วันนี้ในอดีต

จบตำนานผู้ชื่นชอบบรรยากาศการร่ำสุรา จากโรคตับแข็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก่อนสิ้นใจไม่กี่วัน โกวเล้งยังร่ำดื่มอย่างเต็มที่เป็นเวลาสามวันสามคืน ราวกับจะสั่งลาหนีไปดื่มต่อในภพหน้า!!

          พูดกันเอาเท่ห์เวลาจะหาเรื่องดื่ม "ข้าพเจ้ามิได้นิยมชมชอบในรสชาติของสุรา แต่ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของการร่ำสุรา”

          แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าเป็นคำกล่าว ของ "โกวเล้ง" ผู้เป็นนักเขียนนวนิยายกำลังภายในชาวจีน ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกนิยาย

จบตำนานผู้ชื่นชอบบรรยากาศการร่ำสุรา  จากโรคตับแข็ง

          เขามีชื่อจริงว่า “เอี้ยวฮั้ว แซ่ฮิ้ม” (สำเนียงแต้จิ๋ว หากออกเสียงเป็นสำเนียงจีนกลางจะอ่านว่า สยง เย่า หัว - สยงหรือฮิ้มเป็นแซ่ แปลตามตัวอักษรว่าหมี)

          ส่วนโกวเล้งนั้น เป็นนามปากกาของเขา ซึ่งดูเหมือนว่าผู้คนจะจดจำนามนี้ ที่แปลว่า "มังกรโบราณ" มากกว่าด้วยซ้ำ!

          เขาเกิดที่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2480 แต่รู้หรือไม่ว่า วันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2528 โกวเล้งในวัยเพียง 48 จากไปขณะเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลซันจวิน กรุงไทเป จาก “โรคตับแข็ง”!!!

          และสิ่งนี้จึงสะท้อน ถึงอีกฉายาของโกวเล้งเป็นอย่างดีว่า เขานี่แหละคือ “ปีศาจสุรา” ตัวจริงเสียงจริง!!

          สำหรับประวัติของโกวเล้ง วัยเด็กเขาจบชั้นประถมที่ฮ่องกง จนกระทั่งอายุ 14 ปี จึงไปเรียนต่อที่ไต้หวัน ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ช่วงอายุ 18 เขาขาดการติดต่อกับครอบครัวที่ฮ่องกง ทำให้ต้องตกระกำลำบาก ทำงานชนิดปากกัดตีนถีบหาเลี้ยงประทังชีวิตไปวันๆ มีงานทำชั่วคราวจนได้เงินเก็บส่งเสียตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรีใน คณะอักษรศาสตร์ แผนกภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต้ากัง

          อาจด้วยความชอบเขียนชอบอ่าน ชีวิตช่วงแรกทำงานเป็น “บรรณารักษ์” ประจำห้องสมุดของคณะที่ปรึกษาทหารอเมริกันในกรุงไทเป และที่นี่เองที่ทำให้เขามีโอกาสหาความรู้ด้านวรรณกรรมและนวนิยายตะวันตกมากขึ้นไปด้วย

จบตำนานผู้ชื่นชอบบรรยากาศการร่ำสุรา  จากโรคตับแข็ง

          เขาใช้เวลาว่างระหว่างทำงาน ทดลองเขียนนิยายส่งให้กับสำนักพิมพ์ลื่อสี เนื่องจากช่วงนั้นนิยายกำลังภายในที่ไต้หวันเฟื่องฟูอย่างยิ่ง ทางการไต้หวันให้การสนับสนุนด้วยเหตุผลที่ว่า "งมงายในหนังสือดีกว่าฟุ้งซ่านทางการเมือง"!! 

          ตามข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่า โกวเล้งเป็นคนที่คบหาคนได้ทุกระดับ ชอบการสังสรรค์เข้าสังคม ทั้ง สุรา นารี มิตรสหายมากมีไปหมด!!

          ว่าตรงกันว่า หมดเวลางานให้ไปตามหาเขาได้ที่ ร้านอาหาร บาร์ และตลาดโต้รุ่ง เพราะที่เหล่านี้เป็นสถานที่ซึ่งโกวเล้งได้ร่ำบรรยากาศของน้ำสุราอย่างหัวทิ่มหัวตำทุกครั้งไป

          และแน่นอนที่สิ่งนี้จะส่งผลทำให้เขาไม่ค่อยมีความมั่นคงทางสินทรัพย์ กล่าวคือ ถึงแม้ต่อมาเขาจะเดินในถนนสายนวนิยาย จนได้รับการยอมรับในฝีมือการเขียนอย่างล้ำลึกในจินตนาการ ทำให้มีรายได้จากการเขียนจำนวนมาก แต่ในที่สุดมันก็หมดไปกับเรื่องอบายมุขต่างๆ นั่นเอง

          สำหรับประวัติงานเขียนนั้น ช่วงวัยเพียง 23 หรือตรงกับปี พ.ศ. 2503 โกวเล้งก็เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในเรื่องแรกคือเรื่อง “ชังเกียงซึ้งเกี่ยม” เป็นแนวบู๊ล้างแค้นธรรมดาโดยชื่อนวนิยายเรื่องนี้หากแปลเป็นภาษาไทยจะมีชื่อว่า "เทพกระบี่โพยม" เรื่องนี้เขาใช้นามปากกาว่า “พ่อเกี่ยมเล้าจู๊” สำหรับแรงผลักดันที่ทำให้โก้วเล้งเขียนนิยายกำลังภายใน ไม่ได้มีเหตุผลหรูหราเลิศลอยอันใด โกวเล้งกล่าวว่า เพียงเพื่อหาเงินเท่านั้น

          ต่อมาพ.ศ. 2506 เขียนเรื่อง “พิฆาตทรชน” ได้รับการตอบรับจากคอนิยาย ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียง และเป็นการเริ่มต้นใช้นามปากกา “โกวเล้ง” (มังกรโบราณ) อย่างจริงจัง

จบตำนานผู้ชื่นชอบบรรยากาศการร่ำสุรา  จากโรคตับแข็ง

          พ.ศ. 2509 โกวเล้งสร้างแนวการเขียนใหม่ เน้นความรู้สึก ความขัดแย้งทางจิตใจและความคิดของตัวละคร แทรกคติเตือนใจ ปรัชญาชีวิต แบบ “คุณธรรมน้ำมิตร” รวมทั้งการเดินเรื่องแบบบทภาพยนตร์ ซึ่งมีเรื่อง ศึกสายเลือด, นักสู้ผู้พิชิต, ศึกศรสวาท, ธวัชล้ำฟ้า, ราชายุทธจักร

          ช่วงต่อมานับเป็น “ยุคทอง” โกวเล้งแสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะโดยการเขียนเรื่อง “เซียวฮื่อยี้” ได้รับความนิยมจนกลายเป็นนักเขียนมือหนึ่งของไต้หวัน ขณะที่ยังมีผลงานโดดเด่นที่สุดของเขาคือเรื่อง “ฤทธิ์มีดสั้น”

          และอีกหลายเรื่องที่มีชื่อเสียง จนได้รับการแปลเป็นภาษาไทย เช่น นวนิยายชุด "ชอลิ้วเฮียง" ที่ว่ากันว่า โกวเล้งเริ่มต้นโดยใช้กระดาษเพียงแผ่นเดียว เริ่มประพันธ์ตำนานของชอลิ้วเฮียง จนกลายมาเป็น ชอลิ้วเฮียงศึกวังค้างคาว, พายุทะเลทราย (จอมโจรจอมใจ), กลิ่นหอมกลางธารเลือด (จอมโจรจอมใจ), ยืมศพคืนวิญญาณ (ใต้เงามัจจุราช), กล้วยไม้เที่ยงคืน, ตำนานกระบี่หยก (ชอลิ้วเฮียง), ดวงชะตาดอกท้อ (ราศีดอกท้อ), ศึกวังน้ำทิพย์ 

จบตำนานผู้ชื่นชอบบรรยากาศการร่ำสุรา  จากโรคตับแข็ง

ภาพจากผู้ใช้เวบไซต์พันทิป ต็กโกวคิ้วป้าย ในกระทู้ https://pantip.com/topic/34123982

          ชุด ฤทธิ์มีดสั้น อันมี เซียวลี้ปวยตอ (ฤทธิ์มีดสั้น), เหยี่ยวทมิฬ (เหยี่ยวเดือนเก้า), จอมเสเพลชายแดน (ดาบจอมภพ), ขอบฟ้า จันทรา ดาบ (จอมดาบหิมะแดง), มีดบินกรีดฟ้า

          ชุด หงส์ผงาดฟ้า อันมี หงส์ผงาดฟ้า, จอมโจรปักดอกไม้, สองนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่, บ่อนพนันเบ็ดเงิน, หมู่ตึกภูตพราย

          ว. ณ เมืองลุง ผู้แปลผลงานหลายเรื่องของโก้วเล้ง เคยกล่าวไว้ว่า ผลงานทุกเรื่องของโก้วเล้ง ล้วนแฝงไว้ด้วยคติธรรม ปรัชญาชีวิต มีความลุ่มลึกกว่านิยายกำลังภายในทั่วๆไป ที่เน้นการฆ่าล้างแค้นเป็นแกนเรื่องอย่างเดียว

          ว่าตรงกันว่า งานเขียนของ "มังกรเมรัย" ผู้นี้ เขามักใช้สำนวนยาวสั้นสลับกัน โดยเจ้าตัวเคยกล่าวถึงงานของตนเองว่า

          "สำนวนยืดยาวอ่านไปคล้ายกระแสน้ำกลางธารใหญ่ จู่ๆ ต่อด้วยคำสั้นๆ เปรียบเสมือนใช้กระบี่เล่มหนึ่งตัดสายน้ำขาดกลาง บังเกิดผลก่อปฏิกิริยาเป็นระลอกคลื่น"

          และอย่างที่รู้ว่า ปีศาจสุราตนนี้ จากไปด้วยพิษของสุรา ที่ทำให้เขาเป็นโรคตับแข็งในเวลาต่อมา จากการ “ร่ำสุรา” อย่างหนักเป็นเวลานาน ดังนั้น เขาจึงมักมีคำกลอน กล่าวเกี่ยวกับสุราไว้มากมายเช่น

          "เนื่องเพราะโลกนี้มีของเหลวที่ล้ำค่าเพียงชนิดเดียว ของเหลวชนิดนี้คือ สุรา"

          "เนื่องเพราะมีสุราจึงสามารถทำให้ผู้คนลืมเรื่องที่ไม่ควรนึกถึง และเรื่องน่าเศร้าที่สุดของคนคือ นึกถึงเรื่องที่พวกเขาไม่สมควรนึกถึง"

          "นอกจาก “ความตาย” แล้ว มีแต่สุราจึงสามารถทำให้ผู้คนลืมเลือนเรื่องเหล่านี้...ความตายช่างล้ำค่าปานนั้น มีเพียงครั้งเดียว ไม่มีครั้งที่สองเด็ดขาด"

          แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าทำไม โกวเล้งต้องกรำตัวเองกับการ "เมา" ราวกับโดนคำสาป ทั้งที่เขาก็มีภรรยาถึง 3 คน ลูกอีก 2

           แต่เอาเถิด ถ้ามองที่ผลงานในยุทธจักรน้ำหมึกของชายคนนี้ ก็คงทำให้พวกเราแทบมองข้ามความเป็นตัวตนของนักดื่มนักเที่ยวของเขาไปหมดสิ้น มีแต่จิตคารวะด้วยยอมรับในฝีมือล้วนๆ!!

          อย่างไรก็ดี โกวเล้ง ไม่ใช่เทพ ร่างกายของเขาย่อมเสื่อมถอยไปกับฤทธิ์แอลกอฮอล์เป็นเรื่องหนีไม่พ้น หากแต่ในเรื่องจิตใจแล้ว ว่ากันว่า แม้จะล้มป่วยลงด้วยโรคตับแข็ง ม้ามโต และเลือดออกทางกระเพาะ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลถึงสามครั้งสามครา

          แต่ก่อนสิ้นใจไม่กี่วัน โก้วเล้งยังร่ำดื่มอย่างเต็มที่เป็นเวลาสามวันสามคืน ราวกับจะสั่งลาหนีไปดื่มต่อในภพหน้า และนั่นก็เป็นการดื่มสุราครั้งสุดท้ายของเขาจริงๆ

          ทิ้งท้ายไว้ด้วย คำคมเด็ดๆ จากนวนิยายของ โกวเล้ง

          "รอยขาดของเสื้อผ้าเย็บปะได้ แต่บาดแผลในหัวใจมิว่าผู้ใดก็ไม่อาจเย็บสมาน"

          "มนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลง มนุษย์พ่ายแพ้ต่อชะตากรรมที่ตนเองเลือกเสมอ"

       

จบตำนานผู้ชื่นชอบบรรยากาศการร่ำสุรา  จากโรคตับแข็ง

ฉีเส้าเฉียน

          ว่ากันว่า งานศพของโกวเล้ง "ฉีเส้าเฉียน" ดาราหนังชื่อดัง ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของมังกรโบราณผู้นี้ ได้แบกขนเอาขวดเหล้าเอ็กซ์โอ 49 ขวดไปใส่ในโลงศพเพื่อเป็นการคารวะนักเขียนอมตะผู้นี้!

///////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

http://www.sookjai.com/index.php?topic=7890.0;wap2
http://oknation.nationtv.tv/blog/jommand26/2010/03/04/entry-1

https://pantip.com/topic/34123982

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ