วันนี้ในอดีต

รู้จัก "พระที่นั่งเย็น" กับเหตุการณ์ทรงสังเกตสุริยุปราคา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคา ในเวลาเช้าของวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี

                วันนี้ในอดีต พาออเจ้าย้อนรอยวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 330 ปีก่อน

                ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา ร่วมกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศส เจชูอิตและข้าราชบริพารฝ่ายไทย ณ พระที่นั่งเย็น พระที่นั่งตำหนักกลางทะเลชุบศร เมืองลพบุรี        

              ตามที่รู้กันว่า สมเด็จพระนารายณ์นั้นทรงสนพระทัยในวิทยาการของชาวตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องดาราศาสตร์ ที่ยังทรงใช้กล้องดูดาวสังเกตการณ์เรื่องจันทรุปราคาและสุริยุปราคา

                สำหรับเหตุการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จากบันทึกในประวัติศาสตร์ อาณาจักรอยุธยา มีบันทึกการสังเกตสุริยุปราคาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในตอนสายของวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่แนวคราสมืดไม่ได้พาดผ่านสยามประเทศ จึงสังเกตเห็นเป็นชนิดบางส่วน หากแต่จะสามารถมองเห็นเต็มดวงที่แม่น้ำกฤษณะในประเทศอินเดีย พม่า จีน ไซบีเรีย ไปสิ้นสุดในทวีปอเมริกา

                ทั้งนี้ เวลานั้นเมื่อบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ได้มาเผยแพร่ดาราศาสตร์ไทยในประเทศไทย ก็ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้าง เช่น หอดูดาววัดสันเปาโล เป็นหอดูดาวแห่งแรกในประเทศไทย

                แต่สำหรับการทรงสังเกตหรือทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น  สันนิษฐานว่าทรงเสด็จทอดพระเนตร ณ พระตำหนักเย็น ทะเลชุบศร โดยทอดพระเนตรภาพดวงอาทิตย์บนฉากที่รับภาพจากกล้องโทรทรรศน์ที่บาทหลวงตั้งถวายให้ทอดพระเนตร

 

รู้จัก "พระที่นั่งเย็น"  กับเหตุการณ์ทรงสังเกตสุริยุปราคา

ภาพจาก http://thaiastro.nectec.or.th/royal/rama4.html

                หลายคนอยากรู้ว่า พระตำหนักเย็น หรือพระที่นั่งเย็น มีความสำคัญอย่างไร

                พระที่นั่งเย็นหรือ พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระตำหนักทะเลชุบศร องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นพระที่นั่งชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน สภาพปัจจุบันคงเหลือกำแพงและผนัง ส่วนทะเลชุบศรในสมัยโบราณนั้นเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังอยู่ตลอด สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณา  โปรดเกล้าฯ  ให้ทำทำนบใหญ่กั้นน้ำไว้ เพื่อชักน้ำจากทะเลชุบศรผ่านท่อน้ำดินเผาไปยังเมืองลพบุรี ปัจจุบันยังเห็นเป็นสันดินปรากฏอยู่

                นอกจากนี้ ข้อมูลจากเวบไซต์ http://www.lopburitravel.com/page-50 ระบุว่า คือสถานที่ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้สร้างเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ พูดภาษาชาวบ้านว่ามาพักผ่อนหย่อนใจ

 

รู้จัก "พระที่นั่งเย็น"  กับเหตุการณ์ทรงสังเกตสุริยุปราคา

ภาพจาก http://www.lopburitravel.com/page-50

                และตามประวัติศาสตร์มีหลักฐานยืนยันว่าพระองค์ใช้ที่นี่เป็นที่ศึกษาจันทรุปราคาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิตและบุคคลในคณะทูตซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี และยังทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 จึงเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งวงการดาราศาสตร์

                โดยบันทึกของทางฝรั่งเศสระบุว่าบริเวณพระที่นั่งเย็นสามารถเห็นท้องฟ้าโดยรอบชัดเจนทุกด้าน มีภาพวาดจำลองการทอดพระเนตรจันทรุปราคาด้วย เป็นฝีมือจิตรกรฝรั่งเศส

                และนี่คือภาพจากเฟซบุค ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium ที่อ้างอิงจาก วารสารศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา 300 ปี ดาราศาสตร์ไทย

รู้จัก "พระที่นั่งเย็น"  กับเหตุการณ์ทรงสังเกตสุริยุปราคา

                โดยระบุว่า ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกเหตุการณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคา ในเวลาเช้าของวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร เมืองลพบุรี ปัจจุบันภาพต้นฉบับนี้เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

                ในภาพจะเห็นคณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้ใช้เทคนิครับภาพดวงอาทิตย์มาปรากฏบนฉากสีขาวนอกกล้อง เพื่อให้สังเกตภาพดวงอาทิตย์ได้ โดยไม่เป็นอันตรายแก่นัยน์ตา และจากภาพนี้จะเห็นขุนนางไทยที่นั่งในแถวซ้ายมือคนแรกนั้น กล่าวกันว่าเป็นพระเพทราชา และสันนิษฐานได้ว่าขุนนางไทยแต่งกายชุดขาวที่กำลังหมอบสังเกตคราสอย่างใกล้ชิดท่ามกลางคณะบาทหลวงฝรั่งเศสนั้นคือ ออกญาวิชาเยนต์

                ภาพเขียนนี้จึงนับได้ว่ามีคุณค่าสูง ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและประวัติศาสตร์ จากการคำนวณสุริยุปราคาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของ ดร.ขาว เหมือนวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า สุริยุปราคา 30 เมษายน 2231 เป็นสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนเมื่อสังเกตอยู่ที่ลพบุรี เริ่มเกิดสุริยุปราคาเวลา 06:39:11 น. มุมสูง 9.61 องศา สิ้นสุดสุริยุปราคาเวลา 08:34:56 น. มุมสูง 37.14 องศา (ตามเวลามาตรฐานประเทศไทยปัจจุบัน) (cr: วารสารศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา 300 ปี ดาราศาสตร์ไทย)

 

รู้จัก "พระที่นั่งเย็น"  กับเหตุการณ์ทรงสังเกตสุริยุปราคา

ภาพจากสถาบันวิจัย ดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

                ทั้งนี้ พระที่นั่งเย็น อยู่ภายในซอยพระที่นั่งเย็น บนทางหลวงหมายเลข 3016 เข้ามาจากถนนพหลโยธินประมาณ 500 เมตร หรือห่างจากพระปรางค์สามยอด 5 กิโลเมตร เปิดทุกวัน 8.30-16.00 น.  ปกติค่าเข้าชม 10 บาท แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรมีนโยบายยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับชาวไทยจนกว่าจะมีการประกาศอีกครั้ง

                อนึ่ง พระนารายณ์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 ของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวี เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย ทรงสนพระทัยในวิทยาการของตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องดาราศาสตร์ พระนารายณ์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

////////////////////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.facebook.com/NARITpage/photos/pcb.1787486984648241/1801503533246586/?type=3&theater

https://th-th.facebook.com/bkkplanetarium/photos/pb.121600191207052.-2207520000.1524285912./1969895873044132/?type=3     

http:// http://thaiastro.nectec.or.th/royal/rama4.html

http://ภาพจาก http://www.lopburitravel.com/page-50

และ วิกิพีเดีย

        

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ