วันนี้ในอดีต

15 ต.ค.2488 การยุบสภาครั้งที่ 2 ของไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  ใครจำได้บ้างว่า การยุบสภาของไทย ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อไหร่ สมัยของรัฐบาลชุดไหน และเหตุผลที่ยุบสภาคืออะไร

          หลายคนอาจจำได้ว่า ประเทศไทยเรา มีการยุบสภามาแล้วถึง 14 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายนั้น คือวันที่่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556

          หลายคนอาจจำได้ว่า การยุบสภาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อไหร่

          แต่ใครจำได้บ้างว่า การยุบสภาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อไหร่ สมัยของรัฐบาลชุดไหน และเหตุผลที่ยุบสภาคืออะไร

15 ต.ค.2488 การยุบสภาครั้งที่ 2 ของไทย

          คำตอบคือ มันได้เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 73 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2488 ที่ ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ขึ้นมาใหม่ภายใน 90 วัน นับแต่วันยุบสภา

          ทั้งนี้ ข้อมูลชุดหนึ่งจากสถาบันพระปกเกล้า ผู้เรียบเรียง คือ นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์ และผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง ระบุว่า รัฐบาลแถลงถึงเหตุผลว่า ในเมื่อสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว ประชาชนชาวไทยมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำความร่วมมือกับสหประชาชาติในอันที่จะธำรงและรักษาสันติภาพของโลก รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ได้รับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2481 นั้น ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อมาอีกสองครั้ง ทั้งนี้นับว่าเป็นเวลาเกินควรย่อมเป็นเหตุให้จิตใจและความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมากเหินห่างจากเจตนาและความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร

15 ต.ค.2488 การยุบสภาครั้งที่ 2 ของไทย

          นอกจากนี้เมื่อรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามให้มีการลงโทษการกระทำที่ก่อให้เกิดการปกครองระบอบลัทธิเผด็จการ กล่าวคือ ลัทธินาซีหรือฟาสซิสต์อันเป็นระบอบการปกครองของผู้รุกราน ทำลายสันติสุขของโลก สภากลับลงมติไม่เห็นชอบด้วยและให้ตัดออกเสีย การกระทำของสมาชิกครั้งนี้อาจทำให้โลกภายนอกเข้าใจผิดไปว่าประชาชนไทยสนับสนุนลัทธิเผด็จการ

          ฉะนั้นเพื่อให้การได้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้พระมหากษัตริย์ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎรเสีย ตามความในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ได้พ้นจากหน้าที่ไปและเปิดโอกาสให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนขึ้นใหม่ จึงได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม 2489

          และจาก ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า ที่เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร และมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ระบุว่า การยุบสภาครั้งนั้น เป็นวันที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และนายกรัฐมนตรีผู้ที่ยุบสภาครั้งนั้น คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่เล่นการเมืองแบบลงเลือกตั้งสมัครเข้าแข่งขันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้าสู่วงการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกนี้เป็นเพราะท่านเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา เพราะท่านเป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

          การเข้ามาสู่วงการเมืองมาเป็นนายกรัฐมนตรีของท่านนั้นถือได้ว่า “สั่งมาจากนอก” คือ มาจากตำแหน่งที่ท่านประจำอยู่ที่นอกประเทศดังที่ท่านเองได้เขียนเล่าไว้ใน “ชีวลิขิต” ความว่า

          “ในราวสิ้นเดือนสิงหาคม 2488 มีโทรเลขจาก ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ ถึงปู่ใจความว่า ปู่ดำเนินงานเสรีไทยมาด้วยดี ขอให้กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี ปู่โทรเลขตอบว่าขอตัวไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีความรู้ความชำนาญทางการเมือง”

15 ต.ค.2488 การยุบสภาครั้งที่ 2 ของไทย

          แต่คงได้มีการเจรจากันต่อมาอีก ท่านจึงยอมรับตำแหน่งและกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ต่อจากนายกรัฐมนตรี ทวี บุณยเกตุ งานหนักของรัฐบาลในตอนนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องทำความตกลงกับชาติมหาอำนาจซึ่งเป็นผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง อยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ หนึ่งทำความตกลงกับอังกฤษ สองทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับจีน ในเรื่องแรกทางอังกฤษเรียกร้องมาก ทั้งขอให้ไทยใช้เงินเป็นค่าทดแทนความเสียหาย ดีว่าทางสหรัฐอเมริกาได้ช่วยจึงผ่อนปรนไปบ้าง กระนั้นเมื่อตกลงกันได้กับอังกฤษ ไทยก็ต้องรับภาระมาก เรื่องที่ทำสัญญากับจีนก็ไม่ใช่ง่าย

          เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรียังไม่ทันครบเดือน นายกฯ ก็ยุบสภาผู้แทนราษฎร

          “รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พิจารณาเห็นว่า สมาชิกสภาผู้แทนฯ ชุดปัจจุบันซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2481 นั้น ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนฯ ต่อมาอีก 2 ครั้ง ทั้งนี้นับเป็นเวลานานเกินควร ย่อมเป็นเหตุให้จิตใจ และความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมากเหินห่วงจากเจตนา และความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร”

          ยุบสภาแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็เป็นนายกฯ ต่อมาจนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2489

          เช่นนี้แล การยุบสภาของไทยเรา จึงยังดำเนินเรื่อยมา ตามแต่บริบทของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป มาจนนับได้ 14 ครั้งแล้วนั่นเอง

///////

ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ