วันนี้ในอดีต

24 ม.ค. 2554 จากเด็กท้องนาสารคาม สู่ทนายแมกไซไซ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ช่วงที่อยู่ในคุกลาดยาว นับเป็นช่วงเวลาที่ทรงคุณค่า สำหรับคนที่รู้คุณค่าของชีวิต อย่างคนชื่อทองใบ

          พูดถึงคำว่า "ทนายแมกไซไซ" ปั๊บ จะนึกถึงท่านผู้ใดไปได้ ถ้าไม่ใช่ "ทองใบ ทองเปาด์" ทนายความผู้โด่งดัง ผู้เป็นทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะอีกด้วย

          และวันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554 ทองใบ ทองเปาด์ ได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย สิริอายุรวม 84 ปี ซึ่งนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการกฎหมาย และวงการนักหนังสือพิมพ์ยิ่งนัก

 

24 ม.ค. 2554  จากเด็กท้องนาสารคาม  สู่ทนายแมกไซไซ

          วันนี้ในอดีต จึงใคร่ขอนำประวัติและผลงานของทนายความผู้นี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

          ทองใบ ทองเปาด์ นั้น เกิดวันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2469 ที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของ นายหนู และนางเหง่า โดยครอบครัว ก็เป็นรอบครัวธรรมดาทั่วไปมีอาชีพทำนา นั่นแปลว่า ทองใบย่ำเดินอยู่บนผืนนามาตั้งแตเกิด ในฐานะลูกชาวบ้านชาวนาคนหนึ่ง แถมชีวิตช่วงวันต้นเขายังศึกษาเล่าเรียนจากพระในแถบบ้านเกิด

          หากความโดดเด่น ย่อมรอวันฉายแวว โดยหลังจากทองใบจบชั้นมัธยม 6 ที่จังหวัดมหาสารคาม เขาก็มุ่งหน้าเข้าสู่ กทม. เพื่อร่ำเรียนในรั้วการศึกษาชั้นนำอย่าง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 

24 ม.ค. 2554  จากเด็กท้องนาสารคาม  สู่ทนายแมกไซไซ

 

          จากนั้นก็เข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทั่งค้นพบตัวเองว่านี่ไม่ใช่ทางของเขา จึงตัดสินใจลาออกมาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนต่อมายังไปคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน

          อย่างไรก็ดี ช่วงปริญญาตรี ระหว่างศึกษาในกรุงเทพ ด้วยความยากจน ดังที่บอกว่าครอบครัวเป็นชาวนา ทองใบจึงอาศัยเป็นเด็กวัด กินนอนช่วยงานวัดอยู่ที่วัดชนะสงครามมาตลอด

          กระทั่งหลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ “ไทยใหม่” ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์

          ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป “สยามนิกร” “สุภาพบุรุษ-ประชามิตร” และ “ข่าวภาพ” โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า “บ๊อบการเมือง” (เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ)

          อย่างไรก็ดี ช่วงปี พ.ศ. 2501 ดูเหมือนจะเป็นฉากชีวิตครั้งสำคัญของทนายของผู้ยากไร้คนนี้ ทั้งๆ ที่ทั้งชีวิตเขาได้ทุ่มเท อุทิศตัวให้กับสังคม ต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด

 

24 ม.ค. 2554  จากเด็กท้องนาสารคาม  สู่ทนายแมกไซไซ

 

          แต่เขาก็ต้องตกเป็น “นักโทษการเมือง” เข้าจนได้ โดยช่วงปี พ.ศ. 2501-2509 เขาถูกข้อกล่าวหาเป็น “คอมมิวนิสต์“ หลังจากที่เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปประเทศจีน ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาจึงถูกจับขังคุกหลายปีโดยไม่มีความผิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509

          ฉากการเมืองไทยตอนนั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 มีการกวาดล้าง จับกุมประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ตาม พรบ. ป้องกัน การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 และประกาศคณะปฏิวัติ

          ตอนนั้นทองใบและพวกยังอยู่ที่จีน จนเมื่อทราบเรื่อง ทางด้านของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเคยถูกคุมขังมาก่อนในข้อหา "กบฎสันติภาพ" ถึง 4 ปีเศษ จึงตัดสินใจลี้ภัยต่อที่จีนและไม่เคยได้กลับมาอีกเลย

 

24 ม.ค. 2554  จากเด็กท้องนาสารคาม  สู่ทนายแมกไซไซ

 

          หากแต่คนอื่นๆ รวมทั้ง ทองใบ ทองเปาด์ ตัดสินใจเดินทางกลับไทยในวันที่ 20 ธันวาคม 2501 ลงจากเครื่องเหยียบแผ่นดินไทยปุ๊บก็ถูกจับทันทีในข้อหากบฏภายนอกและภายในราชอาณาจักร

          อย่างที่รู้ว่าตอนนั้น จีนมีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ และยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการฑูตกับไทย ใครไปจีนช่วงนั้น มีความผิดทั้งสิ้น

          ช่วงที่อยู่ในคุกลาดยาว นับเป็นช่วงเวลาที่ทรงคุณค่า สำหรับคนที่รู้คุณค่าของชีวิต อย่างคนชื่อทองใบ 

 

24 ม.ค. 2554  จากเด็กท้องนาสารคาม  สู่ทนายแมกไซไซ

ภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=681766

 

          ทองใบ ทองเปาด์ ในฐานะนักโทษทางการเมือง เขาได้วัตถุดิบแห่งชีวิต ออกมาปรุงเป็นหนังสือเกี่ยวกับชีวิตภายในคุกลาดยาวของนักโทษการเมืองในยุคกึ่งศตวรรษ โดยหนังสือของเขาพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2517 ในชื่อ “คอมมิวนิสต์ ลาดยาว”

            8 ปีในคุก ทองใบออกมาก็ปวารณาตัว ว่าจะประกอบอาชีพทนายความเพื่อประชาชนต่อไป โดยนอกจากจะเป็นนักข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แล้ว ยังตั้งสำนักงานทนายความทองใบ ทองเปาด์ รับปรึกษาและว่าความทั่วราชอาณาจักร เต็มไปด้วยจรรยาบรรณแห่งมืออาชีพทั้งในฐานะทนายความและสื่อมวลชน เป็นที่ยอมรับทั่วกันอย่างกว้างขวาง

 

24 ม.ค. 2554  จากเด็กท้องนาสารคาม  สู่ทนายแมกไซไซ

 

          กับหลักปรัชญาในการทำงานคือ ให้ความช่วยเหลือคนยากคนจน บุคคลที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคมในเรื่องของคดีความ เช่น คดีแรงงาน คดีชาวสลัม คดีเด็กและสตรี คดีการเมือง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีเพื่อรักษาผลประโยชน์เพื่อแผ่นดิน คดีเกี่ยวกับสิทธิทำกินของชาวไร่ ชาวนา รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายให้แก่ประชาชนผู้อยู่ห่างไกลได้รู้กฎหมายไว้ป้องกันตนเองโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จนเป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในและต่างประเทศ

          ในทางงานเขียน เขามีนามปากกาเช่น  ศรีสารคาม, ธิดา ประชารักษ์, รังสรรค์ ภพไพบูลย์

          กระทั่งช่วงปี 2527-2529 ขณะที่ ทองใบ ทองเปาด์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ช่วงวัย 58 เขาได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 

          แต่ทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากไม่ต้องการรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน (สามีของนางคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ. 2526

           ทองใบ ทองเปาด์ ได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554 หลังจากที่เขาใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในวงการกฎหมายและหนังสือพิมพ์มายาวนานเกือบ 60 ปี

///////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

https://mgronline.com/politics/detail/9540000010265

https://www.matichonweekly.com/scoop/article_22263

http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=681766

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ