วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต "สปีดโบ๊ทล่ม" ทักษิณ จบเรื่องไม่พูดเยอะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรือได้เสียการทรงตัวเอียงขวา และบรรทุกผู้โดยสารมาก จนเทกระจาดไปทางด้านขวาและพลิกคว่ำทางขวา 

          สถานการณ์เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวล่่ม ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ไม่ใช่เคสที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต กรณีเรือนักท่องเที่ยว "ฟีนิกซ์ ไดร์วิ่ง" บรรทุกผู้โดยสาร รวมไดมาสเตอร์ จำนวน 97 คน ล่มบริเวณเกาะเฮ ม.3 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 ปีก่อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 47 ราย จากสาเหตุพายุ

          แถมยังเกิดดราม่าข้ามมหาสมุทร เมื่อชาวจีนไม่พอใจ และเกิดกระแสแบนไม่มาเที่ยวประเทศไทย เพราะท่านผู้นำของเราคนหนึ่งไปกล่าวว่า เหตุเรือล่มนี้ เรือ 1 ใน 3 ลำพบว่าเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะไม่เชื่อประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาจึงได้ออกเรือไปอย่างนั้น เรื่องนี้จะดำเนินการแก้ไข และไทยก็มีกฎหมายอยู่ ยืนยันว่านักท่องเที่ยวจีนเป็นคนทำเรือ และฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของเรา “เขาทำตัวของเขาเอง”

          สุดท้ายรัฐบาลไทยต้องมาเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงนักท่องเที่ยวจีนเพื่อกู้สถานการณ์

 

วันนี้ในอดีต "สปีดโบ๊ทล่ม" ทักษิณ จบเรื่องไม่พูดเยอะ          

          เลยขอนำเรื่องราวเหตุการณ์เรือล่มที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 14 ปีก่อน มาเล่าให้ฟังเป็นเกร็ด โดยช่วงวันที่  25 มกราคม 2548 บ้านเราได้เกิดสถานการณ์อุบัติเหตุเรือบรรทุกนักท่องเที่ยว SPEED BOAT ล่ม ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตจำนวนมาก

          ทั้งนี้ เรือลำนั้นชื่อ “สวัสดีเฉลิมโชคนาวา 5” ของบริษัทเดินเรือท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง โดยลักษณะของเรือเป็นเรือเร็ว (SPEED BOAT) ขนาดความยาว 11.60 เมตร กว้าง 3.00 เมตร ลึก 2 เมตร จำนวน 13.90 ตันกรอส เครื่องยนต์ขนาด 149.20 กิโลวัตต์

          อย่างไรก็ดี เรือลำนี้ระบุว่ามีใบอนุญาตบรรทุกผู้โดยสารจำนวน 32 คน หากแต่วันเกิดเหตุ เรือดังกล่าวได้รับผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน 50 คน กลับจากงานฟูลมูนปาร์ตี้ที่หาดริ้น อ.เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือหาดบางรักษ์ ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

 

วันนี้ในอดีต "สปีดโบ๊ทล่ม" ทักษิณ จบเรื่องไม่พูดเยอะ

ภาพประกอบจากข่าวสปีดล่มที่สมุย ช่วงวันที่ 29 พ.ค.2559

 

          แต่อนิจจา ยังไม่ทันถึงฝั่ง ได้เกิดอุบัติเหตุล่มกลางทะเลอ่าวไทยเสียก่อน ที่ละติจูด 39 องศา 36 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา .02 ลิปดาตะวันออก บริเวณเกาะเตาปูน ห่างจากท่าเทียบเรือบางรักษ์ ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 ไมล์ (3.6 กิโลเมตร) ทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต จำนวน 15 คน (คนไทย 5 คน ต่างชาติ 10 คน) บาดเจ็บ 8 คน (คนไทย 1 คน ต่างชาติ 7 คน)

          เวลานั้นรัฐบาลไทยในยุคสมัยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่พูดพร่ำทำเพลงมาก จะด้วยสมัยนั้นเรายังไม่มีสื่อโซเชียลเน็ทเวิร์ค ทำให้ข่าวคราวของเหตุการณ์นี้ จำกัดวงแคบแต่ในสื่อกระแสหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ไม่กี่ช่อง แต่ตอนนั้นคนไทยก็ได้รับข่าวสารตรงกันว่า รัฐบาลไทยเร่งสั่งการแก้ไขและเยียวยาอย่างทันท่วงที

          โดยมีการกำหนดมาตรการและจัดระเบียบเพื่อป้องกันการเกิดเหตุหลายประการเช่น นับแต่วันเกิเหตุ วันที่ 25 มกราคม 2548 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีขณะนั้นได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย อำเภอเกาะสมุย โดยประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มากมายแทบขนมาทั้งจังหวัด รวมเจ้าหน้าที่ 481 คน ได้ช่วยกันกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อค้นหาผู้ประสบภัยที่สูญหาย

          ทั้งหมดนี้ สนธิกำลังกันจนสามารถออกปฏิบัติการค้นหาพบศพผู้สูญหายครบ 15 ศพ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2548 เวลา 13.53 น. หรือสามวันหลังเกิดเหตุร้าย!

 

วันนี้ในอดีต "สปีดโบ๊ทล่ม" ทักษิณ จบเรื่องไม่พูดเยอะ

ภาพข่าวจากเรือล่มภูเก็ต 5 ก.ค.2561

 

           ขณะเดียวกัน ทางการยังมีการหารือกับบริษัทเจ้าของเรือ และ บริษัทประกันภัยที่รับผิดชอบอยู่มาร่วมประชุมหารือเรื่องการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยแบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 กรณี ดังนี้

           (1)  การประกันเรือตาม พ.ร.บ.ผู้โดยสาร บริษัทประกันภัย จะจ่ายให้ผู้เสียชีวิต รายละ 50,000 บาท ผู้บาดเจ็บ รายละ 10,000 บาท โดยบริษัทฯ ได้ทำไว้กับ บริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน)

           (2)  บริษัทประกันของบริษัทเจ้าของเรือจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียชีวิต รายละ 200,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลรายละไม่เกิน 100,000 บาทต่อครั้ง

          (3)  บริษัทเจ้าของเรือจะจ่ายค่าทำขวัญในการทำศพให้แก่ผู้เสียชีวิต รายละ 5,000 บาท และผู้บาดเจ็บรายละ 5,000 บาท

          จนเมื่อเรื่องคลี่คลาย ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้มีการเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย อำเภอเกาะสมุย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2548 โดยมอบให้อำเภอเกาะสมุยประสานงานด้านการจัดการศพ การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรวมทั้งด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

          ขณะที่ผลการสอบสวนสาเหตุการเกิดโศกนาฏกรรมครั้งนั้น เวลานั้นจากการตรวจสอบทางฝ่ายตำรวจได้ความเบื้องต้นว่า ในวันเกิดเหตุสภาพคลื่นลมปกติ แต่นายท้ายเรือได้รับผู้โดยสารจากท่าเรือหาดริ้น  อำเภอเกาะพงัน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ไปส่งยังท่าเรือตำบล บ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยบรรทุกผู้โดยสารเต็มลำประมาณ 50 คน

          ระหว่างที่แล่นออกจากท่าเรือประมาณ 20 นาที ด้วยความเร็ว ต่อมาเรือได้เสียการทรงตัวเอียงขวา และเนื่องจากมีน้ำหนักบรรทุกผู้โดยสารมาก ทำให้ผู้โดยสารที่นั่งและยืนมากับเรือเสียหลักเอนเอียงล้มไปทางด้านขวาและพลิกคว่ำทางขวา ซ้ำร้ายขณะเกิดเหตุพลิกคว่ำไม่มีผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพแต่อย่างใด

          ที่สุด นายท้ายเรือคนดังกล่าว ก็ได้เข้ามอบตัว ในวันที่ 26 มกราคม 2548 ทางตำรวจได้ตั้งข้อหา “กระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตาย” ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและกำลังดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

วันนี้ในอดีต "สปีดโบ๊ทล่ม" ทักษิณ จบเรื่องไม่พูดเยอะ

ภาพประกอบจากข่าวสปีดล่มที่สมุย ช่วงวันที่ 29 พ.ค.2559

 

          ขณะที่ในส่วนของสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 4 สุราษฎร์ธานี  ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย และตรวจสอบพบว่า เรือลำดังกล่าวมีการดัดแปลงเพิ่มเครื่องยนต์ จึงใช้มาตรการลงโทษให้ยกเลิกประกาศนียบัตรนายท้ายเรือ  ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือที่เกิดเหตุเป็นเวลา 1 ปี และให้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท

          ส่วนเจ้าของเรือได้ปรับฐานใช้เรือ ผิดเงื่อนไขและข้อกำหนดอนุญาตเป็นเงิน 10,000 บาท  พร้อมให้งดบริการเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

          ขณะเดียวกันทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเราต่างรู้ดีว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวทางทะเล และหมู่เกาะชื่อดัง ยังได้เพิ่มมาตรการในการป้องกันอุบัติภัยด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและให้เกิดความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว อีกด้วย

          เช่น ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 4 สุราษฎร์ธานี ใช้มาตรการลงโทษทางกฎหมายสูงสุดแก่ผู้ประกอบการและนายท้ายเรือที่ละเมิดกฎหมาย

 

วันนี้ในอดีต "สปีดโบ๊ทล่ม" ทักษิณ จบเรื่องไม่พูดเยอะ

ภาพประกอบจากข่าวสปีดล่มที่สมุย ช่วงวันที่ 29 พ.ค.2559

 

          และมาตรการจัดระเบียบเกี่ยวกับการประกอบการเรือบริการเรือทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ทั้งในส่วนของ ผู้ประกอบการที่ต้องจัดท่าเรือให้มีช่องทางขึ้น-ลงเรือ ทั้งสองฝั่ง และต้องแจกชูชีพให้แก่ผู้โดยสารขณะเก็บตั๋วทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น!!

          และต้องจัดทำทะเบียนผู้โดยสารและบันทึกภาพของผู้โดยสารทุกคนและให้เก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือ 1 ชุด ขณะที่ฝั่งผู้โดยสาร ทุกคนจะต้องสวมชูชีพตลอดเวลาในระหว่างการเดินทาง

          และด้านผู้ควบคุมเรือ ที่จะต้องตรวจสภาพเรือและตรวจนับจำนวนผู้โดยสารไม่ให้เกินจำนวนที่ได้รับอนุญาต และต้องตรวจให้ผู้โดยสารสวมชูชีพให้ครบและถูกต้องทุกคนก่อนจะออกเรือทุกเที่ยว

          ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือบริการท่องเที่ยว  จัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ประกอบการเรือบริการท่องเที่ยวและกำหนดระเบียบดูแลความเรียบร้อยของสมาชิกทุกคนอีกด้วย

          และนี่ก็สิ่งที่รัฐบาลยุคนั้น รับมือกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่า เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์จากเหตุร้ายที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงปลายปี 47 ที่ได้เกิดพิบัติภัยสึนามิครั้งรุนแรงแห่งมวลมนุษยชาติ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 (อ่าน http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/307057) 

        ผ่านไปเดือนเดียวเท่านั้น ก็เกิดเหตุร้ายตามมาอีก แม้ความรุนแรงจะไม่เท่าเทียม แต่การรับมือและเดินหน้าแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที ย่อมสำคัญแก่ทุกชีวิตนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ