วันนี้ในอดีต

23 เม.ย.2559 รำลึก "มังกรสุพรรณ" กับที่สุดแห่งชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายบรรหารได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงมากที่สุดคนหนึ่ง และล้วนแล้วแต่เป็นกระทรวงสำคัญๆ

 

                เวียนมาบรรจบครบปี ที่ 2 สำหรับการถึงแก่อนิจกรรมของ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21

                วันนี้ในอดีตจึงขอรำลึกถึงด้วยการนำเรื่องราวของสุดยอด “มังกรการเมือง” ของคนไทยมาบอกเล่ากันอีกครั้ง

 

23 เม.ย.2559 รำลึก "มังกรสุพรรณ" กับที่สุดแห่งชีวิต

 

                บรรหาร ศิลปอาชา เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 (บางแหล่งกล่าวว่าแท้จริงแล้วเกิดวันที่ 19 กรกฎาคม ปีเดียวกัน) แต่ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร์คือวันที่ 19 สิงหาคม

               บรรหารเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คนของ นายเซ่งกิม และนางสายเอ็ง แซ่เบ๊ เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊

              สมรสกับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา และเป็นหญิง 2 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ปาริชาติ ศิลปอาชา

              นายบรรหารจบการศึกษาชั้นประถมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพมาเรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

                จากนั้นหันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเอง เป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย          

               ต่อมาเมื่อนายบรรหารเป็นนักการเมืองแล้ว จึงเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

                สำหรับประวัติการศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์ ดังนี้ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา

                ในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้มอบปริญญาครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่นายบรรหาร ศิลปอาชา อีกด้วย

                สำหรับเส้นทางทำงานทางการเมือง นายบรรหาร เข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของ นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 โดยได้เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2517 และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2519 และ ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง ต่อมานายบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2523

 

23 เม.ย.2559 รำลึก "มังกรสุพรรณ" กับที่สุดแห่งชีวิต

 

              ตลอดเวลาที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายบรรหารได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้นั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวงมากที่สุดคนหนึ่ง และล้วนแล้วแต่เป็นกระทรวงสำคัญๆ ได้แก่

              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (5 สิงหาคม 2529 - 3 สิงหาคม 2531)

              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (4 สิงหาคม 2531 - 9 มกราคม 2533)

              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (มกราคม 2533 - ธันวาคม 2533)

              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม 2533 - 23 กุมภาพันธ์ 2534)

              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร (7 เมษายน 2535 - 9 มิถุนายน 2535)

              ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 นายบรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และเมื่อได้มี พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งจำนวนมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539           

             ปัญหาทางการเมืองไทย วนเวียนเช่นเดิม การบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯไทย ไม่เคยราบรื่น แม้แต่ในสมัยของนายกฯ จากแดนสุพรรณ ที่สุด นายบรรหารบริหารงาน ไปเพียงปีเศษ เกิดปัญหาจนเขาต้องยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 ทำให้นายบรรหารพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

             นายบรรหารมีสมญานามมากมาย จากลักษณะเด่นหลายประการ เช่น มีฐานเสียงหนาแน่นอย่างที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานะเป็นเจ้าถิ่นจนได้สมญาว่า "มังกรสุพรรณ" หรือ "มังกรการเมือง" และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกนายบรรหารสั้น ๆ ว่า "เติ้ง" หรือ "เติ้งเสี่ยวหาร"

              ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พรรคชาติไทยซึ่งใช้สโลแกนหาเสียงว่า "สัจจะนิยม สร้างสังคมให้สมดุล" นายบรรหารในฐานะหัวหน้าพรรคได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่จะขอร่วมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีก ถ้าพรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในห้วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2550 พรรคชาติไทยได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน และร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549

              ก่อนการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 ไม่นาน นายบรรหารได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่อคำถามที่ว่า จะไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายบรรหารตอบว่า "จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปี ผิดหวัง" ซึ่งนายบรรหารไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่สาธารณะก็ตีความว่าหมายถึง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่เมื่อหลังการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่านายบรรหารและพรรคชาติไทยก็ไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล จึงทำให้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคได้ออกมาโจมตีและแฉพฤติกรรมนายบรรหารเป็นการใหญ่ (http://www.komchadluek.net/news/politic/226402)

                ต่อมา ในปี พ.ศ. 2554 พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

 

23 เม.ย.2559 รำลึก "มังกรสุพรรณ" กับที่สุดแห่งชีวิต

 

                 ใน พ.ศ. 2556 เขาอาสาทำงานเป็น ผู้ประสานงานคณะทำงานเวทีปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้แก่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเข้าพบ สนธิ ลิ้มทองกุล และ จำลอง ศรีเมือง ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556เขายืนยันว่าพรรคชาติไทย ไม่ได้ทำผิดและไม่สมควรถูกยุบพรรค

                ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 1

                แต่แล้วเมื่อเกิดรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เรียกเขารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2557 เขาไปรายงานตัวในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

 

23 เม.ย.2559 รำลึก "มังกรสุพรรณ" กับที่สุดแห่งชีวิต

 

              กระทั่ง วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559 เกิดภาวะภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ จึงนำส่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อาการวิกฤติตั้งแต่วันแรกที่เข้ารักษา จนถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 04:42 นาฬิกา

              อย่างไรก็ดี หากจะพูดถึงความเป็นที่สุดแห่ง มังกรสุพรรณผู้นี้ ก็คือ การทำงานเพื่อบ้านเกิด ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งของนักการเมืองทุกคนพึงมี การพัฒนาบ้านเกิด การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด ก็ตรงกับคำมั่นของท่านที่ว่า "สัจจะ และกตัญญู เป็นมงคลแห่งชีวิต"

              โดย นายบรรหาร ถือว่าเป็นผู้ที่ เนรมิต “เมืองบรรหารบุรี” จนออกมาเป็นภาพตัวแทนของคุณงามความดีที่คนในพื้นที่ยอมรับนับถือและเคารพรักเขาเป็นอันมาก
           คนไทยทั่วเองก็ยอมรับในจุดนี้ ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของนายบรรหาร ทำให้เมืองสุพรรณบุรี เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก จนหลายคนวิเคราะห์ว่า ยังเป็นต้นแบบให้กับ “เนวินบุรี” แห่งบุรีรัมย์ ในเวลาต่อมา

          สมดังที่ ดร. ถนัด ยันต์ทอง ประชาสัมพันธ์ชมรมไทยพวนจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวไว้ในคำอาลัยนายบรรหาร ว่า “ร่างกายและหัวใจนายบรรหารหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับเมืองสุพรรณบุรี จนเป็นที่มาของคำว่า บรรหารบุรี” 
           และนี่แหละคือที่สุดของ บรรหาร ศิลปอาชา มังกรสุพรรณ     

           อนึ่งในวันที่ 23 เม.ย.2561 ที่ศาลาวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ได้มีพิธีการบำเพ็ญกุศลครบรอบ 2 ปีถึงแก่อนิจกรรม ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ตามรายละเอียดต่อไปนี้

23 เม.ย.2559 รำลึก "มังกรสุพรรณ" กับที่สุดแห่งชีวิต

////////////////////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

 ข้อมูลประวัติจาก https://sites.google.com/site/prawatinaykrathmntrithiy/home/prawati-phan-tarwc-tho-thaksin-chin-watr/prawati-nay-chwn-hlik-phay/prawati-phl-x-perm-tin-su-la-nnth/pra-wat-nay-brrhar-silp-xacha)

เครดิตภาพ : พรรคชาติไทย/ หนังสือ "บรรหาร ศิลปอาชา ชีวิตและการพัฒนาบ้านเกิด"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ