วันนี้ในอดีต

1 พ.ย.2478  83 ปี ครูสุคนธ์ พรพิรุณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครูสุคนธ์ พรพิรุณ ผู้เป็นนักแต่งเพลง ที่เป็นที่รู้จักในนาม พรพิรุณ และเชื่อหรือไม่ว่า ท่านผู้นี้มีผลงานประพันธ์เพลงให้กับสถาบันต่างๆ มากมายถึง 3,500 เพลง!!

          เนื่องในวันครบรอบ 83 ปี ของ ครูสุคนธ์ พรพิรุณ ผู้เป็นนักแต่งเพลง ที่เป็นที่รู้จักในนาม "พรพิรุณ" วันนี้ขอนำประวัติและผลงานของท่านมาเล่าสู่กันฟัง และเชื่อหรือไม่ว่า ท่านผู้นี้มีผลงานประพันธ์เพลงให้กับสถาบันต่างๆ มากมายถึง 3,500 เพลง!!

          โดยเพลงสำคัญๆ ที่ท่านได้แต่งคำร้อง เช่น เพลง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2529, เพลง “กาญจนาภิเษก” ในวาระครองราชย์ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2538, เพลง “72 พรรษานวรัชจักรีมหาราชา” เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2541, เพลง “ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ เมื่อ พ.ศ. 2547

1 พ.ย.2478   83 ปี ครูสุคนธ์ พรพิรุณ

         สำหรับประวัติและผลงาน โดยคัดมาจากหนังสือ “ครูเพลง” (ฉบับพิเศษ) ของ ถวัลย์ สุรภาพประดิษฐ์ มีว่า สุคนธ์ พรพิรุณ เกิดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2478 ที่จังหวัดราชบุรี ในสกุล “กุสุมภ์” 
 ชื่อจริงคือ “สุคนธ์ กุสุมภ์” ต้นตระกูลบิดาคือคน “โคราช” มีวัดของตระกูลที่จังหวัดนครราชสีมา คือวัด “กุสุมภ์ศรัทธาธรรม” ถนนมิตรภาพ ตรอกจันทร์ ซึ่งสร้างโดยคุณย่า แหน กุสุมภ์

          การศึกษา สุคนธ์ พรพิรุณ จบประถมศึกษาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาเป็นนายทหารจึงโยกย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ จบประถมปีที่ 4 ที่ร.ร. อาจศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สงครามกำลังจะเลิกพอดี ครอบครัวเข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อที่ ร.ร.เทเวศร์วิทยาลัย มัธยมที่ 1 จากมัธยมปีที่ 2-6 เรียนที่ ร.ร.เซ็นต์ฟรังค์ซีสซาเวียร์คอนเวนต์

          ต่อมาศึกษาวิชาชีพ จบวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ชั้น 1 ปี 2498 (สมัยนั้นยังไม่มีพยาบาลปริญญา) โดยระหว่างทำงานอยู่เทศบาลกรุงเทพ แผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก สุคนธ์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในวงสุนทราภรณ์ ทำหน้าที่ขับร้อง และเริ่มประพันธ์เพลง ซึ่งเพลงแรก “ฉันยังคอย” ในปี พ.ศ. 2503 แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก

1 พ.ย.2478   83 ปี ครูสุคนธ์ พรพิรุณ

          ต่อมาลาออกเมื่อปี 2505 และเข้ารับราชการทหาร ในกองดุริยางค์มณฑลทหารบกที่ 1 จนปี พ.ศ. 2506 ได้แต่งเพลง “ฝนหยาดสุดท้าย” ทำให้ชื่อ อี๊ด สุคนธ์ เป็นที่กล่าวขานในวงการนักแต่งเพลง

          มีข้อมูลเล่าว่า เพลงฝนหยาดสุดท้าย ครูสุคนธ์แต่งขึ้นมาจากส่วนลึกของจิตใจ กับการพบพานความรักที่ต้องผิดหวังจากข้าราชการแพทย์หนุ่มคนหนึ่งจากทางภาคเหนือ ที่พบกันระหว่างเขาเข้ามาอบรมที่กรุงเทพฯ

          จนเมื่อถึงวันที้เขาจะต้องกลับบ้านเกิด ก็ได้ให้คำสัญญาว่าจะกลับมากรุงเทพฯ ไม่เกินหน้าฝน แต่ภายหลังครูมารู้ข่าวอีกทีว่าเขาได้วิวาห์ไปแล้วกับสาวคนอื่น

          ครูสุคนธ์ จึงได้นำเนื้อร้องเพลง “ฝนหยาดสุดท้าย” และไกด์โน้ตดนตรีไปมอบให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แล้วตนเองก็ลาออกจากราชการไปทำงานคลินิกของเพื่อนที่ลาวอยู่ร่วม 1 ปี

          กระทั่งเมื่อกลับมาเมืองไทย ปรากฏว่าเพลง “ฝนหยาดสุดท้าย” โดยการขับร้องของ “บุษยา รังสี” โด่งดังเป็นพลุแตก

          ต่อมาได้ลาออกประกอบอาชีพอิสระ แต่งเพลงขายเป็นหลัก โดยแต่งเพลงให้กับวงดนตรีใหญ่ๆ หลายวง เช่น วงวายุบุตรของกองสลาก วงดนตรีของธนาคารออมสิน (ยุคครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นหัวหน้าวงดนตรี) วงดนตรีสุราบางยี่ขัน (ยุคครูประสงค์ ภาคสุข เป็นหัวหน้า) ท้ายสุดอยู่กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ตลอดมา เข้าบ้างออกบ้างเป็นช่วง ตามภาวะของความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

          สำหรับเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” อันโด่งดังอีกเพลง ครูสุคนธ์แต่งขี้นเมื่อปี 2508 โดยท่านได้ประพันธ์เนื้อร้องในจังหวะวอลตซ์ และนำไปให้แต่งครูเอื้อ สุนทรสนาน ใส่ทำนองให้ 

1 พ.ย.2478   83 ปี ครูสุคนธ์ พรพิรุณ

          นอกจากนี้ในปีเดียวกันครูสุคนธ์ยังได้ร่วมงานกับ ครูสมาน กาญจนะผลิน จนได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง “ขอปันรัก” ขับร้องโดยเสกสรรค์ กุสุมภ์ ผู้เป็นน้องชายของท่านเอง และครูสมาน กาญจนะผลิน ยังได้ตั้งนามปากกาให้ว่า “พรพิรุณ” ซึ่งเป็นเทพแห่งสายฝนอีกด้วย

          เพลงที่ทำชื่อเสียงให้มาก คือ คิมหันต์พิศวาท, อยากรักคนที่พลาดรัก, รอยมลทิน, ขอให้เหมือนเดิม, รางวัลชีวิต, ฝนหยาดสุดท้าย, ใครก็ได้ถ้ารักฉันจริง, ผิดด้วยหรือถ้าเราจะรักกัน, ใจชายใจหญิง, กว่าจะรักกันได้, ฉันยังคอย, หาดผาแดง, คนใจมาร ฯลฯ

          ขณะที่ยังมีผลงานแต่งเพลงให้กับสถาบันต่างๆ มากมาย มีผลงานเพลงถึงปัจจุบันคาดว่าใกล้ 3,500 เพลง!!

          นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริม เปิดสำนักงานโหราศาสตร์ยูเรเนียน เขียนคำพยากรณ์ลงในนิตยสารต่างๆ

          และยังเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาการประพันธ์เพลงแก่นักศึกษาภาคดนตรี สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา…เป็นวิทยากรพิเศษในหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับดนตรี และเพลงแก่ศูนย์ประยุกต์ และบริการวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรอบรมการร้องเพลง และประพันธ์เพลงแก่สถาบันทั่วไป

1 พ.ย.2478   83 ปี ครูสุคนธ์ พรพิรุณ

          ผู้สัดทัดทางเพลงกล่าวตรงกันว่า เนื้อเพลงแต่ละเพลงที่ครูแต่งเป็นงานที่หยิบเอาความรู้สึกของมนุษย์ ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงที่งดงามมีศิลปะโดยแท้

          วันนี้ครบรอบ 83 ปี แห่งวัย ครูสุคนธ์ยังคงโลดแล่นในถนนแห่งอักขระและเสียงดนตรี โดยท่านเพิ่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ ผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลง รวมกับอีกหลายศิลปินชั้นครูเมื่อ วันที่ 20 ก.ค.61 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย

////////

เครดิต

วิกิพีเดีย

นสพ.ไทยโพสต์ 9 พ.ย.2557

http://saisampan.net/index.php?topic=55559.0

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ