วันนี้ในอดีต

14 มี.ค.2512 สลด...โรคร้ายคร่า "อิศรา อมันตกุล"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยที่จริงแล้ว อิศรา เป็นคนพูดน้อย เขาชอบฟังคนอื่นพูดมากกว่า เขามักจะเป็นเพียงผู้ตอบคำถาม ผู้อธิบายในสิ่งที่เพื่อนยังไม่เข้าใจ

          เด็กไทยยุคหลังอาจได้ยินชื่อ “อิศรา อมันตกุล” ว่าเป็นนักคิดนักเขียนคนหนึ่ง แต่อาจไม่เคยรับทราบประวัติของเขามาก่อนว่าเขาผู้นี้ คือผู้มีฉายาว่า “นักบุญ” ผู้เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย และ นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

          แต่น่าเสียดายที่วันนี้เมื่อ 50 ปีก่อน ตรงกับวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 เขาต้องมาเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรจากโรคมะเร็งที่ลิ้น หลังจากพักรักษาตัว ณ ตึกจงกลณี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลาเกือบ 10 เดือน

          "อิศรา อมันตกุล" เขาถือกำเนิดมาในครอบครัวที่ นับถือศาสนาอิสลาม มีชื่อจริงว่า “อิบรอฮีน อะมัน” ซึ่งต่อมาครอบครัวได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น “อมรทัต” แต่อิศราหรือ “พี่อิศร์” ของคนในแวดวงหนังสือ ยังคงใช้นามสกุลเดิมของตระกูล ซึ่งแยกมาตั้งเป็น “อมันตกุล” ของเขาเอง

 

14 มี.ค.2512  สลด...โรคร้ายคร่า  "อิศรา อมันตกุล"

ภาพจาก http://www.tja.or.th/

 

        อิศราเกิดวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 แต่มีหลักฐานเขียนไว้ว่า เขาเกิดเมื่อวันจันทร์ แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก เวลา 01.45 น. ซึ่งจะตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม 2463 การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสมัยก่อนนั้นการแจ้งอายุบุตรของตนให้น้อยกว่าที่ เป็นจริงเมื่อเข้าโรงเรียนเพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนจบก่อนอายุ 18 และสามารถสอบชิงทุนสกอล่าชิปหรือ "ทุนหลวง" ไปเรียนต่อเมืองนอกได้

          เขาเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 10 คน ของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน มีชีวิตวัยเด็กอยู่แถวถนนข้าวสาร บางลำพู

          เขาจบชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนบำรุงวิทยาถนนจักรพงษ์ และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 8 จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนในปีพ.ศ. 2472 โดยมีคะแนนในวิชาภาษาอังกฤษสูงสุดของประเทศ จากนั้นได้ไปทำงานกับคณะมิชชั่นนารีที่นครธรรมราช ประมาณ 2 ปี ก่อนเผชิญชีวิตในประเทศใกล้เคียงอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

          อิศรา สมรสกับ นางสเริงรมย์ อมันตกุล (นามสกุลเดิม บุนนาค) ธิดาของ พลโท พระยาสีหราชเดโช เริ่มงานหนังสือพิมพ์กับ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” และ “มาลัย ชูพินิจ” ในหนังสือสุภาพบุรุษ-ประชามิตร ขณะอายุ 19 เท่านั้น

          จากนั้นได้ร่วมก่อตั้งหนังสือ “สุวัณณภูมิ” กับ ทองเติม เสมรสุต, เสนีย์ เสาวพงศ์, วิตต์ สุทธิเสถียรฯ โดยเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองเนื้อหาหนัก และย้ายไปทำงานหนังสือพิมพ์ต่างๆ อีกหลายฉบับในปี พ.ศ. 2501 เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน (ผู้ก่อตั้ง)หนังสือพิมพ์เอกราช หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวัน หนังสือพิมพ์สยามนิกร หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ หนังสือพิมพ์กิตติศัพท์ หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ยุคใหม่ และ หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในปัจจุบัน)

          แต่แล้วเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 จาก จอมพล ถนอม กิตติขจร หลังจากนั้นเพียง 1 วัน (21 ตุลาคม พ.ศ. 2501) หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ถูกปิด

          อิศราขณะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ นั้น เขาและนักหนังสือพิมพ์หลายคนคนถูกจับด้วยข้อหามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกคุมขังเป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน โดยไม่มีการส่งฟ้องศาล กระทั่งเมื่อเดือนกันยายนพ.ศ. 2507 ก็ถูกปล่อยตัว หลังจากนั้น เข้ารับตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในปัจจุบัน) จนกระทั่งถึงแก่กรรม

          บทความ "อิศรา อมันตกุล ตัวตาย...แต่ชื่อยัง" โดย เสริมศรี เอกชัย เล่าถึงพี่อิศร์ว่า

          "การอธิบายภาพอิศรา อมันตกุล นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในเมื่อเขาคือ “หลักทางใจ” ของคนรุ่นน้อง เขาคือ “เพื่อนแท้” ของมิตรสหาย เขาคือ “ครู” ของนักข่าว เขาคือ “ความฝัน” ของนักหนังสือพิมพ์รุ่นเยาว์เขาคือ “หลักชัย” ที่ทุกคนคิดว่าจะต้องตะกายไปให้ถึง เขาคือความหยิ่งและความภูมิใจของวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทย..."

          "โดยที่จริงแล้ว อิศรา เป็นคนพูดน้อย เขาชอบฟังคนอื่นพูดมากกว่า เขามักจะเป็นเพียงผู้ตอบคำถาม ผู้อธิบายในสิ่งที่เพื่อนยังไม่เข้าใจ"

 

14 มี.ค.2512  สลด...โรคร้ายคร่า  "อิศรา อมันตกุล"

 

          สำหรับโรคร้ายที่ คร่าชีวิตพี่อิศร์ของน้องๆ นั้น ในหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ "สุพัณณา อมันตกุล" นามเดิม "สเริงรมย์" เมื่อวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2557 สุพัณณา เขียนไว้ว่าสามีของเธอเริ่มเป็นมะเร็งที่ลิ้นเมื่อเดือนมกราคม 2510 จากนั้นเดือนพฤษภาคมเข้ารับการรักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 5 มิถุนายน

          กระทั่งกลางกุมภาพันธ์ อาการก็ทรุดลงเป็นลำดับ  ผ่านมาจนปี 2512 วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม ทุกสิ่งไม่มีอะไรผิดปรกติไปจากทุกวัน จนช่วงเที่ยง คุณหมอตรวจอาการบอกว่าความดันเหลือ 60 เท่านั้น ที่สุด อิศรา อมันตกุล เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2512 เวลา 15.17 น.

          อิศรา อมันตกุล เขียนเรื่องสั้นมาก่อนที่จะทำงานหนังสือพิมพ์ และมีผลงานด้านนวนิยายเป็นจำนวนมาก อาทิ นักบุญ - คนบาป, ฮาลิมาวกุนิง (เสือเหลือง), เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, ชุดนักสืบพราย พิสดาร ฯลฯ

 

14 มี.ค.2512  สลด...โรคร้ายคร่า  "อิศรา อมันตกุล"

ภาพจาก http://www.tja.or.th/

 

          นามปากกาที่ใช้ เช่น นายอิสระ มะงุมมะงาหรา อโศก ธนุรธร รติรมย์ เริง อภิรมย์ นที บุรีรัมย์ เริง กุลราช ทรงกลด กลางหาว พราย พิสดาร ดร.x XYZ แฟรงค์ ฟรีแมน เจดีย์ กลางแดด ฯลฯ

          ส่วนผลงานนวนิยาย เช่น นักบุญคนบาป นาถยา สถาพรผู้กลับมา (นาถยาภาคจบ) วีรบุรุษใน-หนังฬา เสือซ่อนเล็บ ข้าจะไม่แพ้ ธรณีประลัย ไซง่อนพิศวาส ไซง่อน-เสน่หา พยัคฆ์ร้ายไซง่อน ชุมทางดาวร้าย ลูกผู้ชายชื่อไอ้แผน ท้ามัจจุราช มังกรมาเก๊า ฮาลิมาวกุนิง (เสือเหลือง) กิเลนเกาลูน มนุษย์สองชีพ ป่ามโนห์รา ร้อยชู้หรือจะสู้รุ่งรำแพน ควันปืนที่ธารกะเปอร์จูบฉันแล้วจงตายเสีย 108 แพศยา เขานั้นหรือชื่อจอม จัสุรัส (เดินชื่อทิศตะวันออกตะวันตก) ชุดนักสืบพราย พิสดาร ฯลฯ

          รวมเรื่องสั้น : พรและคำสาป ยุคทมิฬ หัวเราะและน้ำตา วายุภักษ์ปีกหัก เหตุเกิดบน-แผ่นดิน เพลงแห่งอิสรภาพ พระเจ้าคนละองค์ เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี เกลือกว่าเราจะลืม เขาเลี้ยงงูพิษไว้ในใจ ฯลฯ

          สารคดี : ยักษ์ตื่นในเอเซีย สตาลินผู้พิชิต เยี่ยมไอยคุปต์

          เรื่องแปล : วัยรุ่นและพรหมจรรย์, งานวิชาการ : Slang ไม่ใช่ของแสลง อธิบายศัพท์แสงภาษาสแลงของฝรั่งให้คนไทยเข้าใจ

 

14 มี.ค.2512  สลด...โรคร้ายคร่า  "อิศรา อมันตกุล"

 

          ทั้งนี้ อิศรา ได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก และดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน (พ.ศ. 2499, พ.ศ. 2500 และ พ.ศ. 2501) และยังเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการจัดหน้าหนังสือพิมพ์ จากหน้าละ 7 คอลัมน์ เป็น 8 คอลัมน์ อีกด้วย

          เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2512 สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย และ สมาคมหนังข่าวแห่งประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกัน และมีมติให้จัดตั้ง “มูลนิธิ อิศรา อมันตกุล” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอิศรา จดทะเบียนก่อตั้ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 โดยมี นายสนิท เอกชัย เป็นประธานมูลนิธิฯ คนแรก

          โดยมีภารกิจสำคัญ ร่วมกับ สมาคมนักข่าวฯ จัดให้มีการประกาศรางวัลผลงานข่าวหนังสือพิมพ์ และภาพข่าวหนังสือพิมพ์ดีเด่น "รางวัลอิศรา อมันตกุล" เพื่อให้รางวัลแก่ผลงานข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี โดยสมาคมนักข่าวฯ เป็นฝ่ายแต่งตั้งคณะกรรมการตัดสิน จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 และมีพิธีมอบรางวัลครั้งแรก ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2516

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ