วันนี้ในอดีต

6 ธ.ค.2550 รำลึก "มด วนิดา" นางฟ้าปากมูล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในทุกการเดินทางของ มด วนิดา ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องเล่า เรื่องราว การต่อสู้ หยาดเหงื่อ และหยดน้ำตา

          เธอผู้นี้อาจไม่ใช่บุคคลที่สังคมไทยวงกว้างจะต้องรู้จัก เธอผู้นี้ไม่ใช่ไอดอลกระโปรงบานให้ใครๆ พากันพูดถึง บอกต่อ

          แต่เธอผู้นี้ คือนางฟ้าของคนยาก คนด้อยโอกาส คนเดือดร้อน ที่สถานะเหมือนเป็นคนชายขอบที่ความยุติธรรมปิดตามองไม่เห็น และไปไม่ถึง

 

          เธอคือ  วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ "มด" นักกิจกรรมตัวแม่ ที่คนในแวดวงเอ็นจีโอนักเคลื่อนไหวต่างคารวะ

          และวันนี้เมื่อ 11 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม 2550 เธอได้เสียชีวิตจากไปในวัย 52 ด้วยโรคมะเร็งเต้านม ที่เกาะกินตัวเธอมานานกว่า 3 ปี

 

6 ธ.ค.2550  รำลึก "มด วนิดา"  นางฟ้าปากมูล

 

          มด วนิดา เกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนที่บางรัก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า "อางี้"

          มดเกิดโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน อาศัยอยู่บนถนนสีลมตั้งแต่เด็ก และเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาตั้งแต่ชั้นป.1–ม.3 ก่อนมาจบระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม

          บิดาของมดทำธุรกิจเป็นเจ้าของโรงงานยากันยุงขนาดเล็ก หากแต่ด้วยความที่ลูกเยอะถึง 7 คน รายจ่ายก็มากตาม ทั้งพักหลังกิจการก็ไม่ค่อยดี

          มดในฐานะลูกสาวคนโตจึงต้องคอยเลี้ยงดูน้องๆ ที่เหลือ ก็เหมือนกับว่าชีวิตได้สอนให้รักและดูแลคนอื่นมาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว!

          ตัวเธอเริ่มทำกิจกรรมเข้าร่วมการเรียกร้องประชาธิปไตยและเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ยังเรียนโรงเรียนสตรี

          ปี 2517 มดสามารถสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ต้องบอกกรู้ว่า มดจะใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมอย่างไม่ต้องเดา

 

6 ธ.ค.2550  รำลึก "มด วนิดา"  นางฟ้าปากมูล

 

          เช่นการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกรรมกรตามโรงงานต่าง ๆ โดยเฉพาะคนงานโรงงานผลิตกางเกงฮาร่า

          โดย มด วนิดาเป็นแรงหนุนและเป็นเบื้องหลังคนสำคัญ ในการเรียกร้องต่อสู้ของคนงานโรงงานฮาร่า ที่ใช้เวลาชุมนุมถึง 5 เดือน มดต้องไปนอนคุกอยู่หลายวัน

          จนในที่สุดขบวนการต่อสู้นั้น พัฒนาจนถึงขั้นคนงานโรงงานฮาร่าสามารถยึดโรงงานแล้วผลิตสินค้าออกมาขายได้เอง

          ระหว่างเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แน่นอนที่วนิดาจะมีส่วนร่วม ว่ากันว่า เมื่อกลุ่มกระทิงแดงและตำรวจบุกเข้าในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ มดเป็นคนแรกๆ ที่ทางการหมายหัว แต่เพื่อนๆ ช่วยเหลือโดยพามดไปซ่อนไว้ในบ้านแห่งหนึ่งแถวท่าพระจันทร์

          แต่ในที่สุด มดก็จำต้องเข้าป่าเช่นเดียวกับเพื่อนนักศึกษาหลายพันคน จนต้องเข้าหลบไปอยู่ในเขตป่าแถวภาคใต้ประมาณ 4 ปี และไปอยู่ป่าภาคอีสานอีก 2-3 เดือน

          หลังจากนั้น เธอก็กลับมาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งในปี 2524 โดยย้ายไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ ที่สุดเรียนอยู่ 3 ปี จึงสำเร็จการศึกษา

          แต่โชคร้ายช่วงนั้น กิจการของพ่อถูกฟ้องล้มละลาย เพราะไปเซ็นเช็คค้ำประกันให้กับเพื่อนคนหนึ่ง มดและพี่น้องจึงต้องช่วยทำงานหาเงินมาใช้หนี้

          ข้อมูลเล่าว่า มดทำงานทุกอย่าง ทั้งเป็นแม่ค้าหาบเร่ เป็นไกด์บริษัททัวร์ ขายประกันชีวิต

          จนกระทั่งพอเริ่มคล่องตัวขึ้น หนี้สินเริ่มทยอยหมด พี่น้องก็เริ่มมีมั่นคงฐานะ มดจึงตัดสินใจกลับไปทำตามอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่เธอเลือกที่จะเดินในเส้นทางธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการสวยๆ ได้ในวัยเพียงสามสิบต้นๆ

 

6 ธ.ค.2550  รำลึก "มด วนิดา"  นางฟ้าปากมูล

 

          แต่เธอเลือกที่จะกลับไปเป็นนางฟ้าของคนจนต่อ

          มด วนิดาเริ่มเข้ามาทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ด้วยการร่วมรณรงค์กับขบวนการสันติภาพต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เข้าร่วมขบวนการเชื่อมสันติภาพไทยลาว เริ่มทำงานในภาคประชาชนอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2532-2533 กับโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

          งานชิ้นแรกๆ ที่ทำคือ ทำงานเชิงวิชาการในการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุงเขื่อนแก่งเสือเต้น จนมาถึงเขื่อนปากมูล และมีบทบาทในการก่อตั้งสมัชชาคนจนร่วมกับองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศ

          อย่างงานเขื่อนปากมูล ถือเป็นงานหนึ่งที่มดทุ่มเทมาก ไม่แพ้งานอื่นๆ มดร่วมเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมเคียงบ่าเคียงไหล่ชาวบ้านมาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี

          เช่นเดียวกับ การเข้าไปช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาชาวบ้านที่ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ทั้งกรณีท่อก๊าซปตท.ที่กาญจนบุรี สงขลา กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด

          กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนสาละวิน เขื่อนสิรินธร ไปจนถึงบรรดาผู้ป่วยจากมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ

          ทั้งหมดนี้ มดทุ่มเทจนสามารถรวมตัว จัดตั้งเป็นองค์กรชาวบ้านเข้มแข็งที่สุดในนามของ “สมัชชาคนจน”

          แน่นอน ข้างต้นนี้คือประวัติคร่าวๆ ที่เราหาอ่านได้ในวิกิพีเดีย หรือ ที่ไหนๆ แต่ในรายละเอียดของเส้นทางชีวิตตามที่ระบุไว้นั้น ยังมีอีกมาก

          ในทุกการเดินทางของ มด วนิดา ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องเล่า เรื่องราว การต่อสู้ หยาดเหงื่อ และหยดน้ำตา

 

          ข้อมูลจาก นิตยสารสารคดี (http://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=48) ได้บันทึกเรื่องราวของมด วนิดา ไว้อย่างลึกซึ้งจดจำ ซึ่งเป็นเนื้อหาจากการบอกเล่าของบิดาของมด วนิดา เอง

          โดยพ่อของมด วนิดา ได้เคยบอกเกี่ยวกับมะเร็งระยะสุดท้าย และไม่มีทางรักษาของวนิดาว่า ช่วงปี 2547 มด วนิดา คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณหน้าอก

          แต่ด้วยความที่ช่วงนั้น งานเพื่อสังคมของเธอ ทำให้ต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ ไปพบปะพี่น้องคนจนทั่วประเทศ เธอจึงยังไม่มีเวลาที่จะหันมาดูแลตนเอง

          ที่สุดสุขภาพทรุดหนักลงเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2547 มดได้ไปโรงพยาบาล จนคุณหมอได้ตรวจพบว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 4 และชนิดของมะเร็งเป็นชนิดที่ดื้อยามากที่สุด

 

6 ธ.ค.2550  รำลึก "มด วนิดา"  นางฟ้าปากมูล

 

          มดจึงเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ร่วมกับการผ่าตัดและการฉายรังสีซ้ำจนอาการดีขึ้นบ้าง ทั้งนี้ มดไม่อยากให้ใครเป็นห่วงจึงไม่ได้บอกใคร โดยได้แอบรักษาตัวอย่างเงียบๆ ที่บ้านน้องชายอยู่ร่วมสองปี

          จนกระทั่งโรคร้ายมีการแพร่กระจายไปที่ปอดทั้งสองข้าง ช่วงต้นปี 2550 มดจึงต้องเข้ารับเคมีบำบัดในโครงการทดลองยาเคมีบำบัดตัวใหม่ล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

          แต่แม้จะใช้ยามากว่า 7 เดือน แต่เซลล์มะเร็งในปอดกลับโตขึ้น จึงได้ตัดสินใจร่วมกับแพทย์ยุติการรักษาด้วยเคมี แต่ก็ยังคงต้องเข้ารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

          แน่นอน ที่อาการของมดจะทรุดลงเรื่อยๆ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ กระทั่งก่อนเที่ยงของวันที่ 6 ธันวาคม เมื่อครอบครัวเห็นว่า ความดันของมดลดต่ำลงมากแล้ว ชีพจรเต้นแผ่วเบา

          พ่อแม่ของเธอก็จับมือและกระซิบข้างหูลูก บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ พี่น้องทุกคนดูแลเป็นอย่างดี สุดท้ายไม่กี่นาทีจากนั้น มดจากไปด้วยความสงบ

          ขอรำลึกถึงนางฟ้าของคนยาก มา ณ ที่นี้

/////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

http://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=48

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ