วันนี้ในอดีต

22 ก.พ.2516 ตำนานสะพานรักสารสิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนั้นสะพานสารสินไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้คนกลับหยุด และจดจำสะพานแห่งนี้ ไว้ที่โศกนาฏกรรมความรักของคนคู่นั้น ราวกับเป็นนิยายชวนฝันโรแมนติก

         

 

****************************

 

 

          บางครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ ก็มิใช่เดือนแห่งความรักเสมอไป

 

          โดยเฉพาะกับหนุ่มสาวคู่หนึ่งในจังหวัดภูเก็ตที่่หาทางออกของปัญหาที่ครอบครัวกีดกันความรักของพวกเขาด้วยการใช้ผ้าขาวม้าผูกต่อกันมัดตัวเองกระโดดจากกลางสะพาน จมดิ่งลงสู่พื้นน้ำ หมดลมหายใจคู่กัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 หรือวันนี้เมื่อ 46 ปีก่อน

 

 

 

22 ก.พ.2516  ตำนานสะพานรักสารสิน

         

 

          แน่นอน วันนั้นสะพานสารสินไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้คนกลับหยุด และจดจำสะพานแห่งนี้ ไว้ที่โศกนาฏกรรมความรักของคนคู่นั้น ราวกับเป็นนิยายชวนฝันโรแมนติก

 

 

 

22 ก.พ.2516  ตำนานสะพานรักสารสิน

ภาพจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000015824

 

 

          ตามจริตนิยมของคนไทยที่ชอบเรื่องชีวิตรันทด เพราะเรื่องราวถูกไฮไลท์ไว้ที่ความรักต่างชนชั้นของ สาววิทยาลัยครูกับหนุ่มรถสองแถวที่ไม่ได้ไปต่อเพราะครอบครัวฝ่ายหญิงไม่ยอมรับ ถึงขนาดมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์จนโด่งดังทะลุจอ

 

 

 

22 ก.พ.2516  ตำนานสะพานรักสารสิน

จินตหรา สุขพัฒน์ ในภาพยนตร์สะพานรักสารสิน ภาพจาก https://pantip.com/topic/36041596

   

 

 

         แต่แท้จริงแล้ว มันกลับทิ้งความเจ็บปวดไว้กับครอบครัว และคนข้างหลังอย่างไม่มีวันลบลืม 

 

        วันนี้ในอดีตจึงไม่ต้องการฉายซ้ำรายละเอียดให้คนรุ่นหลังจดจำเลียนแบบ เพราะที่จริงตลอดระยะเวลานับจากนั้น ก็มีคู่รักพยายามกระทำตามหลายคู่ สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง 

 

          จึงขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับสะพานสารสินกันดีกว่า

 

           สะพานสารสิน เป็นสะพานแห่งแรกที่มีการสร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปภูเก็ต เชื่อมต่อระหว่างบ้านท่าฉัตรไชย และบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงา โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 มีความยาวทั้งหมด 660 เมตร เปิดใช้เมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510

 

          สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เริ่มสร้างครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 โดยเปิดให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง

 

          แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างในระยะเริ่มต้นมีปัญหา เหตุผลที่ระบุไว้คือ "ความไม่ชำนาญการ" ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้างอีกครั้งโดยบริษัท Cristiani & Nelson (Thailand) Ltd. จนสำเร็จสามารถเปิดใช้การได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 ใช้งบประมาณทั้งหมด 28,770,000 บาท!!

 

         

          สะพานสารสิน มีความยาวทั้งหมด 660 เมตรเป็นทางผิวคอนกรีต 360 เมตร ตัวสะพานคอนกรีตอัดแรงยาว 300 เมตร กว้าง 11 เมตร เป็นทางรถวิ่งกว้าง 8 เมตร ทางเท้าข้างละ 1.5 เมตร รับผิดชอบดูแลโดย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม

 

          ต่อมา มีการสร้าง “สะพานท้าวเทพกระษัตรี” ซึ่งเป็นสะพานคู่ขนานสะพานสารสินเดิมที่มีขนาด 2 ช่องจราจร และความยาว 650 เมตร เพื่อระบายการจราจรที่คับคั่งตามความเจริญของจังหวัดภูเก็ต เริ่มเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2535

 

 

22 ก.พ.2516  ตำนานสะพานรักสารสิน

 

 

          ในปีงบประมาณ 2552 กรมทางหลวงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 377 ล้านบาท เพื่อสร้าง “สะพานท้าวศรีสุนทร” หรือ สะพานสารสิน 2 ด้วยความยาว 650 เมตร เป็นสะพานคู่ขนานกับสะพานท้าวเทพกระษัตรี ทดแทนสะพานสารสินเดิมที่ก่อสร้างมานานและอยู่ในสภาพที่เก่า ประกอบกับสะพานสารสินที่ใช้งานอยู่ในขนาดนี้เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถที่จะลอดผ่านได้

 

 

 

22 ก.พ.2516  ตำนานสะพานรักสารสิน

 

 

          สะพานสารสิน 2 เริ่มสร้างในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จและเปิดใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ส่วนสะพานสารสินเดิมในปัจจุบันนั้น ได้ถูกปรับปรุงเป็นสะพานคนเดินและหอชมวิว โดยยกบริเวณช่วงกลางสะพานให้สูงเท่ากับสะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมาของเรือ หอชมวิวเป็นอาคาร 8 เหลี่ยมสไตล์ชิโนโปรตุกีส ในส่วนของปลายสะพานทั้งสองด้านได้มีการปรับเป็นสถานที่จอดรถ อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต

 

 

            ถึงวันนี้ เรามิอาจลบเลือนรอยทรงจำสีดำ ที่เกิดขึ้นกับคู่รักคู่นั้นได้ แต่ถ้าจะรำลึกถึงเรื่องราวนี้ ก็ขอให้ทำแค่เพียงกลั้นหายใจแล้วอธิษฐาน ขอให้ความรักสมหวัง เวลานั่งรถผ่านสะพานแห่งนี้ก็พอ

 

 

////////////////////////

 

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ