วันนี้ในอดีต

17 ก.ย.2488 ครั้งแรก! เก้าอี้นายกฯหนุ่ม ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก นายกรัฐมนตรีไทยที่อายุ "น้อยที่สุด" ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาจนถึงบัดนี้ เพราะท่านเป็นนายกฯ ครั้งแรกด้วยอายุขณะรับตำแหน่ง คือ 40 ปีเท่านั้น!

         ถ้าพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ นอกจาก ควง อภัยวงศ์ ที่ทุกคนจะนึกถึงแล้ว ก็มี  ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นี่เอง ที่ทั้งสองท่านเป็นผู้ร่วมกันก่อตั้งพรรคที่่เก่าแก่ที่สุดพรรคหนึ่งของประเทศไทยขึ้นมา   

17 ก.ย.2488 ครั้งแรก! เก้าอี้นายกฯหนุ่ม ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

           กล่าวสำหรับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ท่านยังมีความโดดเด่นกับการเป็นนายกรัฐมนตรีไทยถึง 4 สมัยด้วยกัน

           และวันนี้เมื่อ 73 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 17 ก.ย.2488 คือวันที่ท่านรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยลำดับที่ 6 เป็นครั้งแรก

           ที่สำคัญ ท่านทั้งยังรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยที่อายุ “น้อยที่สุด” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาจนถึงบัดนี้ เพราะท่านเป็นนายกฯ ครั้งแรกด้วยอายุขณะรับตำแหน่ง คือ 40 ปีเท่านั้น!

           แม้แต่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่าสวยที่สุด หรือ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ที่ว่าหล่อที่สุด ทั้งคู่ก็ยังเป็นนายกฯ ตอนอายุ 44 ปีเท่ากันเป๊ะ!

           อย่างไรก็ดี มากกว่าเรื่องอายุอานาม คือเกียรติประวัติและผลงาน ซึ่งวันนี้ในอดีตขอนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

           ศาสตราจารย์ (พิเศษ) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ 26 พ.ค.พ.ศ. 2448 เป็นชาวจังหวัดนครสวรรค์ และเป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค)

           สำหรับชื่อ “เสนีย์” หมายถึง ทหาร หรือ เสนาบดี ได้รับพระราชทานนาม จากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สันนิษฐานว่า เนื่องจากเสด็จพ่อ (พระองค์เจ้าคำรบ) เป็นทหาร

           ชีวิตครอบครัวสมรสกับ ท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช มีบุตรชาย-หญิง 3 คน บุตรชาย ได้แก่ ม.ล.เสรี ปราโมช , ม.ล.อัศนี ปราโมช และ บุตรี ได้แก่ ม.ล.นียนา ปราโมช

           ม.ร.ว.เสนีย์ มีน้องชายที่มีชื่อเสียงคู่กันคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนนิยมเรียกท่านทั้งคู่ว่า “หม่อมพี่ หม่อมน้อง” นอกจากนี้ยังมีพี่สาวคือ ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี (สมรสกับ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี หรือ พินิจ อินทรทูต)

           ในวัยต้น ม.ร.ว.เสนีย์ ศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนเมื่ออายุเข้า 12 ปี ก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ โรงเรียนเทรนต์ เมืองนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ

           จากนั้นศึกษาต่อ ปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ ที่ วิทยาลัยวอร์สเตอร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนระดับ เกียรตินิยมอันดับสอง

           หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาต่อที่สำนักเนติบัณฑิตอังกฤษ ณ สำนักเกรย์อินน์ ในกรุงลอนดอน ได้คะแนนเป็นที่หนึ่ง ได้รับรางวัลเป็นเงิน 300 กีนีย์ จากสำนักกฎหมายอังกฤษ เกียรติประวัตินี้ถึงกับทำให้โรงเรียนเทรนด์ ประกาศเป็นวันหยุดเรียนหนึ่งวัน เพื่อเป็นการระลึกถึง โดยเรียกวันนั้นว่า “วันเสนีย์” (Seni Day)

           จนเมื่อท่านเดินทางกลับประเทศ ยังได้ศึกษาวิชากฎหมายไทยเพิ่มเติม จนกระทั่งได้รับเนติบัณฑิตไทย และเข้าฝึกงานที่ศาลฎีกาเป็นเวลา 6 เดือน จึงได้เป็นผู้พิพากษา

           ขณะที่ภายหลัง ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2503 และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไทเป พ.ศ. 2525)

           ชีวิตการงานในแวดวงกฎหมาย นอกจาท่านเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่งแล้ว ยังเป็นผู้ช่วยกรรมการศาลฎีกา และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามลำดับ

           แต่ต่อมาได้ย้ายไปกระทรวงการต่างประเทศ และไดัรับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

17 ก.ย.2488 ครั้งแรก! เก้าอี้นายกฯหนุ่ม ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2487

ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 19 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่สหรัฐอเมริกา

           ประทั่งช่วงปี 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้าสู่ประเทศไทย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในวัยเพียง 36 ได้ประกาศนโยบายเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลในประเทศไทย จึงถูกตัดสัญชาติไทยจากรัฐบาล และได้รวบรวมคนไทยในต่างประเทศ จัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ โดยปฏิบัติการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร 

           จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ฝ่ายอักษะพ่ายสงคราม ท่านจึงได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจาก ทวี บุณยเกตุ

           งานนี้ ท่านมีหน้าที่เจรจากับประเทศอังกฤษเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทย ที่เป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตร ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถทางภาษา ตลอดจนความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี และระบบกฎหมายตะวันตก เจรจากับอังกฤษ หลุดพ้นจากการเป็นเมืองในอาณัติอังกฤษได้สำเร็จ

           จากนั้นไทยได้ทำการตกลงกับฝรั่งเศส มีจุดประสงค์เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ โดยได้ตกลงคืนดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีน เมื่อปี พ.ศ. 2483 ให้กับฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสยังเรียกร้องให้ไทยมอบ พระแก้วมรกต ให้แก่ฝรั่งเศส โดยอ้างว่าเคยอยู่ในลาวมาก่อนถึง 200 กว่าปี ก่อนจะมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และเมื่อลาวเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสแล้ว ไทยก็ควรคืนพระแก้วมรกตให้แก่ลาวด้วย

         แต่ฝ่ายไทยได้อ้างว่า พระแก้วมรกต ค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย การที่ต้องอยู่ในลาวถึง 200 กว่าปีนั้น เป็นเพราะพระไชยเชษฐาได้นำพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ ไปไว้ที่เมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ ดังนั้นการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาไว้ยังกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ตามลำดับนั้น จึงเป็นการนำกลับคืนสู่สถานที่เดิม ทำให้ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสข้อนี้ต้องตกไป

17 ก.ย.2488 ครั้งแรก! เก้าอี้นายกฯหนุ่ม ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชและท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช ณ อยุธยา ภริยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2487 ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 19 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่สหรัฐอเมริกา

           บ้านเมืองดำเนินต่อไปทจน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีถึง 4 ครั้งสร้างผลงานไว้มากมาย โดยเรียงลำดับดังนี้

           สมัยที่ 1 : คณะรัฐมนตรีคณะที่ 13 ของไทย : 17 กันยายน 2488 - 31 มกราคม 2489

           สมัยที่ 2 : คณะรัฐมนตรีคณะที่ 35 ของไทย : 15 กุมภาพันธ์ 2518 - 13 มีนาคม 2518

           สมัยที่ 3 : คณะรัฐมนตรีคณะที่ 37 ของไทย : 20 เมษายน 2519 - 25 กันยายน 2519

           สมัยที่ 4 : คณะรัฐมนตรีคณะที่ 38 ของไทย : 25 กันยายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519

           โดยในครั้งสุดท้ายได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนชุมนุมประท้วง การกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ถูกประชาชนขับไล่ ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน หรือช่วง 14 ต.ค.2516 ปรากฏว่าวันเดียวกัน พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้จัดตั้งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เข้ายึดอำนาจจาก รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์

           หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และวางมือทางการเมือง ใช้ชีวิตสงบเงียบตลอดมา

           และได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 สิริอายุได้ 92 ปี

/////////////////

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ