วันนี้ในอดีต

4 มีนาคม 2492 รู้จัก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ 1 ใน 4 ผู้ถูกสังหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหมือนโดนคำสาปที่ ไม่ว่ายุคไหน กลุ่มเสรีและสังคมนิยม จะเป็นไม้เบื้อไม้เมากับ "คณะรัฐประหาร" หรือกลุ่มอำนาจในขณะนั้น

 

 

***************************          

 

 

          หากใครจำได้ การเมืองไทยยุคหนึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือด

 

          นั่นคือ เหตุการณ์เมื่อวันนี้ของ 70 ปีก่อน กับการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุว่าโจรจีนมลายูจากแดนใต้ ได้บุกเข้าแย่งชิงนักโทษ ทำให้มีการยิงต่อสู้กััน จน 4 อดีตรัฐมนตรีโดนลูกหลงถูกยิงตายทั้งหมด!!

 

         โดย 4 อดีตรัฐมนตรีดังกล่าวคือ 1. ถวิล อุดล อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด 2 สมัย เป็นหัวหน้าเสรีไทย จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เคยเดินทางไปติดต่อขอความร่วมมือจาก ประเทศจีน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ เงินภาษีที่เก็บจากประชาชน ต้องเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนทั้งหมด

 

          2.ดร.ทองเปลว ชลภูมิ คณะราษฎร และ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ 3. จำลอง ดาวเรือง ขุนพลเมืองมหาสารคาม ผู้นำเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่2 อดีตส.ส.ตัวแทนชาวไร่ชาวนาเมื่อปี 2480

 

          และ 4. รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นักการเมือง ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรณี “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว” ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีวาการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น นักการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อชาวอิสานอย่างแท้จริงคนหนึ่ง (อ่าน http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/315324)

 

 

 

4 มีนาคม 2492 รู้จัก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ 1 ใน 4 ผู้ถูกสังหาร

         

 

         

         ทั้งนี้  4 รายนี้ มีถึง 3 คนที่ ได้ฉายาว่า “4 เสืออีสาน” ซึ่งขณะนั้นถูกรัฐบาลควบคุมตัวไว้ จากเหตุความมั่นคงสำหรับเหตุการณ์ในวันนั้น เริ่มขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 3 มีนาคม 2492 ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้ง “4อดีตรัฐมนตรี” ไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหลายเลขทะเบียน กท. 10371

 

          โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับ “ดร.ทองเปลว” ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน “นายจำลอง” ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา “นายถวิล” ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และ “นายทองอินทร์” ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน

 

          เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2492 ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่า 10 นัดจนร่างเละ ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง

 

          ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

 

 

 

4 มีนาคม 2492 รู้จัก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ 1 ใน 4 ผู้ถูกสังหาร

 

 

 

          ว่ากันว่าญาติของผู้ต้องหา กว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่างๆ เช่นวังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็น “กองบัญชาการตำรวจนครบาล” และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

 

          แน่นอนเรื่องนี้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความผิดปกติเป็นอันมาก สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ “พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์” ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็น “รองอธิบดีกรมตำรวจ” ในเวลานั้น

 

          ดังที่รู้ว่าช่วงนั้น เมืองไทยมี “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เป็นนายกรัฐมนตรี (สมัยที่ 2) ซึ่งมาจาก คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งนำโดย “พลโทผิน ชุณหะวัน” (เป็นผู้บัญชาการทหารบก (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2497)

 

 

 

4 มีนาคม 2492 รู้จัก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ 1 ใน 4 ผู้ถูกสังหาร

จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

 

 

          แต่เมืองไทยก็ยังมี  กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม เป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกลุ่มที่สนับสนุน ปรีดี พนมยงค์ และโดยมากเคยร่วมงานกันในกลุ่มเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่2 และยังมี กลุ่มข้าราชการพลเรือน ทหารเรือ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจเอกชน และแน่นนอนมีกลุ่มของ ส.ส. จากพรรคสหชีพซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ซึ่งก็มี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคสหชีพ

 

          ว่ากันว่า “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรี มีมือขวาอย่าง “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์” สมัยนั้นเรียกว่า ยุค “รัฐตำรวจ” หรือ “อัศวินผยอง”

 

          และเหมือนโดนคำสาปที่ ไม่ว่ายุคไหน กลุ่มเสรีและสังคมนิยม จะเป็นไม้เบื้อไม้เมากับ “คณะรัฐประหาร” หรือกลุ่มอำนาจในขณะนั้น

 

         ในปี 2490 ปีเดียวกันนั้นเอง กลุ่มอำนาจได้เฝ้าติดตามและกวาดล้างผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

 

          ไล่เรียงมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 รัฐบาล “จอมพล ป.” ได้จับกุมบุคคลจำนวนมากในข้อหาต่างๆ กัน บุคคลส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุม เป็น “อดีตรัฐมนตรี” ในรัฐบาลถวัลย์ และ "กลุ่มผู้สนับสนุน "ปรีดี พนมยงค์"

 

          ในช่วงเวลานั้น “ทองอินทร์” ถูกจับกุมในข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง “ทองเปลว” ถูกจับกุมในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วน “ถวิล” ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเงินเสรีไทย แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัวไป

 

          ในช่วง พ.ศ. 2491 “ทองอินทร์” และ “ถวิล” ก็ถูกจับกุมในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ส่วน “จำลอง” ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐานในการกระทำผิด ขณะที่ “ทองเปลว” ถูกจับกุมในเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 หลังออกจากที่คุมขังก็เดินทางไปลี้ภัยการเมืองที่ปีนัง

 

          1 มีนาคม 2492 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของ จอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตอันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรี

 

          หลังจากนั้นรัฐบาลได้อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการจับกุมและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา “ทองอินทร์, ถวิล, และจำลอง” ถูกจับกุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วน “ทองเปลว ชลภูมิ" ได้รับโทรเลขลวงจากรัฐบาลแจ้งว่าปฏิบัติการของปรีดีสำเร็จลุล่วงด้วยดี จึงเดินทางโดยเครื่องบินเข้ามาในประเทศไทยและถูกจับกุมตัวในวันที่ 1 มีนาคม

 

          ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในข้อหากบฏ 4 อดีตรัฐมนตรี ถูกข่มขู่และกระทำทารุณกรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่ากันว่า ถึงขนาดมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นเพื่อให้รับสารภาพ

 

          ก่อนที่ทั้งหมด จะมาพบจุดจบแบบลับลวงพรางตามที่เล่าไปข้างต้น แต่ภายหลังคดีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นและตัดสินอย่างจริงจังหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 โดย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ศาลดำเนินคดีในปี พ.ศ. 2502 แต่หลายคนก็ไม่เชื่อว่าในจำนวนนี้จะเป็นผู้ต้องหาตัวจริง

 

 

 

4 มีนาคม 2492 รู้จัก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ 1 ใน 4 ผู้ถูกสังหาร

 

 

          อยากรู้ต้องไปหาอ่านจาก หนังสือ “13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย” ของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ที่ได้กล่าวถึง วิธีการที่เรียกว่า Eliminate คือการลบให้หายจากบัญชีพลเมืองของโลกไปเลย ส่วนจริงเท็จอย่างไรต้องใช้วิจารณญาณกันเอาเอง

 

 

          อนึ่ง สำหรับ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เขาเป็นนักการเมือง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรณี “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว” ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์

 

          ทองอินทร์ ภูริพัฒน์เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ที่บ้านหนองยาง ตำบลหัวเรือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีคู่สมรส 1 คน คือเจ้าศิริบังอร ณ จำปาศักดิ์

 

          ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จึงมีความเกี่ยวดองเป็นเขยของตระกูลเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ในประเทศลาวด้วย

 

          ประวัติการศึกษา เขาจบประกาศนียบัตรชุดครูมัธยม และ เนติบัณฑิตไทย

 

 

 

4 มีนาคม 2492 รู้จัก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ 1 ใน 4 ผู้ถูกสังหาร

 

 

 

          ช่วงปี พ.ศ. 2467 เป็นครูน้อยโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ต่อมาได้เลื่อนเป็นครูใหญ่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2468 - 2477) ในระยะนี้ได้รับพระราชทานยศทางพลเรือนเป็นรองอำมาตย์ตรี (เทียบเท่านายร้อยตรีทหารบก)

 

          พ.ศ. 2483 โอนไปรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยในตำแหน่งเลขานุการ มณฑลนครราชสีมา ดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นนายอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หลังจากนั้นจึงลาออกจากราชการ มาสมัครเป็นผู้แทนราษฎรของ จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2476

 

          ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก พรรคสหชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของฝ่าย ปรีดี พนมยงค์ ภายหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 และเหตุการณ์ กบฏวังหลวง นักการเมืองฝ่ายนายปรีดี ที่อยู่ในประเทศก็ถูกฝ่ายรัฐบาล ดำเนินการกวาดล้างอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงนายทองอินทร์ด้วย

 

          จนกระทั่ง เขามาถูกจับกุมพร้อมกับ อดีตรัฐมนตรีอีสานอีก 2 คน คือ ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง รวมทั้ง ดร.ทองเปลว ชลภูมิ (หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายปรีดีที่ถูกจับมาในอีกคดีหนึ่ง)

 

          ทั้งหมดถูกยิงตายที่บริเวณทุ่งบางเขน ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 โดย กรมตำรวจ ในเวลานั้นอ้างเหตุว่า มีโจรคอมมิวนิสต์มลายู มาชิงตัว 4 อดีตรัฐมนตรี และเกิดการต่อสู้ขึ้น จนทำให้ทั้ง 4 คน ถูกลูกหลงเสียชีวิตทั้งหมด แต่ไม่ใคร่จะมีใครเชื่อข้ออ้างดังกล่าวนัก เนื่องจากไม่มีตำรวจเสียชีวิตหรือบาดเจ็บแม้แต่รายเดียว ในเวลาที่นายทองอินทร์เสียชีวิตนั้น มีอายุได้เพียง 43 ปี

 

 

------//-------

 

 ขอบคุณข้อมูล oknation

วิกีพีเดีย

พันทิป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ