพรรคสังคมของเจ้าสีหนุในปี พ.ศ. 2506  นโยบายเศรษฐกิจของเขียว สัมพันกลับถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการชาตินิยมของรัฐบาล เขาได้รับการวางตัวให้เป็นรองหัวหน้าพรรค เพื่อเป็นการคานอำนาจกับลอน นอล ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัด และมีเสียงข้างมากในพรรคสังคม

 

          ภายหลังการลุกฮือของประชาชนที่จังหวัดพระตะบองในปี 2510 นำมาซึ่งการกวาดล้างผู้มีความคิดนิยมฝ่ายซ้ายโดยกองกำลังของรัฐบาล มีข่าวลือว่าเขียว สัมพันถูกลอบสังหารโดยองครักษ์ของเจ้าสีหนุ ต่อมาเมื่อสีหนุถูกลอน นอลและหม่อมราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะทำรัฐประหารในปี 2513 เจ้าสีหนุเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา (GRUNK)

 

 

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

 

 

          ตัวเขียว สัมพันได้เข้าร่วมกับขบวนการนี้ด้วย โดยดำรงตำแหน่งประธานสภาเปซิเดียม เป็นผู้นำหน้าฉาก ในขณะที่อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ พล พต แม้กระทั่งเมื่อเขมรแดงพ่ายแพ้ต่อกองทัพเวียดนามและเฮง สัมริน และออกจากอำนาจไปในปี 2522 เขียว สัมพันก็ยังเป็นผู้นำอันดับสองรองจากพล พต และได้รับเลื่อนขึ้นเป็นผู้นำเขมรแดงอย่างเป็นทางการในปี 2528 จนกระทั่งกองกำลังเขมรแดงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่าย ฮุน เซน ในปี 2541

 

        เขียว สัมพันถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในปี 2550 เพื่อนำตัวขึ้นพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรสงคราม ที่ศาลพิเศษคดีอาชญากรสงคราม กรุงพนมเปญ ตามคำขอของสหประชาชาติ ในระหว่างการพิจารณาคดี เขียว สัมพันให้การยืนยันมาตลอดว่า ไม่เคยสั่งการในฐานะผู้นำเขมรแดงให้มีการสั่งฆ่าประชาชนชาวเขมร

 

          ลุจนวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เขียว สัมพัน ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรกว่าสองล้านคน

 

 

 

ซอน เซน

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

 

          ซอน เซน เกิดเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2473 เป็นนักการเมืองและทหารชาวกัมพูชาที่นิยมคอมมิวนิสต์ เขาเป็นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาและพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2517 – 2535 เขาเป็นผู้ดูแลหน่วยสันติบาลของพรรคและคุกตวลแซลง เขาแต่งงานกับยุน ยัต  ผู้ซึ่งต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสารสนเทศ เขาถูกพล พตสั่งฆ่าเมื่อ พ.ศ. 2540

 

          เซนเกิดที่จังหวัดจ่าวิญ ในเวียดนามใต้  เป็นชาวแขมร์กรอม ที่มีเชื้อสายจีน-เวียดนาม. ใน พ.ศ. 2489 เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยฝึกหัดครูในพนมเปญ และได้ทุนไปเรียนต่อฝรั่งเศส ด้านศึกษาศาสตร์และวรรณกรรมที่ École Française de radioélectricité มีความสนใจในด้านยุทธศาสตร์การทหารอย่างมาก โดยเฉพาะสงครามสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1

 

          ต่อมาเขาได้เข้าร่วมกลุ่มกับนักศึกษาชาวกัมพูชาที่นิยมคอมมิวนิสต์ เช่น พล พต เอียง ซารี และ ฮู ยวน เซนได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบรุนแรงของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ต่อมา เซนถูกถอนทุนเพราะเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองหัวรุนแรง เขาจึงต้องกลับมากัมพูชาและสอนหนังสือที่วิทยาลัยสีสุวัตถิ์ แล้วไปทำงานที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ เซนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2503 ซึ่งในขณะนั้นมีตู สามุตเป็นผู้นำ

 

          เซนมีมุมมองที่ต่อต้านระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ ทำให้เขาต้องออกจากงานใน พ.ศ. 2505 เพราะเผยแพร่ความคิดต่อต้านพระนโรดม สีหนุในหมู่นักเรียน เขาจึงไปสอนที่จังหวัดตาแก้ว ใน พ.ศ. 2506 ซึ่งเป็นปีที่พล พตเข้ามาครอบงำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาได้ทั้งหมด กลุ่มฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ออกจากพนมเปญไปสู่ชนบท เซนได้ออกจากเมืองเช่นกันใน พ.ศ. 2507 เซนเข้าร่วมกับกลุ่มของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จังหวัดรัตนคีรี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวเขมรบน ใน พ.ศ. 2511 เขาได้จัดให้มีการลุกฮือขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศในเขตจังหวัดกำปอต ตาแก้วและจังหวัดกำปงสปือ

 

         หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2513 และการก่อตั้งสาธารณรัฐเขมรโดยมี ลอน นอลเป็นผู้นำ พระนโรดม สีหนุเข้าร่วมกับเขมรแดงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ปักกิ่ง กองกำลังของเขมรแดงได้ขยายตัวมากขึ้นเพราะอาศัยชื่อของพระนโรดม สีหนุ เซนเป็นผู้รับผิดชอบกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนกัมพูชาทางตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมา ใน พ.ศ. 2515 เซนได้เป็นผู้นำกองทัพของเขมรแดง

 

          หลังที่เขมรแดงยึดพนมเปญได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 เซนได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลหน่วยสันติบาลซึ่งเป็นตำรวจลับและเป็นผู้ดูแลคุกตวลแซลง เขาจึงเกี่ยวจ้องกับการสังหารผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะศัตรูของรัฐบาล ร่วมมือกับกัง เก็ก เอียวที่เป็นผู้ควบคุมคุกตวลแซลง เซนนั้นมีแนวคิดต่อต้านเวียดนามอย่างรุนแรง นอกจากนั้น ภายในพรรคยังระแวงเกี่ยวกับความปลอดภัยสูง จึงมีการใช้ชื่อปลอมหรือหมายเลขในเอกสารภายใน เซนมักใช้ชื่อปลอมว่าเขียว และใช้หมายเลขว่า “พี่ชาย 89”

 

          เซนยังมีหน้าที่ในการดูแลกองทัพแห่งชาติหรือกองทัพปฏิวัติกัมพูชาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 – 2521 เขาได้เพิ่มความตึงเครียดทางทหารต่อเวียดนามตลอดแนวชายแดน รวมทั้งการกวาดล้างครั้งใหญ่ในเขตตะวันออกเพราะเขาเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับเวียดนาม เมื่อเกิดสงครามกับเวียดนามและสถานการ์ของกัมพูชาประชาธิปไตยแย่ลง บทบาทของเซนเริ่มลดลงและเกือบจะเป็นเหยื่อของหน่วยสันติบาลเสียเอง หากไม่เป็นเพราะ เวียดนามเป็นฝ่ายชนะไปเสียก่อน

 

          หลังจากที่มีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาใน พ.ศ. 2522 เซนได้กลับมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพเขมรแดงอีกครั้งเพื่อสู้รบกับกองทัพเวียดนามในสงครามเวียดนาม-กัมพูชา โดยมีฐานที่มั่นที่เทือกเขาบรรทัด ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 พล พตได้ประกาศวางมือ ซอน เซนขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพกัมพูชาประชาธิปไตย ในช่วงนี้ เซนได้ติดต่อกับผู้นำกลุ่มอื่นๆในแนวร่วมเขมรสามฝ่าย คือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรที่นำโดยสัก สุตสคานและกองทัพเจ้าสีหนุที่เป็นกองกำลังติดอาวุธของฟุนซินเปก นำโดยพระนโรดม รณฤทธิ์ ซึ่งเขมรแดงเป็นกองกำลังที่ใหญ่ที่สุด

 

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

 

 

          หลังการลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีสในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 เซนและเขียว สัมพันได้เดินทางมายังพนมเปญเพื่อเจรจากับอันแทคและรัฐบาลที่พนมเปญ เซนได้เป็นสมาชิกสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับประกันความเป็นเอกราชจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งที่จัดโดยอันแทค อย่างไรก็ตาม เซนถูกปลดออกจากอำนาจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยตา มกและเขมรแดงยุติการเจรจาและไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง ตั้งแต่พ.ศ. 2535 – 2540 บทบาทของซอน เซนในเขมรแดงลดลง

 

       เซนถูกฆ่าเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2540 พร้อมกับสมาชิกในครอบครัวอีก 13 คนทั้งผู้หญิงและเด็ก โดยข้อมูลระบุว่า พล พตเป็นผู้สั่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เขาพยายามต่อสู้เพื่อรื้อฟื้นอำนาจในการควบคุมเขมรแดงจากตา มก. พล พตเชื่อว่าเซนลอบเจรจากับฝ่ายรัฐบาลผ่านทางฮุน เซน พล พตจึงสั่งให้นำเซนและครอบครัวไปยิงทิ้งแล้วใช้รถบรรทุกวิ่งทับ

 

       อนึ่ง นอกจากสมาชิกที่เป็นผู้ชายแล้ว ในกลุ่มปัญญาชนปารีสยังมีสมาชิกผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางการสมรสกับสมาชิกฝ่ายชายอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เขียว พอนนารี ภรรยาของซาลอธ ซาร์ เขียว ธิริธ ภรรยาของเอียง ซารี หรือยุน ยาต ภรรยาของซอน เซน สมาชิกหญิงเหล่านี้ต่างก็มีบทบาทสำคัญในระบอบการปกครองกัมพูชาประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของเขมรแดง แทบทั้งสิ้น

 

      อย่างไรก็ดี หลังจากที่เขมรแดงปกครองกัมพูชาเป็นระยะเวลา 4 ปี ใน พ.ศ. 2522 อำนาจการปกครองของเขมรแดงก็สิ้นสุดลง เนื่องจากการบุกยึดกัมพูชาของกองกำลังจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการเคลื่อนไหวแบบต่อต้านของเขมรแดง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันตกของกัมพูชา ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในราชอาณาจักรไทย ก็ยังคงดำเนินต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 90 จนกระทั่ง พ.ศ. 2539 พล พต หัวหน้าขบวนการในขณะนั้น ก็ยุติการทำงานของเขมรแดงลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ

 

 

17 เมษายน 2518 รู้จัก "กลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศส" ต้นเหตุเขมรแดง

////////////////////////

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ