วันนี้ในอดีต

29 ส.ค.2504  พระนางเธอลักษมีลาวัณ ถูกลอบปลงพระชนม์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพที่ทำให้ทรงพระตะลึง คือ พระศพของพระนางเธอฯ ในสภาพที่เสียชีวิตมาแล้วหลายวัน จึงทรงเร่งมาแจ้ง นายร้อยเวรสถานีตำรวจพญาไท เพื่อให้ชันสูตรพระศพโดยด่วน

          พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 โดยขณะที่ทรงหมั้นหมายกันนั้น มีพระนามว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ" ต่อมาทั้งสองพระองค์ตัดสินพระราชหฤทัย "แยกกันอยู่" พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกลาเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้าสถาปนาพระนางเป็น "พระนางเธอลักษมีลาวัณ" เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465

29 ส.ค.2504   พระนางเธอลักษมีลาวัณ  ถูกลอบปลงพระชนม์

          อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ทรงแยกกันอยู่ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ก็ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงลำพัง จนกระทั่งวันนี้เมื่อ 57 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 29 ส.ค.2504 ช่างน่าเศร้า พระนางเธอลักษมีลาวัณ ขณะที่มีพระชนมายุ 62 พรรษา ถูกลอบปลงพระชนม์ ซึ่งผู้ก่อคดีฆาตกรรมคืออดีตคนสวนที่พระองค์ไล่ออก และก่อคดีดังกล่าวด้วยประสงค์ในทรัพย์สินส่วนพระองค์

          สำหรับเรื่องราวทางคดีนั้น มีข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2504 เวลา 15:30 น. พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาของ พระนางเธอฯ ทรงได้รับโทรศัพท์แจ้งจากนางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตบัญชีปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยถวายงานเป็นข้าในพระนางเธอลักษมีลาวัณ ในพระตำหนักลักษมีวิลาศ ว่าน่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพระตำหนัก เนื่องจากเธอได้ไปกดออดเรียก และโทรศัพท์เข้าไปแต่ไม่มีผู้รับสาย

          เมื่อเสด็จในกรมฯ ทรงทราบจึงทรงเร่งรีบเสด็จยัง “พระตำหนักลักษมีวิลาศ” สี่แยกพญาไท ปรากฏว่าบนพระตำหนักเงียบวังเวงปราศจากผู้คนอาศัยอยู่ กระทั่งทรงตรวจค้นห้องพระบรรทม ก็ต้องตกตะลึง เพราะเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ถูกรื้อกระจาย

29 ส.ค.2504   พระนางเธอลักษมีลาวัณ  ถูกลอบปลงพระชนม์

          จากนั้น จึงเสด็จลงมาตรวจบริเวณพระตำหนักอย่างละเอียดอีกครั้ง แต่ไม่ทรงพบใครอยู่ภายในพระตำหนัก นอกจากกลิ่นเหม็นเหมือนกลิ่นเน่า จึงเสด็จดำเนินตามกลิ่นไปถึงโรงรถบริเวณหลังพระตำหนัก

          และภาพที่ทำให้ทรงพระตะลึง คือ พระศพของพระนางเธอฯ ในสภาพที่เสียชีวิตมาแล้วหลายวัน จึงทรงเร่งมาแจ้ง นายร้อยเวรสถานีตำรวจพญาไท เพื่อให้ชันสูตรพระศพโดยด่วน

          เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชำนาญได้เริ่มลงมือชันสูตรพระศพ ก็พบว่าที่พระวรกายบริเวณพระอุระ มีบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม 4 แผล ที่พระศออีก 1 แผล ที่พระเศียรด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล สิ้นพระชนม์บนพื้นคอนกรีต

          เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าสิ้นพระชนม์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน แล้วจึงส่งพระศพไปยังแผนกนิติเวช เพื่อชันสูตรอีกชั้นหนึ่ง

          ที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ตรวจหาร่องรอยภายในพระตำหนักอย่างละเอียด ก็ได้พบกับกรรไกรเปื้อนครอบโลหิตตกอยู่กลางห้องพระบรรทม เงินส่วนพระราชสมบัติหายไปทั้งหมด แต่ตู้เซฟเก็บเครื่องฉลองพระองค์ ที่เก็บเครื่องประดับต้นตระกูลแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 มูลค่านับล้านบาท ยังคงอยู่ในสภาพปกติ สันนิษฐานว่าคนร้ายไม่อาจหากุญแจไขได้สำเร็จ และต้องรีบหนีไปก่อนที่จะมีคนมารู้เห็นเข้า

          นอกจากนี้ ในส่วนของพระศพที่พบนั้น เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าการที่พบพระศพอยู่บริเวณโรงรถติดกับห้องคนรับใช้นั้น เป็นการอำพราง โดยคาดว่ากลุ่มคนร้ายได้สังหารพระองค์ตั้งแต่บนห้องบรรทมชั้นบนแล้ว เพราะพบคราบพระโลหิตติดอยู่ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วจึงช่วยกันลากพระศพมาทิ้งไว้ที่โรงรถก่อนที่จะหลบหนีไป

          ภายหลังผู้ต้องหาถูกจับกุมได้ โดยได้รับการแจ้งจากร้านทองที่รับจำนำของมีค่า ว่ามีผู้ต้องสงสัยนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี จุลจอมเกล้าและตราอื่นๆ จึงสามารถตามจับกุมได้

          ซึ่งคนร้ายคือ นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับ นายวิรัช หรือ เจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไปก่อนหน้านั้น

          ทั้งสองสารภาพว่า เห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชรา และอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคาทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ

          ทั้งนี้ ทั้งคู่ได้ลอบทำร้ายพระนางด้วยย่องเข้ามาทางข้างหลังใช้ชะแลงและสันขวานทำร้ายที่พระเศียรจนสิ้นพระชนม์ที่ห้องพระบรรทมตามข้อสันนิษบานของทางตำรวจ จากนั้นทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนักเพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป โดยได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเงินพระราชสมบัติทั้งหมด

29 ส.ค.2504   พระนางเธอลักษมีลาวัณ  ถูกลอบปลงพระชนม์

          ผู้ต้องหาถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งในสามคือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ด้วยพระนางเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

          อนึ่ง พระนางเธอลักษมีลาวัณ ประสูติเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2442 มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ” เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (สกุลเดิม มนตรีกุล)

          พระองค์ได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีสมัยใหม่ ทรงมีความคิดอ่านอิสระเสรี ซึ่งพระบิดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และความคิดที่กว้างไกลทันสมัย แม้กระทั่งการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดา ก็ทรงให้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เข้มงวดดังการประพฤติปฏิบัติอย่างกุลสตรีโบราณทำให้เหล่าพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์มีความคิดเห็นกว้างขวาง และกล้าที่จะแสดงออกในวัตรปฏิบัติผิดแผกแตกต่างไปสตรีส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่อยู่ในกรอบของม่านประเพณีโบราณ

          หลังชีวิตรักจบลง พระองค์ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงลำพัง ทรงใช้เวลาที่มีอยู่หันไปทุ่มเทกับงานพระนิพนธ์ ในการประพันธ์นวนิยาย ร้อยกรอง และบทละครจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ, วรรณพิมล และพระนางเธอลักษมีลาวัณ รวมทั้งการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา จนล่วงเข้าวัยชรา

          อนึ่ง ในคำกลอน ตอนหนึ่ง ซึ่งพิมพ์แจกในวันฉลองพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เมื่อปี พ.ศ. 2502 (หรือก่อนจะถูกลอบปลงพระชมน์ในอีก 2 ปีถัดมา) ซึ่งได้สะท้อนถึงพระอุปนิสัยที่ว่ากันว่า ทรงชื่นชอบการอยู่อย่างสันโดษ สงบ ไม่ให้ใครเข้ามาวุ่นวาย ความว่า

 

"ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่เปล่าเปลี่ยว ไม่มีบ่าวโจษจันฉันกริ้วแหว

ขืนมีบ่าวเข้ามามันตอแย ยั่วยุแหย่ยุ่งขโมยโอยรำคาญ

บ้างเข้ามาทำท่าเป็นบ้างั่ง เรียกจะสั่งทำใดไม่ขอขาน

สั่งอย่างโง้นอย่างงี้เลี่ยงลี้งาน ใช่ฉันพาลเป็นดังนี้ทุกวี่วัน

พอไล่ มาใหม่อยู่ไม่ช้า แรกทำดีเด่นเป็นขยัน

พอใช้เพลินไม่เกินสิบห้าวัน คนขยันโกงยับเห็นกับตา

เบื่อเต็มทนเบื่อคนสุดทนสู้ เลยยอมอยู่ผู้เดียวเลิกเที่ยวหา

มีคนใช้ประสาทเสียเพลียอุรา เราว่าข่มเหงเพลงทารุณ……"

 

29 ส.ค.2504   พระนางเธอลักษมีลาวัณ  ถูกลอบปลงพระชนม์

 

///////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

เวบไซต์ https://www.reunglaochaosiam.com เรื่องเล่าชาวสยาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ