วันนี้ในอดีต

พญามังราย ตั้งเวียงเชียงใหม่ เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระองค์พระราชทานนามเมืองเชียงใหม่ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" และโปรดให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรใหม่

          ************************

          สงกรานต์นี้หลายคนอาจอยากไปช่วยดับฝุ่น pm 2.5 ที่เชียงใหม่ ยังไงก็ระมัดระวังในการเดินทางกันด้วย

          แต่เพื่อให้สงกรานต์สนุกสนานและมีสตอรี่ไว้เล่าเพื่อนยามนั่งรถเดินทางมากขึ้น วันนี้มีเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่มาเล่าใฟ้ฟัง ที่สำคัญวันนี้เมื่อ 723 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839 ยังเป็นวันที่ "พ่อขุนเม็งราย" หรือ พญามังราย พระมหากษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว ทรงสถาปนาเวียงเชียงใหม่ เพื่อเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาอีกด้วย

 

พญามังราย ตั้งเวียงเชียงใหม่  เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

พระราชานุสาวรีย์พญามังราย ที่ห้าแยกพ่อขุน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ฝีมือปั้นของ ปกรณ์ เล็กฮอน

ด้านหลังคือตุงทองสามผืน ฝีมือของ ถวัลย์ ดัชนี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และกนก วิศวะกุล ตามลำดับ ถ่ายโดย LazarusSP1

 

         โดยในการนี้ พญามังราย ยังได้ทรงสร้างเวียงชั้นใน ทับเวียงชั้นนอก ทั้งนี้ เวียงชั้นใน นั้น สร้างไว้เป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร, เชื้อพระวงศ์, ขุนนาง และชาวไทยวนซึ่งเป็นชาวเมืองพื้นถิ่น มีกำแพงอิฐหนาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีประตูอยู่ 5 ประตู มุมกำแพงทั้ง 4 มุม ทำเป็นป้อมปราการแบบไม่มีหลังคา รอบกำแพงด้านนอก ขุดเป็นคูน้ำ กว้างประมาณ 16 เมตร โดยชักน้ำมาจากดอยสุเทพเข้าทางคูเมืองตรงป้อมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยน้ำที่ชักมามีการเก็บเป็นช่วงๆคูน้ำ แต่ละช่วงของคูน้ำก็จะมีความสูงพื้นที่ลดหลั่นกันไป เริ่มจากจุดที่ชักน้ำเข้ามา เป็นจุดที่มีความสูงมากที่สุด และตรงป้อมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดที่มีความสูงพื้นที่ต่ำที่สุด

         และในเขตเวียงชั้นในนี้ ยังเป็นที่ตั้งของเวียงแก้ว หรือเขตพระราชฐานของกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนคร

          ส่วนเวียงชั้นนอก ตั้งอยู่ไม่เกินไปกว่าแนวกำแพงดิน เป็นเขตที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายอย่าง ชาวเขิน, มอญ, พม่า ไทใหญ่ และไทยวน มีกำแพงคอยโอบล้อมเวียงชั้นในไว้เฉพาะด้านทิศใต้ และทิศตะวันออกเท่านั้น ่

          ส่วนทิศเหนือและทิศตะวันตกของเมือง มีกำแพงอยู่ชั้นเดียวคือกำแพงของเวียงชั้นใน เวียงชั้นนอกมีประตูอยู่ 5 ประตู ตัวกำแพงมีทั้งช่วงที่ก่ออิฐ และเป็นกำแพงดินที่ด้านบนปูด้วยอิฐใช้เป็นทางเดิน ติดกับกำแพงด้านนอก มีคลองแม่ข่า เป็นปราการชั้นแรก ตัวกำแพงสูงราว 8 เมตร มีฐานกว้างราว 6 เมตร ทางเดินด้านบนกว้างราว 3 เมตร มีป้อมตรวจการณ์เป็นระยะ

       ทั้งนี้ มีข้อมูลอ้างถึง สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จตรวจราชการฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2463 ทรงกล่าวไว้ว่า

          “ตัวเมืองเชียงใหม่นี้เป็นที่ใหญ่โตและภูมถานดียิ่งนัก สมควรที่จะเป็นเมืองใหญ่แห่งพระราชอาณาจักร์ฝ่ายเหนือ มีบ้านเรือนโรงร้านตึกห้างอย่างดีเกือบจะเผลอไปว่าเป็นกรุงเทพฯ ได้บ้างทีเดียว มีแปลกอย่างหนึ่งที่บ้านเมืองที่ครึกครื้นมาอยู่ริมลำแม่น้ำทั้งหมด ส่วนภายในกำแพงที่เขาเรียกกันที่นี่ว่าในเวียงออกจะกลายเป็นป่า มีแต่วัดมากกว่าอย่างอื่น มีที่รกๆ ทิ้งอยู่เปล่าๆ เป็นอันมาก ที่ยังเป็นที่คนอยู่ได้ติดอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุที่มีศาลารัฐบาลแลสถานที่ราชการบางอย่างตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ทำให้คนต้องไปมา ก็มีราษฎรตั้งอยู่ขายข้าวขายของบ้าง แต่ร่วงโรยเสียเต็มทีความรู้สึกเดี๋ยวนี้ที่เรียกว่าในเวียงหน้าตาเป็นนอกเวียง ส่วนตัวเมืองจริงๆ อยู่ข้างนอกทั้งนั้น”

 

พญามังราย ตั้งเวียงเชียงใหม่  เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

แผนที่แสดงอาณาเขตของอาณาจักรล้านนาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช กาัตริย์องคืที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย ( พ.ศ. 1984 - 2030)

 

          สำหรับ พญามังราย นั้น เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราว  หรือ ชยวรนคร (เมืองเชียงลาว) เมื่อ พ.ศ. 1804

          พระองค์เป็นพระราชโอรสของลาวเมง พระมหากษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราว กับนางเทพคำขยาย พระราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชาย พระมหากษัตริย์แห่งเมืองเชียงรุ่งสิบสองพันนา

           เมื่อเสวยราชย์สืบจากพระราชบิดาใน พ.ศ. 1804 แล้ว พญามังรายหมายพระทัยจะสร้างพระราชอาณาจักรใหม่ จึงทรงรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ที่ดำรงตนเป็นอิสระให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยทรงเริ่มพระราชภารกิจนี้ในหัวเมืองฝ่ายเหนือก่อน แล้วขยายมาฝ่ายใต้

          ในช่วงนั้น ได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายเป็นเมืองหลวงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1805 และทรงสร้างเมืองฝางเมื่อ พ.ศ. 1816, เมืองชะแว ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูน เมื่อ พ.ศ. 1826, และเวียงกุมกาม ซึ่งบัดนี้อยู่คาบอำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1829

          เมื่อสร้างเมืองใหม่แต่ละครั้ง พญามังรายจะประทับอยู่ที่เมืองนั้นๆ เสมอ ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่า 

          “...คงมีพระประสงค์ที่จะสร้างชุมชนขึ้นใหม่ เพื่อรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มาตั้งเป็นเมืองใหม่ขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ทรงแสวงหาชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นเมืองหลวงถาวรของพระองค์ต่อไป”

          นอกจากนี้ ยังทรงตีได้เมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำ จึงมีหัวเมืองหลายแห่งมาขออ่อนน้อมเป็นเมืองขึ้น เช่น เมืองร้าง ต่อมาจึงเสด็จไปเอาเมืองเชียงของได้ใน พ.ศ. 1812 และเมืองเซริงใน พ.ศ. 1818

          และการที่ต่อมาทรงสร้างอาณาจักรล้านนาเมื่อ พ.ศ. 1839 จึงนับว่าพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรดังกล่าวด้วย โดยพระราชทานนามเมืองเชียงใหม่ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” และโปรดให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรใหม่นั้น ในการนี้ นับเป็นการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นโดยปริยาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ขนานชื่อตามพระนามพระองค์ว่า ราชวงศ์มังราย และพญามังรายก็ทรงชื่อว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์และอาณาจักรทั้งสองด้วย

 

พญามังราย ตั้งเวียงเชียงใหม่  เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่ศาลาว่าการจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พญางำเมือง และพญามังราย ตามลำดับ

 

          ทั้งนี้ พญามังรายทรงมีสัมพันธไมตรีกับพญางำเมือง พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย โดยเป็นศิษย์สำนักเดียวกันที่เมืองละโว้ ทั้งสามพระองค์เป็นพระสหายร่วมสาบานกันด้วย

          อนึ่ง เมื่อพญามังรายจะทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาที่เมืองเชียงใหม่นั้น ก็ทรงปรึกษากับพระสหายทั้งสอง พ่อขุนรามคำแหงทรงแนะนำว่า ควรลดขนาดเมืองลงครึ่งหนึ่งจากเดิมวางผังให้ยาวด้านละสองพันวา เพราะเมื่อเกิดศึกสงครามในอนาคต ผู้คนที่ไม่มากพอจะไม่อาจปกปักรักษาบ้านเมืองที่กว้างขวางถึงเพียงนั้นได้ และพญามังรายทรงเห็นชอบด้วย

          เรียกได้ว่า มิตรภาพระหว่างพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์นี้ ทำให้แต่ละพระองค์ทรงสามารถขยายดินแดนไปได้อย่างไม่ต้องทรงพะวงหน้าพะวงหลัง

          พญามังรายทรงต้องอสนีบาตถึงแก่พระชนมชีพกลางเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1854 สิริพระชนม์เจ็ดสิบสามพรรษา และพญาชัยสงครามเสวยราชย์สืบมา

          พ้นรัชกาลพญามังรายแล้ว ราชวงศ์มังรายครอบครองอาณาจักรล้านนาเป็นเอกราชอยู่ระยะหนึ่ง โดยเคยขยายอาณาบริเวณมาครอบคลุมเมืองพะเยา น่าน ตาก แพร่ สวรรคโลก และสุโขทัยด้วย กระทั่ง พ.ศ. 2101 ถูกพม่าตีแตก แล้วก็กลายเป็นเมืองขึ้นพม่าบ้าง เป็นอิสระบ้าง และเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาบ้าง สลับกันไปดังนี้เป็นเวลาสองร้อยปี จนร่วมมือกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์ขับพม่าออกจากดินแดนได้อย่างสิ้นเชิง และเข้ารวมเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

///////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ