วันนี้ในอดีต

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ! "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งนั้น ได้สร้างความเศร้าโศก เสียพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก

          สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ จะนับว่าเป็นรอยสักที่ไม่มีวันลบเลือนไปจากใจคนไทยที่ชื่นชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมืองเราก็เป็นได้

          นั่นคือ เหตุการณ์ของวันนี้ เมื่อ 125 ปีก่อน ที่ไทยต้องกลืนเลือดทำสนธิสัญญา ที่มีชื่อดี แต่เนื้อหาของมันยากจะบรรยาย นั่นคือ “สนธิสัญญาสันติภาพ” ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436

          และภายใต้เนื้อหาของสนธิสัญญาฉบับนี้เอง ที่นำมาซึ่งความเจ็บชำน้ำพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ หรือ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงจดจำจนต้องทรงสักยันต์ “ตราด ร.ศ.112” ไว้ตรงพระอุระของพระองค์เอง เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความเจ็บช้ำที่เกิดจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น!!

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ!  "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!          

          ถามว่าเหตุใดสนธิสัญญาฉบับนี้ จึงเกิดขึ้น คำตอบคือต้นตอมาจากเรื่องราวปัญหาระหว่างราชอาณาจักรสยาม กับ ฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3  ที่เรียกกันว่า "วิกฤติการณ์ ร.ศ.112" ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 14 ปี

          ซึ่งเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์ที่่คนไทยต้องอยู่ภายใต้สนธิสัญญาจากต่างชาติเป็นครั้งแรก!! และนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

          สำหรับรายละเอียดของวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) มีว่า เมื่อฝรั่งเศสมีนโยบายจะขยายอาณาเขตของตนออกไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง โดยจะยึดดินแดนทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงชายแดนเขมร ก็เริ่มหาเหตุมาขัดแย้งกับไทยอยู่เสมอ

          ฝ่ายไทยเห็นว่าฝรั่งเศสต้องการยึดดินแดนเพิ่มจึงเตรียมรับมือ เช่น ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองฝ่ายตะวันออกให้เข้มแข็งรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะเมืองจำปาศักดิ์ หนองคาย และหลวงพระบาง การเกณฑ์ทหารและเตรียมการป้องกันชายแดน

          ฝรั่งเศสจึงฉวยโอกาสว่าไทยเตรียมจะทำสงคราม และแต่งตั้ง “โอกุสต์ ปาวี”  หรือ Jean Marie August Pavie เป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างความวิตกให้กับฝ่ายไทย เพราะปาวีรู้จักดินแดนเขมรและลาวในทุกๆ ด้าน และเป็นนักจักรวรรดินิยม 

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ!  "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!

โอกุสต์ ปาวี

          เมื่อโอกุสต์ ปาวี เข้ามารับตำแหน่ง ก็เริ่มการเจรจาปัญหาเก่าๆ กับ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนสิบสองจูไทย โดยจะนำแผนที่มาแสดงเขตแดนของตน

          แต่ต่อมา โอกุสต์ ปาวี ก็หาเหตุไม่ยอมเจรจาด้วย อ้างว่าทหารไทยบุกรุกดินแดนส่วนนั้นของฝรั่งเศส ทำให้การเจรจาล้มเลิกไป

          ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2436 โอกุสต์ ปาวี ได้ประกาศว่าฝรั่งเศสถือว่าดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงทั้งหมด เคยเป็นเมืองที่ส่งบรรณาการให้แก่ญวนมาก่อน จึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของไทย

          พอถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้อ้างสิทธิครอบครองดินแดนลาวพร้อมกับส่งกองทัพเข้าไป กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ จึงเสนอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสินปัญหาต่างๆ ที่ไทยกับฝรั่งเศสเจรจาตกลงกันไม่ได้

          ฝรั่งเศสไม่รับข้อเสนอนั้น และใช้นโยบายเรือปืนเพื่อบีบบังคับไทยโดยส่งเรือรบ เลอ ลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลไทย

          ท่าทีคุกคามของฝรั่งเศสทำให้ไทยเร่งจัดการป้องกันกรุงเทพฯ และปากน้ำให้รัดกุมยิ่งขึ้น และทำการป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก โดยส่งทหารไปประจำที่เกาะกง แหลมงอบ และสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าที่แหลมฟ้าผ่า และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะอังกฤษไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงระหว่างฝรั่งเศสกับไทย

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ!  "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!

ภาพจาก เฟศบุค กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ 

          วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งแก่ฝ่ายไทยว่า ผู้การโบรี (Bory) จะนำเรือปืนแองกงสตอง (Inconstant) และเรือโกแมต (Comete) เข้ามายังกรุงเทพฯ โดยมีเรือสินค้า “เจ. เบ. เซย์” (Jean Baptist Say) ซึ่งเป็นเรือนำร่อง รุกล้ำฝ่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา

          กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคัดค้านว่า ละเมิดสนธิสัญญาฉบับ พ.ศ. 2399

          แต่ฝรั่งเศสไม่สน โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม เรือทั้งสองลำได้มุ่งหน้ามากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทย จึงได้เกิดการต่อสู้บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ต่างฝ่ายได้รับความเสียหาย

          โดยหมู่ปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า และหมู่เรือรบซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทยได้ยิงสกัดถูกเรือสินค้าเสียหาย ยังผลให้เรือรบของฝรั่งเศสยิงตอบโต้

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ!  "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!

เรือ โกแมต (Comete) ขอบคุณภาพจากกระทู้ https://pantip.com/topic/34947044

          การยิ่งตอบโต้ของข้าศึก ยังผลให้โดนเรือมกุฎราชกุมารของไทยเสียหาย และทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บอีกหลายสิบนายส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็บอีก 3 นาย

          หลังจากนั้น เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองก็แล่นฝ่าเข้ามาที่สถานกงสุลฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง ผลจากการปะทะกันครั้งนี้ แน่นอนที่ฝ่ายไทยจะเสียเปรียบ ที่สุดฝรั่งเศสจึงได้บังคับให้สยามลงนามใน “สนธิสัญญาสันติภาพ” ในวันที่ 3 ตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง และยื่นคำขาดต่อไทยดังนี้

          1. ไทยต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร

          2. ให้ไทยรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จภายใน 1 เดือน

          3. ให้ไทยจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกัน

          4. ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่รับผิดชอบในการยิงปืนที่ปากน้ำ

          5. ให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์

          ฝ่ายไทยจึงยอมรับทุกข้อยกเว้นข้อ 1 ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงถอนคณะทูตออกจากประเทศไทย และส่งเรือรบไปยังเกาะสีชัง ทำการปฏิบัติการปิดอ่าวไทย ไทยจึงจำต้องยอมรับเงื่อนไขคำขาดโดยไม่ต่อรองใดๆ เพื่อให้ฝรั่งเศสยุติการปิดอ่าว

          แต่ไม่พอ ... รัฐบาลฝรั่งเศสกลับยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รุนแรงขึ้น คือ เรียกร้องจะเข้ายึดครองแม่น้ำและท่าเรือจังหวัดจันทบุรี และไทยต้องไม่มีกำลังทหารอยู่ที่พระตะบอง เสียมราฐ และบริเวณรัศมี 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง

          ฝ่ายไทย ก็ยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมมาแต่โดยดี หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งผู้แทนรัฐบาลมาเจรจาขอทำสนธิสัญญาเพื่อยุติกรณีพิพาท ร.ศ. 112 ในร่างสัญญาดังกล่าวไทยมีข้อเสียเปรียบหลายประการโดยเฉพาะเมืองจันทบุรี มีสาระสำคัญดังนี้

          1. รัฐบาลไทยสละสิทธิทั้งหมดในดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆในแม่น้ำนั้น

          2. ห้ามรัฐบาลไทยส่งเรือรบเข้าไปในทะเลสาบ ในแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกมา

          3. ห้ามรัฐบาลไทยสร้างด่านหรือค่ายทหารในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ

          4. ฝรั่งเศสสงวนสิทธิจะตั้งกงสุล ณ ที่ใดก็ได้ โดยเฉพาะที่น่านและโคราช

          โดยฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาจนครบ วึ่งกินเวลานานกว่า 10 ปี (ระหว่างปี 2436-2447)

          จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนครั้งที่สำคัญของไทยคือ ราชอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมด รวมทั้งสิบสองจูไทยต้องตกอยู่ใต้ปกครองของฝรั่งเศส รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร พลเมืองประมาณ 600,000 คน

          อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า นักวิชาการในรุ่นหลังเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเหตุทำให้สยามจำต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้ คือการขาดแผนที่ ซึ่งระบุเขตแดนของประเทศไว้อย่างชัดเจน

          เนื่องจากว่าฝ่ายสยามขาดความช่ำชองในการใช้ภาษาอันแยบยลทางการทูตอย่างชาวยุโรป อีกทั้งกองทัพเรือของสยามเพิ่งเริ่มต้นขึ้น จึงต้องจ้างทหารต่างชาติมาช่วย

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ!  "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!

          ส่วนทหารของสยามในสมัยนั้นยังขาดวินัยของทหาร และขาดความช่ำชองในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยจากตะวันตก

          แม้ว่าทหารจะมีกำลังอาวุธที่พอจะต่อต้านกองกำลังฝรั่งเศสได้ ทั้งปืนใหญ่ และเรือรบอย่าง “เรือพระที่นั่งมหาจักรี” ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนติดปืนอาร์มสตรอง พร้อมกับหารระวางขับน้ำ 2,400 ตัน หัวเรือที่ใช้ชนได้ ระวางขับน้ำของเรือลำนี้สูงกว่าเรือทั้งสามของฝรั่งเศสรวมกัน

          แต่ทว่าเรือที่มีสมรรถนะสูงลำนี้กลับไม่ได้ร่วมสมรภูมิรบ เพราะมีคำสั่งอย่างเข้มงวดไม่ให้เคลื่อนย้าย เว้นแต่จำเป็นต้องใช้เป็นพระราชพาหนะเท่านั้น

          หากแต่ยังมีข้อมูลจากนักท่องประวัติศาสตร์หลายคนในเวบไซต์พันทิป กระทู้ https://pantip.com/topic/37306350 ที่มีการแสดงความคิดเห็นไว้มากมาย เช่น

          "วันที่หมู่เรือรบฝรั่งเศสมาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเวลา 17.00 น.  ซึ่งโชคเข้าข้างฝรั่งเศสเมื่อฝนตกเกือบหนึ่งชั่วโมง พอแสงสุดท้ายเริ่มจางหายเรือรบเหล่านั้นก็แล่นเข้าสู่เจ้าพระยา โดยมีเรือกลไฟนำร่องฌองบัปติสต์เซย์ (Jean Baptist Say) เรือสินค้าเป็นเรือนำร่อง ติดตามด้วยเรือแองกงสตัง และเรือโกแมตเป็นขบวนเรียงตามกัน เข้าสู่ปากแม่น้ำ เมื่อเวลา 18.30 น."  (ผู้ใช้พันทิป :Silence Speaks)

         แต่ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้ฝ่ายไทย ต้านฝรั่งเศสไม่อยู่คือ 1.นโยบายของสยาม ไม่ได้ต้องการจะเปิดสงครามตั้งแต่ต้น มีคำสั่งให้ยิงเตือนก่อน จนสุดท้ายเมื่อเรือฝรั่งเศสเข้ามาใกล้ตัวป้อมมากแล้ว ถึงจะยิงจริงๆ

         2.ป้อมใช้เวลาสร้างนานมากเป็น ๑๐ ปีกว่าจะเสร็จ เพราะติดปัญหาขาดงบประมาณ ทำให้การฝึกศึกษาใช้อาวุธทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น และวันที่ ร.๕ เสด็จมาทรงยิงปืนใหญ่นัดแรก ผลการยิงแม่นยำมาก (กระทบเป้านิ่งกลางแม่น้ำ) ซึ่ง ผบ.เรือฝรั่งเศสก็มาดูด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลให้ ฝรั่งเศสจำเป็นต้องเลือกเอาธรรมชาติมาเป็นกำบังในการพรางตัวก่อนจะถึงตัวป้อม คือเวลานั้นได้เกิดฝนตกและเวลาใกล้พลบค่ำ (จากผู้ใช้พันทิป:ผ้าพับไว้)

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ!  "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!

ภาพจาก เฟศบุค กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ 

         "ขณะที่หลายคนมองว่า ที่ฝรั่งเศสนำเรือแค่ไม่กี่ลำแล่นเข้ามา ก็เพราะตั้งใจล่อเป้าให้ฝ่ายไทยยิงก่อน ซึ่งถ้าไทยจมเรือรบของฝรั่งเศสหมดทุกลำ ก็จะใช้เป็นข้ออ้างอันชอบธรรมในการส่งกองทัพเรือเต็มอัตรามาทำสงครามกับสยามได้" (ผู้ใช้พันทิป :Silence Speaks)

         "จึงนับเป็นบุญของคนไทยเราแท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าหลวงและผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งกว่าฝรั่ง เราจึงเป็นชาติเอกราชมาตราบเท่าทุกๆ วันนี้" (สมาชิกหมายเลข 3714586)

          สำหรับผลของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ไม่เพียงฝ่ายไทยได้สูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยจำนวนมาก แต่เท่านั้นยังไม่พอ

          ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บันทึกตรงกันว่า วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งนั้น ได้สร้างความเศร้าโศก เสียพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก จนพระองค์ไม่เป็นอันเสวย หรือบรรทม จนประชวรหนัก เพราะเหตุทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัย ขมขื่น และระทมทุกข์ จากชาติฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม จนท้อพระทัยว่า พระนามของพระองค์คงจะถูกลูกหลานในอนาคตติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เปรียบเสมือนสองกษัตริย์ “ทวิราช” ที่สูญเสียเศวตฉัตรแห่งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้กับอังวะในปี พ.ศ. 2310 เป็นแน่

เสียแผ่นดิน เหมือนสิ้นใจ!  "ตราด 112" บนพระอุระ สักไว้ให้จำ!

 "รศ.๑๑๒ ตราด" ของ พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. (บุญมี พันธุมนาวิน)

          รวมไปถึงพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ยังถึงกับทรงสักยันต์ “ตราด ร.ศ.112” ไว้ตรงพระอุระของพระองค์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความเจ็บช้ำที่เกิดขึ้น นั่นเอง

          และไม่เพียงเท่านั้น บรรดาทหารเสือกรมหลวงชุมพรฯ ที่เป็นลูกศิษย์ของเสด็จในกรมฯ ที่ได้รับการฝึกสอนด้วยพระองค์เอง รวมถึงทหารเรือชั้นประทวนที่ประจำการร่วมสมัย เกือบทุกคน ก็พากันสักคำว่า "ร.ศ. ๑๑๒ ตราด" ที่หน้าอกด้วยกันหมด นับเป็นความขมขื่นที่ไม่มีวันลืมไปได้

////////////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C_%E0%B8%A3.%E0%B8%A8._112

https://www.sarakadee.com/2012/07/04/112-crisis/

https://pantip.com/topic/37306350

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ