วันนี้ในอดีต

20 พ.ย.2482 18 กบฏ โทษประหาร  โดยศาลพิเศษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีกหน้าประวัติศาสตร์ไทย กับ "ศาลพิเศษ" ที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น โดยว่ากันว่า ไม่มีทนายเป็นผู้แก้ต่าง!!

          วันนี้เมื่อ 79 ปีก่อน คือวันที่ "ศาลพิเศษ" ที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น ได้พิพากษาประหารชีวิตผู้ต้องหา ซึ่่งทำความผิดในข้อหากบฏ 18 คน ด้วยการยิงเป้าทั้งหมด!

          ทั้งหมดนี้ถูกเรียกว่า "กบฏ 18 ศพ" หรือที่จริงแล้ว หมายถึง "กบฏพระยาทรงสุรเดช" อันเป็นเหตุการณ์ ที่มีการกล่าวหาว่า มีผู้คบคิดก่อการกบฏต่อ รัฐบาลพันเอกหลวงพิบูลสงคราม หลังจากที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายปี พ.ศ. 2481

          และยังระบุว่านี่ไมใช่ครั้งแรก หากในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน ยังได้มีการพยายามลอบสังหารเอาชีวิต หลวงพิบูลสงคราม อีกถึง 3 ครั้งติดต่อกัน คือ มีการลอบยิง 2 ครั้ง และวางยาพิษ อีก 1 ครั้ง

          ต่อมารัฐบาลโดยกรมตำรวจ ได้มีการจับกุมหลายบุคคลในข้อหากบฏ รวมถึงแม้กระทั่งเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง โดยกล่าวหาว่า พันเอกพระยาทรงสุรเดช 1 ใน 4 ทหาร เสือ ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง (อ่าน ย้อนรอยชีวิต "คู่ปรับ" จอมพล.ป. กบฏ ลี้ภัย และขนมกล้วย! http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/328373)

20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ

          ทั้งหมดได้ถูกฟ้องและพิพากษาด้วยศาลพิเศษ ที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น โดยไม่มีทนายเป็นผู้แก้ต่าง ที่สุดแม้จะมีการปล่อยตัวหลายบุคคล แต่หลายคนก็ถูกจองจำคุก และที่สุดมีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าทั้งหมด 18 คน ในปลายปี พ.ศ. 2482 นั่นเอง

          ย้อนรอยไปก่อนที่จะมีการตัดสินประหารชีวิต คนไทยยุคนั้นได้ยินข่าวว่า มีการพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงคราม อยู่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จจนได้ฉายา “จอมพลกระดูกเหล็ก” (อ่าน 9 พ.ย. 2481 ลอบยิง จอมพล.ป. หลายนัดซ้อน ที่แท้คนใกล้ชิด! http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/301604)

20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ

          กล่าวคือ ครั้งแรกเป็นการลอบยิง ซึ่งเกิดขึ้นที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2477 โดย นายพุ่ม ทับสายทอง ขณะที่เป็นประธานพิธีการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ

          ครั้งที่ 2 ที่บ้านพักของตนเอง ในวันที่ 9 พ.ย.2481 โดย นายลี บุญตา คนรับใช้ที่สนิท พยายามยิงใส่หลวงพิบูลสงคราม ขณะกำลังจะแต่งกายไปร่วมงานเลี้ยง

          และต่อมา กับวางยาพิษอีก 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ปีเดียวกัน ขณะรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับครอบครัว โดยรอดชีวิตมาได้ หลังจากถูกนำส่งโรงพยาบาลเสนารักษ์ 

          เรื่องนี้ มีข้อมูลว่า ทางราชการได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ความว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เวลาประมาณ 16.00 น.เศษ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมด้วยนางพิบูลสงคราม เด็กหญิงเล็ก บุตรี นายนาวาโทหลวงยุทธศาสตร์โกศล ร.น. นายพันโทหลวงเตชะเสนา นายนาวาอากาศตรีขุนรณนภากาศ นายพันตรีหลวงประหารริปูราบ และนายร้อยเผ่า ศรียานนท์ ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกัน ณ บ้านพักภายในกรมทหาร ป.ต.อ. บางซื่อ รวม 8 คนด้วยกัน พอเสร็จจากการรับประทานของหวานแล้ว ผู้ที่ได้ร่วมโต๊ะทุกคนได้มีอาการผิดปกติจนเป็นที่รู้สึกได้ว่า ได้ถูกวางยาพิษ จึงได้รีบไปกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบก ที่ 1 พญาไททุกคน

          นายแพทย์ได้จัดการรักษาพยาบาลเสียทันท่วงที ผู้มีอาการมาก คือ นาวาอากาศตรีขุนรณนภากาศ ถัดมาคือ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ส่วนคนอื่น ๆ พอประมาณ ทั้งนี้เมื่อได้รับการพยาบาลจากนายแพทย์เป็นอย่างดีแล้ว อาการจึงทุเลาลงเป็นลำดับ อยู่ในเขตพ้นอันตราย และได้กลับมายังบ้านพักทุกคนในค่ำวันนั้น เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมด้วยนายแพทย์ได้ร่วมมือดำเนินการสอบสวน พร้อมด้วยนำอาหารทั้งหมดไปพิสูจน์ต่อไปโดยด่วน

          ที่สุดเมื่อหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2481 ต่อมา เวลาเช้ามืดของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481 (พ.ศ. 2482 ในปัจจุบัน เนื่องจากในสมัยนั้นการเปลี่ยนพุทธศักราชยังใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) ได้มีการกวาดล้างกลุ่มคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นกบฏที่อยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารทั้งหมดนี้

          โดยหนึ่งในนั้นที่สำคัญคือ "พระยาทรงสุรเดช" ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จ.หวัดเชียงใหม่ ที่ได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งก็คือเขมรโดยทันที พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส. ประจำตัว

20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ

พระยาทรงสุรเดช

          ขณะที่ยังมีการกวาดล้างกลุ่มบุคคล โดยหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ที่ต้องสงสัย ประกอบไปด้วยนายทหารและพลทหารมากมาย

          กระทั่ง หลวงพิบูลสงครามได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ มีหลวงพรหมโยธี เป็นประธาน ศาลพิเศษนี้ได้ตัดสินได้ตัดสินปล่อยตัวพ้นข้อหาจำนวน 7 คน ให้จำคุกตลอดชีวิตจำนวน 25 คน และโทษประหารชีวิตจำนวน 21 คน โดยในจำนวนนี้ ระบุว่าเป็นกลุ่มกบฏที่มีการเตรียมการยึดอำนาจโดย “พระยาทรงสุรเดช” เป็นผู้นำ

          จากนั้นศาลพิเศษได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตนักโทษเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2482 จำนวน 21 คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ คือ

          นายพันโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร,  นายพลโท พระยาเทพหัสดิน และนายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์

20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ

ภพาจาก https://www.liekr.com/post_158630.html

          สำหรับ 18 กบฏที่รับโทษประหาร มีดังนี้ นายลี บุญตา- หรือคนรับใช้ในบ้านหลวงพิบูลสงคราม ที่เคยใช้ปืนไล่ยิงหลวงพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481, นายพันโท พระสุวรรณชิต, นายร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์, นายดาบ พวง พลนาวี, นายดาบ ผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, นายร้อยโท เผ่าพงศ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, นายร้อยตรี บุญมาก ฤทธิ์สิงห์, นายทง ชาญช่างกล, นายพันเอก หลวงมหิทธิโยธี, นายร้อยเอก ขุนคลี่พลพฤนท์, นายพันตำรวจตรี ขุนนามนฤนาท, นายพันตรี หลวงไววิทยาศร, นายพันเอก พระสิทธิเรืองเดชพล, จ่านายสิบตำรวจ แม้น เลิศนาวี, นายร้อยเอก จรัส สุนทรภักดี, นายร้อยโท แสง วัณณะศิริ, นายร้อยโท สัย เกษจินดา, นายร้อยโท เสริม พุ่มทรง

          แน่นอนที่เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางการแก่งแย่งแข่งขันในอำนาจ ที่จะให้ลงรายละเอียดก็คงไม่พอที่จะเล่ากันได้หมด

          ทั้งยังมีเรื่องราวลึกซึ้งเกินกว่าที่ใครจะยืนยันได้แน่ชัด นอกจากอาศัยอ่านจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ประกอบกันไปเท่านั้น

          ยกตัวอย่างเช่น เคสของ นายลี คนสวนในบ้าน จอมพล ป. ซึ่งขณะถูกจับได้ เขาไม่ยอมซัดทอดว่าใครเป็นผู้จ้างวาน จนกระทั่งภายหลังเขามาถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับ นักโทษประหารอีก 17 คน ในคดีลอบสังหารจอมพล ป. ทั้ง 3 ครั้ง

          เรื่องนี้ในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ.2475-2500” หัวเรื่อง "ข้าพเจ้าเห็นการยิงเป้า" ซึ่งบันทึกโดย "จ.ส." เล่าไว้ว่า

20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ      20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ

         หลังจากโจทก์พยายามพิสูจน์ว่า...ร.ท.ณ เณร ตาละลักษณ์ เป็นตัวการวางยาพิษ พระสุวรรณชิตเป็นตัวการวางแผนให้นายลี บุญตา ใช้ ปืนยิงในบ้าน หลวงชำนาญ เป็นตัวการจ้างนายพุ่ม ยิงที่สนามหลวง

         วันที่ 3 ธันวาคม 2483 คนใต้หอรักษาการณ์ ได้ยินเสียงเพลงรื่นเริงสุขสำราญ ดังมาจากแดน 6 ขณะผู้คุมไปเบิกตัวนักโทษประหารชุดสุดท้าย เสียงเพลงจบ เสียงกริ๊กๆ แกร๊กๆ ของโซ่กระทบตรวนก็ดังตามมา...จนเห็นตัวนักโทษเดินเรียงแถวชัดเจน

         ร.ท.ณ เณร ตาละลักษณ์ เดินหิ้วตรวนนำหน้า หวีผมเรียบแปล้ ทาแป้งหน้านวล ท่าทางองอาจ ใบหน้ายิ้มระรื่น พอเห็นนายลี บุญตา ผู้ซัดทอดว่า ร.ท.ณ เณรเป็นผู้จ้างวาน ต่อหน้าผู้เกี่ยวข้องการประหารมากมาย ร.ท.ณ เณร ถามนายลีว่า

          "ไหน เราจะตายจากกันแล้ว อั๊วขอถามจริงๆ ต่อหน้าพระพุทธรูป ต่อหน้าพระสงฆ์ ลื้อกับอั๊ว เคยรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่า"

          นายลีหลบสายตาก้มหน้ามองดิน แล้วบอกเสียงแผ่วเบาว่า "ไม่เคย!"

           ร.ท.ณ เณร กับนายลี เข้าหลักประหารคู่กัน ถูกยิงพร้อมกัน สิ้นเสียงปืนชุดแรก ทางนายลีเงียบ แต่ทาง ร.ท.ณ เณร มีเสียงร้องว่า

           "ยังไม่ตายครับ ยิงซ้ำอีก!!!"

          ตั้งแต่มีการยิงเป้ากันมา ไม่เคยปรากฏเรื่องอย่างนี้เลย นายทิพย์ มียศ เพชฌฆาตมือไม้สั่น ยิงต่อไม่ได้ นายเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง เพชฌฆาตมือสองเข้าทำหน้าที่แทน...กระสุนชุดที่สองลั่น กระบวนการประหารก็จบลง

         เรื่องนี้ ถึงขนาดมีความคิดที่จะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. 2531 ในชื่อเรื่อง "2482 นักโทษประหาร" กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท โดยมีการวางตัวนักแสดงไว้แล้วมากมาย ได้แก่ ฉัตรชัย เปล่งพานิช (หลวงพิบูลสงคราม), สปัน เสลาคุณ (คุณหญิงละเอียด พิบูลย์สงคราม), ศรัณยู วงศ์กระจ่าง (ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์), สันติสุข พรหมศิริ (ร.ท.ณเณร ตาละลักษณ์ ), นพพล โกมารชุน (หลวงวิจิตรวาทการ) ฯลฯ

20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ

20 พ.ย.2482  18 กบฏ โทษประหาร   โดยศาลพิเศษ

2482 นักโทษประหาร Screentest ที่ สยามสตูดิโอ ถ่ายภาพโดย ดอม หนูเล็ก บุรณี ควบคุมการถ่าย

         โดยได้มีการสกรีนเทสต์ไปแล้ว หากไม่มีการสร้างต่อแต่อย่างใด ขณะที่บางแหล่งระบุว่าสร้างไปบ้างแล้ว แต่ยังไงคนไทยก็ไม่ได้ดู!

///

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

และ หนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ.2475-2500” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ