วันนี้ในอดีต

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่วมรำลึก ม.ล. บัว กิติยากร พระราชมารดาแห่งแม่หลวงของแผ่นดิน !! 

          สำหรับคนไทยหากกล่าวถึง "แม่ของแผ่นดิน" หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เราคนไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

          ทั้งนี้ พระองค์นั้นเป็นพระราชธิดาของ ท่านผู้หญิงบัว กิติยากร นามเดิม หม่อมหลวงบัว  สนิทวงศ์ ซึ่งวันนี้เมื่อ 19 ปีก่อน พระราชมารดาของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ถึงแก่พิราลัยด้วยอาการนิ่วในถุงน้ำดี ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2542

          วันนี้ในอดีต จึงใคร่รำลึกถึงท่าน ด้วยเรื่องราวพระประวัติดังนี้

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

ม.ล. บัว กิติยากร (พระราชมารดาแห่งแม่หลวงของแผ่นดิน)  ภาพจาก https://twitter.com/WT21616955

          หม่อมหลวงบัว กิติยากร (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 (หรือชื่อในการแสดงว่า ประทุม ชิดเชื้อ) เป็นธิดาของ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท้าววนิดาพิจาริณี (บาง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) และเป็นหม่อมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และเป็นที่รู้จักในฐานะพระราชมารดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งยังทรงเป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

          หม่อมหลวงบัว กิติยากรมีพี่น้องร่วมบิดามารดาได้แก่ หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ทั้งยังมีพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดาอีก 12 คน

          ท่านผู้หญิงบัวเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสายปัญญา และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ภายหลังได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เข้าถวายงานเป็นนางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อ พ.ศ. 2471 ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างภาพยนตร์เงียบขาวดำ ชื่อเรื่อง “แหวนวิเศษ” และทรงให้หม่อมหลวงบัว รับบทเป็น “นางพรายน้ำ” นางเอกของเรื่อง

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

          ต่อมาท่านผู้หญิงบัวสมรสกับ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ต่อมาคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสกสมรสให้เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2471 มีพระโอรสและพระธิดา 1 พระองค์และ 3 ท่านดังนี้

          หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร (20 กันยายน 2472-15 พฤษภาคม 2530) สมรสกับท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) มีบุตรธิดาสองคน

          หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร (2 พฤศจิกายน 2473-5 พฤษภาคม 2547) สมรสกับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (พระนามเดิม หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล) มีธิดาสองคน

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (12 สิงหาคม พ.ศ. 2475) ราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชบุตรสี่พระองค์

          ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์ (2 สิงหาคม พ.ศ. 2477) สมรสครั้งแรกกับหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ สมรสครั้งที่สองกับนาวาเอกสุรยุทธ สธนพงศ์ มีธิดาจากการสมรสครั้งแรกหนึ่งคน

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

ท่านผู้หญิงบัว และ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร

          ท่านผู้หญิงบัวถึงแก่พิราลัย ด้วยอาการนิ่วในถุงน้ำดี ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2542 สิริรวมอายุ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งศพที่ศาลาสหทัยสมาคม และโปรดเกล้าฯ พระราชทานฉัตรโหมดทอง 5 ชั้น และโกศกุดั่นน้อยประกอบเกียรติยศศพ เทียบชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และพระราชทานเพลิงศพ

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

          กล่าวสำหรับ ภาพยนตร์เงียบขาวดำ ชื่อเรื่อง “แหวนวิเศษ” อันเป็นภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง หม่อมหลวงบัว รับบทเป็น “นางพรายน้ำ” นางเอกของเรื่องนั้น มีข้อมูลว่า

          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระทัยในด้านงานศิลปะภาพถ่ายและงานภาพยนตร์ พระราชกรณียกิจสำคัญด้านหนึ่ง คือการนำภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ออกฉายให้พระประยูรญาติ และข้าราชบริพารชมในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ด้านข่าวสารการเมือง หรืองานสารคดี หลายชิ้นถือเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าในสังคมไทยยุคต่อๆ มา เช่น งานพิธีเปิดสะพานพุทธยอดฟ้า พระราชพิธีโสกันต์เจ้านาย เป็นต้น

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

ภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ อดอล์ฟ ซูเคอร์ (Adolph Zukor) ผู้ก่อตั้งพาราเมาท์พิกเจอร์ และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการภาพยนต์มากที่สุดในฮอลิวูด

คาดว่าภาพนี้ถ่ายในปี 2474 ในช่วงเสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกา

          ข้อมูลจากปกดีวีดีเรื่องแหวนวิเศษ ซึ่งผลิตโดย มูลนิธิชัยพัฒนา พฤศจิกายน 2552 และบทความที่ อ.อานันท์ นาคคง ได้เรียบเรียงไว้ ระบุว่า

          "ภาพยนตร์เรื่องแหวนวิเศษ ถือว่าเป็นของวิเศษจริงๆ ในโลกของการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ เพราะนอกจากจะเป็นผลงานที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถทั้งการผูกเรื่อง การกำกับ การถ่ายทำ และการตัดต่อ ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติอันสำคัญรอบด้านของคนทำงานภาพยนตร์แล้ว"

          "ก็ยังเป็นการใช้กลวิธีการสอดแทรกคุณธรรม และจินตนาการผ่านการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน สื่อสารด้วยภาษาง่ายๆ และการผูกเหตุการณ์ของสิ่งธรรมดาสามัญกับอำนาจเหนือธรรมชาติให้บรรจบพบกัน ตัวละครทุกตัวในเรื่อง สวมบทบาทโดยพระประยูรญาติในราชวงศ์จักรี หากใช้ชีวิตหน้าจอเหมือนชาวบ้านทั่วไป ใช้ภาษาชาวบ้านในการพูดคุยสนทนา แทรกอารมณ์ขันตามสมควร มีการวาดการ์ตูนลายเส้นประกอบ และเป็นภาพยนตร์ที่ทุกผู้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ต้องมีกรอบกฎเกณฑ์มากั้น แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในยุคที่เรียกว่า “หนังเงียบ” แต่ก็เป็นความเงียบที่ปะปนด้วยเสียงหัวเราะ และรอยยิ้มบนใบหน้าของคนดูทุกยุคสมัย

          ภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดฉากที่ท้องทะเลแห่งหนึ่ง เนื้อเรื่องมีว่า นายคง ชายชาวประมงพายเรือลำหนึ่งมาขึ้นเกาะร้าง ในเรือลำนั้นมีเด็กๆ อยู่ห้าคน เจ้าเก่ง, เจ้าตะกละ, เจ้าซน, เจ้าขี้เกียจ และ หนูแหวน ทั้งห้าเป็นลูกติดหญิงหม้ายที่นายคงได้มาเป็นภรรยาใหม่ แต่ด้วยความจน ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กทั้งหมดนั้นได้ นายคงจึงวางแผนที่จะเอาไปปล่อยทิ้งไว้ในเกาะ

          เด็กๆ ถูกบังคับให้ออกไปหาอาหารกลางป่าลึก เพราะนายคงหวังว่าจะหลงทางกลับไม่ได้ แต่มี “นางพรายน้ำ” ใจดีมาพบกับเด็กๆ แล้วมอบแหวนให้วงหนึ่ง แหวนนั้นมีอำนาจวิเศษเมื่อผู้สวมใส่ชี้ไปที่อะไรแล้วนึกปรารถนาก็จะได้สิ่งนั้นดังใจ

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

          เด็กๆ ที่หิวโหยเลือกเสกขนมมากินกันจนอิ่ม จากนั้นก็เอาก้อนหินคนละก้อนหิ้วกลับไปฝากนายคง เมื่อนายคงเห็นเข้าไม่พอใจก็ต่อว่าต่อขาน แต่เมื่อเด็กๆ เสกให้ก้อนหินนั้นเป็นผลไม้ต่อหน้า นายคงก็เกิดอัศจรรย์ใจ ยิ่งทราบถึงอิทธิฤทธิ์ของแหวนจากปากคำของเด็กๆ ก็ยิ่งเกิดความโลภ

          ในที่สุดก็คิดชั่ว หลอกให้เด็กๆ นอนหลับ เพื่อจะฆ่าทิ้งเอาแหวนมาเป็นสมบัติของตนเสีย แต่เจ้าเก่งก็ตื่นขึ้นมาทันที่นายคงกำลังเงื้อง่ามีดพร้าจะฆ่าฟัน เกิดการต่อสู้กันขึ้น ในที่สุดนายคงถูกสาปเป็นสุนัข เด็กๆ ก็ล้อเลียนสุนัขนั้นกันอย่างสนุกสนาน จนหนูแหวนน้องคนสุดท้องนึกสงสาร วอนพี่ๆ ขอให้คืนคำสาป เสกสุนัขมาเป็นพ่อดังเดิม และเป็นพ่อที่ใจดีที่สุดในโลก

          เมื่อนายคงกลับมาเป็นคน ก็รู้สึกสำนึกผิด ขอโทษในความร้ายกาจที่เคยกระทำมาแก่ลูกๆ แล้วชักชวนกันเดินทางกลับบ้าน

          ก่อนที่เรือจะออกนั้น แหวนวิเศษก็หล่นน้ำหายไปในทะเล แต่ว่าทุกคนก็มิได้เสียใจในความสูญเสียของวิเศษนั้นแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ได้กลับคืนมานั้นวิเศษยิ่งกว่า นั่นคือความรักของครอบครัว ความรักที่จะเดินทางฝ่าคลื่นลมกลับไปสู่บ้านอันแสนสุขที่รอคอยทุกชีวิตอยู่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของท้องทะเลกว้างใหญ่

รำลึก "หม่อมหลวงบัว กิติยากร"

          เรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์ ถูกถ่ายทอดโดยตัวละครสำคัญ ๗ ท่านและอีก ๑ ตัว ผู้แสดงเป็นนายคง คือ พระองค์เจ้าอ๊อสคาร์นุทิส กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรน

          เจ้าเก่งพี่ชายใหญ่ รับบทโดย หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์

          เจ้าตะกละผู้หิวโหยอยู่ตลอดเวลา รับบทโดย หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์

          เจ้าซนจอมทะลึ่งผู้ไม่กลัวใครแม้แต่ไม้เรียวของพ่อเลี้ยง รับบทโดย พระองค์เจ้าจีรศักดิ์สุประภาต

          เจ้าขี้เกียจผู้ง่วงเหงาหาวนอนตอลดเวลาที่อยู่หน้ากล้อง ทุกฉากทุกตอน รับบทโดย หม่อมเจ้าอัฌชา จักรพันธุ์

          หนูแหวน น้องเล็กเด็กหญิงคนเดียวในครอบครัว รับบทโดย หม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง สวัสดิวัตน์

          นางพรายน้ำ ผู้ทำให้ชีวิตของเด็กๆ เปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจแหวนวิเศษ รับบทโดยหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์

          และยังมีดาราพิเศษ “ขุนช้าง” สุนัขของพระนางรำไพพรรณี พระราชินีผู้ทรงร่วมเป็นองค์อุปถัมภ์กองถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ขุนช้างรับบทเป็นนายคงตอนที่ถูกสาป

          สำหรับฉากที่ใช้ในการถ่ายทำ คือ เกาะพงัน จ. สุราษฎร์ธานี ถ่ายทำเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยมีการจัดฉายในรายการภาพยนตร์ของสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ก่อนที่จะถึงการผลัดเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครอง และสังคมไทยมีสื่อบันเทิงอื่นๆ เข้ามาทดแทน

          ส่วน การจัดทำวิดีทัศน์เรื่องแหวนวิเศษ ที่กล่าวไปข้างต้น นั้นจัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษเนื่องในวาระงานเปิดศูนย์ ๑๐๐ ปี หม่อมหลวงบัว กิติยากร จ.นครนายก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดตั้งขึ้นเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีเกิดของหม่อมหลวงบัว กิติยากร (นางพรายน้ำ) โดยโดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นฝ่ายอำนวยการผลิตและเผยแพร่

//////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

วิกิพีเดีย

 https://twitter.com/WT21616955

มูลนิธิชัยพัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ