วันนี้ในอดีต

ไม่ใช่เรื่องแต่ง! กำเนิดเปาบุ้นจิ้น ที่แท้คน "อานฮุย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ด้วยเหตุที่ เปา เจิ่ง เติบโตขึ้นในท่ามกลางสังคมชั้นล่าง ซึ่งเป็นพลเมืองหลักของประเทศ เขาจึงรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนชั้นล่างเป็นอย่างดี

           ***********

         ภาพจำของเราคนไทยเกี่ยวกับ เปาบุ้นจิ้น คือ ละครที่พูดเรื่องความยุติธรรมและการทำความดี โดยได้รับการพรรณนาว่า เป็นตุลาการ ใบหน้าดำคล้ำ มีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่บนหน้าผาก หากที่จริงแล้ว พระเอกของเรื่องที่เราเรียกกันว่า “ท่านเปา” นั้น มีตัวตนอยู่จริงๆ 

          และวันนี้เมื่อ 1,020 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.1542 คือวันที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นวันทีเปาบุ้นจิ้นถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้

 

 ไม่ใช่เรื่องแต่ง!  กำเนิดเปาบุ้นจิ้น  ที่แท้คน "อานฮุย"

ภาพจำจากละครที่คนไทยคุ้นเคย

          สำหรับเรื่องราวของเขา วิกิพีเดียได้บันทึกไว้ยาวเหยียด โดนขอคัดมาสังเขปดังนี้

          เปา เจิ่ง หรือ เปาจิ้น ในภาษาจีนฮกเกี้ยน เป็นข้าราชการชาวจีนในรัชสมัยจักรพรรดิเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่งของจักรวรรดิจีน เขาเกิดในครอบครัวบัณฑิตแห่งหลูโจว หรือ เมือง เหอเฟย์ มณฑลอานฮุย ในปัจจุบัน 

          ฐานะทางบ้านเป็นชนชั้นกลางทั่วไป โดยแม้ว่าบิดามารดาสามารถส่งเสียให้เขาเล่าเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก่อนเขาจะเกิด มารดาของเขาต้องสะสมทุนรอนด้วยการขึ้นเขาไปเก็บฟืนมาขายอยู่พักใหญ่

 

 ไม่ใช่เรื่องแต่ง!  กำเนิดเปาบุ้นจิ้น  ที่แท้คน "อานฮุย"

 

          และด้วยเหตุที่ เปา เจิ่ง เติบโตขึ้นในท่ามกลางสังคมชั้นล่าง ซึ่งเป็นพลเมืองหลักของประเทศ เขาจึงรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนชั้นล่างเป็นอย่างดี

          ช่วงปี พ.ศ.1571 ขณะที่เขามีอายุ 29 ปี เขาสามารถสอบขุนนางชั้นสูงสุดผ่าน ได้เป็นราชบัณฑิตชั้นจิ้นชื่อ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเทศมณฑลจิ้นชาง แต่เขาขอผัดออกไปก่อน เพื่อกลับบ้านเกิดไปดูแลบิดามารดาผู้ชรา

          เวลานั้น หลิว ยฺวิน ผู้ว่าการหลูโจว  ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นกวีเอกและขุนนางใจซื่อมือสะอาด แวะเวียนมาหาเขาเป็นประจำ ทั้งสองถูกคอกัน และเปา เจิ่ง ได้รับอิทธิพลเรื่องการใจกรุณาต่อราษฎรมาจากหลิว ยฺวิน

          ที่สุด เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตในปี พ.ศ. 1581 และปลงศพตามประเพณีแล้ว เปา เจิ่ง กลับมารับใช้แผ่นดิน เริ่มแรกเขาได้เป็นผู้ว่าการนครเทียนฉาง ซึ่งไม่ไกลจากหลูโจวบ้านเกิด

          มีบันทึกว่า ครั้งนั้น ชาวนาผู้หนึ่งมาร้องทุกข์ว่า วัวของตนถูกลอบตัดลิ้น เปา เจิ่ง จึงสั่งให้เขากลับบ้านไปฆ่าวัวนั้นทิ้งเสีย แต่อย่าแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบ ตามกฎหมายสมัยนั้น การฆ่าปศุสัตว์เป็นสิ่งต้องห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ

          ชาวนาผู้นั้นเมื่อได้รับอนุญาตก็กลับไปฆ่าวัวตามคำสั่ง วันต่อมา ชายอีกผู้หนึ่งมาฟ้องว่า ชาวนาข้างบ้านลอบฆ่าวัว เปา เจิ่ง ตบโต๊ะตวาดว่า ลักลอบตัดลิ้นวัวเขาแล้วยังมาฟ้องกล่าวหาเขาอีก ชายผู้นั้นตกใจที่เปา เจิ่ง ล่วงรู้ความจริง ก็รับสารภาพว่า ตนผิดใจกับชาวนามาแต่เดิมแล้ว จึงกลั่นแกล้งตัดลิ้นวัวเขา เขาจะได้จำใจฆ่าวัวนั้นทิ้ง และจะได้มีความผิดฐานฆ่าปศุสัตว์

          นี่จึงนับเป็นตัวอย่างของการว่าความที่สุดแสนฉลาดล้ำลึกของเปาบุ้นจิ้นยิ่งนัก

 

 ไม่ใช่เรื่องแต่ง!  กำเนิดเปาบุ้นจิ้น  ที่แท้คน "อานฮุย"

ภาพวาดของเป่าเจิงในอีกรูปลักษณ์

 

          ต่อมาในปี พ.ศ.1583 เปา เจิ่ง ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตฺวันโจว จากนั้น ปี 1587 เปา เจิ่ง ได้รับการเรียกเข้านครหลวงไคเฟิง เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ

          ภายในสองปีนับจากนี้ เขาได้ถวายฎีกาอย่างน้อย 13 ฉบับว่าด้วยการทหาร ภาษีอากร การสอบขุนนาง และการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ ใน พศ. 1588 เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยังราชวงศ์เหลียว บันทึกว่า ขณะเข้าเฝ้ากษัตริย์เหลียว ขุนนางเหลียวทูลฟ้องว่า จีนละเมิดสัญญาสันติภาพด้วยการแอบสร้างประตูบานหนึ่งไว้ที่กำแพงชายแดนเพื่อให้ชาวเหลียวแปรพักตร์เข้ามาแจ้งข่าวกรอง เปา เจิ่ง จึงถามว่า เหตุใดประตูจึงจำเป็นต่อการหาข่าวกรอง แต่ขุนนางเหลียวตอบไม่ได้

          ระหว่างที่เปา เจิ่ง ทำราชการอยู่ในราชสำนักไคเฟิงนั้น จักรพรรดิเหรินจงประสงค์จะตั้งพระชายาจากสกุลจางขึ้นเป็นมเหสี แต่พระพันปีหลิวพระราชมารดา คัดค้าน

          กระนั้น จักรพรรดิก็ทรงอวยยศให้แก่จาง เหยาจั่ว ลุงของพระชายาจาง อย่างรวดเร็ว ไม่กี่ปีก็ได้เลื่อนจากขุนนางชั้นล่างขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่

 

 ไม่ใช่เรื่องแต่ง!  กำเนิดเปาบุ้นจิ้น  ที่แท้คน "อานฮุย"

ศาลไคเฟิง เมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมเครื่องประหารสามหลังซึ่งจำลองขึ้นตามวรรณกรรม

 

          ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 1593 เปา เจิ่ง และผู้ตรวจกำกับอีกสองคน จึงร่วมกันถวายฎีกากล่าวโทษจาง เหยาจั่ว แต่จักรพรรดิทรงเมินเฉย และสี่วันให้หลังยังประทานยศให้แก่น้องสาวของพระชายาจาง

          เปา เจิ่ง ไม่ลดละความพยายาม เขาถวายฎีกาอีกฉบับหนึ่งแต่ผู้เดียว พรรณนาถึงความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ในการดำรงตำแหน่งต่างๆ แต่จักรพรรดิกลับให้จาง เหยาจั่ว ควบอีกสี่ตำแหน่ง เปา เจิ่ง จึงถวายฎีกาอีกฉบับ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 1593 ว่า ถ้าทรงขืนจะตั้งจาง เหยาจั่ว ให้ได้ ไม่รับฟังคำปรึกษาที่ถวายแล้ว ก็ขอให้ถอดที่ปรึกษาผู้นี้ออกจากตำแหน่งเสียเถิด

          ในการประชุมคราวถัดมาในท้องพระโรง เปา เจิ่ง และเสนาบดีอีกเจ็ดคน ยังเปิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ทำให้จักรพรรดิทรงยอมถอดจาง เหยาจั่ว ออกจากตำแหน่งในที่สุด

          มีบันทึกอีกว่า ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับนั้น เปา เจิ่ง ได้ลงโทษลดขั้นและไล่ออกแก่ขุนนางผู้ใหญ่ 30 คน ฐานทุจริต รับสินบน และละเลยหน้าที่ และ ยังประสบความสำเร็จในการทูลคัดค้านเสมอ ๆ ผิดกับบุคคลอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ที่ถูกลงโทษสถานหนักเพราะทูลคัดค้านแม้ในเรื่องเล็กน้อย

          ที่สุด ในปี พ.ศ. 1600 ขณะที่เป่าเจิ่งมีอายุ 58 ปี เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการนครหลวงไคเฟิง ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า เปี้ยนเหลียง

          เปา เจิ่ง เป็นผู้ว่าการไคเฟิงจนถึง ปี พ.ศ. 1601 ยังไม่ถึงหนึ่งปีแห่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เปา เจิ่ง ได้ปฏิรูปการปกครองหลายประการเพื่อให้ราษฎรสามารถเข้าถึงผู้ว่าการได้โดยตรง ทำให้เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นอันมาก

          หลังจากนั้น เปา เจิ่ง ได้ดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง โดยมากเกี่ยวข้องกับการคลัง เขายังได้เป็นเสนาบดีคลังอยู่ช่วงหนึ่ง

 

 ไม่ใช่เรื่องแต่ง!  กำเนิดเปาบุ้นจิ้น  ที่แท้คน "อานฮุย"

รูปปั้นของ เปา เจิ่ง  ใน Xiqing Park  เหอเฟย์, จีน

 

          ในด้านชีวิตส่วนตัว เปา เจิ่ง ใช้ชีวิตเรียบง่ายจนเป็นที่เลื่องลือ บุคลิกภาพเคร่งครัดเคร่งขรึม ถึงขนาดพูดกันทั่วไปว่า รอยยิ้มของเขาหาดูยากยิ่งกว่าฮวงโหกลายเป็นสีใสสะอาด

         ในด้านครอบครัว เปา เจิ่ง มีภริยาสามคน คือ นางจาง, นางต่ง และนางซุน มีบุตรสามคนกับนางต่ง เป็นบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา อี้ และบุตรสาวสองคน

          เปา อี้ สมรสกับนางชุย ในราว พ.ศ. 1594 ต่อมาใน พ.ศ. 1596 เป่า อี้ เสียชีวิตขณะรับราชการ เขามีบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา เหวินฝู่ แต่ก็งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ห้าปี

          ที่สุด เมื่อสาวใช้ในบ้านนามว่า นางซุน ตั้งครรภ์ขึ้น เปา เจิ่ง ก็ให้นางกลับบ้านเกิดโดยที่ไม่ทราบว่าบุตรในครรภ์ของนางคือบุตรของเขาเอง

          แต่นางชุย ภริยาของเปา อี้ ทราบความทั้งหมด และแอบส่งเสียเลี้ยงดูนางซุนมาตลอด ครั้น ปี 1600 นางซุนให้กำเนิดบุตรชายชื่อ เปา หยาน ก็พานางซุนและลูกมาอยู่ที่บ้านตนแล้วอุปการะอย่างดี

          ต่อมาใน พ.ศ. 1601 นางชุยพานางซุนและเปา หยาน กลับคืนตระกูลเปา ทำให้เปา เจิ่ง ดีใจที่เชื้อสายยังไม่สิ้นสูญ จึงเปลี่ยนชื่อให้เปา หยาน เป็น เปา โช่ว

          พงศาวดารหลวงยกย่องนางชุย บุตรสะใภ้ของเปา เจิ่ง เป็นอย่างยิ่ง ที่รู้จักพิทักษ์เลือดเนื้อเชื้อไขของวงศ์ตระกูล

           เชื่อกันว่า เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของเรื่องราวในวรรณกรรมที่ว่า เปา เจิ่ง นั้นบิดามารดาจงเกลียดจงชังมาตั้งแต่เด็ก จึงได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สะใภ้ ผู้ซึ่งเขาเรียกขานว่า “แม่สะใภ้”

          ส่วนกิตติศัพท์เกี่ยวกับความเที่ยงตรงของเปา เจิ่ง นั้นเลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน ชื่อเขาจึงกลายเป็นไวพจน์ของคำว่า “ตงฉิน”

          แถมยังถึงขนาดที่ชาวเมืองเล่าขานถึงขั้นว่า เปา เจิ่ง นั้นกลางวันรับราชการอยู่บนโลกมนุษย์ กลางคืนไปรับราชการเป็นยมราชอยู่ในนรกภูมิ พูดกันติดปากว่า เช้าชำระคดีคน ค่ำชำระคดีผี!!

          ที่สุด เปา เจิ่ง ถึงแก่อสัญกรรมที่ไคเฟิงเมื่อ ปี พ.ศ. 2145 (บางแหล่งระบุว่าวันที่ 3 กรกฎาคม  3 July 2022) สิริอายุ 63 ปี จักรพรรดิเหรินจงทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า “เซี่ยวซู่” แปลว่า กตัญญูปูชนีย์

 

 ไม่ใช่เรื่องแต่ง!  กำเนิดเปาบุ้นจิ้น  ที่แท้คน "อานฮุย"

สุสานของเปา เจิ่ง ที่หลูหยาง, เหอเฝย์, อานฮุย

 

          ก่อนเสียชีวิต เปา เจิ่ง สั่งเสียไว้ว่า “ลูกหลานเราคนใดเป็นข้าราชการแล้วกินสินบาตรคาดสินบน ห้ามกลับคืนมายังบ้านเราและห้ามเผาผีร่วมสกุลกันอีก ใครไม่นับถือคุณงามความดีอย่างเรา เราไม่นับเป็นลูกเป็นหลาน”         

          อย่างที่รู้ เปา เจิ่ง ได้รับการสดุดีในจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของความยุติธรรม เรื่องราวชีวิตของเขาได้รับการดัดแปลงเป็นวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนและกำลังภายในมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับความนิยมมาตราบทุกวันนี้

////////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

https://en.wikipedia.org/wiki/Bao_Zheng

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ