วันนี้ในอดีต

28 พ.ค.2538 ในวันวานที่ยังหวานอยู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครที่จำได้น่าจะนึกภาพออกว่า ละเม็ง ละครการเมืองของบ้านเมืองนี้ มีครบรสไม่แพ้ชาติใดในโลก!! โดยเฉพาะอดีตอันหวานชื่นรื่นรมย์ยิ่งกว่าน้ำแดงราดน้ำแข็งของคนคู่นี้!!

                เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่แม้จะติดตามข่าวคราวของอดีตนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 23 ของประเทศไทย ทักษิณ ชินวัตร มาตลอด แต่ก็ลืม หรือ ไม่รู้ว่า ครั้งหนึ่ง เส้นทางการเมืองของเขา เคยมาบรรจบกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ชนิดที่ต้องเรียกว่า “วันหวานก็เคยหวานกันอยู่” ที่พรรคพลังธรรม

                นั่นเพราะวันนี้เมื่อ 23 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 28 พ.ค.2538 ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคพลังธรรม” หรือพรรคที่หลายคนเรียกว่า “พรรคพลังผัก” ของ “มหา 5 ขัน” พล.ต.จำลอง ศรีเมืองนั่นเอง

               แต่ถ้าใครที่จำได้อย่างแม่นยำ ก็ยิ่งน่าที่จะนึกภาพออกว่า ละเม็ง ละครการเมืองของบ้านนี้เมืองนี้ มีครบรสไม่แพ้ชาติใดในโลก!!

                ยิ่งหากถามถึงอดีตอันหวานชื่นรื่นรมย์ยิ่งกว่าน้ำแดงราดน้ำแข็งของคนคู่นี้ ทักษิณ ชินวัตร และ จำลอง ศรีเมือง คงต้องเล่าไปถึงการกำเนิดพรรคพลังธรรมเป็นอันดับแรก

28 พ.ค.2538  ในวันวานที่ยังหวานอยู่

ภาพจากhttps://pantip.com/topic/33564492

                กล่าวคือ ฉากการเมืองไทยยุคปี 2531 หลังยุบสภาผู้แทนราษฎรปีนั้น บุคคลจำนวนหนึ่งภายใต้การนำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกลุ่มสันติอโศก ภายใต้การนำของ สมณะโพธิรักษ์ ร่วมตั้งพรรคพลังธรรมขึ้น ในวันที่ 9 มิถุนายน เป็นวันกำเนิดพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค

                พรรคพลังธรรม ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 โดยพรรคพลังธรรมได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 15 คน โดย 10 คนเป็นผู้สมัครในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคชาติไทยของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พรรคพลังธรรมไม่ได้เข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด

                ต่อมาภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534

                กระทั่งมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 โดยพรรคพลังธรรมส่งผู้สมัครของตนเองในการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกว่า 41 คน ส่วนใหญ่ คือ 32 คน (จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครทั้งหมด 35 คน) เป็นผู้สมัครในเขตกรุงเทพมหานคร

                นอกนั้นอีก 3 ที่นั่ง เป็นของ สมัคร สุนทรเวช, ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ จากพรรคประชากรไทย และปีนั้นยังได้ ส.ส.เป็นนักการเมืองหนุ่มหน้าหล่อมาใหม่ป้ายแดงอีกคนอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งลงสมัครครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์

                ถ้าใครจำได้ ต้องรู้ดีว่าปีนั้น พรรคพลังธรรมฮอตขนาดไหน จนมีการกล่าวกันว่า ในเช้าวันต่อมา แทนที่พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับจะรายงานผลการเลือกตั้ง แต่กลับพากันพาดหัวว่า “พรรคพลังผักชนะพลังเงิน"

                อย่างไรก็ดี ปี 2535 ไฮไลท์ของการเมืองไทย กลับแปรเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทหาร หรือที่เรียกว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 17 พ.ค. 2535 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคทำงานได้เพียงสองเดือน ก็มีเหตุทำให้สภาฯ ชุดนี้ต้องสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

                ซึ่งคงไม่ค่อยมีใครลืมว่า ช่วงนั้น ภาพของ มหาจำลองเข้มข้นดุเดือดในการนำทัพมวลชนต่อสู้ขับไล่รัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งในการนำการต่อสู้ดังกล่าว ถึงขนาดที่เกิดวาทกรรม “จำลองพาคนไปตาย” จากปากของนักการเมืองรุ่นเก๋าคนหนึ่งจากพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง

                หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ยุติลง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จึงได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากสัญญาที่ได้ให้ไว้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬว่า จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง              

               ข้อมูลจาก ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ระบุไว้ในเวบไซต์สถาบันพระปกเกล้าว่า

                “การลาออกของพล.ต.จำลองส่งผลอย่างมากต่อพรรคพลังธรรม โดยในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน 2535 พรรคพลังธรรมได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานครเพียง 23 คน ซึ่งลดลงจากเดิมถึง 9 คน ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย กลายมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และนายชวนเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก”

                "การลาออกของพล.ต.จำลองได้นำมาซึ่งความเสื่อมถอยของพรรคพลังธรรมอย่างที่ไม่อาจหวนกลับไปได้ แม้ว่าจะมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอื่นๆ เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจาก พล.ต.จำลองก็ตาม (เช่น พล.ร.อ.ศิริ ศิริรังษี และ บุญชู โรจนเสถียร) พล.ต.จำลอง ซึ่งยังคงเป็นสมาชิกที่มีบทบาทของพรรคพลังธรรมจึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว

                ที่สุด ในปี 2538 พล.ต.จำลองได้เชิญให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจด้านการสื่อสาร ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม ส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณกลายมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมคนที่ 4

               ทั้งนี้ เหตุผลที่เขาเลือกทักษิณ คือ

           "..การเมืองไทยขณะนั้นยังไม่หยั่งรากลึก ยังไม่มั่นคง เมื่อยังไม่มั่นคง ต้องได้ผู้นำที่มีความคิดของตัวเอง ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นคนที่สร้างความหวังให้ประชาชน ที่สำคัญคือสามารถปฏิบัติได้จริง 

            ที่เรียกกันว่า เป็นผู้นำแบบ "Charisma" (บารมี) ไม่ใช่แบบแก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน แล้วจับมาเป็นผู้นำ ดูแล้วมันชาชิน เบื่อหน่าย เลยคิดว่าถ้าได้ผู้นำแบบนี้ คนถึงจะมีความหวัง ซึ่งคุณทักษิณ ก็อยู่ในเกณฑ์นี้.." (คอลัมน์ "ความทรงจำเมื่อวันวาน" น.ส.พ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2548)
                "จนกระทั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 พรรคพลังธรรมซึ่งนำโดยพ.ต.ท.ทักษิณได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในเขตกรุงเทพมหานครเพียง 16 คน โดยในครั้งนี้พรรคพลังธรรมได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ บรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทย การเข้าร่วมกับพรรคชาติไทยส่งผลอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ในทางลบของพรรคพลังธรรม โดยเฉพาะการที่บรรหารต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องมาจากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้านในรัฐสภา"

                ความเสื่อมถอยของพรรคพลังธรรม ซึ่งในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังคงเป็นหัวหน้าพรรค ปรากฎชัดเจนในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ที่พรรคพลังธรรมได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียว คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตกรุงเทพมหานคร เท่ากับว่า หัวหน้าพรรค คือ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค

28 พ.ค.2538  ในวันวานที่ยังหวานอยู่

ภาพจาก http://panithan-panithan.blogspot.com/2011/05/look-whos-talking-too-much.html

                ภายหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณลาออก พรรคพลังธรรมได้แต่งตั้ง นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป แต่เนื่องมาจากนายไชยวัฒน์ไม่ได้รับความนิยมจากสมาชิกพรรค กอปรกับกระแสขาลงของพรรคพลังธรรม ส่งผลให้สมาชิกพรรคพลังธรรมคนสำคัญๆ เช่น นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ, นายแพทย์ประจวบ อึ๊งภากรณ์, นางศันสนีย์ นาคพงษ์ รวมไปถึง นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงหนึ่งเดียวของพรรค รวมไปถึงที่ปรึกษาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการของพรรค เช่น กลุ่มคนเดือนตุลาฯ ในพรรคการเมือง เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย และนายพรหมินทร์ เลิศสุริยะเดช เป็นต้น ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและไปก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า พรรคไทยรักไทย ร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2541 ส่งผลให้นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พรรคพลังธรรมหมดบทบาททางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง

                อย่างไรก็ดี สมาชิกที่เหลืออยู่ของพรรคพลังธรรมยังคงพยายามทำงานทางการเมืองในนามพรรคต่อไป แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยในวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังธรรม (ซึ่งในขณะนั้นมี นายภมร นวรัตนากร เป็นหัวหน้าพรรค) เนื่องมาจากกรรมการบริหารพรรคไม่ได้จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง (ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง) ที่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541[3] คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการยุติชีวิตทางการเมืองที่มีมายาวนานกว่า 20 ปีของพรรคพลังธรรม

                ตำนานวันวานยังหวานอยู่ระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่ ทักษิณ กับ จำลอง จึงจบลงเพียงแต่นั้น จะมีก็แต่ตำนานร้อยร้าวที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น ในการออกมาร่วมขับไล่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชัดเจนว่า เส้นทางไม่อาจร่วมกันได้อีกต่อไป

 

////////////////////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

สถาบันพระปกเกล้า อ้างอิงจาก สุกัญญา วินิจศาสตร์, พรรคพลังธรรม ความรุ่งเรือง และความเสื่อมถอย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2544, หน้า 2.

สุกัญญา วินิจศาสตร์, พรรคพลังธรรม ความรุ่งเรือง และความเสื่อมถอย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2544, หน้า 4.

http://www.concourt.or.th/download/Center_desic/50/center19_50.pdf

มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2548

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ