วันนี้ในอดีต

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตามประวัติเล่าว่าถึงแม้จะบิดาจะเชี่ยวชาญกังฟูเป็นที่เลื่องลือ แต่เขาก็มิได้ถ่ายทอดวิทยายุทธให้แก่บุตรชาย ไม่มีใครรู้สาเหตุ

         

 

         เชื่อว่าหลายคนเข้าใจว่า “หวง เฟยหง” คือ ชื่อของตำนานกังฟูที่โลดแล่นในจิตนาการและภาพยนตร์

 

          หากแต่ที่จริงแล้วเขา มีตัวตนจริงอยู่บนโลกนี้ มีชีวิตดำเนินไปเหมือนเราทุกคน และวันนี้เมื่อ 95 ปีก่อน คือวันที่ ปรมาจารย์กังฟูผู้นี้ได้ลาลับไปในวัย 76 ปี คงเหลือไว้แต่เรื่องราวของยอดคนที่ชาวจีนจะจารึกจดจำไปนานเท่านาน

 

 

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

 

          หวงเฟยหง หรือ หว่อง เฟฮง (สำเนียงกวางตุ้ง) เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม (ค.ศ. 1847) ตรงกับปีที่ 25 ในรัชสมัยฮ่องเต้เต้ากวง แห่งราชวงศ์ชิง (บางข้อมูลบอกว่า เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1856 ตรงกับปีที่ 6 ในรัชสมัยฮ่องเต้เสียนเฟิง) ที่หมู่บ้านหลูเจ้า ใกล้ภูเขาสีเฉียว เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง

 

          หวงเฟยหงเป็นบุตรของหวง ฉีอิง ซึ่งเป็นปรมาจารย์กังฟูผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “10 พยัคฆ์กวางตุ้ง” ที่มีชื่อเสียงเช่นกัน

 

          ตามประวัติเล่าว่าถึงแม้จะบิดาจะเชี่ยวชาญกังฟูเป็นที่เลื่องลือ แต่เขาก็มิได้ถ่ายทอดวิทยายุทธให้แก่บุตรชาย ไม่มีใครรู้สาเหตุ แต่ที่แน่ๆ ด้วยสายเลือดเข้มข้นของคนจริง หวง เฟยหง ก็ไปเรียนวิชากำลังภาย กับ ลู่ อาไฉ อาจารย์ผู้เป็นสหายร่วมสำนักเส้าหลินกับ หง ซีกวน วีรบุรุษกังฟูที่มีชื่อเสียงอีกคน เขาถ่ายทอดวิชามวย “หงฉวน” โดยมีกระบวนท่าที่มีชื่ออย่าง “หมัดพยัคฆ์ดำ-กะเรียนขาว” ให้หวงเฟยหง

 

          นอกจากนี้ในวัยเยาว์ หวง เฟยหง ยังได้ร่ำเรียนวิชาหงฉวนเพิ่มเติมจาก หล่ำ ฟกซิง และแน่นอนที่ในที่สุด เขาจะได้ร่ำเรียนวิชากังฟูเพิ่มเติมจาก หวง ฉีอิง ผู้เป็นพ่อของเขาเอง

 

          ชีวิตครอบครัว หวง เฟยหง โตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน และต้องตระเวนรอนแรมไปเปิดทำการแสดงวิชาฝีมือและขายยาตามท้องถนน นั่นเพราะบิดาของเขายังเป็นแพทย์แผนโบราณที่ได้รับการยกย่องนับถือ ดังนั้น หวงเฟยหงจึงมีความสามารถทางด้านหการแพทย์ด้วย

 

 

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

บุคคลในภาพนี้เคยระบุว่าเป็นหวง เฟยหง แต่ภายหลังได้มีการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นภาพของ หวง หันซี  บุตรชายของหวง เฟยหง ซึ่งเกิดจากภรรยาคนที่ 3

 

 

          เส้นทางยอดคนค่อยๆ ฉายแววว เมื่อ หวง เฟยหงได้สร้างวีรกรรมอันลือชื่อขึ้นมา 2 เหตุการณ์ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเขายังเป็นวัยรุ่น อายุเพียง 16 ปี มีชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งคิดค้นกิจกรรมสร้างความบันเทิง โดยฝึกฝนสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ให้มีนิสัยดุร้ายกระหายเลือด จากนั้นก็เปิดเวทีท้าประลองให้ชาวจีนสู้กับสุนัข

 

          ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูง แต่หากพลาดพลั้งบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็ถือเป็นคราวเคราะห์ที่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ กิจกรรมนี้กลายเป็นเรื่องโจษจันเกรียวกราวไปทั่ว ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลมาเข้าประลอง แต่สุดท้ายก็พ่ายไปทั้งบาดเจ็บ และเสียชีวิต

 

          แต่แล้ว เมื่อ หวง เฟยหง เข้าประลองในวันหนึ่งและเป็นฝ่ายชนะอย่างง่ายดาย ด้วยกระบวนท่า “ฝ่าเท้าไร้เงา” ซึ่งเป็นไม้ตายประจำตัวอันโด่งดังของเขา ชัยชนะครั้งนี้ ถือว่าเขาสามารถกอบกู้ศักดิ์ศรีให้แก่ชาวจีนได้

 

          เหตุการณ์ต่อมาคือ เมื่อครั้งที่ท่าเรือฮ่องกงเพิ่งเปิดทำการ หวง เฟยหงในวัย 21 ปี เข้าช่วยเหลือคนที่โดนนักเลงท้องถิ่นรุมทำร้าย คราวนี้หวงเฟยหงใช้กระบองไม้ไผ่เป็นอาวุธบุกเดี่ยวเข้าลุยกับฝ่ายตรงข้ามนับสิบคน กลายเป็นศึกตะลุมบอนอันลือลั่น โดยบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าว ปัจจุบันคือสวนสาธารณะที่ถนนฮอลลีวูด บนเกาะฮ่องกง

 

          แม้ว่า ผลการต่อสู้ ยอดกังฟูของเราคนนี้จะเกือบเอาชนะกลุ่มอันธพาลกลุ่มนี้ได้ แต่หวงเฟยหงก็เรียกได้ว่า มิอาจอยู่ในฮ่องกงได้อีกต่อไป จำต้องเดินทางกลับไปยังกวางเจา

 

          ที่สุดหวง เฟยหง ก็ใช้ชีวิตต่อมา โดยเป็นปรมาจารย์กังฟูมีชื่อเสียง และยังเปิดร้านขายยาและสถานพยาบาล ชื่อ “เป่าจือหลิน” โดยที่นี่เป็นร้านขายยาที่โด่งดังเป็นตำนานเช่นเดียวกับชื่อเสียงของ หวง เฟยหง เลยทีเดียว เนื่องจากเขาให้การรักษาผู้เจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังไม่คิดเงินสำหรับคนยากจนอีกด้วย

 

          และแน่นอนที่วิชาแพทย์ของหวง เฟยหง ได้รับการยกย่องไม่น้อยหน้าวิชาการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อกระดูก ตำรับยาเฉพาะประจำตระกูล หรือการรักษาโดยวิธีการฝังเข็ม

 

 

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

พิพิธภัณฑ์หวง เฟยหง ในเมืองฝอซาน ซึ่งคือบ้านของเขาเอง ในปัจจุบัน

 

 

          สำหรับบริเวณที่ตั้งของร้านเป่าจือหลิน สันนิษฐานว่าอยู่ที่ตรอกหยั่นออน ถนนสายที่ 13 เขตกวางเจาตะวันตกในปัจจุบัน

 

          ต่อมาในปี ค.ศ. 1888 นายพล หลิว หยงฟู่ ผู้บัญชาการกองธงดำประสบอุบัติเหตุขาหัก และได้รับการรักษาโดย หวง เฟยหง จนกระทั่งหายดี หลิว หยงฟู่ จึงได้กลายมาเป็นเพื่อนกับ หวง เฟยหง และยังให้เป็นหมอประจำกองทัพอีกด้วย ที่สำคัญทั้งคู่ก็ได้กอดคอกันเข้าร่วมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานไต้หวัน

 

          ชีวิตส่วนตัว หวง เฟยหง ผ่านการแต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง คือ สตรีแซ่หลอ (สมรส ค.ศ. 1871), สตรีแซ่หม่า (สมรส ค.ศ. 1896), สตรีแซ่เฉิน (สมรส ค.ศ. 1902) และ มอก ไกวหลาน (สมรส ค.ศ. 1915) โดยภรรยาสามคนแรกล้วนเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย

 

          หวง เฟย หงมีลูกรวมทั้งหมด 10 คน 

 

 

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

มอก ไกวหลาน ภรรยาคนที่ 4 แต่งงานกับ หวงเฟยหง ขณะอายุ 16 ปี (ไม่มีบุตรด้วยกัน)

 

 

 

        25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

มอก ไกวหลาน

 

          บั้นปลายชีวิต ราวเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 1924 (บางข้อมูลระบุว่าเป็นวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1924) ไก้เกิดเหตุจลาจลในย่านการค้าของกวางเจา ห้างร้านจำนวนมากถูกทำลายเสียหายยับเยิน รวมทั้งร้านเป่าจือหลินของ หวง เฟยหง ที่ถูกเผาจนราบคาบ

 

          ที่น่าเศร้าใจคือ บุตรชายคนโตของเขาเอง ที่ชื่อ หว่อง ฮอนซัม ก็มาเสียชีวิตจากการทะเลาะวิวาทกับ แก๊งค้ายาเสพติด (ข้อมูลระบุว่าเหตุดังกล่าวเกิดในปี ค.ศ. 1890 แต่หลายแหล่งก็ยังไม่ชัดเจน)

 

          หวงเฟย หงเศร้าเสียใจจนประกาศไม่ถ่ายทอดวิชาฝีมือให้แก่ลูกหลานของตนอีก จะสอนเฉพาะกับลูกศิษย์เท่านั้น ถึงตรงนี้ หลายคนจึงได้เข้าใจว่า เหตุใดในตอนต้น บิดาของ หวง เฟยหงเองก็ไม่คิดที่จะถ่ายทอดวิชากังฟูให้ลูกชายของเขามาก่อนเช่นเดียวกัน

 

          ที่สุด หวง เฟยหง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2467 (ค.ศ. 1924) สิริอายุได้ 76 ปี (ขณะที่บางแหล่งระบุว่าเป็นวันที่ 17 เมษายน 2468) หลังจากนั้น มอก ไกวหลานพร้อมด้วยลูกศิษย์ 2 คนของหวง เฟยหง คือ หลิน จี้หรง และ ตั่ง เซาขิ่ง ก็ได้พากันอพยพไปยังฮ่องกง

 

          ทั้งนี้ ตั่ง เซาขิ่งเป็นศิษย์เพศหญิงหนึ่งเดียวในจำนวนลูกศิษย์ทั้งหมด 18 คน ว่ากันว่าคนที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาในทุกๆ ด้าน ทั้งวิชากำลังภายใน, วิชาแพทย์ และการเชิดสิงโต และศิษย์เอกอีกคนคือ เหลิง ฟุน แต่น่าเสียดายที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้น

 

 

 

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

รูปปั้นในพิพิธภัณฑ์ หวง เฟยหง

 

          อย่างไรก็ดี ในบรรดาศิษย์ทั้งหมด คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากสุดคือ หลิน ซื่อหรง ซึ่งต่อมาได้เปิดสำนักขึ้นที่ฮ่องกง และเขียนตำราหมัดมวยที่สำคัญเอาไว้หลายต่อหลายเล่ม รวมทั้งเป็นผู้มีบทบาทในการถ่ายทอดเผยแพร่วีรกรรมของอาจารย์ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

 

 

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

Wong Fei Hung Memorial (Photo By Matt Chan)

 

 

          หลังจากหวง เฟยหงเสียชีวิต เรื่องราวของเขาก็ได้รับการนำมาถ่ายทอดเป็นนวนิยาย ตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ และเป็นที่นิยมในวงกว้าง และมีการเพิ่มจินตนาการต่างๆ เข้าไปมากมายเพื่อเพิ่มอรรถรส

 

 

 

25 มีนาคม 2467 ปิดตำนาน "หวงเฟยหง"

 

 

          เรื่องราวของ หวง เฟยหง ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์มาแล้วนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างในภาพยนตร์ชุด Once Upon a Time in China ที่มีอยู่ด้วยถึง 6 ภาค ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991-ค.ศ. 1997 ซึ่งนักแสดงผู้รับบท หวง เฟยหง คือ หลี่ เหลียนเจี๋ย และ จ้าว เหวินจั๋ว นักแสดงผู้รับบท หวง เฟยหง ในภาคที่ 4 และภาคที่ 5 และในแบบซีรีส์

 

 

**********************************

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ