วันนี้ในอดีต

อย่าเรียกการเลือกตั้งนี้ว่าสกปรก ให้เรียกว่า "ไม่เรียบร้อย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จักการเลือกตั้งที่มีทั้ง "พลร่ม" และ "ไพ่ไฟ" จนถึงกับเรียกกันว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด!

          นับถึงวันนี้ เมืองไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 26 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา โดยครั้งที่ 26 ก็คือครั้งที่เกิดขึ้นในปี 2554

          สำหรับครั้งล่าสุดกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 26 มีนาคมนี้ คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เป็นครั้งที่ 27 ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายมิติมากที่สุดครั้งหนึ่ง แม้จะยังไม่ถึงวันเลือกตั้งก็ตาม

 

          แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า มีการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ถูกเรียกว่า เป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า “สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์”!!

          นั่นคือการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งที่ครั้งที่ 9 ของคนไทย ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 หรือวันนี้ของ 62 ปีก่อน นั่นเอง

          ว่ากันว่า ก่อนหน้าเลือกตั้งจะเกิดขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายรัฐมกนตรีในขณะนั้น ประกาศจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ ถวายเป็น “พุทธบูชา” เนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาล

          แต่ก่อนการเลือกตั้งนั้น ได้มีการข่มขู่สารพัดจากบรรดานักเลง อันธพาล ที่ทางรัฐบาลเรียกว่า “ผู้กว้างขวาง” บังคับให้ชาวบ้านเลือกแต่ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล

          ว่ากันว่า มีการใช้อุจจาระป้ายตามประตูบ้าน รวมทั้งใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวประณามพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ด้วย

 

อย่าเรียกการเลือกตั้งนี้ว่าสกปรก  ให้เรียกว่า "ไม่เรียบร้อย"

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

          เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง ปรากฏว่า มีการใช้คนทำการเวียนเทียนกันลงคะแนน โดยเรียกว่า “พลร่ม” และเมื่อปิดหีบแล้วมีการยัดบัตรลงคะแนนเถื่อนเข้าไป เรียกว่า “ไพ่ไฟ” และยังมีการแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาคนอีกด้วย

          ขณะที่ยังมีเหตุขลุกขลักเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รุนแรงถึงขนาดมีการฆาตกรรมคนที่สนับสนุนผู้สมัครบางคนด้วย

          อีกทั้งการนับคะแนนยังใช้เวลานับกันยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน ด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกตีแผ่อย่างกว้างขวางในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ

          ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2498 เพื่อที่จะรองรับการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้รับเสียงข้างมากที่สุด ถึง 85 ที่นั่ง

 

          เฉพาะในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี อันเป็นเมืองหลวง ได้ถึง 8 ที่นั่ง โดย จอมพล ป. ได้รับเลือกมาด้วยคะแนนเป็นลำดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 137,735 ตามมาด้วย พันตรี ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านคู่แข่งสำคัญ ด้วยคะแนน 118,457 ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียงแค่ 4 ที่นั่งเท่านั้น คือ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นาวาโท พระประยุทธชลธี ของจังหวัดพระนคร และ นายไถง สุวรรณทัต กับ นายมนัส สุวรรณทัต ของจังหวัดธนบุรี และทั่วประเทศได้เพียง 31 ที่นั่งเท่านั้น

อย่าเรียกการเลือกตั้งนี้ว่าสกปรก  ให้เรียกว่า "ไม่เรียบร้อย"

พันตรี ควง อภัยวงศ์ 

 

          ทั้งนี้ หลังผลการเลือกตั้งออก สื่อมวลชนได้ประนามว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามได้แถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกว่าการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกว่าเป็น “การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย”

 

          แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้จากประชาชน ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเริ่มขบวนที่ท้องสนามหลวง และเดินไปเรื่อยโดยมีทำเนียบรัฐบาลเป็นจุดหมาย มีการลดธงชาติครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง โดยหมายจะให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชี้แจงการเลือกตั้งครั้งนี้ให้จงได้

 

อย่าเรียกการเลือกตั้งนี้ว่าสกปรก  ให้เรียกว่า "ไม่เรียบร้อย"

ประชาชนประท้วงเลือกตั้งสกปรก (https://commons.wikimedia.org)

 

          จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันเดียวกันนั้น ต่อมาเมื่อขบวนผู้ชุมนุมมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ทางจอมพล ป.แต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมดูแลสถานการณ์ กลับถอดหมวกโบกรับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยกล่าวว่าทหารจะไม่มีวันทำร้ายประชาชน และนำพาผู้ชุมนุมเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเจรจากับ จอมพล ป.เอง

          ที่สุด จอมพล ป.ต้องลงมาเจรจาด้วยตนเองที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า และได้ข้อสรุปว่า จอมพล ป.ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมจึงสลายตัวไป และมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2500

          แต่ต่อมาเหตุการณ์ได้ขยายตัวและบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มทหารและตำรวจที่สนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) จนกลายเป็นการรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ในที่สุด (อ่าน http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/295694)

อย่าเรียกการเลือกตั้งนี้ว่าสกปรก  ให้เรียกว่า "ไม่เรียบร้อย"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ