วันนี้ในอดีต

สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ "เจ้าฟ้าเหม็น" โอรสพระเจ้าตาก!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกิดการกล่าวโทษว่าพระองค์คบคิดกับขุนนางจำนวนหนึ่งว่าคิดแย่งชิงราชสมบัติ จนเกิดคดีเป็นกบฏ!!

          วันนี้ในอดีตมีเรื่องราวของ "หม่อมเหม็น" หรือ "เจ้าฟ้าเหม็น" สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต ผู้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินมหาราชของเราชาวไทย มาเล่าสู่กันฟัง

          เกี่ยวกับพระประวัติที่ใครได้รู้ก็ต้องอึ้ง เพราะที่สุดแล้ววันนี้เมื่อ 209 ปีก่อน พระองค์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา หรือตรงกับวันพุธที่ 13 ก.ย.พ.ศ. 2352 ขณะที่พระชนมายุได้ 29 ชันษา

          จากสาเหตุที่ว่า พระองค์คบคิดกับขุนนางจำนวนหนึ่งแย่งชิงราชสมบัติ จนเกิดคดีเป็นกบฏ ที่เรียกกันว่า "กบฏเจ้าฟ้าเหม็น"

 สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์  "เจ้าฟ้าเหม็น"  โอรสพระเจ้าตาก!

          โดยหลังจากไต่สวนได้ความเป็นจริง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือ รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้ชำระโทษถอดพระยศ ลงพระราชอาญา ให้สำเร็จโทษ พร้อมพระอนุชาต่างมารดา คือ พระองค์เจ้าชายอรนิกา และพระขนิษฐา พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ซึ่งถูกข้อหาสมรู้ร่วมคิด ผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิดอื่นได้ถูกประหารชีวิตที่สำเหร่ รวมทั้งพระโอรสทั้งหมดในเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีการถ่วงน้ำ

          สำหรับพระประวัติ เจ้าฟ้าเหม็น ผู้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติแต่เจ้าครอกฉิมใหญ่ (ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่) พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรี

          หม่อมเหม็น ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 11 จ.ศ. 1141 หรือวันที่ 17 ก.ย. พ.ศ. 2322 ได้รับพระนามเมื่อประสูติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์" แต่คนทั่วไปเรียกว่า "เจ้าฟ้าเหม็น"

          โดยมีพระประวัติที่ปรากฏใน "จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี" ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้อย่างน่าพิศวง  ว่า

          “เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้วพระบาง พระไอยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูตร์เจ้า ณ วันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ประสูตร์เปนพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย แมงมุมทั้งไข่จิ้งจกตกพร้อมกัน แมงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วัน เจ้าแม่สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันทวงษ์”

          อธิบายความคือ มีนิมิตดีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทำศึกตีเวียงจันทน์แตกได้พระแก้วมรกตและพระบางมาสู่พระนคร ส่วนลางร้ายคือแมงมุมและจิ้งจกตกลงมาพร้อมกัน หลังจากนั้นสิบสองวันเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ก็สิ้นพระชนม์ แต่ขณะเดียวกันการ “ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย” เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระราชโอรสที่ประสูติเป็นเจ้าฟ้าทั้งๆ ที่ผู้ให้กำเนิดเป็นเพียงเจ้าจอมมารดาเท่านั้น ซึ่งกรณีในกรณีดังกล่าวจัดว่าเป็นเจ้าฟ้าตั้ง

          หลังการสิ้นชีพของมารดาเจ้าฟ้าเหม็นก็ตกอยู่ภายใต้การดูแลของยายสา (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพสุดาวดี) และมีพระพี่เลี้ยงชื่อหม่อมบุญศรี (เชื้อพระวงศ์กรุงศรีอยุธยาเก่า)

          ต่อมาอีก 3 ปีก็กำพร้าบิดา เมื่อพระราชบิดาคือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถูก “เจ้าคุณตา” สำเร็จโทษ แต่ด้วยทรงอาลัยในเจ้าฟ้าเหม็นจึงทรงรอดพ้นจากการประหาร และด้วยเพราะทรงเป็นหลานคนโตของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ) พระราชทานนามใหม่เป็น "เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์" คนทั่วไปเรียกว่าเจ้าฟ้าอภัยทศ

 สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์  "เจ้าฟ้าเหม็น"  โอรสพระเจ้าตาก!

          แต่เนื่องจากพระนามพ้องกับเจ้าฟ้าอภัยทศ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พ้องกับเจ้าฟ้าอภัย ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งได้รับพระราชอาญาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ในช่วงผลัดแผ่นดิน ทรงสดับรับสั่งว่า "ไม่เป็นมงคล" โปรดให้เปลี่ยนเป็นเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์

          ต่อมาปี พ.ศ. 2349 เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต ครั้งทรงเจริญพระชันษา จึงโปรดเกล้าพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน ด้านตะวันตก ซึ่งเรียกว่า “วังท่าพระ”

 สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์  "เจ้าฟ้าเหม็น"  โอรสพระเจ้าตาก!

          อย่างไรก็ดี แต่แล้วในปี พ.ศ. 2352 หลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตได้เพียง 3 วัน เกิดการกล่าวโทษว่าพระองค์คบคิดกับขุนนางจำนวนหนึ่งว่าคิดแย่งชิงราชสมบัติ จนเกิดคดีเป็นกบฏ หลังจากไต่สวนได้ความเป็นจริง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้ชำระโทษถอดพระยศ ลงพระราชอาญา ให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 10 จ.ศ. 1171 หรือวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2352 พร้อมพระอนุชาต่างมารดา คือพระองค์เจ้าชายอรนิกา และพระขนิษฐา พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ซึ่งถูกข้อหาสมรู้ร่วมคิด ผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิดอื่นได้ถูกประหารชีวิตที่สำเหร่ รวมทั้งพระโอรสทั้งหมด

          เว้นแต่พระธิดาที่ยังเหลืออยู่ ก็ถูกถอดให้มีพระยศเป็น คุณ หรือ หม่อม เช่น หม่อมเจ้าตลับ และ หม่อมเจ้าหอ

          ทั้งนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้สืบเชื้อสายของหม่อมเหม็นได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “อภัยกุล” เป็นนามสุกลพระราชทานลำดับที่ 3941 เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Abhayakul

 

///////

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ