วันนี้ในอดีต

15 พ.ย.2476 การเลือกตั้งทางอ้อม ครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  รู้ยัง ว่าเราเคยมีการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรก และครั้งเดียว ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยตราบจนปัจจุบัน!!

        คนไทยตอนนี้ ยังลุ้นๆ อยู่ดีว่า ตกลงเราจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งจริงหรือไม่ในเดือนกุมภาปีหน้า          

        แต่จะกลุ้มไปทำไมกัน มานั่งอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยกันพอเรียกน้ำย่อยดีกว่า ว่าที่จริงแล้ว บ้านเมืองเรามีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อไหร่กันนะ

        ปรากฏว่า ข้อมูลระบุว่า บ้านเรามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2476 หรือวันนี้ของ 85 ปีก่อนโน่น ตั้งแต่ไทยเรายังใช้ชื่อว่าประเทศ "สยาม" ด้วยซ้ำ

        แถมยังเป็น "การเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย" ตราบจนปัจจุบัน!

15 พ.ย.2476 การเลือกตั้งทางอ้อม ครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

       เล่าย้อนสักนิด ถึงที่มาของการเลือกตั้งครั้งนี้ การเลือกตั้งหนนี้เกิดขึ้นหลังที่ "เหตุการณ์กบฏบวรเดช" ยุติลงในวันที่ 28 ต.ค.ลา 2476 เมื่อ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลได้ปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว จำต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

         ในขณะนั้นสยาม แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด ทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว

          และสามารถเลือก ส.ส. ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกผู้แทนฯ ได้จังหวัดละคน มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯ ได้มากกว่าหนึ่งคน คือ เชียงใหม่, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, นครราชสีมา มีผู้แทนฯได้ 2 คน

         ขณะที่จังหวัดพระนครและอุบลราชธานี มีผู้แทนฯได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯ 1 คน

          และบวกรวมกับ ส.ส. ประเภทที่สอง ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นอีก 78 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 156 คน!!

          แบบนี้จึงเรียกว่าการเลือกตั้งครั้งนั้น เป็นการเลือกตั้ง "ทางอ้อม" โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้กรมการอำเภอ ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค. ถึง 15 พ.ย.2476 จากนั้นผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง

         ผลการเลอืกตั้ง ในขณะนั้นมีผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ทั้งหมด 4,278,231 คน มีผู้ออกไปใช้สิทธิทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือ เพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82 และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71 (บางคนวิเคราะห์คาดว่า เพราะอากาศหนาวเย็น ประชาชนเลยไม่อยากออกจากบ้าน)

          ซึ่ง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ ได้กลายมาเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเวลาต่อมา เช่ย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, เลียง ไชยกาล, โชติ คุ้มพันธ์ เป็นต้น (ไว้โอกาสหน้าจะนำเรื่องราวของพวกเขามาเล่าสู่กันฟัง น่าสนใจทั้งนั้น!!)

15 พ.ย.2476 การเลือกตั้งทางอ้อม ครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

  ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นักการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อชาวอิสานอย่างแท้จริงคนหนึ่ง

          หลังการเลือกตั้ง ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกเอา พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (เป็นสมัยที่ 2) และถือเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 ของไทย

15 พ.ย.2476 การเลือกตั้งทางอ้อม ครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

เลียง ไชยกาล อดีตรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์

         แต่ ครม. ชุดนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อ 22 ก.ย.2477 ด้วยเหตุที่รัฐบาลได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบด้วยความตกลงระหว่างประเทศ เรื่องควบคุมการจำกัดยางแต่สภาฯ ไม่เห็นชอบด้วยกับความตกลงที่รัฐบาลได้ลงนามไปก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง

          อนึ่ง การเลือกตั้งทางอ้อม (indirect election) หมายถึง การเลือกตั้งในสองระดับ กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิการเลือกตั้งเลือกตัวแทนหรือคณะบุคคล จากนั้นตัวแทนหรือคณะบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งจะไปดำเนินการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นๆ ต่อไป

         ลักษณะเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งทางอ้อมเป็นรูปแบบที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นได้โดยตรง แต่เป็นการมอบหมายสิทธิในการตัดสินใจให้กับตัวแทนหรือคณะบุคคลให้ทำหน้าที่แทน วัตถุประสงค์สำคัญของการเลือกตั้งทางอ้อม คือ การให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีความเหมาะสมในการใช้วิจารณญาณ ทำการตัดสินใจแทนผู้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ตามตำแหน่งทางการเมืองนั้น ๆ

15 พ.ย.2476 การเลือกตั้งทางอ้อม ครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

โชติ คุ้มพันธ์ นักการเมืองผู้ได้รับฉายาว่า "ผู้แทนคนยาก" 

          ตัวอย่าง การเลือกตั้งทางอ้อม ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ระบบ คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งหมายถึง ผู้แทนราษฎรของแต่ละรัฐที่จะเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแทนราษฎรในรัฐของตน

          ในอดีตพวกกลุ่มผู้แทนเหล่านี้ถือว่าเป็นชนชั้นนำและเป็นผู้มีโอกาสตัดสินใจในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง แต่ในปัจจุบันพวกผู้แทนกลุ่มนี้ต้องทำตามนโยบายของพรรคของตน ถ้าพรรคของตนสนับสนุนใครก็ต้องเลือกคนนั้น จำนวนผู้แทนของรัฐใดจะมีผู้แทนเท่าใดถือเอาจำนวนของผู้แทนของรัฐนั้นในวุฒิสภา (the Senate)และสภาผู้แทนราษฎร(the House of Representatives) ร่วมกัน

15 พ.ย.2476 การเลือกตั้งทางอ้อม ครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย

          นอกจากนี้แล้ว ยังพบรูปแบบการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ๆ โดยวิธีการเลือกตั้งทางอ้อม ได้แก่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภา ที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง แต่อาศัยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนในแต่ละเขตหรือตามบัญชีรายชื่อได้เลือกไปแล้ว ให้ทำหน้าที่ในการลงมติเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

          การเลือกตั้งทางอ้อมในประเทศไทย มีการใช้รูปแบบการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งเดียวเท่านั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งกำหนดให้รัฐสภาไทยเป็นระบบสภาเดียว (Single Cameral) ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ ประเภทที่หนึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีจำนวน 78 คน และสมาชิกประเภทที่สองมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตรีย์ จำนวน 78 คน สมาชิกทั้งสองประเภทอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีเท่ากัน การเลือกตั้งจึงเลือกเฉพาะสมาชิกประเภทที่หนึ่งเท่านั้น โดยให้ประชาชนเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นจึงเลือกผู้แทนจังหวัดตามลำดับ ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนประชากร 200,000 คน ต่อผู้แทนราษฎร 1 คน ถ้าจังหวัดใดมีเศษประชากรเกิน 100,000 คน ให้มีผู้แทนราษฎรได้อีก 1 คน

///////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ