วันนี้ในอดีต

5 ก.ย.2557 สงสาร sky dragon 350 ล้าน ลงจอดฉุกเฉินก่อนถูกปลด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มาถึงก็เจอปัญหาตั้งแต่วันตรวจรับ!! เพราะเกิดไปเจอ "รูรั่ว" และไม่สามารถนำขึ้นบินได้ในระยะความสูงตามสเปค!

          ถ้าเปรียบเป็นคน เจ้าเรือเหาะ "sky dragon" คงอยากถามว่า ผมทำอะไรผิด ถึงได้ปลดประจำการผมไปทั้งที่ยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์!

          แต่เดี๋ยวก่อนนะ เจ้า sky dragon เจ้าอย่าลืมว่า ที่ผ่านมาเจ้าเองก็ทำหน้าที่บกพร่องหลายครั้ง!

          อย่างครั้งที่เกิดขึ้นเมื่อราวปี 2555 เจ้าก็เคยเคยลงจอดฉุกเฉินมาแล้วครั้งหนึ่ง!

          กระทั่งผ่านมาจากนันอีก 2 ปี หรือวันนี้ของ 4 ปีก่อน ที่พื้นที่ ต.ยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จำได้หรือไม่ เจ้าทำเอาหลายฝ่ายอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน

          ใครจะคาดคิดว่าอยู่ๆ “เรือเหาะ” ตรวจการณ์ของกองทัพบก สุดเท่ห์ ที่ใช้ในภารกิจเฝ้าตรวจการณ์ทางอากาศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอันต้องลงจอดฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้นำขึ้นทดลองบินเป็นปกติในทุกเช้า

          โดยรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่า เรือเหาะลำนี้ ปกติจอดประจำการอยู่ในโรงจอด กองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แต่ในวันนั้น ขณะที่ขึ้นบินตามภารกิจ แต่ลงจอดฉุกเฉินบริเวณบ้าน “ต้นทุเรียน” หมู่ 6 ต.ยะรัง อ.ยะรัง โดยสาเหตุเกิดจากระบบคันบังคับขัดข้อง

          และแม้ว่า ทุกคนบนเรือเหาะ กำลังพลทุกนายปลอดภัย แต่แน่นอนล่ะที่การลงจอดฉุนเฉินครั้งนั้น นับว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ได้ทำให้คนไทยเริ่มตั้งคำถามถึงศักยภาพของเรือเหาะ sky dragon แสนแพง ราคา 350 ล้านลำนี้!

5 ก.ย.2557 สงสาร sky dragon  350 ล้าน ลงจอดฉุกเฉินก่อนถูกปลด

          อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นราววันที่ 6 ก.ย. 2557 พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรือเหาะสามารถนำกลับมาใช้ได้ตามปกติ และยังไม่ได้มีการปลดประจำการหรือสั่งจำหน่ายออกจากการใช้งานแต่อย่างใด แต่เหตุที่ต้องนำลงฉุกเฉินในวันดังกล่าวนั้น เนื่องจากสภาพอากาศปิด ต้องนำลงจอดฉุกเฉินเพื่อรอให้อากาศเปิด ซึ่งการลงจอดฉุกเฉินนั้นตัวเครื่องและระบบของเรือเหาะไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

          แต่เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อผ่านจากนั้นมาถึงปี 2560 sky dragon ก็ถูกปลดจนได้!!

          เกิดเป็นกระแสคำถาม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนไทยว่า นี่มันเรือเหาะ หรือเรือเหี่ยว ซื้อมาล้านใช้ไปร้อย มันคุ้มค่ากันหรือไม่

          ว่าแล้วมาทวนความจำกันนิดหนึ่ง ว่าเรื่องราวของเจ้า Sky Dragon มันไปไงมาไงกันแน่

          ข้อมูลจาก เนชั่นทีวี ระบุว่า เรือเหาะของกองทัพบกลำนี้จัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2552 ในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.

          โดยเป็นการจัดซื้อแบบวิธีพิเศษ งบประมาณสูงถึง 350 ล้านบาท หวังให้เป็น “ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศ” ที่ทรงประสิทธิภาพ เพราะมีกล้องตรวจการณ์ที่ใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

          หากจำกันได้ช่วงที่มีการจัดซื้อ มีเสียงทักท้วงว่า ระบบเฝ้าตรวจแบบ “เรือเหาะ” เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ชายแดนใต้หรือไม่ เพราะ “ระบบเรือเหาะ” ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสมรภูมิทะเลทราย เนื่องจากมีทัศนวิสัยกว้างไกล มองเห็นเป้าหมายหรือศัตรูได้ง่าย แต่พื้นที่ชายแดนใต้มีแต่ป่าเขา และฝนตกชุก ไม่น่าจะเหมาะกับ “ระบบเรือเหาะ”

          แต่ในที่สุด เจ้าสกายดรากอน ก็ถูกส่งมอบถึงไทยเรียบร้อยในปี 2553 เพียงแต่มันจะไม่เรียบร้อยก็ตรงที่ มาถึงก็เจอปัญหาตั้งแต่วันตรวจรับ!! เพราะเกิดไปเจอ “รูรั่ว” และไม่สามารถนำขึ้นบินได้ในระยะความสูงตามสเปค!

5 ก.ย.2557 สงสาร sky dragon  350 ล้าน ลงจอดฉุกเฉินก่อนถูกปลด

          คนไทยได้ยินข่าวนี้ แทบจะพูดพร้อมกันว่า “แบบนี้ก็ได้เหรอ!?”

          ตอนนั้น ทางการเคยมีความพยายามส่งซ่อมและเปลี่ยนผ้าใบหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น เรือเหาะยังเคยประสบอุบัติเหตุตกอย่างน้อยๆ 2 ครั้งดังที่กล่าวไปข้างต้น

          ครั้งแรกวันที่ 13 ธ.ค. 2555 เรือเหาะประสบอุบัติเหตุขณะร่อนลงจอดที่โรงเก็บเรือเหาะ หลังเสร็จภารกิจลาดตระเวนทางอากาศเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีรายงานว่านักบินไม่สามารถควบคุมเรือเหาะได้ ทำให้เรือเหาะไถลไปกับพื้นรันเวย์ จนทำให้ตัวเครื่องได้รับความเสียหายกว่า 50%

          ครั้งที่สอง วันที่ 5 ก.ย.2557 ก็วันนี้ในอดีตนั่นแหละ สกายดรากอนของเรา ต้องร่อนลงฉุกเฉินระหว่างทดลองบิน บริเวณบ้านต้นทุเรียน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งนา โดยกองทัพชี้แจงภายหลังว่าเป็นเพราะระบบ “คันบังคับ” ขัดข้อง

          จนมาปี 2560 ที่ผ่านมาไม่นานนี่แหละที่ SkyDragon ต้องบอกคำว่า “ลาก่อนนะคนไทย"

          ที่ลงทุนไปทั้งหมด คงต้องทำใจยอมรับ โดยมีราคาจัดซื้อ ในส่วนของตัวเรือบอลลูนราคา 260 ล้านบาท กล้องส่องกลางวันและกลางคืน อีกราว 70 ล้านบาท ส่วนอีก 20 ล้านบาท เป็นอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้น ซึ่งทั้งหมดรวมเป็นระบบเรือเหาะ 1 ชุด

          ส่วนหากถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เวลานั้น พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท หรือ “บิ๊กเจี๊ยบ” ผู้บัญชาการทหารบก เผยว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว ก็ต้องปลดระวาง

          แต่ยังระบุเพิ่มเติมว่า เรือนี้ซื้อเมื่อปี 2552 ในสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รับตำแหน่ง ผบ.ทบ.ขณะนั้น แถม 8 ปี มานี้ ก็รั่วซึมบ่อย จึงไปเก็บไว้ในโรงจอดที่ พล.ร.15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

          จนมายุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ได้ว่าจ้างบริษัทมาดูแลปีละ 50 ล้านบาท โดยมีการนำออกมาบินตรวจการณ์แต่ถูกวิจารณ์ว่าบินต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด เลยต้องนำมาเก็บไว้จนหมดอายุ

          ตอนนั้นเลยเกิดเป็นดราม่าไปยังผู้ถูกเอ่ยนามว่าไม่รู้จะอุทานมาเป็นภาษาอะไรดี!

5 ก.ย.2557 สงสาร sky dragon  350 ล้าน ลงจอดฉุกเฉินก่อนถูกปลด

          สุดท้ายเรื่องนี้จบลงที่คำว่า “อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันสำคัญที่สุด” เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตอบมาว่าสงสัยไรให้ไปตาม ผบ.ทบ. คนปัจจุบันเท่านั้นเอง

          "ผมไม่ทราบ เพราะออกกองทัพบกมา 7 ปีแล้ว ขอให้ไปถาม ผบ.ทบ."

          ทำเอาทุกคนอ้าปากค้างพร้อมกันทั้งทุ่งบางกอก ว่าตอบแบบนี้ก็ได้ด้วย!

          สุดท้ายSky Dragon ของเราก็ได้พักยาวจริงๆ

          R.I.P.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ